เช้านี้ก็เหมือนวันอื่นที่พอลืมตาได้ ชมพู (นามสมมติ) ก็คว้ามือถือมาเช็คฟีดบน Social media และก็เหมือนกับหลายคน ที่เลื่อนหน้าจอผ่านๆ แล้วค่อยเลือกอ่านรายละเอียดเฉพาะหัวข้อที่สนใจ หรือพูดให้ชัดก็คืออ่านคอมเมนต์ ยิ่งประเด็นฮ็อตที่คนในสังคมสนใจ คอมเมนต์ยิ่งจัดเต็ม หลักฐานข้อมูลที่อาจจะไม่เคยรู้มาก่อนก็หาอ่านได้จากตรงนี้ แถมบางคนใจดี ย่อสั้นๆ ให้เข้าใจเรื่องภายในไม่กี่บรรทัดด้วย นอกจากนั้นยังอ่านสนุกด้วยลีลาการต่อปากต่อคำ การเหน็บ หรือแม้กระทั่งฟาดใส่กันตรงๆ ส่วนจะซัดกันนัวหรือยืดเยื้อแค่ไหนขึ้นอยู่กับดีกรีความเดือดและจำนวนคน ซึ่งพอเหนื่อยก็แยกกันไป ไม่รู้ว่าใครเป็นใครในชีวิตจริงอยู่ดี
อ่านแล้วก็เหมือนจะเป็นความบันเทิงธรรมดาในชีวิตประจำวันที่หลายคนก็ทำอยู่ แต่ที่น่าสนใจคือสังคมออนไลน์หรือโลกเสมือนจริงไม่ได้แยกจากโลกในชีวิตจริงเด็ดขาดอย่างที่เราคิด เพราะถึงจะนั่งอ่านอยู่ในบ้านของตัวเอง คอมเมนต์แรงๆ ถ้อยคำเสียดสี การด่าทอหรือความเกลียดชังก็ยังเดินทางผ่านตัวอักษรมาทำร้ายความรู้สึกของคนหลังจอมือถือให้จุกจริง เจ็บจริง แบบไม่มีอะไรป้องกัน และหากเกิดขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้เกิดความเครียด หวาดระแวง ขาดความมั่นใจ ส่งผลต่อบุคลิกภาพและความสัมพันธ์กับบุคคลอื่น กลายเป็นคนฉุนเฉียว ก้าวร้าว หรือส่งผลทางร่างกาย เช่น เจ็บป่วย นอนไม่หลับ ไม่มีสมาธิ รวมทั้งอาจมีอาการซึมเศร้า ทำร้ายตัวเอง หรือในกรณีรุนแรง อาจตัดสินใจยุติปัญหาด้วยการจบชีวิต
ราชบัณฑิตสภา ให้คำนิยาม Cyber Bully หรือ "การระรานทางไซเบอร์" ว่าหมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ การกลั่นแกล้งในลักษณะนี้ส่งผลกระทบรุนแรงต่อจิตใจมากกว่าการรังแกรูปแบบดั้งเดิม เพราะเกิดขึ้นได้ตลอด ๒๔ ชั่วโมง สามารถแผ่ขยายไปในวงกว้างให้คนในสังคมรับรู้ได้ในเวลาอันรวดเร็ว และอาจใช้คำที่รุนแรงกว่าปกติเพราะไม่ต้องเผชิญหน้ากันจริงหรือไม่ต้องเปิดเผยตัวตนจริง ผลสำรวจเรื่องการถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ในกลุ่มผู้หญิงอายุ 18-55 ปี โดย Amnesty International ในปี 2562 พบว่าร้อยละ 23 ของผู้ที่ตอบแบบสอบถามเคยผ่านประสบการณ์นั้น และร้อยละ 59 ให้ข้อมูลว่าเป็นการกระทำจากคนที่พวกเธอไม่รู้จัก
เด็กและเยาวชน เป็นกลุ่มที่ได้รับการกลั่นแกล้งมากที่สุด การสำรวจโดย Cyberbullying Research Center ในปี 2562 พบว่านักเรียนทั้งชายและหญิงในสหรัฐอเมริการ้อยละ 59 เคยถูกกลั่นแกล้งออนไลน์ โดยการส่งข้อความระรานบนสื่อออนไลน์ เช่น Instagram และ Facebook เป็นวิธีที่ใช้มากที่สุด ส่วนเด็กนักเรียนไทย ผลการวิจัยขั้นต้นโดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในปี 2560 ระบุว่าเด็กนักเรียนเกือบร้อยละ 80 เคยมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้ง โดยร้อยละ 66 ถูกกลั่นแกล้งอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และถูกแกล้งทุกวัน ร้อยละ 12 ซึ่งเป็นสถิติที่มากกว่านักเรียนในสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่นถึง ๔ เท่า
ข้อมูลจากศูนย์วิจัยเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยพูดถึงแรงจูงใจในการระรานออนไลน์ว่าเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยภายใน เช่น ความสนุก การล้อเลียน ความต้องการมีตัวตนหรือการแสดงอำนาจเหนือคนอื่น รวมถึงการแสดงออกทางความคิดและทัศนคติที่แตกต่างกัน ส่วนปัจจัยภายนอกประกอบด้วยค่านิยมของสังคมที่รับรู้และปฏิบัติต่อเนื่องกันมา เช่น รูปร่าง ความสวยความงาม รวมถึงอคติทางเพศ โดยแพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้การระรานเป็นไปได้ง่ายขึ้น มุลเลอร์และชวาร์ทซ์ ศึกษากลไกของการแสดงความเกลียดผ่านสื่อออนไลน์ในเยอรมนีในปี 2562 พบว่าการใช้ถ้อยคำรังเกียจผู้อพยพของชาวเยอรมันผ่านสื่อสังคมออนไลน์มีความเชื่อมโยงกับพฤติกรรมรุนแรงในชีวิตจริง โดยเฉพาะเมื่อความเกลียดชังถูก “ขยาย” และกระจายผ่านสื่อต่างๆ สู่การรับรู้ของคนในวงกว้างขึ้น และเมื่อคนกลุ่มใหญ่เกิดความรู้สึกร่วมกัน ความรุนแรงอาจไต่ระดับจากการใช้คำพูดสู่การทำร้ายร่างกายหรือถึงขั้นสังหารเอาชีวิตก็เป็นได้
การศึกษาเรื่องการระรานคนดังออนไลน์ที่เผยแพร่ใน LEARN Journal ในปี 2564 ระบุว่าผู้ที่ใช้คำรุนแรงแสดงความเห็นเชิงลบต่อคนดังคิดว่าการกระทำดังกล่าวไม่ถือเป็นการระรานออนไลน์ เพราะเป็นเพียงการหยอกล้อสนุกๆ หรือเป็นเพียงการแสดงความเห็นส่วนบุคคล ซึ่งคนมีชื่อเสียงส่วนมากก็ต้องเจอเป็นปกติอยู่แล้ว และแม้ว่าจะแสดงความเห็นด้วยถ้อยคำที่รุนแรงเกินเลยไปบ้าง ก็เชื่อว่าคนดังส่วนมากจะไม่เสียเวลาอ่าน จึงไม่คิดว่าเป็นพฤติกรรมที่อันตรายแต่อย่างใด แต่หากพฤติกรรมในลักษณะเดียวกันเกิดกับคนธรรมดาหรือเพื่อน จะถูกมองว่าเป็นการระราน
การหลุดพ้นจากข้อกำหนดและการยืนยันตัวตนทางสังคมคือสิทธิพิเศษที่โลกเสมือนจริงสามารถมอบให้ผู้ใช้งานหลายร้อยหลายพันล้านคนได้เหมือนกัน บนความอิสระนั้น บางคนจึงเลือกปลดปล่อยความรู้สึกผ่านถ้อยคำดิบ หยาบ เพื่อความสะใจเพราะไม่ต้องรักษามารยาทเหมือนในชีวิตจริง โดยอาจลืมไปว่าสิทธิในการแสดงออกของคนทุกคน ควรมี “อารยะ” ควบคู่ไปด้วยเป็นพื้นฐาน ผลสำรวจความมีอารยะหรือความสุภาพทางอินเตอร์เน็ต (Digital Civility Index) ซึ่งมีตัวชี้วัด เช่น การแสดงความเห็นอย่างสุภาพ การรับผิดชอบต่อการแสดงความเห็นของตัวเอง การบูลลี่ การประทุษร้ายด้วยข้อความ การใส่ร้ายกล่าวหา สร้างข่าวปลอม ปี 2563 พบว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความสุภาพสูงสุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และเป็นที่ 1 ของเอเชีย ในขณะที่ไทยรั้งตำแหน่ง 3 อันดับสุดท้าย จาก 32 ประเทศทั่วโลก
สิงคโปร์พยายามสร้างประชากรออนไลน์ที่มีคุณภาพผ่านองค์กรและหน่วยงานต่างๆ เช่น Singapore Kindness Movement ที่สอนให้คนสิงคโปร์คิดถึงใจคนอื่นก่อนโพสต์ด้วยกฎง่ายๆ ว่า “อะไรที่ไม่อยากให้คนทำกับเรา ก็อย่าทำสิ่งนั้นกับคนอื่น” และให้ถามตัวเองเสมอว่าสิ่งที่จะโพสต์มีข้อมูลถูกต้อง มีประโยชน์ มีความเป็นกลางหรือมีส่วนสร้างความกลมเกลียวในสังคมหรือไม่ ค่านิยมนั้นสะท้อนให้เห็นชัดเจนในคำตอบของคนสิงคโปร์ว่า การล้อเลียนในประเด็นอ่อนไหว การใช้ถ้อยคำสร้างความอับอายให้คนอื่นและการปล่อยข่าวเท็จ เป็นพฤติกรรมออนไลน์ที่น่ารังเกียจ 3 อันดับแรกในความเห็นของพวกเขา
สำหรับประเทศไทย การพัฒนาทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital literacy) และความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Intelligence) ทำให้คนสามารถควบคุมสติอารมณ์ภายใต้ความกดดันเพื่อตีความ เข้าใจ รวมทั้งจัดการอารมณ์ของตัวเองและคนรอบข้างได้เป็นแนวทางที่ถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อใช้ในการพัฒนาทักษะพลเมืองด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสร้างโลกออนไลน์ที่ปลอดภัยในระยะยาว แต่ในระยะสั้น ในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดและสภาพสังคมบีบคั้นและกดดัน ทั้งยังสับสนจากการปล่อยข่าวปลอม ทำให้สภาพจิตใจของเราหลายคนต้องหวั่นไหวว้าวุ่นกว่าปกติ ขอเพียงแค่ “คิดก่อนคลิก” ให้แน่ใจว่าตัวหนังสือจากปลายนิ้วของเราไม่ได้ทำร้ายใครให้ต้องบอบช้ำยิ่งขึ้น ก็น่าจะช่วยให้โลกออนไลน์รอบตัวน่าอยู่ขึ้นไม่น้อย
โดย นางสาวกิ่งเกด นิยมเสน
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก:
Patchin, J. W. & Hinduja, S. (2021) 2019 Cyberbullying Data (https://cyberbullying.org/2019-cyberbullying-data)
Azmina Dhrodia. (2021) Unsocial Media: The Real Toll of Online Abuse against Women (https://medium.com/amnesty-insights/unsocial-media-the-real-toll-of-online-abuse-against-women-37134ddab3f4)
กรกิจ ดิษฐาน. (2021) เมื่อคนสิงคโปร์แก้ต่างให้ไทย แต่คนไทยขอขับเคลื่อนด้วยการด่า (https://www.posttoday.com/world/658025)
Katarzyna Bojarska. (2021) THE DYNAMICS OF HATE SPEECH AND COUNTER SPEECH IN THE SOCIAL MEDIA SUMMARY OF SCIENTIFIC RESEARCH (https://cihr.eu/wp-content/uploads/2018/10/The-dynamics-of-hate-speech-and-counter-speech-in-the-social-media_English-1.pdf)
Suriya Saengpranga, Savitri Gadavanijb. (2021) Cyberbullying: The Case of Public Figures (https://so04.tci-thaijo.org/index.php/LEARN/article/view/248694/168997)
Matemate. (2021) Stop Bullying หยุดกลั่นแกล้งทางโลกออนไลน์ หลังไทยติดอันดับ Top5 ของโลก! (https://brandinside.asia/stop-bullying-thailand-top5/)
กรุงเทพธุรกิจ มีเดีย. (2021) เปิด '10 อินไซท์' Cyber bullying เสียงแห่งความ 'บอบช้ำ' และ 'ความต้องการ' เด็ก 'Gen Z' (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/945456)
The Story Thailand. (2021) 10 Facts from Cyberbullying Insight: Woes and Voice of Thai Gen Zers (https://www.thestorythailand.com/en/26/06/2021/32263/)
Arlin Cuncic. (2021) The Psychology of Cyberbullying (https://www.verywellmind.com/the-psychology-of-cyberbullying-5086615)
Kenny Chee. (2021) Singapore ranked 4th in global study on online civility; Kindness Movement hosts Internet talk show (https://www.straitstimes.com/tech/tech-news/singapore-ranked-4th-in-global-study-on-online-civility-kindness-movement-gears-up)