บริการ
TH
EN
TH
CN

ถึงเวลาปรับช่องทางการตลาดของ SME ในยุคจักรวาลนฤมิตร

Metaverse หรืออีกนามหนึ่ง คือ จักรวาลนฤมิต ซึ่งคนทั่วไปมักมองว่ายังเป็นเรื่องไกลตัว และเป็นเพียงแค่กระแสความสนใจชั่วคราว แต่ถ้ามองถึงปัจจัยโดยรวมแล้ว ช่องทางหลักในการเชื่อมต่อระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน อันรังสรรค์จากเทคโนโลยีที่ผสมผสานกันจนลงตัวระหว่าง Virtual Reality (VR) และ Augmented Reality (AR) และแน่นอนเราสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อกับ Metaverse ได้ตลอดเวลา นั่นเพราะทุกวันนี้ Metaverse ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตทั้งด้านการทำงาน หรือการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ รอบตัวเรา ในช่วงการระบาดของเชื้อโควิดที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการดูงานหรือ สัมมนาแบบ Virtual Exhibition ที่มาในรูปแบบ 3 มิติ หรือแม้แต่กระทั่งการประชุมออนไลน์ ในรูปแบบอวตาร ซึ่งในอนาคตอันใกล้ มีการพัฒนาหรือมีความร่วมมือเพื่อยกระดับโลกดิจิทัลให้เป็นการสร้างอีกหนึ่งช่องทางเพื่อเชื่อมต่อกับลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่กำลังถูกจับตามองว่าจะมีการใช้งานในอนาคตมากขึ้น รวมถึงการขยายตัวของเทคโนโลยีผ่านระบบ Server ด้วย

ตลาดที่เราควรศึกษาแนวทางเพื่อนำไปปรับตัวใช้ใน Metaverse โดยอ้างอิงรายได้จากธุรกิจที่ได้เงินหมุนเวียนเป็นอันดับต้น ๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่

สัดส่วนมูลค่าเพิ่มจากเทคโนโลยี Metaverse

ตลาดที่มีศักยภาพในการหารายได้อันดับ 1 (โฆษณา)

รายได้ส่วนใหญ่ได้มาจากการโฆษณาไปยังกลุ่มเป้าหมาย โดย Platform Social Media ใช้วิธีการเชิญชวนด้วยการนำเสนอประสบการณ์ในการใช้หรือการเล่นฟรีแก่ผู้ใช้งาน ซึ่งเป็นแนวทางที่นิยมอย่างแพร่หลาย การโฆษณานี้มีการโปรโมตสินค้าที่ใช้ในชีวิตจริงด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เสริมประสบการณ์ต่าง ๆ และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตาม แผนที่จะโปรโมตและทำการตลาดต่อไป นั่นหมายความว่าถ้าผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการใช้บริการ ก็สามารถจะต่อยอดทำการซื้อขายในบริการอื่น ๆ ต่อไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด รวมถึงการก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่สนับสนุน ในการจัดทำเนื้อหาหรือการสร้างแบรนด์ของผู้ให้บริการ ซึ่งส่งเสริมให้เกิดความรักและผูกพันกับแบรนด์และความรัก และแน่นอนว่าหากการเติบโตของ Metaverse ขยายตัวมากขึ้น จำนวนผู้ใช้บริการก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

ตลาดที่มีศักยภาพในการหารายได้อันดับ 2 (การขายสินค้าหรือการบริการผ่าน Social Media )

การขายสินค้าหรือการบริการผ่าน Social Media เป็นการพลิกโฉมจากการซื้อสินค้าในแพลตฟอร์ม E-Commerce จากขายสินค้าบนเว็บไซต์มาสู่การขายเสมือนจริงเพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับประสบการณ์เสมือนว่าซื้อสินค้าจากภายในห้างสรรพสินค้าจริง ซึ่งสินค้าในโลกเสมือนนั้นมีสินค้าจริงในโลกแห่งความเป็นจริงด้วยจึงสามารถจัดส่งให้ผู้ใช้บริการได้ในโลกแห่งความเป็นจริง สิ่งนี้ถือว่าเป็นส่วนเติมเต็มให้กับการขายของในระบบ E-Commerce เพราะทำให้ผู้ใช้บริการได้เห็นสินค้าเสมือนก่อนตัดสินใจสั่งซื้อสินค้า การขายเสมือนจริงสามารถสร้างรายได้ทั่วโลกสูงถึง 475 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 ในขณะที่การขายสินค้าหรือบริการผ่าน Social Media ในประเทศไทยในทุกหมวดหมู่ผลิตภัณฑ์อยู่ที่ 8.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่ารายได้จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 12.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 โดยตลาดในส่วนอิเล็กทรอนิกส์และสื่อ เป็นหมวดผลิตภัณฑ์ชั้นนำในประเทศไทยโดยมีส่วนแบ่งการตลาด 2.6 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และรองลงมาคือ หมวดของเล่น งานอดิเรก และ DIY ซึ่งสร้างรายได้ 1.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2025 อิเล็กทรอนิกส์และสื่อ จะยังคงเป็นหมวดหมู่ออนไลน์ที่มีผู้ซื้อมากที่สุด โดยมีมูลค่าประมาณ 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และอันดับสอง ได้แก่ ของเล่น งานอดิเรก และ DIY ที่คาดว่าจะมีมูลค่า 1.51 พันล้านดอลลาร์

การใช้จ่ายด้านการตลาดในประเทศไทยกระจายไปตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ ค่าโฆษณาดิจิทัล/อินเทอร์เน็ตค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับเครือข่ายอื่น ๆ (133 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) แบรนด์ต่าง ๆ ใช้จ่ายมากขึ้นในสื่อโฆษณาแบบดั้งเดิม เช่น โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์ โดยโทรทัศน์มีการใช้จ่ายในตลาดสูงสุดและเป็นเพียงสื่อเดียวที่โฆษณาที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

เราจะเห็นได้ว่าตลาดโฆษณาดิจิทัลหรืออินเทอร์เน็ต ยังมีแนวโน้มการเติบโตที่ไม่มากนัก แต่อย่างไรก็ตามแนวโน้มในการโฆษณาทางดิจิทัลก็ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในทุกปี นั่นหมายถึง หากในอนาคตเมื่อมีการใช้งาน Metaverse มากขึ้น ก็จะเกิดการขยายตลาด E-Commerce ที่มีการแข่งขันกันมากขึ้น

ช่องทาง E-Commerce ที่ทำออกมาได้ดี จะช่วยให้ลูกค้าใช้เวลาในการซื้อขายมากขึ้น รวมถึงมีค่าเฉลี่ยการสั่งซื้อเยอะขึ้นอีกด้วย ไม่เพียงแค่เรื่องนี้เพราะระบบโลกเสมือนนั้นจะช่วยปรับปรุงและเพิ่มศักยภาพให้กับแบรนด์ E-Commerce ในทุก ๆ ด้านในอนาคต

แนวทางความเป็นไปได้ทางการตลาดของ Metaverse

  • Metaverse ถือว่าเป็นโอกาสใหม่ของเจ้าของธุรกิจที่จะได้นำไปใช้นำเสนอสินค้ารวมถึง Content ที่ต้องการสื่อสารเช่น การติดต่อและนำเสนอสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรง ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงถือว่าเป็นโอกาสที่หาได้ยาก
  • การสร้างคำอธิบายผลิตภัณฑ์หรือบริการของร้านค้า การสร้างคำอธิบายสินค้า บทความเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการของร้านค้าบนพื้นที่ Metaverse ซึ่งสามารถออกแบบแนวคิดและสร้างสรรค์อย่างไร้ขีดจำกัดเพราะในโลกเสมือน โปรดักชั่นในการผลิตมัลติมีเดียมีหลากหลายรูปแบบที่จะนำเสนอ
  • เพิ่มโอกาสสำหรับการสร้างรายได้ใหม่ เช่น ค่าเช่าพื้นที่จัดงานหรือขายสินค้าและบริการในโลกเสมือน หรืออาจจะเป็นรายได้จากการเป็นตัวกลางการซื้อขายทรัพย์สินต่าง ๆ เพราะในโลกเสมือนเราอาจนำทรัพย์สินจริง ที่มีในคลังสินค้า มาทำการซื้อขายได้ด้วยในโลกเสมือน
  • การจัดทำโฆษณาเพื่อสื่อสารให้เข้าถึงลูกค้า เป็นส่วนที่ได้เปรียบกว่าการโฆษณาในโลกจริงมากเพราะ โลกเสมือนสามารถจัดสร้างวิธีการโฆษณาได้ทุกรูปแบบเพราะสามารถใช้มัลติมีเดียทุกชนิดในการสื่อได้และงบประมาณที่ใช้คือการใช้การสร้างจากกราฟิกเท่านั้น ทำให้สามารถควบคุมราคาได้ชัดเจน

แนวคิด Metaverse สามารถเข้ากับกลยุทธการตลาดดิจิทัลของร้านค้า เพราะจะสามารถดึงดูดความสนใจลูกค้าในช่องทางออนไลน์ได้และในโลกเสมือนลูกค้าจะสามารถสัมผัสสินค้าหรือบริการผ่านอวตารของพวกเขาผ่าน Smart Device ที่มีซอฟต์แวร์รองรับเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์โดยร้านค้าสามารถนำ Metaverse มาปรับใช้ในการทำโฆษณาและทำการตลาดออนไลน์

  • ใช้โปรโมตแบรนด์ของร้านค้าและมอบประสบการณ์ใหม่ที่น่าประทับใจให้แก่ผู้บริโภค ผ่านเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) Augmented Reality (AR) และ Mixed Reality (MR)
  • ใช้ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เช่น เปิดตัวสินค้า จัดคอนเสิร์ตเสมือนจริง จัดงานแฟชั่นโชว์ หรือฉายภาพยนตร์บนแพลตฟอร์มเสมือนจริง

ตัวอย่างแบรนด์เข้าสู่โลก Metaverse ในประเทศไทย

  • เมตาเวิร์ส ไทยแลนด์ (Metaverse Thailand)

บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) เป็นเจ้าแรกที่ริเริ่มธุรกิจซื้อขายที่ดินดิจิทัลในประเทศไทยในโลกเสมือนจริง โดยตั้งชื่อว่า Metaverse Thailand ซึ่งการซื้อขายพื้นที่แห่งนี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับพื้นที่ในโลกจริงแต่อย่างใด เมื่อครอบครองที่ดินดิจิทัลแล้วเจ้าของที่ดินจะสามารถสร้างสิ่งปลูกสร้าง ตึก ที่อยู่อาศัย ป้ายโฆษณา รวมถึงใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขายสินค้า ประชุมออนไลน์ พบปะสังสรรค์ ขายสินค้า NFT ได้ด้วย นอกจากนี้ เมื่อซื้อที่ดินนั้น ๆ แล้ว สินทรัพย์จะถูกเก็บอยู่ในรูปแบบ NFT และสามารถเปลี่ยนมือผู้ถือครองได้เช่นกัน [หน้าเว็บไซต์ www.metaversethailand.com]

  • นันยาง (Nanyang)

แบรนด์รองเท้าที่อยู่คู่คนไทยมานาน ล่าสุดก็ได้สร้างแลนด์มาร์คที่ชื่อว่า อาคารรองเท้าแตะ ในรูปแบบ NFT ณ พื้นที่ใน Metaverse Thailand โดยทางนันยางได้ออกแบบเครื่องหมายการค้าสำหรับโลกเสมือนจริง จากดาวหกแฉก เป็น กล่อง Hexagon และเปลี่ยนชื่อจาก ช้างดาว มาเป็น ช้างจักรวาล นอกจากนี้ ที่อาคารรองเท้าแตะยังสามารถทำธุรกรรมด้วย Cryptocurrency รวมไปถึง NFT ภายใต้เทคโนโลยี Blockchain ที่ตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่อีกด้วย

ผู้ที่สนใจทดลองเข้าใช้ Metaverse สามารถเข้าสัมผัสประสบการณ์ท่องโลกเสมือนผ่านผ่านเว็บไซด์ https://spatial.io/ ได้อย่างเต็มรูปแบบโดยไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์เสริม เพียงดำเนินตามขั้นตอนง่าย ๆ ที่แนะนำไว้บนเว็บไซต์

ช่องทางการเก็บสินทรัพย์บน Metaverse

เพื่อเพิ่มประสบการณ์การท่องโลกเสมือน จึงมีการคิดค้น MetaMask หรือ กระเป๋าเงิน Ethereum ที่ทำงานอยู่บน Web Browser เพื่อเก็บเหรียญหรือโทเค็นดิจิทัลไปซื้อขายหรือเล่นเกม NFT บน Application อื่นได้โดยที่ไม่ต้องผ่านตัวกลาง ผู้ที่สนใจสามารถอ่านรายละเอียดและขั้นตอนการสมัครเพิ่มเติมได้ที่ https://metamask.io/

หากเรามองว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของอนาคตที่จะมาถึงของ Metaverse การปรับตัวของ SME เพื่อความใกล้ชิดระหว่างแบรนด์ SME กับผู้บริโภค ย่อมเป็นก้าวที่สำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจ ดังนั้นการเตรียมตัวเข้าไปทดลองใช้งาน หรือการฝึกทักษะพื้นฐานในการซื้อขายสินค้า หรือการทำโฆษณาสินค้าใน Metaverse ย่อมเป็นการเตรียมตัวที่สำคัญเพื่อความพร้อม ที่จะรองรับฐานลูกค้ากลุ่มใหม่จาก Metaverse ทุกกลุ่ม ทั่วโลก

นายธีรชัย ศรีสุวงศ์

ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิง