30 สิงหาคม 2564, นครบันดาร์เสรีเบกาวัน ประเทศบรูไน และผ่านทางช่องทางออนไลน์ - ดร.ภาสกร ประถมบุตร รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ “ดีป้า “ ปฏิบัติหน้าที่เป็น ผู้แทนของประเทศไทย (National Representative) พร้อมดร.อรฉัตร เลียงพิบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ ในการเข้าร่วมการประชุมเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนครั้งที่ 4 (The 4th ASEAN Smart Cities Network: ASCN) โดยมีประเทศบรูไนเป็นเจ้าภาพ ดำเนินการประชุมผ่านช่องทางออนไลน์อันเนื่องมาจากสถานการ์ณการระบาดของไวรัส COVID-19 โดยเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) เป็นความร่วมมือที่ผู้นำอาเซียนได้ร่วมก่อตั้งเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2561 มีเป้าหมายหลักในการสร้างเมืองอัจฉริยะอาเซียนที่มีด้วยการใช้เทคโนโลยีในขับเคลื่อน อันจะนำมาซึ่งความยั่งยืน ความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ซึ่งถือเป็นวาระสำคัญยิ่งของประชาคมอาเซียนซึ่งมีการเติบโตในภาคของความเป็นเมืองอย่างก้าวกระโดดในรอบหลายทศวรรษที่ผ่านมา
โดยในการประชุมครั้งนี้ดร.ภาสกร ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของประเทศไทยในการกล่าวแสดงความยินดีต่อเจ้าภาพประเทศบรูไนในความพยายามและความสำเร็จของการจัดการประชุมครั้งนี้ แนะนำโครงการสำคัญทางด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั้ง 3 เมืองของประเทศไทยที่อยู่ในเครือข่ายนี้ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดภูเก็ต และ จังหวัดชลบุรี โดยมีกลไกของการผลักดันการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรมผ่านการทำหน้าที่ของผู้ที่รับหน้าที่เป็นผู้นำการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ หรือ “Chief Smart City Officers (CSCO)” ได้แก่ นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) CSCO ของพื้นที่กรุงเทพมหานคร และ นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ทำหน้าที่ CSCO ของพื้นที่จังหวัดชลบุรี และ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า CSCO ของพื้นที่จังหวัดภูเก็ต (โดยมี นายประชา อัศวธีระ ผู้อำนวยการเขตพื้นที่ภาคใต้ของดีป้า ปฏิบัติหน้าที่แทนในการประชุมครั้งนี้) โดยทั้งสาม CSCO ของประเทศไทยได้นำเสนอโครงการสำคัญ ๆ ที่กำลังดำเนินการ อาทิ การพัฒนาสถานีกลางบางซื่อและพื้นที่โดยรอบให้ใช้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งขับเคลื่อนการเติบโตของชุมชนเมือง หรือ Transit Oriented Development (TOD) ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวคิดในการพัฒนาเมืองที่ได้การยอมรับในระดับสากล การพัฒนาการใช้เทคโนโลยีการเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงาน และการทำระบบไฟฟ้าแรงดันกลางหรือต่ำขนาดเล็ก (Microgrid) ซึ่งใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและระบบควบคุมอัตโนมัติเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อการทำงานแบบบูรณาการที่สอดประสานกันเปรียบเสมือนเป็นระบบเดียว ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะ จังหวัดชลบุรี รวมไปถึง โครงการการปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ A.I.) ในการวิเคราะห์ข้อมูลภาพการจราจรจากกล้องวงจรปิดเพื่อแก้ไขปัญหาจราจร โครงการออกแบบระบบการขนส่งที่ขับเคลื่อนด้วยการบูรณาการทางเลือกการขนส่งสาธารณะเพื่อให้บริการ (หรือ Mobility-as-a-Service หรือ MaaS) และโครงการท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Pier) ที่มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการท่าเทียบเรือ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วนหลัก ได้แก่ ระบบลงทะเบียนผู้โดยสารทางทะเล, ระบบจัดการผู้โดยสารท่าเรืออัจฉริยะ, ประตูอัตโนมัติ ณ จุดขึ้นลงเรือ พร้อม CCTV จับใบหน้า และตู้พร้อมอุปกรณ์ (Kiosk) ลงทะเบียนผู้โดยสารหน้าท่าเรือ โดยโครงการทั้งหมดของเมืองสมาชิกเครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียนทั้ง 3 ของประเทศไทยนั้นได้รับสียงตอบรับจากเมืองสมาชิกอื่น ๆ เป็นอย่างดี โดยในการประชุมครั้งนี้สมาชิกทั้งหมดได้ผลัดกันนำเสนอความก้าวหน้าของเมือง โดยมีพันธมิตรนอกเครือข่าย อาทิ ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกา กล่าวถึงแนวทางการให้การสนับสนุนสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็น Smart City supported by Japan ASEAN Mutual Partnership (หรือ Smart JAMP) และ USDTA Project Preparation Assistance เป็นต้น
โดยในการประชุมครั้งนี้ สมาชิกมีมติรับรองแผนการดำเนินการการออกแบบชุดเครื่องมือเพื่อการวางแผนการเงินให้กับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ การออกแบบเว็บไซต์เพื่อใช้ในการสื่อสารกันระหว่างพันธมิตร และการทำหน้าที่ต่อเนื่องอีก 2 ปีของสาธารณรัฐสิงคโปร์ในการทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยประธานเครือข่ายฯ ในการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะในภูมิภาค เครือข่ายเมืองอัจฉริยะอาเซียน (ASEAN Smart Cities Network: ASCN) มีเมืองนำร่องในภูมิภาคทั้งสิ้น 26 เมือง โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือในเรื่องการพัฒนาเมืองอัจฉริยะระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน การพัฒนาโครงการร่วมกับภาคเอกชน และการอำนวยความสะดวกในการประสานการทำงานระหว่างอาเซียน กับหุ้นส่วนภายนอกผ่านการจัดหากองทุนและเงินสนับสนุนโครงการ ประเทศไทยโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพการกระชุม ASCN ครั้งที่ 2 ณ กรุงเทพมหานคร เมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี นำไปสู่ความร่วมมือหลากหลายรูปแบบของสมาชิกอาเซียน และพันธมิตรจากนานาประเทศ โดยเจ้าภาพของการประชุมเครือบ่ายฯ จะหมุนเวียนกันไปตามวาระของประธานอาเซียน โดยในปี พ.ศ. 2565 จะเป็นราชอาณาจักรกัมพูชา
ทั้งนี้ “ดีป้า” ได้ทำหน้าที่ในการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัลในทุกมิติ โดยด้านของการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่เอง ถือเป็น “ระบบนิเวศ” (Ecosystem) ที่สำคัญ” ที่จะทำให้ โครงข่าย กำลังคน ชุมชน วิสาหกิจเบื้องต้น วิสาหกิจขนาดกลางและย่อม รวมไปถึง วิสาหกิจขนาดใหญ่ ทำหน้าที่ร่วมกันอย่างเป็นระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมผ่านการลงทุนในเมืองอัจฉริยะ โดย “ดีป้า” ทำหน้าที่เป็น “ศูนย์กลาง” หรือ “Hub” เพื่อประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ประชาชน และความร่วมมือจากเครือข่ายพัฒนามิตรนานาประเทศ และเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนด้านองค์ความรู้ด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่อันเป็นสะพานในการต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนต่อไป ผู้สนใจสามารถรับทราบข้อมูลข่าวสารได้จาก https://www.facebook.com/SmartCityThailandOffice ส่วนผู้ที่สนใจการเรียนรู้เรื่อง เมืองอัจฉริยะน่าอยู่ สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.smartcitythailand.or.th และสามารถเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรนักพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่ (Chief Smart City Officer หรือ CSCO) ที่ทาง “ดีป้า” เป็นผู้พัฒนา ซึ่งผู้สนใจสามารดูรายละเอียด และลงเรียนออนไลน์ได้ที่ https://www.bit.ly/depa-csco