บทความนี้จะนำแนวคิดด้านระบบนิเวศมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ทั้งนี้คำว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้การสนับสนุน ประกอบไปด้วย ดิจิทัลคอนเทนต์สาขาแอนิเมชัน สาขาเกม และสาขาคาแรคเตอร์ เป็นสำคัญ โดยระบบนิเวศของอุตสาหกรรมแอนิเมชันนั้นวิเคราะห์ได้ดังนี้
ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมแอนิเมชันมีจุดเริ่มต้นที่ ผู้ประกอบการ หรือ สตูดิโอ ที่เป็นผู้ผลิต แอนิเมชันประเภทต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยจะแบ่งประเภทผู้ประกอบการได้เป็น 3 ประเภท ได้แก่ เจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้รับจ้างผลิต และ ผู้จัดจำหน่าย/ผู้นำเข้า/ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ โดยผู้ประกอบการ จะต้องอาศัยทรัพยากรการผลิตที่สำคัญ คือ บุคลากร เงินทุน และ อุปกรณ์การผลิตได้แก่ ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์
ในส่วนของบุคลากร ด้านการผลิตแอนิเมชัน ในปัจจุบันได้มาจากการเรียนการสอนในระดับอุดมศึกษาที่มีการผลิตบุคคลากรอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการ ทั้งนี้บุคลากรที่เข้าไปให้ความรู้และสอนในมหาวิทยาลัยนั้นก็มีจากบุคลากรที่มาจากผู้ประกอบการด้านแอนิเมชันนั้นเอง อย่างไรก็ดีในปัจจุบันยังพบว่าด้วยของกำหนดเชิงหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ทำให้บุคลากรที่ผลิตออกมายังมีลักษณะที่มีความรู้แต่ยังไม่พร้อมใช้งานและทักษะด้านภาษาที่ยังไม่อยู่ในระดับที่ทำงานได้ ทำให้ผู้ประกอบการต้องใช้เวลาในการฝึกก่อนปฏิบัติงานจริง
ทางด้านแหล่งเงินทุนเดิมเงินทุนที่ใช้ในการผลิตแอนิเมชันมักจะเป็นเงินทุนของผู้ประกอบการเป็นหลัก ทำให้การสร้างผลงานทำได้ไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากการสร้างแอนิเมชันแต่ละเรื่องต้องใช้เงินทุนมาก และใช้เวลานาน ทำให้ตัวผู้ประกอบการไม่สามารถผลิตแอนิเมชันได้เองหลายเรื่อง แต่ในปัจจุบันเริ่มมีการให้เงินลงทุนจากผู้ลงทุน ตัวอย่างเช่นในการสร้างภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่อง 9 ศาสตรา ที่มีนักลงทุนให้เงินกับสตูดิโอในการสร้างงาน โดยแลกกับการถือสิทธิในภาพยนตร์ ปัจจุบันในเรื่องของเงินลงทุนยังพบว่าเป็นปัญหาของผู้ประกอบการเนื่องจากผู้ประกอบการไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากช่องทางปกติได้เนื่องจากสถาบันการเงินยังขาดความเข้าใจในการดำเนินการของผู้ประกอบการทำให้ผู้ประกอบการต้องหาทุนด้วยช่องทางอื่น ตัวอย่างเช่น กองทุนสำหรับแอนิเมชันในต่างประเทศ หรือการประกอบการในลักษณะผู้รับจ้างผลิตแทนการเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ เป็นต้น
โดยเมื่อผู้ประกอบการผลิตแอนิเมชันออกมาแล้ว ก็ต้องนำแอนิเมชันออกมาจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ เช่น ช่องโทรทัศน์ทั่วไป ช่องโทรทัศน์บอกรับสมาชิก โรงภาพยนตร์ โทรทัศน์ผ่านอินเทอร์เน็ต การขายในรูปแบบซีดี ดีวีดี เป็นต้น โดยแต่ละช่องทางก็จะมีผู้ประกอบการของแต่ละช่องทางเป็นผู้ดำเนินการให้และแบ่งปันผลประโยชน์ โดยผู้ประกอบการช่องทางต้องการคอนเทนต์เพื่อให้ช่องทางของตนมีผู้ชมในปริมาณที่มากพอ เมื่อมีผู้ชมก็จะขายโฆษณาหรือจำเก็บรายได้ด้วยวิธีการอื่น ๆ ได้
องค์ประกอบของระบบนิเวศในลำดับถัดมาก็คือผู้บริโภค ผู้บริโภคเป็นจุดสิ้นสุดของระบบนิเวศและเป็นองค์ประกอบที่มีความสำคัญและส่งผลต่อมูลค่าของแอนิเมชันมากสุด ในปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากอันเป็นผลมาจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ตัวอย่างเช่น ในปัจจุบันการซื้อ ซีดี ดีวีดี มีปริมาณที่น้อยมาก เนื่องจากผู้บริโภคสามารถดูคอนเทนต์เดียวกันผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ตได้เนื่องมีราคาถูก เข้าถึงง่าย และไม่ต้องมีสถานที่จัดเก็บ ช่องทางโทรทัศน์ได้รับความนิยมน้อยลงเนื่องจากผู้บริโภคต้องการดูเฉพาะคอนเทนต์ที่ตัวเองสนใจเท่านั้น
นอกจากพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังพบว่าตลาดในประเทศไทยเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็ก ทำให้แอนิเมชันที่สร้างออกมาแม้จะมีความน่าสนใจ มีการทำการตลาดอย่างดี แต่ก็อาจไม่ประสบผลสำเร็จในการสร้างรายได้ ทำให้หลายครั้งที่มีการสร้างแอนิเมชันออกมา แม้จะทำได้ดีแต่รายได้ก็ไม่คุ้มทุนทำให้ผู้ประกอบการแอนิเมชัน และผู้ประกอบการช่องทางจัดจำหน่ายไม่กล้าลงทุนในการผลิตหรือจำหน่ายแอนิเมชันมากนัก อย่างไรก็ดีในปัจจุบันเราจะเริ่มเห็นการปรับตัวของผู้ประกอบการแอนิเมชันที่มีการปรับปรุงในแง่เนื้อหาและคุณภาพโดยมุ่งหวังที่จะนำแอนิเมชันไปขายในระดับนานาชาติแทนที่จะพึ่งพาตลาดในประเทศแต่เพียงอย่างเดียว ด้วยระบบนิเวศในลักษณะนี้จึงส่งผลให้ในประเทศไทย ผู้ประกอบการแอนิเมชันโดยส่วนมาก จะดำเนินการในรูปแบบการรับจ้างผลิตเป็นหลัก รองลงมาผู้จัดจำหน่าย/ผู้นำเข้า/ผู้ซื้อลิขสิทธิ์ และ เจ้าของกรรมสิทธิ์ เป็นลำดับสุดท้าย โดยภาพรวมแล้วผู้ประกอบการแอนิเมชันในประเทศไทยได้รับการยอมรับในเรื่องของคุณภาพของแอนิเมชัน ต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมากเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ
นอกจากองค์ประกอบของระบบนิเวศตามที่กล่าวมาแล้วอีกหนึ่งองค์ประกอบของระบบนิเวศที่สำคัญก็คือหน่วยงานภาครัฐตัวอย่างเช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งสามารถส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ผ่านการใช้นโยบายต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น นโยบายด้านภาษีที่เอื้อต่อผู้ประกอบการ การกำหนดโควตาของคอนเทนต์ที่ต้องฉายผ่านโทรทัศน์เป็นต้น ร่วมถึงการจัดกิจกรรมส่งเสริมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การจัดอีเว้นเพื่อเป็นแสดงศักยภาพผู้ประกอบการ การจัดงานจับคู่ทางธุรกิจกับบริษัทต่างประเทศ การนำผู้ประกอบการไปร่วมงานอีเว้นในต่างประเทศ เป็นต้น โดยผลประโยชน์ที่ตอบแทนคืนภาครัฐก็คือสภาพทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น การจ้างงาน ซึ่งนำไปสู่รายได้ในรูปของภาษีที่มากขึ้นนั้นเอง และนอกเหนือจากหน่วยงานราชการแล้วก็ยังมีสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแอนิเมชัน ตัวอย่างเช่น สมาคม TAGGA ที่สามารถจัดกิจกรรมสนับสนุนอุตสาหกรรมในรูปแบบเดียวกับ หน่วยงานราชการได้ โดยมีความแตกต่างกับหน่วยงานราชการในแง่ที่มีความใกล้ชิดกับผู้ประกอบการมากกว่าเนื่องจากสมาคมมักจะมีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนั้นเอง ทำให้สามารถรวบรวมข้อเสนอที่ตรงกับความต้องการของผู้ประกอบการได้มากขึ้น