บริการ
TH
EN
TH
CN

Data Analytics กับ COVID-19: โควิดไทยจะไปไกลขนาดไหน?

จากข้อมูลตามแถลงการณ์ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ในวันที่ 14 เมษายน 2563 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีอัตราการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หายป่วยสูงกว่าอัตราการพบผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) รายใหม่ โดยมีแนวโน้มที่อัตราการรักษาอัตราการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งอาจจะสื่อได้ว่าในระยะยาวผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ควรจะหมดไปจากประเทศไทย แต่จากข้อมูลของประเทศที่มีพัฒนาการการจัดการกับไวรัส COVID-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่น จีน, ไต้หวัน, และ เกาหลีใต้ พบว่าแนวโน้มการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงมีแนวโน้มการแพร่ระบาดเช่นเดิม

บทความนี้จะนำข้อมูลพฤติกรรมการระบาดของโรค ของทั้ง 3 ประเทศมาวิเคราะห์ให้เห็นแนวโน้มอนาคตที่อาจเป็นไปได้ (บนพื้นฐานของข้อมูลล้วน ๆ) พร้อมทั้งอภิปรายพฤติกรรมของประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ผู้เขียนไม่ใช่แพทย์และไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข สิ่งที่วิเคราะห์และอภิปรายในบทความนี้ อยู่บทพื้นฐานของตัวเลขและสถิติ ล้วน ๆ คล้ายกับการที่นักวิเคราะห์พฤติกรรมหุ้น ไม่ทราบข้อมูลเชิงลึกของกิจการและไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญในธุรกิจนั้น ๆ

1. สถานะปัจจุบันของการระบาดของ COVID-19 ประเทศไทย ไทยตัวเลขมีเสถียรภาพ คุมการติดเชื้อได้ดี

โดยเมื่อพิจารณาตัวเลขติดเชื้อเทียบต่อประชากร (1 ล้าน) สูงขึ้นเล็กน้อยในช่วง 6 วัน (5 ถึง 14 เมษายน) โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาค จะยิ่งเห็นได้ชัดว่าไทยสามารถบริหารจัดการ ได้ดีมาก โดย ณ วันที่ 14 เมษายน ไทยมีจำนวนผู้ติดเชื้อ (ต่อประชากร 1 ล้านคน) ต่ำกว่า ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และ เกาหลีใต้ และเมื่อพิจารณาอัตราการรักษาหายจากโรค พบว่าไทยเองก็อยู่ในระดับที่ดีกว่า ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไต้หวัน ตารางที่ 1 และ 2 แสดงข้อมูลสถิติในรายละเอียดแยกตามประเทศและวันที่

ตารางที่ 1 จำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 ของบางประเทศ (คนต่อประชากร 1 ล้านคน)

วันที อัตราการรักษาหาย %
ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน
5 เมษายน 31.1 23.3 208.5 197.7 15.0 58.3
9 เมษายน 36.4 37.1 284.6 201.3 16.1 58.4
11 เมษายน 38.8 42.5 369.6 202.4 16.2 58.5
14 เมษายน 39.3 61.7 511.6 204.0 16.7 58.7


ตารางที่ 2 อัตราการรักษาหาย COVID-19 ของบางประเทศ (%)

วันที อัตราการรักษาหาย %
ไทย ญี่ปุ่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน จีน
5 เมษายน 29.6 17.5 25.0 14.1 63.1 94.2
9 เมษายน 38.8 13.5 25.0 21.1 66.9 94.5
11 เมษายน 45.1 13.35 23.3 23.8 69.1 94.6
14 เมษายน 53.8 10.3 20.1 31.6 71.3 94.5


ในตารางที่ 2 เมื่อเน้นพิจารณาไทยเพียงประเทศเดียว จะเห็นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดเชื้อ (คิดเป็น %) อยู่ในอัตราที่ลดลงเรื่อย ๆ คือ 17% (5 เทียบกับ 9 เมษายน), 6.6% (9 เทียบกับ 11 เมษายน), 1.3% (11 เทียบกับ 14 เมษายน)

ในเมื่ออัตราการรักษาหายนั้นสูงกว่าอัตราการเกิดผู้ป่วยเช่นนี้ ย่อมคาดการณ์ได้ว่า ผู้ป่วยโควิด ควรจะหมดจากประเทศไทยในไม่ช้า เพื่อหาคำตอบ เราจะลองพิจารณาข้อมูลพฤติกรรมการแพร่ระบาดโรคโควิด ใน 3 ประเทศหลัก ซึ่งมีวิวัฒนาการไปไกลในระดับแถวหน้าของโลก 3 ประเทศ คือ จีน เกาหลีใต้ และไต้หวัน

2. กราฟพฤติกรรมการแพร่ระบาดของ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และ จีน บ่งชี้ว่าการทำให้ผู้ป่วยโควิดเป็นศูนย์คงเป็นไปได้ยาก

การวิเคราะห์เปรียบเทียบจะใช้กราฟ logarithmic scale เป็นหลัก ซึ่งมีความเหมาะสมในการนำมาวิเคราะห์อัตราการแพร่ระบาดของโรค โดยเฉพาะกรณีคิดตัวเลขผู้ติดเชื้อสะสม ซึ่งตัวอย่างสถานการณ์ เช่น แม้จำนวนผู้ติดเชื้อที่แม้จะเพิ่มเท่า ๆ กันทุกวัน แต่ก็ต้องถือว่ามีอัตราการแพร่กระจายช้าลง เพราะฐานของผู้ติดเชื้อ (ผู้แพร่กระจายเชื้อ) นั้นใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ หากใช้ กราฟแท่งที่เป็น linear scale ธรรมดาจะไม่สามารถรองรับกรณีเช่นนี้ได้ เพราะจะเห็นอัตราการเพิ่มคงที่

ลองพิจารณากราฟตามลำดับดังนี้ โดยคำอธิบายจะฝังอยู่ในหน้ากราฟ เพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจและติดตาม ประเทศไทย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และ จีน

สำหรับกราฟแรก ที่แสดงพฤติกรรมการแพร่ระบาดในประเทศไทย จะเห็นว่ามีเส้นประ 4 เส้น ซึ่งผู้เขียนได้สร้างไว้ เพื่อใช้ชี้ประเด็นให้เห็นพฤติกรรม 4 พฤติกรรม เส้นซ้ายสุดคือช่วงแรกที่เริ่มเกิดการระบาด ซึ่งค่อนข้างเป็นเส้นที่มีความชันต่ำ เนื่องจากจำนวนผู้ติดเชื้อเริ่มต้นยังน้อย และยังไม่มีการแพร่ระบาดในสถานที่ชุมชน ส่วนเส้นถัดมาจะเริ่มเห็นความชันเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนและรวดเร็ว ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมที่เรียกว่า super spreader คือ ผู้ติดเชื้อเพียงไม่กี่รายที่เข้าไปอยู่ร่วมกับผู้ไม่มีเชื้อในสถานที่ชุมนุมชน (เช่น สนามแข่งขันกีฬา) ก็จะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้ผู้อื่นรอบข้างได้เป็นจำนวนมากหลายเท่าตัว และเมื่อถึงประมาณวันที่ 22 มีนาคม ซึ่งเริ่มมีการตื่นตัว เช่น สังคมเริ่มตระหนักการแพร่กระจายเชื้อจากในที่ชุมนุม และมีคำสั่งไม่ให้จัดการแข่งขันหรือชุมนุมด้านกีฬาอีก เช่น สนามมวยลุมพินีประกาศจัดการแข่งขันในวันที่ 14 มีนาคม เป็นวันสุดท้าย และบางสนามมวยยุติการจัดตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว เนื่องจากการกีฬาแห่งประเทศไทยมีคำสั่งให้งดจัดตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม อีกทั้งเริ่มมีการยุติการให้บริการสายการบินถึง 9 เส้นทาง เริ่มตั้งแต่ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน คือ 24-26 มีนาคม จึงเริ่มส่งผลให้เห็นเส้นประเส้นที่ 3 ที่มีความชันลดลง และเส้นประเส้นที่ 4 ซึ่งมีความชันลดลงไปอีก และมาตรการล่าสุด (เมื่อ 2 เมษายน) รัฐบาลมีมาตรการที่เข้มข้นขึ้นอีก คือ การประกาศเคอร์ฟิวห้ามออกนอกเคหะสถานในช่วง 22:00 ถึง 04:00 น. อีกทั้งยังมีประกาศงดห้ามการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั่วประเทศ ทั้งนี้ผู้เขียนเชื่อว่าระยะครึ่งหลังของเดือนเมษายน ประเทศไทยน่าจะมีสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 ที่ยังคงอยู่ในสถานะที่ความควบคุมได้

รูปที่ 1 พฤติกรรม การระบาดของ COVID-19 ในไทย

รูปที่ 2 พฤติกรรม การระบาดของ COVID-19 ในเกาหลีใต้

รูปที่ 3 พฤติกรรม การระบาดของ COVID-19 ในไต้หวัน

รูปที่ 4 พฤติกรรม การระบาดของ COVID-19 ในจีน

จากกราฟในรูปที่ 2, 3 และ 4 (แสดงพฤติกรรมการระบาดใน เกาหลีใต้ ไต้หวัน และ จีน) จะพบว่า ทั้ง 3 ประเทศ ต่างก็ดูเหมือนจะเข้าสู่สถานะอิ่มตัว คือ สัดส่วนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีน้อยมาก (เทียบกับฐานจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม) อย่างไรก็ตาม แม้จะเข้าสู่ระยะเวลาอิ่มตัวเป็นเวลานาน (เช่น เกาหลี มีเส้นกราฟเกือบเป็นเส้นราบยาวนานตั้งแต่ 4 มีนาคม และจีน มีเส้นกราฟเกือบเป็นเส้นราบยาวนานตั้งแต่ 11 กุมภาพันธ์) และนอกจากอัตราจำนวนผู้ติดเชื้อต่ำแล้ว ยังมีอัตราการรักษาหายสูง (จีน 94% และ เกาหลี 69%) ก็ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยโควิดรายใหม่ ให้เป็น “ศูนย์” ได้ถาวร เช่น ณ วันที่ 13 เมษายน ยังพบว่า เกาหลีใต้ ไต้หวัน และจีน มีรายงานยอดผู้ติดเชื้อ 25 ราย (จากยอดสะสม 10,564), 5 ราย (จากยอดสะสม 393) และ 89 ราย (จากยอดสะสม 82,249) ตามลำดับ และเมื่อคิดเป็น % จะได้ 0.24% (เกาหลี), 1.3% (ไต้หวัน) และ 0.11% (จีน) ตามลำดับ

สรุป

จากข้อมูลของ 3 ประเทศดังกล่าว พออนุมานได้ว่าไทย (และประเทศอื่น ๆ) เองอาจจะต้องเผชิญสถานะการณ์แบบเดียวกันคือ สามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลงได้จนต่ำมากเทียบกับฐานผู้ติดเชื้อทั้งหมด แต่ไม่สามารถทำให้เป็นศูนย์ได้ หรือ ต้องใช้ระยะเวลานานมากกว่าจะเป็นศูนย์ ซึ่งอาจนานจนกระทั่งได้วัคซีนหรือยารักษาโรค และเมื่อถึงเวลานั้น COVID-19 จะกลายเป็นโรคท้องถิ่นชนิดหนึ่งในลักษณะเดียวกับไข้หวัดใหญ่ หรือ วัณโรค ที่ติดต่อได้ง่าย มีอันตรายแต่สามารถรักษาหรือฉีดวัคซีนป้องกันได้


โดย นายมนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม ฝ่ายส่งเสริมเมืองอัจฉริยะ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล


อ้างอิงจาก