ภาคการเกษตรถือเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่มีบทบาทสำคัญต่อประเทศไทย เนื่องจากมีแรงงานที่ประกอบอาชีพในภาคการเกษตรกว่าร้อยละ 30 ของแรงงานไทยในทุกอุตสาหกรรม อย่างไรก็ตาม ภาคการเกษตรไทยยังคงเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาในภาคเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างตลอดห่วงโซ่อุปทานของการผลิตสินค้าการเกษตร อาทิ ปัญหาความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรน้ำที่ยังไม่ทั่วถึงเกษตรกรกว่าครึ่ง ปัญหาเกษตรกรถึงร้อยละ 40 ยังมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกินไม่สมบูรณ์หรือยังไม่มีที่ดินเป็นของตนเอง และที่ดินทำกินของเกษตรกรส่วนใหญ่ยังมีขนาดเล็ก ปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัยในภาคเกษตร ปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นและรายได้ที่ผันผวนซึ่งส่วนหนึ่งมาจากโครงสร้างตลาดที่มีลักษณะห่วงโซ่อุปทานที่ยาวและแข่งขันไม่สมบูรณ์ (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, วิษณุ อรรถวานิช, ภูมิสิทธิ์ มหาสุวีระชัย, กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และจิรัฐ เจนพึ่งพร, 2562, น. 2-3)
จากปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าว สามารถบรรเทาได้ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตรหรือที่เรียกว่าเทคโนโลยีเพื่อการเกษตร (AgTech) สำหรับบทความฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาบทบาทของ Agtech ของไทยต่อการบรรเทาปัญหาภาคเกษตรไทยตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยพิจารณา AgTech ของไทยจากตลาดแอปพลิเคชันเพื่อการเกษตร จากการสืบค้นแอปพลิเคชันใน Play Store ด้วยคำค้นว่า “เกษตร” (ลัทธพร รัตนวรารักษ์, โสมรัศมิ์ จันทรัตน์, ชนกานต์ ฤทธินนท์, บุญธิดา เสงี่ยมเนตร, อุกฤษ อุณหเลขกะ, รัสรินทร์ ชินโชติธีรนันท์ และกัมพล ปั้นตะกั่ว, 2562) และคำค้นว่า “Agri” เพื่อสืบค้นแอปพลิเคชันของไทยเพิ่มเติม ร่วมกับตัวอย่าง AgTech ที่ทางสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ได้ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาต่อยอดธุรกิจภายใต้มาตราการส่งเสริมและสนับสนุนของดีป้า
ผลการศึกษา พบว่า แอปพลิเคชันของไทยที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรจากการสืบค้นใน Play Store มีทั้งสิ้น 111 แอปพลิเคชัน (ข้อมูล ณ เดือนเมษายน 2563) ส่วนใหญ่เป็นแอปพลิเคชันในการให้ความรู้ทางด้านการเกษตร (อาทิ คู่มือการเพาะปลูก ราคาสินค้าเกษตร) ข่าวสารในภาคเกษตรและฐานข้อมูลเกษตรกรรม ขณะที่แอปพลิเคชันด้านการเงิน อาทิ การให้บริการธุรกรรมทางการเงินของเกษตรกรยังพบค่อนข้างน้อย อีกทั้ง ยังไม่พบแอปพลิเคชันที่ส่งเสริมศักยภาพการแปรรูปสินค้าเกษตรและแอปพลิเคชันที่ให้บริการครบวงจรตลอดห่วงโซ่อุปทาน สำหรับตัวอย่าง Agtech ที่สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ดีป้า ให้การส่งเสริมและสนับสนุนนั้นจะเป็น Agtech ที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพการใช้ปัจจัยการผลิตและการผลิตสินค้าเกษตร อาทิ Tevada Corp และ HG Robotics (ผู้ให้บริการโดรนเพื่อการเกษตร) หรือ Komomi และ SPsmartplants (ผู้ให้บริการด้านการนำเทคโนโลยีอัจฉริยะ โดยเฉพาะเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) มาประยุกต์ใช้ในการดูแลกระบวนการผลิตและผลผลิตทางการเกษตร)
หมายเหตุ: กรอบสี่เหลี่ยมสีเหลือง คือ ตัวอย่าง AgTech ที่สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ดีป้า ให้การส่งเสริมและสนับสนุน
อีกทั้ง เมื่อพิจารณาฟังก์ชันพื้นฐานของแอปพลิเคชันจากการสืบค้นใน Play Store และตัวอย่าง AgTech ที่สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น ดีป้า ให้การส่งเสริมและสนับสนุน พบว่า มีฟังก์ชันค่อนข้างครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตร ยกเว้นกิจกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตร โดยในที่นี้จะยกตัวอย่างฟังก์ชันและแอปพลิเคชันตลอดห่วงโซ่อุปทาน ดังนี้
จากผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ AgTech ในการช่วยบรรเทาปัญหาภาคเกษตรไทยซึ่งเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างผ่านความสามารถของ AgTech ในด้านต่าง ๆ อาทิ ความสามารถในการพยากรณ์อากาศ ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกษตรกรต้องเผชิญในขณะทำการเพาะปลูก ความสามารถในการเป็นปัจจัยการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐาน อาทิ โดรนด้านการเกษตร ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตรซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากปัญหาการเข้าสู่สังคมสูงวัย ความสามารถในการวางแผนการเพาะปลูกและระบบปฏิบัติการเกษตรอัจฉริยะ ผ่านการวางแผนและบริหารจัดการทรัพยากรทางการเกษตรอย่างมีประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งช่วยบรรเทาปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูง การเข้าถึงทรัพยากรน้ำและที่ดิน ความสามารถในการเป็นช่องทางการตลาดออนไลน์ ซึ่งเกษตรกรสามารถใช้ช่องทางดังกล่าวทำการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรได้โดยตรง ลดการพึ่งพิงพ่อค้าคนกลาง ส่งผลให้รายได้เกษตรกรมีความผันผวนน้อยลง โดยทั้งหมดของบทความฉบับนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า Agtech เปรียบเสมือนกุญแจดอกสำคัญที่เข้ามาช่วยปลดล็อกบางปัญหาของภาคเกษตรไทยลง ส่งเสริมการพัฒนาภาคเกษตรไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนสืบไป
หมายเหตุ: การจัดหมวดหมู่แอปพลิเคชันและฟังก์ชันของ Agtech ของไทยตามแต่ละกิจกรรมในห่วงโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตรที่ปรากฏในบทความฉบับนี้เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเท่านั้น ซึ่งการจัดหมวดหมู่ดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงจากในบทความฉบับนี้ได้ โดยขึ้นอยู่กับการให้คำนิยามและดุลยพินิจของแต่ละปัจเจกบุคคล
โดยกิตติพศ หวังรัตนภักดี
ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
เอกสารอ้างอิง