บริการ
TH
EN
TH
CN

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ในนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้ Big Data

ภาพรวมของนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้ Big Data

ในโลกยุคดิจิทัลคำว่า Big Data มักเป็นคำที่พบเห็นได้บ่อยครั้ง จากหลากหลายสถานการณ์ ซึ่งเป็นที่เข้าใจในความหมายโดยทั่วกันว่าหมายถึงข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีการเพิ่มขนาดอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง ข้อมูลเหล่านั้นสามารถส่งผ่านและนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรวดเร็ว มีความหลากหลาย ทั้งจากแหล่งที่มาและโครงสร้างของข้อมูล ตลอดจนเป็นข้อมูลที่ยังขาดความชัดเจนอันเนื่องมาจากขนาด ความเร็ว และความหลากหลายของข้อมูลนั้น ทำให้ต้องมีการตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งปัจจุบันนี้ได้มีการนำ Big Data มาใช้ในการขับเคลื่อนการทำงานของระบบดิจิทัลต่าง ๆ เรียกได้ว่าเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่ายิ่งของระบบดิจิทัล เช่น ภาครัฐใช้ Big Data ในการวางแผนเศรษฐกิจของประเทศ อันนำไปสู่แนวนโยบายที่จะช่วยขับเคลื่อนและหนุนเสริมภาคธุรกิจ การนำ Big Data มาใช้งานในรูปแบบ Google map การใช้ Big Data ข้อมูลสุขภาพอนามัยเพื่อประโยชน์ทางการรักษา วิเคราะห์ หรือทำนายการเกิดโรค การทำการตลาดออนไลน์โดยอาศัย Big Data พฤติกรรมการบริโภคสินค้าของลูกค้า การนำ Big Data มาใช้วิเคราะห์หุ้นเพื่อการตัดสินใจลงทุน ฯลฯ ตัวอย่างดังกล่าวนี้ชี้ให้เห็นได้ว่า Big Data เป็นรากฐานของนวัตกรรมที่มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม อีกทั้งยังเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์นักลงทุนหรือผู้บริโภคในวงกว้างได้อย่างดียิ่ง

ทรัพย์สินทางปัญญาที่เกิดจาก Big Data

เมื่อพิจารณาถึงการจัดทำ Big Data จะเห็นได้ว่าผู้จัดทำจำเป็นต้องทราบถึงข้อมูลที่จะเก็บรวบรวม xประเภทของข้อมูล แหล่งข้อมูล วิธีการจัดเก็บ การใช้ประโยชน์ ตลอดจนเหตุผลในการจัดเก็บข้อมูล คำตอบของคำถามเหล่านี้ล้วนนำไปสู่การประยุกต์และสร้างสรรค์การทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และคอมพิวเตอร์ และมีความเกี่ยวข้องกับสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาหลายประเภท ทั้งงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น งานวรรณกรรมซึ่งรวมถึงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ งานภาพถ่าย ภาพวาด ฯลฯ การออกแบบเครื่องหมายการค้า ความลับทางการค้าที่อยู่ในชุดข้อมูล Big Data อีกทั้งโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Big Data ยังสามารถนำมาพัฒนาต่อยอดการออกแบบอัลกอริทึมเพื่อนำ Big Data มาใช้ประกอบเป็นชิ้นงานแมชีน เลิร์นนิ่ง (Machine Learning) และหรือปัญญาประดิษฐ์ (Artificial intelligent) ซึ่งนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอาจได้รับความคุ้มครองเป็นสิทธิบัตรการประดิษฐ์ต่อไปได้ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การนำ Big Data มาใช้ในการสร้างสรรค์นวัตกรรมนั้น ก็มีข้อถกเถียงบางประการว่า ชิ้นงานที่สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นจะได้รับการคุ้มครองในรูปแบบของงานอันมีลิขสิทธิ์ หรือจะเป็นชิ้นงานที่สามารถขอรับสิทธิบัตรได้ เนื่องจากการใช้ Big Data มีความเกี่ยวข้องกับซอฟต์แวร์เป็นสำคัญ ซึ่งตัวซอฟต์แวร์ที่ได้มีการแสดงออกถึงระดับความสร้างสรรค์อย่างเพียงพอ (Originality) ก็จะได้รับการคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์โดยอัตโนมัติ ในขณะที่การคุ้มครองในรูปแบบสิทธิบัตรจะต้องมีการขอรับการคุ้มครองมายังหน่วยงานภาครัฐของประเทศที่เจ้าของสิทธิประสงค์จะได้รับความคุ้มครอง และจะต้องมีระยะเวลาในการพิจารณาให้ความคุ้มครองด้วย แต่สิทธิบัตรอาจให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่เจ้าของสิทธิมากกว่า เนื่องจากเป็นการคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์นั้น โดยสามารถกำหนดข้อถือสิทธิ (Claims) ไปถึงลักษณะการทำงานของซอฟต์แวร์ที่ใช้เชื่อมโยงเป็นผลงานดังกล่าว เช่น ชิ้นงานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นส่วนประกอบ กรรมวิธีที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมด้วย เป็นต้น ในขณะที่ลิขสิทธิ์จะคุ้มครองเพียงเฉพาะในส่วนที่เป็นตัวโค้ด (Code) ที่ได้แสดงออกมา (Expression) แต่ไม่ได้คุ้มครองไปถึงลักษณะการทำงานของซอฟต์แวร์นั้นที่ใช้เชื่อมโยงเป็นสิ่งประดิษฐ์ โดยอัตโนมัติ ในขณะที่การคุ้มครองในรูปแบบสิทธิบัตรจะต้องมีการขอรับการคุ้มครองมายังหน่วยงานภาครัฐของประเทศที่เจ้าของสิทธิประสงค์จะได้รับความคุ้มครอง และจะต้องมีระยะเวลาในการพิจารณาให้ความคุ้มครองด้วย แต่สิทธิบัตรอาจให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่เจ้าของสิทธิมากกว่า เนื่องจากเป็นการคุ้มครองสิทธิในสิ่งประดิษฐ์นั้น โดยสามารถกำหนดข้อถือสิทธิ (Claims) ไปถึงลักษณะการทำงานของซอฟต์แวร์ที่ใช้เชื่อมโยงเป็นผลงานดังกล่าว เช่น ชิ้นงานอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ระบบคอมพิวเตอร์ที่มีอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ เป็นส่วนประกอบ กรรมวิธีที่ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ร่วมด้วย เป็นต้น ในขณะที่ลิขสิทธิ์จะคุ้มครองเพียงเฉพาะในส่วนที่เป็นตัวโค้ด (Code) ที่ได้แสดงออกมา (Expression) แต่ไม่ได้คุ้มครองไปถึงลักษณะการทำงานของซอฟต์แวร์นั้นที่ใช้เชื่อมโยงเป็นสิ่งประดิษฐ์

สิทธิบัตรการประดิษฐ์ในนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้ Big Data

หากกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่าง Big Data กับการขอรับสิทธิบัตรอาจมีผู้ตีความไปถึงประโยชน์ของการนำ Big Data มาใช้วิเคราะห์เพื่อช่วยในการพิจารณาคุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ที่จะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิบัตรก็เป็นได้ แต่สำหรับเนื้อหาในบทความนี้จะกล่าวถึงประเด็นการคุ้มครองสิทธิบัตรในผลงานประดิษฐ์ที่นำ Big Data มาใช้ เนื่องจากสิทธิบัตรเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่มีประโยชน์อย่างมากในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมดิจิทัล โดยมีข้อมูลสถิติในปี 2562 พบว่า สำนักงานสิทธิบัตรยุโรป (European Patent Office) ได้รับคำขอรับสิทธิบัตรถึงกว่า 181,000 ฉบับ และคำขอรับสิทธิบัตรเหล่านั้นมีความเชื่อมโยงกับการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งเหตุผลที่สิทธิบัตรมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของนานาประเทศ เนื่องจากสิทธิบัตรจะช่วยให้เกิดการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม เมื่อผู้ประดิษฐ์ใช้ความวิริยะอุตสาหะพัฒนานวัตกรรมขึ้นมาเป็นงานที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน แล้วนำเข้าสู่กระบวนการขอรับสิทธิบัตร โดยยินยอมเปิดเผยรายละเอียดการประดิษฐ์ที่ดีที่สุดสำหรับสิ่งประดิษฐ์นั้นให้เป็นวิทยาทานกับสังคม และกฎหมายได้ตอบแทนเจ้าของสิทธิบัตรด้วยการให้ความคุ้มครองเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวที่เจ้าของสิทธิบัตรจะใช้ หรือจำหน่ายผลงานดังกล่าวในช่วงระยะอันมีจำกัด หากเจ้าของสิทธิบัตรไม่ได้อนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิของตน หรือโอนสิทธิให้ แล้วมีผู้มาละเมิดสิทธิดังกล่าว เจ้าของสิทธิบัตรย่อมมีสิทธิที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่ากฎหมายสิทธิบัตรจะปกป้องไม่ให้ผู้ที่ไม่ได้ลงทุนสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ละเมิดสิทธิของเจ้าของสิทธิบัตร เช่น การผลิตชิ้นงานซ้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต เพื่อมาจำหน่ายในราคาที่ต่ำกว่า เป็นต้น

ภาพที่ 1 : สิบอันดับแรกของประเภทคำขอรับสิทธิบัตรใน European Patent Office
ภาพที่ 1 : สิบอันดับแรกของประเภทคำขอรับสิทธิบัตรใน European Patent Office

ในส่วนของการจะได้รับสิทธิบัตรนั้น จะต้องผ่านหลักเกณฑ์เงื่อนไของค์ประกอบ 3 ประการ คือ 1) ความใหม่ (Novelty) 2) การมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นหรือกล่าวได้ว่าเป็นเทคโนโลยีที่ไม่สามารถประจักษ์เห็นได้โดยง่ายนัก (Non-obviousness) และ 3) การมีความสามารถประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม (Industrial applicability) ซึ่งถ้าสิ่งประดิษฐ์ที่มีคุณสมบัติไม่ครบถ้วนเพียงพอได้รับความคุ้มครองสิทธิบัตรไป จะเป็นการตัดโอกาสทางการแข่งขันทางธุรกิจของผู้ประดิษฐ์รายอื่นเกินสมควรได้ นอกจากนี้ การขอรับสิทธิบัตรยังมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เจ้าของสิ่งประดิษฐ์จะต้องรับภาระ และมีระยะเวลาในการดำเนินการนานพอสมควร หากเจ้าของสิ่งประดิษฐ์ได้ลงทุนขอรับสิทธิบัตรไปแล้ว ปรากฏว่าในขั้นตอนการตรวจสอบพบว่าไม่ผ่านเงื่อนไขการขอรับสิทธิบัตร ก็จะขาดความคุ้มค่าในการดำเนินการได้ โดยมีประเด็นที่อาจเกิดข้อถกเถียงได้ว่าอย่างไรจึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่มีความใหม่ และมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นหรือความซับซ้อนของเทคโนโลยีอย่างเพียงพอที่กฎหมายจะให้ความคุ้มครอง

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยได้มีหลักเกณฑ์การคุ้มครองเป็นประเภทของ “อนุสิทธิบัตร” ไว้สำหรับกรณีที่สิ่งประดิษฐ์นั้นมีความใหม่ และสามารถประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้ แต่ยังขาดคุณสมบัติเรื่องขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น เพื่อให้ความคุ้มครองนวัตกรรมที่อาศัยเทคโนโลยีซึ่งไม่ได้สลับซับซ้อนมากนัก และปัจจุบันก็มีธุรกิจขนาดกลางหรือขนาดย่อม (SMEs) สนใจยื่นขอรับอนุสิทธิบัตรในนวัตกรรมดิจิทัลเพิ่มมากขึ้นด้วย

การพิจารณาความใหม่และขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นในการขอรับสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์

ในการขอรับสิทธิบัตรนั้น กฎหมายได้บัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญให้การขอรับสิทธิบัตรที่ประเทศใด ก็จะได้รับการคุ้มครองภายในประเทศนั้น ๆ ซึ่งแต่ละประเทศอาจมีการพิจารณาตีความถึงความใหม่และขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นไว้แตกต่างกันได้ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจการวินิจฉัยจากข้อถือสิทธิ (Claims) และรายละเอียดการประดิษฐ์เปรียบเทียบกับข้อมูลการสืบค้นสิทธิบัตรทั่วโลกของเจ้าพนักงานผู้ตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรในแต่ละประเทศ ประกอบกับการพิจารณาตามความเห็นทางวิชาการ ตลอดจนแนวคำพิพากษาศาล เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีพฤติการณ์ที่มีผู้นำผลงานประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรแล้วของผู้อื่นไปทำการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย กล่าวคือไม่ได้ลงทุนพัฒนานวัตกรรมมากนัก แล้วมายื่นขอรับสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ชิ้นใหม่ ส่งผลร้ายทำให้ผู้ประดิษฐ์ที่ได้รับสิทธิบัตรชิ้นงานต้นฉบับได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจจากส่วนแบ่งทางการตลาดได้ หลายประเทศจึงอาศัยหลักการวินิจฉัยความใหม่และขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นไปในทิศทางเดียวกัน

สำหรับงานที่มีความใหม่นั้น มีแนวทางการพิจารณาว่าจะต้องมีความแตกต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์เดิมที่มีปรากฏอยู่แล้ว โดยพิจารณาเปรียบเทียบกับสิ่งประดิษฐ์ที่มีอยู่เดิมทั้งในส่วนภาพรวมของสิ่งประดิษฐ์ และรายละเอียดแต่ละข้อถือสิทธิที่ได้ระบุไว้ (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1822/2543) ส่วนประเด็นการพิจารณาขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นนั้น เป็นการพิจารณาเปรียบเทียบว่าสิ่งประดิษฐ์ใหม่ที่มาขอรับสิทธิบัตรสามารถช่วยพัฒนาข้อขัดข้องหรือช่วยให้เกิดประสิทธิภาพที่ดีกว่าสิ่งประดิษฐ์ที่เคยปรากฏอยู่เดิม (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7732/2538) โดยที่ข้อถือสิทธิต้องมีรายละเอียดชัดแจ้งเพียงพอ (Enabling Disclosure) ที่จะทำให้ผู้ที่มีความชำนาญในระดับสามัญสามารถทำการประดิษฐ์ได้โดยไม่ต้องทำการทดลองที่ยุ่งยาก (Undue Experimentation) ซึ่งผู้ตรวจสอบอาจพิจารณาจากโครงสร้างหลัก กลไกการทำงาน และประโยชน์ใช้สอยของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ว่าไม่ได้มีความคล้ายคลึงกับสิ่งประดิษฐ์ที่เคยมีปรากฏอยู่เดิม ประกอบกันด้วย ตามทฤษฎีแห่งคุณค่าของความเท่าเทียมกันของสิ่งประดิษฐ์ (Doctrine of Equivalent) ที่ยอมรับกันเป็นสากล (เทียบเคียงคำพิพากษาในคดี Markman ET AL. v. Westview instruments, Inc., ET AL., Certiorari to the United States Court of Appeals for the Federal Circuit, No. 95-26. Argued January 8, 1996-Decided April 23, 1996) ทั้งนี้ ในทัศนะของผู้เขียนบทความเห็นว่า ความใหม่และขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น ล้วนเป็นหัวใจสำคัญของสิทธิบัตรที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรในนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้ Big Data จำเป็นต้องคำนึงถึงเสมอ โดยอาจนำคำสำคัญจากคำพิพากษาข้างต้นมาปรับใช้เป็นหลักการยกร่างคำขอรับสิทธิบัตรของตนเองก็ได้

บทสรุปส่งท้ายสำหรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้ Big Data

จากที่ผู้เขียนได้กล่าวมาแล้วถึงคุณประโยชน์ของสิทธิบัตรการประดิษฐ์ในนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้ Big Data ซึ่งนอกจากจะเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจและการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรมแล้ว ยังเป็นประโยชน์ทางสังคมด้วย กล่าวคือเป็นการเผยแพร่องค์ความรู้ไว้เป็นวิทยาทานให้นักประดิษฐ์รุ่นต่อ ๆ มาได้ศึกษาและพัฒนาต่อยอดได้เป็นอย่างดียิ่ง อย่างไรก็ตาม ตามที่ได้กล่าวถึงประเด็นปัญหาการพิจารณาความใหม่และขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้นในการขอรับสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ จะเห็นได้ว่าการขอรับสิทธิบัตรนั้น จำเป็นต้องอาศัยความชำนาญในการเขียนข้อถือสิทธิให้มีความชัดเจน ซึ่งเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ในการเรียงร้อยถ้อยคำ ที่ผู้ยกร่างคำขอรับสิทธิบัตรจะต้องมีความเข้าใจในสิ่งประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรอย่างลึกซึ้งถึงโครงสร้าง กลไก และการใช้งานต่าง ๆ เพื่อไม่ให้คำขอรับสิทธิบัตรนั้นไปคล้ายกับรายละเอียดข้อถือสิทธิของสิ่งประดิษฐ์ที่มีปรากฏอยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้ การศึกษาตัวอย่างของสิ่งประดิษฐ์ที่ได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรแล้วในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง ย่อมช่วยให้ผู้ยื่นคำขอรับสิทธิบัตรใหม่มีโอกาสได้รับสิทธิบัตร โดยไม่ละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่นอีกด้วย

ดร.ภัทรพร เย็นบุตร

หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง

อ้างอิง

  • อสมา กุลวานิชไชยนันท์, Big Data ≠ Buzzword บิ๊กดาต้า ไม่ใช่แค่คำกล่าวลอย ๆ, นนทบุรี: มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช, หน้า 14-15.
  • Media contacts European Patent Office, Digital trends spark surge in European patent applications, https://www.epo.org/news-events/news/2020/20200312.html.
  • Hyunjong Ryan Jin, Think big! The need for patent rights in the era of big data and machine learning, Journal of intellectual property and entertainment law, Vol. 7:2, p. 84-85.