บริการ
TH
EN
TH
CN

รู้จัก Blockchain ฉบับเล่าให้ใครฟังก็เข้าใจ

รู้จัก Blockchain ฉบับเล่าให้ใครฟังก็เข้าใจ

บลอคเชน03_180726_0005.jpg

รู้จัก Blockchain ฉบับเล่าให้ใครฟังก็เข้าใจ

Blockchain เป็นศัพท์ใหม่ที่หลายคนคงได้ยินตามสื่อต่างๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในด้าน Fintech ว่าแต่ว่ามันคืออะไรกันแน่นะ วันนี้เราจะพาคุณมารู้จักคำนี้ในฉบับง่ายๆ ที่ไปเล่าต่อให้ใครฟังก็เข้าใจ เอาล่ะ ตามมาเลย

Blockchain คืออะไร?

Blockchain เป็นระบบโครงข่ายในการเก็บบัญชีธุรกรรมออนไลน์ ที่เก็บสถิติการทำธุรกรรมทางการเงิน และสินทรัพย์ชนิดอื่นๆ อีกในอนาคต โดยไม่มีตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน คำว่า Blockchain มาจาก 2 คำรวมกัน คือ “Block” และ “Chain” คำว่า “Block” ในที่นี้สื่อถึงการเก็บข้อมูลแยกออกเป็นบล๊อค ๆ เช่น รายการฝากถอน 1 รายการ ต่อ 1 บล็อก และเมื่อมีข้อมูลหลายรายการ ก็นำมาเก็บเชื่อมต่อกับเป็นโซ่ (chain) ก่อนจะเก็บแต่ละบล็อก จะมีการตรวจสอบย้อนหลังกลับไปว่าสิ่งที่กำลังจะบันทึกนั้นมีความถูกต้องไม่ขัดแย้ง โดยที่บล็อกของข้อมูลที่เชื่อมต่อเป็นสายโซ่เหล่านี้ จะถูกสำเนาเก็บไว้หลาย ๆ แหล่ง พร้อมทั้งมีกระบวนตรวจสอบป้องกันไม่ให้แต่ละสำเนาขัดแย้งกัน ดังนั้นแปลว่า ถ้ามีคนต้องการ hack เข้ามาแก้ไขข้อมูลโดยมิชอบ เขาต้อง hack server ส่วนใหญ่ให้ได้ ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก เพราะ Blockchain Network จะมี server เชื่อมต่ออยู่เป็นพันเป็นหมื่นตัว หากมี server บางตัวถูก hack ล่ะก็ server ที่เหลือจะมีวิธีระบุได้ว่าข้อมูลของ server ตัวไหนที่ผิดปกติ แล้วตัดตัวนั้นออกจากระบบ หรือแม้แต่ช่วยกันซ่อมข้อมูลให้กลับมาเหมือนเดิม

Blockchain ทำงานอย่างไร?

สรุป Blockchain คือกระบวนการเก็บข้อมูลรูปแบบหนึ่ง โดยมีลักษณะเด่นคือ

-เก็บข้อมูลสำเนาไว้หลายๆ แหล่งกระจายกัน และเพิ่มจำนวนแหล่งเก็บได้ไม่จำกัด -ถ้ามีการแก้ไข หรือ อัพเดทข้อมูล ก็มีกระบวนการตรวจสอบและป้องกันข้อมูลขัดแย้งกันระหว่างสำเนาที่กระจายอยู่แหล่งต่าง ๆ -เนื่องจากจำนวนแหล่งเก็บข้อมูลมีหลายแหล่ง จึงยากที่ผู้ไม่ประสงค์ดี (เช่น hacker) จะแอบเข้ามาแก้ไข เพราะจะมีสำเนาจากแหล่งอื่น ๆ ไว้ตรวจสอบยืนยัน -เมื่อมีการเพิ่มหรือปรับปรุงข้อมูล จะต้องใช้เวลาหลายนาทีในการตรวจสอบ เนื่องจากต้องมีการคำนวณและประมวลผลผลปริมาณมาก

นอกจากนี้การตั้ง server เพื่อเชื่อมต่อเข้า Blockchain network ช่วยเก็บข้อมูล คือเขาจะได้ผลตอบแทนเป็นสกุลเงินดิจิทัลทุกครั้งที่ server ของเขาประมวลผล transaction (เช่น รายการฝาก-ถอนเงิน รายการซื้อสินค้า) ได้เสร็จเป็นคนแรก คนที่ตั้ง server เรียกว่า miner ส่วนกระบวนการประมวลผลผล (ถอดรหัส) ดังกล่าว เรียก mining ข้อมูลที่จะเอามาจัดการโดย Blockchain ก็เป็นได้ทุกเรื่อง เช่นรายการบัญชีธนาคาร รายการซื้อ-ขายสินค้า ประวัติการศึกษา ประวัติการรักษาพยาบาล ทะเบียนราษฎ์ การซื้อขายหุ้น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ โฉนดและประวัติการซื้อขายที่ดิน หรือแม้แต่ข้อมูลจากเซนเซอร์ IoT

Private Blockchain คืออะไร?

เทคโนโลยีนี้นอกจากจะเปิดให้ผู้คนอาสาสมัครต่อ server ของตัวเองเข้ามาใน Blockchain network แล้ว เรายังสามารถสร้างสิ่งที่เรียกว่า Private Blockchain ได้อีกด้วย กล่าวคือ มีเจ้าของรายเดียวหรือจำกัดเพียงกลุ่มคน/องค์กรเล็ก ๆ มาตกลงเชื่อมต่อ server เข้าด้วยกัน วิธีการนี้ เหมาะกับกรณี หน่วยงานรัฐ หรือ องค์กรขนาดใหญ่ ที่มีข้อมูลปริมาณมาก และมีทรัพยากรมากพอที่จะสร้าง Blockchain server ขึ้นเอง โดย server จะกระจายไปตามกระทรวง ทบวง กรม กอง หรือสำนักงานสาขาตามที่ต่าง ๆ ในกรณี Private Blockchain สำหรับใช้กับหน่วยงานรัฐ นอกจากจะช่วยทำให้การเก็บข้อมูลมีความน่าเชื่อถือแล้ว ยังมีประโยชน์ในแง่การแบ่งปันข้อมูลด้วย เนื่องจาก server ของทุกกระทรวง ทบวง กรม กองจะมีสำเนาข้อมูลของกันและกัน สามารถเข้าถึงได้จากสำเนาที่ตนเองเก็บอยู่ สามารถทำสิ่งที่เรียกว่า smart contract คือเป็นข้อตกลงหรือสัญญาดิจิทัลเพื่อใช้ควบคุมดูแลการใช้งานตามสิทธิที่เจ้าของข้อมูลต้นทางกำหนดไว้ เช่น อนุญาตให้ดูแต่ห้ามแก้ไข อนุญาตให้เพิ่มรายการได้แต่ห้ามลบ เป็นต้น การตรวจสอบสิทธิ และการเข้าถึงข้อมูลทั้งหมดจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ รวมทั้งสามารถเก็บประวัติการเข้าใช้งานหรือเปลี่ยนแปลงข้อมูลไว้ตรวจสอบภายหลังได้

การลงทุนใน Blockchain เป็นอย่างไรบ้าง? ซึ่งเจ้า Blockchain นี้เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ผู้คนให้ความสนใจกันอย่างมาก เห็นได้ว่าสถาบันการเงินหลายแห่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกำลังเริ่มทดลองใช้อยู่ สำหรับในอาเซียนั้น ปัจจุบันสิงคโปร์เป็นผู้นำในการลงทุนประมาณ 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมการเงินและการธนาคาร ซึ่งคาดว่าจะเติบโตไปถึง 123 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2563 โดยเป็นตัวเลขที่ใกล้เคียงกับยอดการลงทุนในฮ่องกง ส่วนประเทศไทยมีธนาคารใหญ่ทั้ง ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์ เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆ อย่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และเวียดนาม ยังคงมีการลงทุนในวงจำกัดแต่ก็มีแนวโน้มที่จะขยายตัวในปีต่อๆ ไป

อ้างอิงข้อมูลจาก
http://bit.ly/2Bk86j4 http://bit.ly/2vPgMZB