Data หมายถึง การรวมกันของข้อมูลปริมาณมาก ๆ (เช่นจากคน หรืออุปกรณ์จำนวนมาก) ที่เกิดขึ้นเร็ว (เช่นสายข้อมือตรวจวัดข้อมูลสุขภาพตลอดเวลา) และมีความหลากหลาย (เช่น รูปภาพ เสียง ข้อความ ตัวเลข) . ปัจจุบันที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูล มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต่าง ๆ ต้องพึ่งพิงข้อมูล หาช่องทางประมวลผลใช้ประโยชน์จาก Big Data เพื่อประกอบการตัดสินใจ ไม่อาจใช้เพียงความรู้สึก หรือประสบการณ์ส่วนตัวมาตัดสินใจอีกต่อไป . ในยุคของ Big Data ซึ่งข้อมูลดิจิทัลเกิดขึ้นมหาศาลจึงมีความจำเป็นอย่างมากที่องค์กรต้องตระหนักการใช้ประโยชน์จากข้อมูล (ซึ่งอาจจะได้มาจากภายในหรือภายนอก) ให้คุ้มค่า นำมาใช้วางแผน วางกลยุทธ์ ติดตามผล ตลอดจนวิเคราะห์หาโอกาสใหม่ทางธุรกิจ . ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก Big Data สำหรับภาคเอกชน เช่น เว็บไซต์อี-คอมเมิร์ช ที่คอยจัดเก็บพฤติกรรมการซื้อสินค้า (Big Data) ของลูกค้าอยู่ตลอด และมีระบบที่ทำหน้าที่คัดเลือกสินค้าอื่นที่สอดคล้องหรือคาดว่าลูกค้าจะต้องการเพิ่มเติม แล้วนำเสนอขึ้นมาให้โดยอัตโนมัติบนหน้าเว็บไซต์อี-คอมเมิร์ช ที่ลูกค้ารายนั้นเปิดขึ้นมา ทั้งนี้มีความจำเพาะไม่จำเป็นต้องเหมือนกันในลูกค้าแต่ละคน ซึ่งเมื่อสังเกตดูจะพบว่าจำเป็นต้องมีการเก็บข้อมูลชื่อ ที่อยู่ เพศ เชื้อชาติ อายุ ประวัติการซื้อสินค้า (เช่น ชนิดสินค้า เวลาที่ซื้อ มูลค่าสินค้า) นำมาวิเคราะห์จับคู่กับสินค้าอื่นที่มีศักยภาพ ทั้งนี้ เงื่อนไขหรือสูตรการจับคู่อาจแตกต่างกัน ไปตามประชากรในแต่ละประเทศ สังคมหรือวัฒนธรรม และจะทราบได้ก็ต่อเมื่อมีข้อมูลปริมาณมากมาวิเคราะห์ . ตัวอย่างการใช้ประโยชน์จาก Big Data สำหรับภาครัฐ เช่น รัฐบาลต้องการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย แต่แทนที่จะช่วยเหลือโดยให้เงินอุดหนุนที่เท่าๆ กันแบบปูพรมทั้งประเทศ ก็นำ Big Data (ข้อมูลจากแหล่งต่างๆ) มาใช้ชี้จำเพาะว่าบุคคลใดที่ถือว่ามีรายได้น้อย พร้อมทั้งกำหนดระดับและลักษณะความช่วยเหลือที่แตกต่างกัน เช่น ผู้มีรายได้น้อยที่สูงอายุ ขาพิการ และต้องอยู่กับบ้านให้ลูกหลานดูแล รัฐอาจช่วยโดยสนับสนุนขาเทียม ให้คูปองเข้ารับการทำกายภาพบำบัด พร้อมทั้งเลือกอาชีพที่เหมาะสมกับภายภาพของผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังฝึกอาชีพให้กับลูกหลานพร้อมทั้งจับคู่กับแหล่งงานที่อยู่ใกล้เคียงกับที่พักอาศัยของลูกหลานเพื่อความสะดวกและเพิ่มรายได้ นอกจากนี้ยังติดตามและเสนอโอกาสฝึกอาชีพใหม่ๆ เพิ่มเติมเพื่อให้มีรายได้ที่สูงขึ้นและพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น ซึ่งถ้าวิเคราะห์ดูจะเห็นว่าจำเป็นต้องได้การเชื่อมโยงกับหลายแหล่งข้อมูล เช่น สาธารณสุข ทะเบียนราษฎ์ ที่ตั้งของธุรกิจ สถานบำบัด (หรือโรงพยาบาล) สถานะการจ้างงาน เป็นต้น ข้อมูลโดย ดร. มนต์ศักดิ์ โซ่เจริญธรรม; ผู้เชี่ยวชาญพัฒนาโครงการดิจิทัลและนวัตกรรมอาวุโส และรักษาการ ผอ.ฝ่ายส่งเสริมแพลตฟอร์มและบริการดิจิทัล