หากเรามองย้อนไปดูในช่วงเวลาที่ผ่านมาเกี่ยวกับภาคการเกษตรไทยเราจะพบว่า ภาคการเกษตรเป็นอีกส่วนหนึ่งในการสร้างอาชีพให้แก่คนไทยมาอย่างยาวนาน โดยสามารถเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปข้างหน้าผ่านการผลิตเพื่อส่งออก มีมูลค่าการส่งออกไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาทต่อปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 ถึงปี พ.ศ. 2564 (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2564) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของภาคการเกษตรที่ส่งผลกระทบทางบวกต่อเศรษฐกิจประเทศไทย จากสถิติจำนวนเกษตรกรของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ปัจจุบันประเทศไทยมีจำนวนเกษตรกรทั้งสิ้นจำนวน 9,267,103 คน หรือประมาณ 8,025,429 ครัวเรือน โดยเป็นเกษตรกรที่เป็น ผู้พิการประมาณ 168,884 คน จากข้อมูลของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ พบว่า มีจำนวนผู้พิการในประเทศไทยรวมทั้งสิ้น 2,095,205 คน เป็นผู้พิการที่มีความพิการ 1 ประเภท จำนวน 1,966,783 คน คิดเป็นร้อนละ 93.87 และเป็นผู้พิการมากกว่า 1 ประเภท จำนวน 123,852 คน คิดเป็นร้อยละ 5.91 และรอข้อมูลยืนยันความพิการจำนวน 4,570 คน คิดเป็นร้อยละ 0.22
โดยเป็นผู้พิการในวัยทำงานที่ประกอบอาชีพรวมทั้งสิ้นจำนวน 420,335 คน ซึ่งกว่าร้อยละ 40.18% ประกอบอาชีพเกษตรกร
ที่มา : กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้พิการ (ณ วันที่ 30 กันยายน 2564)
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่า ภาคการเกษตรของประเทศมีความสามารถในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้เป็นจำนวนมาก แต่ว่าเมื่อเราพิจารณาถึงผลิตภาพการผลิต (Productivity) ของภาคการเกษตรจะเห็นได้ว่า ภาคการเกษตรของประเทศมีผลิตภาพการผลิตต่ำและมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 3 ปี พ.ศ. 2564 ภาคการเกษตรมีผลิตภาพการผลิตเพียง 89.08 หน่วยเพียงเท่านั้น ทั้งนี้ มีสาเหตุมาจากเกษตรกรส่วนใหญ่ในประเทศไทยยังคงใช้การเกษตรรูปแบบเดิม ซึ่งมีพื้นที่เพาะปลูกน้อย ใช้แรงงานคนในการเพาะปลูกเป็นหลักและพบกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ สภาพสิ่งแวดล้อมตามฤดูการ เช่น สภาพอากาศฝนตกชุก อากาศร้อนจัด การขาดแคลนน้ำ ตลอดจนขาดแคลนและเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีการผลิตสมัยใหม่ เข้ามาช่วยในการเพาะปลูก ส่งผลให้ระดับความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตร ไม่ว่าจะทั้งในเรื่องของคุณภาพและราคาที่จะไม่สามารถแข่งขันในระดับประเทศหรือระดับสากลได้ รวมถึงนำไปสู่การเกิดปัญหาด้านต่างๆ ทั้งปัญหาด้านสังคมได้อีกด้วย เช่น เมื่อเกษตรกรมีรายได้ที่ไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพและไม่เพียงพอดำรงชีพให้มีคุณภาพชีวิตพื้นฐานก็จะส่งผลให้เกษตรกรเหล่านั้นต้องประสบกับปัญหาต่างๆ มากมาย เช่น เจ็บป่วยแต่ไม่มีเงิน มากพอที่จะได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ ใช้เวลาในการทำงานมากเกินไปจนทำให้ความสุขและสมดุลชีวิตหายไป ทำให้การดำรงชีวิตไม่มีความสุขเกิดเป็นความเครียดและอาจเป็นปัญหาเกี่ยวกับความรุนแรงในครอบครัวต่อเนื่องไปได้ในอนาคต ดังนั้น เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาผลิตภาพการผลิตของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะเกษตรกรที่เป็นผู้พิการให้มีผลิตภาพการผลิตที่สูงขึ้น เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายและลดการสูญเสียในกระบวนการเพาะปลูกให้น้อยลง การประยุกต์ใช้โรงเรือนอัจฉริยะในการเพาะปลูกจึงเป็นทางเลือก-ทางออกของเกษตรกรที่เป็นผู้พิการ แต่อย่างไรก็ตาม โรงเรือนอัจฉริยะที่มีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายในปัจจุบันยังคงมีข้อจำกัดในการใช้งานของเกษตรกรที่เป็น ผู้พิการ โดยเฉพาะผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือผู้พิการทางร่างกาย เนื่องจากไม่ได้ถูกออกแบบมาให้รองรับและอำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ผู้พิการเป็นการเฉพาะ ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขข้อจำกัดในการใช้งานโรงเรือนอัจฉริยะให้รองรับการใช้งานของผู้พิการ โดยเฉพาะผู้พิการทางการเคลื่อนไหวหรือผู้พิการทางร่างกาย ผู้เขียนจึงขอนำเสนอแนวทางในการปรับปรุงโรงเรือนอัจฉริยะ ซึ่งถอดแบบมาจากความสำเร็จในการใช้งานจริงของสมาคมผู้พิการปทุมธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ภายใต้โครงการฟาร์มสามารถของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โดยมีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพเป็นที่ปรึกษา ซึ่งสามารถสรุปแนวทางในการปรับปรุงโรงเรือนอัจฉริยะ ดังนี้
ที่มา : โครงการฟาร์มสามารถ สมาคมคนพิการปทุมธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (2563) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ข้อเสนอแนะรูปแบบโรงเรือนอัจฉริยะที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานของผู้พิการ คือ โรงเรือนที่มีพื้นและการสัญจรภายในโรงเรือนเอื้อต่อการเคลื่อนที่ของรถเข็นวีลแชร์ พื้นไม่เป็นหลุมหรือขรุขระ ระบายน้ำได้ดีไม่มีน้ำท่วมขัง ทั้งนี้ เพื่อความปลอดภัยในการทำงานของผู้พิการ เช่น โรงเรีอนที่มีการเทพื้นคอนกรีตที่มีความลาดเอียงสามารถระบายน้ำภายในได้ดี และต้องมีการทำ Slope ทางขึ้นโรงเรือนเพื่อความสะดวกสบายในการเคลื่อนที่ของ ผู้พิการภาคการเกษตร ไม่เพียงเท่านั้นโรงเรือนที่เหมาะสมกับผู้พิการจำเป็นต้องมีระยะระหว่างทางเดินที่กว้างกว่าขนาดของรถเข็นวีลแชร์ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้พิการในการกลับรถเข็นวีลแชร์ ยกตัวอย่างเช่น โรงเรือน ในรูปภาพด้านขวา ซึ่งพื้นที่ภายในโรงเรือนเป็นการยกพื้นคอนกรีตสูงขึ้นจากระดับพื้นดินประมาณ 20 เซนติเมตร และขัดพื้นผิวคอนกรีตแบบขัดหยาบเพื่อป้องกันการลื่นไถล โดยทางสัญจรระหว่างโต๊ะปลูกแต่ละโต๊ะจะกว้าง 1.5 เมตร ซึ่งเป็นระยะกลับตัวของผู้พิการใช้รถเข็นวีลแชร์ที่สะดวก นอกจากนี้ยังมีการทำ Slope สำหรับขึ้นโรงเรือน พร้อมราวจับกันตก Aluminum ความยาว 1.5 เมตร ความสูง 1 เมตร เพื่ออำนวยความสะดวก และเพิ่มความปลอดภัยให้แก่ผู้พิการ
ที่มา : โครงการฟาร์มสามารถ สมาคมคนพิการปทุมธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (2563) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ข้อเสนอแนะโต๊ะปลูกผักที่มีความเหมาะสมกับการใช้งานของผู้พิการ คือโต๊ะปลูกที่มีระดับความสูงของขาโต๊ะปลูกจนถึงพื้นถาดปลูกที่สูงกว่าความสูงของรถเข็นวีลแชร์ประมาณ 10-20 เซนติเมตร (ระดับความสูงของรถเข็นวีลแชร์จากพื้นถึงพนักวางแขนของรถวีลแชร์มาตรฐานจะอยู่ที่ประมาณ 66 เซนติเมตร) และมีผนังกั้นกระบะปลูก ความสูงประมาณ 10-20 เซนติเมตร ทั้งนี้ ความสูงของโต๊ะปลูกตั้งแต่ขาโต๊ะถึงส่วนสูงสุดของผนังกระบะปลูกต้องมีความสูงรวมกันแล้วไม่สูงเกินกว่าระดับที่ผู้พิการสามารถยืดแขนไปยังส่วนกลางของโต๊ะปลูกได้อย่างสะดวก นอกจากนี้ ควรเว้นระยะห่างของโต๊ะปลูกให้รถเข็นวีลแชร์สามารถเคลื่อนที่ได้อย่างสะดวก ในที่นี้ขอยกตัวอย่างขนาดของโต๊ะปลูกตามรูปภาพด้านขวาซึ่งได้ใช้งานจริงภายใต้โครงการฟาร์มสามารถ โดยสมาคมผู้พิการปทุมธานี โต๊ะปลูกมีขนาดความยาว 3 เมตร ความกว้าง 1.5 เมตร มีความสูง 75 เซนติเมตร และเว้นระยะโต๊ะปลูกแต่ละแถวห่างกัน 1.5 เมตร ซึ่งผู้พิการที่นั่งรถเข็นวีลแชร์สามารถเข็นรถเข้าใต้โต๊ะปลูกและยื่นแขนทำงานได้ถึงจุดกลางโต๊ะปลูก ทำให้สามารถดูแลรักษา และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างทั่วถึง และสะดวกปลอดภัย
ที่มา : โครงการฟาร์มสามารถ สมาคมคนพิการปทุมธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (2563) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ข้อเสนอแนะการติดตั้งระบบควบคุมการให้น้ำอัจฉริยะแก่แปลงปลูกผักที่เหมาะสมกับการใช้งานของผู้พิการ คือการติดตั้งระบบควบคุมที่มีระดับความสูงของตำแหน่งติดตั้งระบบควบคุมอัจฉริยะในระดับที่ผู้พิการนั่งรถเข็น วีลแชร์สามารถที่จะกดปุ่มหรือใช้งานตู้ควบคุมระบบการให้น้ำอัจฉริยะถึงอย่างสะดวกสบาย เช่น ตัวอย่างการติดตั้งของตู้ควบคุมตามรูปด้านขวาซึ่งมีระดับความสูงของตู้ควบคุมที่ต่ำกว่าระดับปกติโดยทั่วไป ทั้งนี้เพื่ออำนวยความสะดวกในการใช้งานให้แก่ผู้พิการในภาคการเกษตรที่นั่งรถเข็นวีลแชร์ให้สามารถใช้งานและสั่งการระบบให้น้ำอัตโนมัติผ่านตู้คอนโทรลได้ด้วยตนเองในกรณีที่เกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคที่แอปพลิเคชันสั่งการให้น้ำอัตโนมัติในมือถือสมาร์ทโฟนไม่สามารถสั่งการได้ ส่งผลให้ผู้พิการในภาคการเกษตรสามารถแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้น
ที่มา : โครงการฟาร์มสามารถ สมาคมคนพิการปทุมธานี อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี (2563) โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ข้อเสนอแนะการเลือกและติดตั้งหัวสปริงเกอร์สำหรับการให้น้ำที่มีความเหมาะสมกับโรงเรือนอัจฉริยะและเหมาะสมกับการใช้งานของผู้พิการ คือ สปริงเกอร์ที่มีรัศมีของการกระจายน้ำ 1-2.5 เมตร ซึ่งเมื่อใช้งานควบคู่กันกับโต๊ะปลูกผักขนาดความยาว 3 เมตร ความกว้าง 1.5 เมตร ความสูง 75 เซนติเมตร น้ำที่กระจายออกมานั้นจะจำกัดอยู่ภายในพื้นที่ของโต๊ะปลูกผักพอดี ไม่เพียงเท่านั้นระดับความสูงของหัวสปริงเกอร์ที่เหมาะสมก็เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะเมื่อเกิดการขัดข้องของตัวหัวสปริงเกอร์ หรือผู้พิการมีความต้องการถอนตัวสปริงเกอร์ตัวใดออก ผู้พิการท่านนั้นสามารถทำได้ด้วยตนเอง ไม่เพียงเท่านั้นยังง่ายต่อการดูแลรักษาและการทำความสะอาดอีกด้วย ในที่นี้ขอยกตัวอย่างการติดตั้งสปริงเกอร์ที่เหมาะสมกับผู้พิการตามรูปภาพด้านขวาซึ่งได้ใช้งานจริงภายใต้โครงการฟาร์มสามารถ โดยสมาคมผู้พิการปทุมธานี แต่ละหัวสปริงเกอร์จะห่างกันโดยประมาณ 2 เมตร และการติดตั้งหัวสปริงเกอร์บนโต๊ะปลูกผักจะมีระดับความสูงที่ไม่ได้สูงมากจนเกินไป ซึ่งเป็นการสร้างความสะดวกสบายและเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่ผู้พิการในภาคการเกษตร
สุดท้ายนี้ การเลือกใช้งานเทคโนโลยี รูปแบบ และการติดตั้ง ควรปรับให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศและขนาดของพื้นที่ใช้สอยเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดการประยุกต์ใช้งานเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงสุดและเหมาะสมกับผู้ใช้งานต่อไป
โดย นายภานุวัฒน์ กรีติโชติวัฒนาเสน
ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชนตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิง