วันศุกร์ที่ 26 มีนาคม 2564 เวลา 09.30 น. ณ C asean Ratchada กระทรวงการพัฒนาสังคมและ ความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน จัดเสวนา เรื่อง “การคุ้มครองเด็กในยุคดิจิทัล” และเปิดตัว Mobile Application “คุ้มครองเด็ก” เป็นแอปพลิเคชันแจ้งเหตุการณ์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนที่ ประสบปัญหา บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ แท็บเล็ต และคอมพิวเตอร์โดยผ่านเว็บไซต์ นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า Mobile Application “คุ้มครองเด็ก” เป็นหนึ่งในนวัตกรรมการปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชน ภายใต้โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการคุ้มครองเด็ก (Child Protection Information System - CPIS) ระบบ CPIS ได้นำระบบดิจิทัลเข้ามาสนับสนุนการปฏิบัติงาน ของนักสังคมสงเคราะห์ และพนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 ทำให้เด็กเยาวชนได้รับ การปกป้องคุ้มครองและช่วยเหลือตามมาตรฐานการบริการด้านการคุ้มครองเด็ก นำไปสู่การยกระดับบริการคุ้มครองเด็ก ของประเทศไทยให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล
นางสุภัชชา กล่าวเพิ่มเติมว่า Mobile Application “คุ้มครองเด็ก” เป็นการเพิ่มช่องทางการแจ้งเหตุเพื่อให้ ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมเป็นเครือข่ายคุ้มครองเด็กและเยาวชน โดยดาวน์โหลดแอปฯ และติดตั้งลงบน โทรศัพท์เคลื่อนที่รองรับระบบ Android และ iOS ผ่าน Google Play หรือ App Store จุดเด่นของแอปฯ สามารถระบุ พื้นที่เกิดเหตุ ภาพถ่าย และติดตามการให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานได้ด้วย โดยข้อมูลจะถูกส่งต่อไปยังระบบการ จัดการรายกรณี (Case Management) ซึ่งมีบ้านพักเด็กและครอบครัวในทุกจังหวัด และสถานรองรับเด็กของกรมกิจการ เด็กและเยาวชน 30 แห่ง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบการช่วยเหลือ ประชาชน จึงมั่นใจได้ว่าเด็กและเยาวชนทุกรายจะได้รับ การประสานส่งต่อการช่วยเหลือร่วมกับหน่วยงานและเครือข่ายในพื้นที่ และมีการกำกับ ติดตาม และรายงานการ ช่วยเหลือโดยดิจิทัลเช่นกัน
กรมกิจการเด็กและเยาวชน มุ่งมั่นพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการสำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง และกำหนดให้ “การคุ้มครองเด็กและเยาวชนในยุคดิจิทัล” เป็นนโยบายสำคัญเพื่อให้เกิดระบบการปฏิบัติการที่สามารถ รองรับสภาพปัญหาเด็กและเยาวชนทั้งที่มีในปัจจุบัน รวมถึงความท้าทายและภัยคุกคามใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพให้แก่บุคลากรทุกระดับให้มีความรู้ความสามารถด้านดิจิทัล และการใช้ประโยชน์ จากข้อมูลเพื่อวางแผนงานเชิงกลยุทธ์เชิงรุกที่สอดคล้องกับบริบทเชิงพื้นที่ต่อไป