บริการ
TH
EN
TH
CN

ปลูกรักออนไลน์กับความสัมพันธ์

“ความรักเหมือนการบานของดอกไม้ มีฤดูกาล มีเวลาที่เหมาะสม” ตินกานต์

ความรักอาจเบ่งบานขึ้นได้ในเวลาที่เหมาะสม และความเหมาะสมนั้นอาจมีข้อกำหนดเพียงความรู้สึกของคนสองคนเป็นที่ตั้ง เพราะแม้แต่ในช่วงเวลาที่ทั้งโลกกำลังตื่นตระหนกกับโควิด-19...ความรักก็เกิดขึ้นได้ ท่ามกลางตึกสูงเสียดฟ้าของนิวยอร์คซิตี้ เมืองที่กำลังถูกโควิด-19 กระหน่ำโจมตีอย่างหนัก ช่างภาพหนุ่มคนหนึ่งที่เก็บตัวอยู่กับบ้านตามมาตรการของรัฐ เห็นความน่ารักของหญิงสาวที่อาศัยดาดฟ้าของตึกที่เธอพักเป็นที่เต้นรำระบายความเครียด หลังจากโบกมือทักทายไกล ๆ อยู่ระยะหนึ่ง ชายหนุ่มตัดสินใจเขียนเบอร์โทรศัพท์ของตัวเองแล้วส่งให้เธอผ่านโดรน เขาและเธอเริ่มพูดคุยกัน กินข้าวด้วยกัน (ผ่านแอปพลิเคชันในจอโทรศัพท์) และแม้แต่ได้เดินเคียงกันแบบถูกหลักปฏิบัติ (ใช่ค่ะ เขาลงทุนเข้าไปอยู่ในลูกบอลใสขนาดใหญ่เพื่อให้สามารถเดินข้างเธอได้ในระยะใกล้ที่สุด) เขาและเธอโชคดีที่รักระหว่างโควิดเกิดขึ้นเองตามกลไกธรรมชาติ เพราะคนอีกไม่น้อย จำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องมือเพื่อตามหาคู่หรือคนที่ใช่ด้วยตัวเอง แม้การกรอกข้อมูลส่วนตัวในแบบฟอร์มยาวเหยียดจะทำให้หัวใจเต้นแรงไม่เท่าการได้สบตากับคนที่แอบชอบ แต่เมื่อเทียบกับเวลาที่ต้องใช้ในการหยอด จีบทั้งซึ่งหน้าและลับหลัง การรวบรวมความกล้าในการบอกความรู้สึกกับเป้าหมายที่เล็งไว้ ความรู้สึกประดักประเดิดเวลาทำความรู้จักกับเขาหรือเธอที่มีผู้หวังดีช่วยจับคู่ให้ หรือแม้แต่ความทดท้อกับการทำกระบวนการทั้งหมดซ้ำเดิมอีกครั้งหากผลปรากฏว่า “ไม่คลิก” เมื่อบวกรวมกับวิถีชีวิตและภารกิจอันรัดตัว บริการหาคู่ออนไลน์จึงกลายเป็นทางเลือกที่พุ่งทะยานสู่ความนิยมของคนอเมริกันควบคู่ไปกับความแรงของสัญญาณอินเทอร์เน็ต ในปี 2562 การให้บริการหาคู่ออนไลน์ในสหรัฐอเมริกาทำรายได้สูงถึง 973 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดการณ์ว่าตัวเลขจะขยับสูงขึ้นเป็น 1.1 พันล้านเหรียญในปี 2566 ไม่ต่างกับจำนวนผู้ใช้บริการที่คาดว่าจะสูงถึง 35.4 ล้านคนในปี 2566 เมื่อเทียบกับ 30.4 ล้านคนในปี 2562 การระบาดของ โควิด-19 อาจทำให้การใช้บริการหาคู่ออนไลน์สะดุดไปบ้างจากการต้องเก็บตัวอยู่ในบ้านแทนการออกไปสังสรรค์เพื่อสานสัมพันธ์ต่ออย่างที่เคยเป็นมา แต่เมื่อต้องเลือกระหว่างชีวิตอันเดียวดายในห้องที่ปิดสนิท แอปพลิเคชันหาคู่และ social media ก็ยังเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับเหล่าคนโสดผู้แสวงหาอยู่ดี ไม่นานหลังการระบาดของโควิด-19 ผู้ใช้งานหลายคนก็เรียนรู้ว่าการเว้นระยะห่างทางสังคมไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการทำความรู้จักคนใหม่หรือคุยต่อกับคนเดิมที่ถูกใจเลย ในทางตรงข้าม การไม่ได้เจอหน้ากลับส่งผลดีต่อความสัมพันธ์เพราะหนุ่มสาวโสดหลายคู่มีโอกาสได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำความรู้จักตัวตนของอีกฝ่ายได้นานขึ้น ก่อเป็นความผูกพันในระดับที่ลึกซึ้งมากขึ้น แทนที่จะเร่งปิดดีลด้วยแรงดึงดูดทางกายเหมือนเดิม หนุ่มสาวหลายคนถึงกับเอ่ยปากยอมรับว่าการพัฒนาความสัมพันธ์แบบไร้สัมผัส (เพราะความจำเป็นบังคับ) นี้ มีดีกรีความ “โรแมนติก” สูงกว่าความสัมพันธ์แบบเร่งด่วนตามที่พวกเขาเคยชินด้วยซ้ำ ข้ามกลับมาที่ประเทศไทย การหาคู่ออนไลน์ยังได้รับความนิยมไม่มากนักเมื่อเทียบกับฝั่งอเมริกาหรือยุโรป โดยคาดว่ามูลค่ารวมของตลาดในปี 2563 จะอยู่ที่ 6 ล้านเหรียญสหรัฐ และไต่ระดับสู่ 8 ล้านเหรียญในปี 2566 การสำรวจของ iResearch พบว่า มีผู้ใช้งานแอปพลิเคชันหาคู่ในประเทศไทย เช่น แอปพลิเคชัน Tinder แอปพลิเคชัน Bumble และ แอปพลิเคชัน Kooup เป็นต้น รวมกันไม่ต่ำกว่าเดือนละ 10,000,000 คน ส่วนผลวิจัยของ YouGov เผยให้เห็นว่าคนไทยกว่า 40% เคยใช้แอปฯ หาคู่ออนไลน์ คนรุ่นใหม่ 54% รู้จักคู่รักอย่างน้อย 1 คู่ที่พบกันทางโลกออนไลน์ แต่ 74% ของคนรุ่นใหม่ที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่ารู้สึกเขินที่จะยอมรับว่าพบกับคู่รักผ่านการหาคู่ออนไลน์/แอปพลิเคชัน และมากกว่า 35% คิดว่าการพบคู่รักทางออนไลน์ไม่ใช่เรื่องแปลก โดยทั่วไปแอปพลิเคชันหาคู่มักมีการใช้งานและลูกเล่นเพื่อตอบสนองความต้องการที่แตกต่างกันของกลุ่มผู้ใช้งาน แอปพลิเคชันในเมืองไทยส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบโจทย์วัยรุ่นที่ต้องการหาเพื่อนคุยและ เพื่อความเพลิดเพลิน ในขณะที่กลุ่มผู้ใช้งานที่เป็นผู้ใหญ่ วัยทำงาน และระดับไฮเอนด์ จะเลือกใช้แอปฯ เพื่อตามหาคู่รักที่มีคุณภาพ โดยแอปฯ ที่ได้รับความนิยม หนีไม่พ้น Tinder แอปฯ หาคู่ยอดฮิตที่ให้บริการในกว่า 190 ประเทศทั่วโลก ผู้ใช้งานสามารถตั้งค่าเพศ อายุ ที่สนใจ รวมทั้งดูข้อมูลชื่อ ประวัติสั้น ๆ และรูปเพิ่มเติมได้ การใช้งานก็ไม่ยาก เพียงแค่“ปัด-แมทช์-เดต” หากชอบปัดขวา ไม่ชอบปัดซ้าย โดนใจมากปัดขึ้น เมื่อไหร่ที่อีกฝ่ายมีใจตรงกัน ก็จะมีคู่ให้ไปแชตกันต่อ ส่วน Kooup นอกจากจะกำหนดส่วนสูง รูปร่าง สีผิว การศึกษา และอาชีพ ฯลฯ ของคู่ในฝันได้ตามสเป็กเป๊ะแล้ว ยังมีการผูกสูตรคำนวณดวงดาวด้วย ถ้าดวงไม่สมพงษ์กัน ก็น็อคเอาท์ออกไปตั้งแต่รอบแรกกันเลย มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอาจไม่ทำให้คนไทยรู้สึกร้อนรนกระวนกระวายกับกิจกรรมจับคู่ ที่หายไปมากเท่ากับที่เกิดขึ้นกับหนุ่มสาวในอีกฟากของโลก แต่ความเหงาก็ไม่เข้าใครออกใคร และนักการตลาดในเมืองไทยก็ตาไวพอจะจับมาเป็นจุดขาย ใครจะคิดว่าการกินข้าวคนเดียวเปล่าเปลี่ยวใจ จะพลิกสถานการณ์มาถือแต้มต่อด้วย event การกินชาบูพร้อมไปกับการเลือกคู่ในคราวเดียวกัน!! หรือปรากฏการณ์แพลตฟอร์มตลาดนัดศิษย์เก่าที่เริ่มจากการฝากขายสินค้าและบริการเพื่อช่วยเหลือกันตามประสาพี่น้องยามยาก จะกลายมาเป็นการตามหารักใส ๆ ในวัยเรียนและจุดประกายสู่การขาย “พี่น้องโสดโปรดบอกต่อ” ที่ได้ข่าวว่างานดีจนมีคนตามเข้าไปกิ๊วก๊าวกันแน่นห้องทีเดียว

สัมพันธ์อันไร้สัมผัสอาจเป็นอีกหนึ่งช่องทางให้คนได้เติมเต็มความเหงาและความรู้สึกของการเฝ้าตามหา แต่ความรู้สึกดีในโลกออนไลน์จะเติบโตและเบ่งบานได้จริงก็เมื่อคนทั้งคู่ตกลงใจจะออฟไลน์ ขยับขยายออกมาพิสูจน์ตัวตนกันอีกครั้งในโลกแห่งความจริง ซึ่งถ้าถึงจุดนั้นความรักเติบใหญ่จนบังตาเข้าไปแล้ว ก็ขอให้ตั้งสติให้มั่น แล้วเข้าไปลุยต่อใน “โลกของคนคู่” เอาใจช่วยนะคะ

โดย นางสาวกิ่งเกด นิยมเสน ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิง: • Statista (https://www.statista.com/topics/2158/online-dating/) • Statista (https://www.statista.com/outlook/372/126/online-dating/Thailand) • Vox Media (https://www.vox.com/the-goods/2020/4/3/21198794/coronavirus-video-dating-tinder-hinge-grindr) • Medium Corporation (https://medium.com/pcmag-access/how-covid-19-is-changing-dating-apps-and-relationships-290961b82253) • Good News Network (https://www.goodnewsnetwork.org/watch-nyc-man-woo-his-neighbor-during-covid-quarantines/) • โพสต์ ทูเดย์ (https://www.posttoday.com/life/healthy/556899) • Brand Buffet (https://www.brandbuffet.in.th/2019/05/omi-new-dating-app-trends-popular-2019/)