ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา วงการสถาปัตยกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หลาย ๆ ท่านอาจจะจำยุคสมัยหนึ่งที่เรียกกันว่ายุค “สตาร์คิเท็ก” (Starchitects) ได้ ซึ่งเป็นการประสมคำว่า “Star” หรือดารา เข้ากับคำว่า “Architect” ที่แปลว่าสถาปนิก หมายความว่า ยุคนั้นคือยุคที่เศรษฐกิจค่อนข้างดี มีงานก่อสร้างผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ในยุคนั้นผู้ว่าจ้างนิยมจ้างสถาปนิกที่มีชื่อเสียงมาออกแบบ ด้วยรูปแบบการใช้องค์ประกอบทางสถาปัตยกรรมที่แปลกตาเป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะโครงการเชิงพาณิชย์ “สตาร์คิเท็ก” เหล่านี้ได้สร้างงานออกแบบจำนวนมาก ราวกับเป็น “ซุปเปอร์สตาร์” ในวงการบันเทิงจริง ๆ จนงานสถาปัตยกรรมที่มีรูปแบบเป็นเอกลักษณ์ของสถาปนิกแต่ละคนเกิดขึ้นเต็มไปหมด
ปัจจุบัน แม้ว่า “สตาร์คิเท็ก” เหล่านี้จะยังได้รับงานอยู่ เราก็เริ่มที่จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ “ยุคเปลี่ยนผ่าน” เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา แนวทางใหม่ ๆ อาทิ “สถาปนิกชุมชน” และ “สถาปนิกเพื่อสิ่งแวดล้อม” เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้น นักออกแบบที่ได้รับรางวัล และเป็นที่ยอมรับหลายท่าน คือกลุ่มคนที่ทำงานเพื่อสังคม อย่างเช่น Alejandro Aravena ที่ได้รับรางวัลสูงสุดในวงการสถาปัตยกรรมอย่าง Pritzker Architecture Prize หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง MASS Design Group ที่ทำงานร่วมกับองค์กรระดับโลกในการบริการสาธารณสุขพื้นที่ห่างไกล สถาปนิกนักออกแบบเหล่านี้ ไม่ใช่ผู้ที่มุ่งแต่ออกแบบโครงการเชิงพาณิชย์ที่ตอบโจทย์ผู้ว่าจ้างด้วยความหวือหวา หากเป็นนักออกแบบที่ทำงาน “ร่วมกับ” ชุมชน คนที่เขากำลังออกแบบให้ (Co-Creation) ดึงเอาความต้องการเชิงลึกของคนเหล่านั้นมาเป็นโจทย์ในการออกแบบ เพื่อให้งานออกแบบของตนส่งผลโดยตรงกับคุณภาพชีวิตของผู้ที่ด้อยโอกาส อาทิ อาคารผู้อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อย อาคารสาธารณะชุมชน สถานอนามัยท้องถิ่น หรือแม้แต่ที่พักผู้ประสบภัยธรรมชาติ เป็นต้น
จะว่าไปแล้วสาเหตุหนึ่งของการเข้าสู่ยุคเปลี่ยนผ่าน ก็อาจจะเป็นความ “ฮิปปี้” ของนักออกแบบรุ่นใหม่ ๆ ที่พร้อมที่จะตั้งคำถามกับสิ่งที่มีมาแต่เดิม และทดสอบสมมติฐานของตัวเองด้วยการทำงานที่ฉีกแนวออกไปจากกระแสหลัก ซึ่งมีในทุกยุคทุกสมัย แต่เหตุผลหลัก ๆ ของการเปลี่ยนผ่าน คงไม่พ้นความเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมของโลกของเราเอง เมื่อคนเริ่มตระหนักถึงความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม อันเนื่องมากจากการบริโภคมากเกินความจำเป็น ทรัพยากรที่เราเคยคิดว่าจะไม่มีวันหมดไป ก็เริ่มส่อแววว่าจะเป็นปัญหา มนุษย์ก็อดไม่ได้ที่จะเริ่มคิดถึงความสมเหตุสมผลของการ “สร้าง สร้าง สร้าง” โดยเฉพาะงานออกแบบสถาปัตยกรรมที่ส่งผลโดยตรงต่อสภาพแวดล้อม ในขณะเดียวกัน การชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ปัญหาจากภาวะการว่างงานและความเหลื่อมล้ำทางสังคม ก็เป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้วงการสถาปัตยกรรมต้องผลักดันตัวเองให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนอย่างชัดเจนถึงความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้น ระหว่างสถาปัตยกรรม กับเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
ผมต้องยอมรับว่า เมื่อครั้นผมเป็นนักเรียนในหลักสูตรปริญญาตรีทางด้านสถาปัตยกรรมเมื่อกว่ายี่สิบปีที่แล้ว ผมยังมองไม่เห็นความเกี่ยวพันกันอย่างแน่นแฟ้นดังกล่าวเท่าใดนัก แนวทางการสอนของหลักสูตรสถาปัตยกรรมสมัยนั้นเน้นความเชี่ยวชาญในสายวิชาชีพ ต้องเขียนแบบเป็น ต้องเข้าใจโครงสร้างอาคาร ต้องคำนวณค่าก่อสร้างเป็น ต้องจำกฎหมายอาคารได้ ผมเองก็เข้าใจว่าสถาปนิกคือ “ผู้รับจ้าง” ที่อยู่ปลายน้ำ ซึ่ง “ผู้ว่าจ้างที่อยู่ต้นน้ำ” ส่งโจทย์อะไรมาเราก็มีหน้าที่ทำไป มีความรับผิดชอบเพียงการทำหน้าที่ออกแบบให้กับผู้ว่าจ้างเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนเท่านั้นเอง นอกจากนั้นความเป็นสถาปนิกยังต้องมีลักษณะเป็น “เซลล์แมนผู้ขายฝัน” ขายสิ่งที่ขีด ๆ เขียน ๆ อยู่ในกระดาษ อยากให้ผู้ว่าจ้างนำไปสร้างจริง ซึ่งนั่นเองที่ทำให้นักเรียนสถาปัตย์ โดยเฉพาะในยุคนั้น เติบโตขึ้นมาเป็นสถาปนิกที่มุ่งที่จะ “สร้าง สร้าง สร้าง” ด้วยความคิดที่ว่ายิ่งได้สร้างเยอะก็จะยิ่งมีชื่อเสียง นำไปสู่การมีรายได้จากการเป็นปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทาน รับงาน “สร้าง สร้าง สร้าง” ต่อ ๆ ไป ยิ่งในช่วงที่เศรษฐกิจดีงานออกแบบจะเข้ามาเยอะ ไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยที่จะไปตั้งคำถามกับผู้ว่าจ้างว่าอยาก “สร้างไปทำไม?”
ผมเองก็อยู่ในวงจรนั้นอยู่ระยะหนึ่ง ผ่านไปหลายสิบปีกว่าจะมาถึง “จุดเปลี่ยนผ่าน” จากการเป็นสถาปนิกที่มุ่งแต่จะ “สร้าง สร้าง สร้าง” มาเป็นนักออกแบบที่ก้าวข้ามขั้นของ “ทำน้อยแต่ให้ได้มาก” (Less is More) ไปอีกขั้น คือ “ถ้าไม่จำเป็นจะไม่สร้าง” (No Design is the Best Design) ไปจนถึง “ถ้าจำเป็นจะต้องสร้าง จะต้องร่วมคิดร่วมสร้างด้วยกันกับผู้ว่าจ้าง” (Design is Co-Creation) สิ่งที่เริ่มทำให้ “ฉุกคิด” ได้ คือการได้เห็นอาคารหลายหลังที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงที่เศรษฐกิจดีถูกทิ้งร้าง ผนวกกับการได้รับรู้ถึงปริมาณของแรงงาน ทรัพยากร พลังงาน และอื่น ๆ มากมาย ที่ถูกใช้ไปกับการสร้างสิ่งเหล่านั้น “บางทีการที่สถาปนิกจะไม่สร้างอะไรเลย อาจจะสร้างปัญหาน้อยกว่าก็ได้” เพราะเบื้องต้นเลย ทุก ๆ ครั้งที่สถาปนิกสร้างอะไรก็ตามจะต้องมีการทำลายบางสิ่งบางอย่างก่อน ไม่ว่าจะเป็นการแผ้วถางที่ หรือสิ่งที่เคยอยู่บนพื้นที่นั้น ๆ หรือการที่จะได้มาซึ่งเหล็ก ปูน หรือ ไม้ที่ใช้ในการก่อสร้างนั้น จะต้องไปดึงเอาทรัพยากรธรรมชาติมาแปลรูปอย่างไม่เป็นธรรมชาติ ทำให้เกิดการเสียสมดุลในระบบนิเวศ เมื่ออาคารเหล่านั้นถูกปล่อยร้างก็หาใช่ว่าจะแปลรูปทรัพยากรเหล่านั้นคืนกลับไปให้กับระบบนิเวศได้ ณ เวลานี้นี่เองที่ทำให้ผมรู้สึกว่า ความรับผิดชอบของตัวสถาปนิกคือสิ่งที่สำคัญยิ่ง หาใช่การสักแต่จะ “สร้าง สร้าง สร้าง” เพื่อตอบสนองความต้องการที่จะได้รับค่าตอบแทนปลายน้ำของตัวเอง
จุดเริ่มต้นที่ทำให้ผมเริ่มศึกษา “เครื่องมือ” ของศาสตร์อื่น ๆ อย่างจริงจัง คือ สถานการณ์ที่ทำให้ผมได้รู้สึกถึง ”ความล้มเหลวอย่างสมบรูณ์แบบที่สุด” ในฐานะนักออกแบบ ครั้งหนึ่งผมมีส่วนร่วมในการออกแบบโครงการผู้อยู่อาศัยผู้มีรายได้น้อยโครงการหนึ่ง หลังจากการวิเคราะห์เชิงพื้นที่อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว ผม “มั่นใจที่สุด” ว่าปัญหาหลักของพื้นที่เดิม คือ ความแออัด ผมจึงได้ออกแบบโครงการใหม่ให้มีการเพิ่มพื้นที่ห้องของแต่ละครอบครัวในโครงการเป็นเท่าตัว ซึ่งผมมั่นใจว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างดี ทว่า ผลที่ได้ กลับกลายเป็นว่าความใหญ่ของพื้นที่ใหม่นั้นเองที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยเห็นโอกาสในการ “ซอยห้อง” เพื่อปล่อยให้เช่าเป็นการหารายได้เพิ่มเติม กลับกลายเป็นว่าโครงการใหม่ที่ผมมีส่วนในการออกแบบนั้นได้กลายเป็นชุมชนที่แออัดยิ่งไปกว่าเดิมเสียอีก ผลเสียที่ตามมา คือ คุณภาพชีวิตที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัดของผู้อยู่อาศัย ความเสี่ยงของการเกิดอัคคีภัยและอาชญากรรม การทะเลาะเบาะแว้งของผู้อยู่อาศัยที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งหากผมไม่ยอมให้ “อัตตา” (Ego) ของผมเข้าควบคุมกระบวนการทางความคิด และใช้เวลาเพื่อทำความเข้าใจบริบททางเศรษฐกิจและสังคม ได้ใช้เวลา “จับเข่าคุยกัน” กับผู้อยู่อาศัย และเห็นความต้องการเชิงลึกของพวกเขาเป็นระยะเวลานานกว่านี้ แทนที่จะคิดว่าตัวเองเป็น “สถาปนิกใหญ่” เป็นเซลล์แมนขายฝัน “สร้าง สร้าง สร้าง” ผมคงไม่พลาดไปสรุปอะไรง่าย ๆ ซึ่งส่งผลเสียอย่างมากมายดังที่กล่าวไป ความรับผิดชอบของสถาปนิกจะต้องมีมากกว่าแค่การออกแบบสำหรับเวลาใดเวลาหนึ่ง แต่จะต้องลากยาวไปถึง “สิ่งที่จะตามมา” ด้วย โดยเฉพาะหากสิ่งที่ออกแบบนั้นส่งผลเชิงลบต่อเศรษฐกิจ สังคม และ สภาพแวดล้อม ในระยะยาว
ด้วยความรู้สึกผิดในครั้งนั้น ซึ่งเป็นเหมือนหมุดที่ตอกลึกลงไปในใจว่าสถาปนิกจะต้อง “ไม่คิดเองคนเดียว” จะต้องมีส่วนในการร่วมกำหนดทิศทางของงานออกแบบที่มีผลต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผมจึงตั้งเป้าที่จะพัฒนาตัวเองด้วยการเรียนรู้ศาสตร์อื่น ๆ นอกเหนือไปจากสถาปัตยกรรม โดยเริ่มต้นที่ ปรัชญา และศีลธรรม ซึ่งโดยส่วนตัว ผมคิดว่าน่าจะเป็นเสาหลักของการเป็นสถาปนิกในยุคที่สถาปนิกต้องมีความรับผิดชอบในระยะยาวดั่งที่กล่าวมา นอกจากนั้นยังมี สังคมวิทยา มานุษยวิทยา จิตวิทยา เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ประวัติศาสตร์ภูมิภาคเอเชียตะวันออก ณ เวลานั้น ผมเข้าใจว่า ถ้าผมจะเป็นสถาปนิกที่มีความรับผิดชอบกว่าเดิม ผมต้องทำลายกำแพงเชิงทัศนคติเชิงอัตตา ที่มี และยอมที่ “กลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้ง” ในสาขาวิชาอื่น ๆ (แม้ว่าตอนนั้นจะอายุไม่น้อยแล้ว) ที่จะให้ประโยชน์ต่อการพัฒนามุมมอง ลดอัตตา และช่วยในการมองเห็นมิติที่หลากหลายขึ้นในวิธีคิดเชิงออกแบบของผม
การกลับไปเป็นนักเรียนอีกครั้งนี่เองที่ทำให้ผมก็ได้เข้าไปคลุกคลีกับการทำงานกับผู้คนในหลายศาสตร์ และสาขาวิชา ทำงานหลาย ๆ อย่างที่แตกต่างไปจากงานของสถาปนิกสายหลักอยู่ อาทิ ด้านการใช้เทคโนโลยี อาทิ เทคโนโลยีดิจิทัล ที่เผิน ๆ อาจจะดูเป็นสิ่งที่มาช่วยเสริมงานออกแบบ แต่แท้ที่จริงแล้วสามารถมาตอบโจทย์ของมนุษย์ได้แยบยลกว่าการก่อสร้างเสียอีก อย่างเช่น ระบบการสื่อสารทางไกล ที่จะทำให้ความจำเป็นในการก่อสร้างอาคารสำนักงานหรืออาคารที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะคนสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ หรือ ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนดิจิทัล (Digital Sharing Economy) ที่กำลังทำให้สิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่เดิมสามารถมีการใช้งานใหม่ ๆ เพื่อทำให้ใช้งานได้หลากหลายขึ้น อาคารหนึ่งหลังอาจจะทำหน้าที่หนึ่งตอนกลางวัน ทำอีกหน้าที่ตอนกลางคืน ลดความจำเป็นในการ “สร้าง สร้าง สร้าง” เป็นต้น
ในช่วงแรก ๆ ของการกลับมาทำงานในสายงานของสถาปนิกสายหลักนั้น ผมไม่กล้าที่จะออกแบบอะไรเลย เพราะความรู้สึกที่ว่า “ยิ่งรู้มากก็ยิ่งกลัวมาก” ผมกลัวว่าสิ่งที่ตนเองกำลังจะออกแบบให้กับสังคมนั้นอาจจะกลายเป็นซากปรักหักพัง เหมือนกับอาคารที่ถูกทิ้งร้าง ซึ่งความกลัวนั้นเองเป็นพื้นฐานที่ทำให้การทำงานปัจจุบันของผมไม่ได้มุ่งเน้นที่การ “สร้าง สร้าง สร้าง” หากเป็นการเข้าใจความจริงที่ว่า สิ่งก่อสร้างไม่ใช่ทุกอย่าง สถาปนิกเองสามารถทำความดีได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมของคน อาคารที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอาจจะไม่ใช่อาคารที่มีเทคโนโลยีการประหยัดพลังงานที่ล้ำสมัย แต่เป็นอาคารที่ผู้อยู่อาศัยใช้ชีวิตร่วมกับสภาพแวดล้อม ยกตัวอย่าง เช่น ชุมชนผู้มีรายได้น้อยที่ผมเคยเข้าไปศึกษา ซึ่งมี “ค่าน้ำ และค่าไฟศูนย์บาท” เพราะคนที่นั่น ตื่นแต่เช้า ทำงานตอนกลางวัน ใช้ประโยชน์จากแสงอาทิตย์ให้มากที่สุด และเมื่อพลบค่ำ พอแสงอาทิตย์หมด ก็เข้านอน ไม่มีการใช้พลังงานเกินความจำเป็น น้ำฝนก็รองเก็บมาใช้อย่างประหยัด ขยะในครัวเรือนที่มีก็เก็บหมักทำปุ๋ยเพื่อนำมาใช้กับผักสวนครัวที่ปลูกเอง อีกทั้ง การที่ชุมชนอยู่ด้วยกันอย่างหนาแน่นก็ทำให้รู้จักกันดี เป็นหูเป็นตาให้กันและกัน ระดับที่ว่าไม่รู้จะมีกล้องวงจรปิดไปเพื่ออะไร เพราะไม่มีมิจฉาชีพหน้าไหนจะผ่านหูตาของชุมชนนี้ซึ่งช่วยกันสอดส่องไปได้ ซึ่งก็คือการ “ทำแต่น้อยเพื่อให้ได้ผลให้มาก” แต่ที่แยบคายไปยิ่งกว่านั้นในตัวอย่างของชุมชนที่ยกให้เห็นภาพ คือการออกแบบที่แทบจะไม่ต้องสร้างอะไรเลย แต่ได้ผลมากที่สุด
ด้วยความที่ว่าผมจะเป็นคนขี้สงสัยมาตั้งแต่เด็ก และไม่ปักใจเชื่ออะไรเพียงเพราะว่าบอกต่อกันมา ผนวกกับความที่ผมเป็นคนหัวไม่ดี เรียนช้า ผมจึงรู้ตัวว่า เพื่อที่จะรู้อะไรสักอย่าง ที่คนอื่นอาจจะใช้เวลาเพียงน้อยนิด ผมจะต้องใช้ความพยายามในการศึกษา เรียนรู้ มากกว่าคนอื่นหลายเท่านัก ผมขอบคุณการเรียนการสอนในโรงเรียนสถาปัตยกรรมเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนที่ทำให้ผมเป็นคนที่ “รักในกระบวนการการทดลอง ทดสอบ และการทำซ้ำ” (Iterative Process) ที่ทำให้ผมเข้าใจว่า กว่าได้มาซึ่งงานออกแบบที่น่าพอใจ ผู้เรียนจะต้องทำแบบครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อจะทดสอบสมมติฐานของตัวเอง ถ้าอยากจะรู้ว่าอะไรเป็นไปได้ไหมก็ทดลองทำหุ่นจำลองเพื่อทดสอบแทนที่จะมาถกเถียงกัน
สิ่งที่ผมเรียนรู้เพิ่มเติมวนช่วงหลายสิบที่ออกจากโรงเรียนสถาปัตยกรรมมา คือ จะออกแบบอะไรก็ตามจะต้อง “เอาใจเขามาใส่ใจเรา” เอาตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ชีวิตของคนที่เรากำลังจะ “ร่วมทดสอบสมมติฐาน” ของงานออกแบบร่วมกัน ซึ่งผมมาทราบทีหลังว่ากระบวนการดังกล่าว เป็นพื้นฐานสำคัญของกระบวนการคิดเชิงออกแบบ หรือ ที่รู้จักกันในชื่อ “Design Thinking” ซึ่งเป็นกระบวนการออกแบบที่ได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบันและเป็นเบื้องหลังความสำเร็จของหลาย ๆ ผลิตภัณฑ์และบริการที่เราใช้กันอยู่ทุกวัน
แม้ว่าในปัจจุบันผมจะแทบจะไม่ได้ทำงานเป็นสถาปนิกอีกแล้ว (คือ ไม่ได้ “สร้าง สร้าง สร้าง”) ทว่า ผมก็ยังรู้สึกถึงจิตวิญญาณความเป็นนักออกแบบ อันเนื่องมาจากการมุ่งให้ความสำคัญกับประโยชน์ทีแท้จริงที่คนจะได้รับในงานออกแบบของเรา รวมไปถึงความรักในกระบวนการการทำงานออกแบบที่ต้อง ทดสอบ ทดลอง หลาย ๆ ครั้งก่อนที่จะนำไปใช้จริง ซึ่งความเป็น “สหวิทยาการ” (Interdisciplinary) หรือการผูกหลาย ๆ ศาสตร์เข้ามาด้วยกันในการออกแบบ ทำให้ผมได้เข้าใจถึงมิติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานออกแบบ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ชีวิตของนักออกแบบนั้นซับซ้อนขึ้น – และสนุก กว่าเดิม
โดย ดร. นนท์ อัครประเสริฐกุล
ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล