สัจธรรมในชีวิตสอนเราว่า เรื่องดี ๆ ไม่ได้มีทุกวัน เพราะบางช่วง ชีวิตก็ต้องให้เราพิสูจน์ตัวเอง ด้วยโหมดงานหนัก ภาระ ปัญหา และตัวแดงในบัญชี จนบางทีก็อยากมีปุ่มวาร์ป กดผ่านทุกอย่างไปเจอตอนจบทีเดียว ไม่ต้องพิสูจน์กันจนเพลียทุกจังหวะชีวิตขนาดนี้...แต่ในความอ่อนล้านั้น เราก็ยังมีความหวังอยู่ แม้จะเป็นความหวังเล็กๆ ที่มีสถิติตอกย้ำว่า มีโอกาสเป็นจริงได้ไม่ถึง 0.1% แถมยังเป็นความหวังที่พวกเรากว่า 20 ล้านคนต้องฟาดฟันกันด้วยพลังเหนือธรรมชาติ ให้ลูกบอลทั้ง 6 หลัก กลิ้งออกมาตรงกับเลขที่เราซื้อไว้ ทุกวันที่ 1 กับ 16 ของเดือน
สลากกินแบ่งรัฐบาลเป็นความหวังของคนไทยด้วยราคาที่จับต้องได้ และเข้าถึงง่ายเพราะมีหน่วยบริการตระเวนเปิดแผงส่งต่อความหวังทั้งที่ร้านค้า หน้าตลาด ในวัด ทั้ง 77 จังหวัดของประเทศไทย และยังเห็นผลเร็ว ไม่ต้องเสียเวลาเก็บเงินก้อนหรือเรียนรู้เพิ่มเติมเมื่อเทียบกับการลงทุนรูปแบบอื่น รายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2564 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พบว่าการพนันที่คนไทยมีความคุ้นเคยมากที่สุดเป็นอันดับแรก คือสลากกินแบ่งรัฐบาล และคนไทยกว่า 24 ล้านคน หรือ 45.4% ของประชากรทั้งประเทศ ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 1.9 ล้านคน โดยมีสัดส่วนคนซื้อเพิ่มขึ้นในทุกช่วงวัย
ข้อมูลจากรายงานสถานการณ์การพนันในสังคมไทย ปี 2563 พบว่ากลุ่มวัยทำงาน อายุ 30-59 ปี เป็นกลุ่มที่ซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลมากที่สุด รองลงมาเป็นผู้สูงวัย 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มคนเพิ่งเริ่มทำงานอายุ 26-29 ปี ตามลำดับ โดยพบว่าคนไทยมีแนวโน้มซื้อสลากต่องวดเพิ่มขึ้นและบ่อยขึ้น ผู้ตอบแบบสอบถาม 68.4% ยอมรับว่าซื้อสลากทุกงวด และ 37% ซื้อสลาก 2-5 ใบต่องวด โดยใช้เงินซื้อสลากเฉลี่ยสูงถึงงวดละ 314 บาท ในขณะที่การสำรวจกลุ่มตัวอย่างและวิเคราะห์ข้อมูลงานวิจัย “ถอดรหัสความคิดพิชิตใจคนชอบเสี่ยง Marketing to Risk lover” ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) พบว่าเมื่อแบ่งตามช่วงอายุของกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มผู้ใหญ่วัย Gen X และ Baby Boomer จะซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเฉลี่ยงวดละ 2-4 ใบ เมื่อเทียบกับ ผู้ซื้อในกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ซื้องวดละ 1 ใบ เพราะมองว่าสลากกินแบ่งเป็นเรื่องของโชคและดวง แต่ทั้งนี้ 60.1% ของกลุ่มตัวอย่างเห็นด้วยว่าการซื้อสลากเป็นการลงทุนต่ำที่ได้รับผลตอบแทนสูง แม้ไม่ถูกรางวัลงวดนี้ ก็ยังมีกำลังตามไปซื้อและลุ้นต่องวดหน้า
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลเพิ่มจำนวนการพิมพ์สลากหลายครั้ง จาก 65 ล้านฉบับ สำหรับงวดวันที่ 30 ธันวาคม 2559 เพิ่มเป็น 71 ล้านฉบับ สำหรับงวดวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2560 จากนั้นเพิ่มเป็น 87 ล้านฉบับ สำหรับงวดวันที่ 1 สิงหาคม 2561 และ 90 ล้านฉบับ สำหรับงวดวันที่ 1 กันยายน 2561 ก่อนที่จะปรับจำนวนขึ้นเป็น 100 ล้านฉบับ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2562 จนถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับข้อมูลจากรายงานประจำปีของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลซึ่งชี้ให้เห็นว่า รายได้จากการขายสลากเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2558 และนอกจากไม่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ช่วงปี 2563-2564 แล้ว รายได้จากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 10 ต่อปี โดย รายได้ที่นำส่งแบ่งส่วนหนึ่งเพื่อนำมาใช้พัฒนาสภาพสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ และส่วนหนึ่งเพื่อบำรุง สาธารณกุศล
การต่อยอดขยับขึ้นแพลตฟอร์มของรัฐ ให้ ”ประชาชนผู้มีความหวัง” ได้จับจอง “สลากดิจิทัล” ผ่านแอป “เป๋าตังค์” ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สร้างสถิติสวยหรูให้การขายสลากกินแบ่งรัฐบาล ด้วยการขายสลากทั้งหมดของงวดแรก จำนวน 5.2 ล้านใบหมดเกลี้ยงภายในเวลา 4 วันครึ่ง และใช้เวลาน้อยลงไปอีกในงวดถัดมาที่ขายจนหมดทั้งแพลตฟอร์มใน 3 วัน กระแสตอบรับแบบถล่มทลายจากผู้ซื้อ นำไปสู่การตัดสินใจเพิ่มจำนวนสลากดิจิทัลขึ้นอีกเป็น 7 ล้านใบสำหรับงวดวันที่ 1 สิงหาคม 2565 และหากยังได้รับเสียงตอบรับดี ก็มีแนวโน้มจะเพิ่มอีกงวดละ 2 ล้านฉบับจนครบ 20 ล้านฉบับในช่วงปลายปี 2565
สัดส่วนการขายสลากดิจิทัลในปัจจุบัน ยังเป็นส่วนน้อย คิดเป็นประมาณ 5-7% ของสลากทั้งหมด แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเทคโนโลยีดิจิทัลค่อย ๆ รุกคืบไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ดึง “ความหวังบนแผง” มาสู่ “ความหวังบนจอมือถือ” พร้อมฟีเจอร์เอาใจลูกค้าทุกคนแบบเท่าเทียม ทั้งราคาที่ตรงตามปก เลือกเลขได้ ซื้อที่ไหนและเมื่อไหร่ก็ได้ตามสะดวก ตราบใดที่ยังมีสลากในสต็อก รวมถึงการจับจ่ายแบบ Cashless ที่ปลอดภัย ไม่ต้องกังวลกับเชื้อโรคจากการหยิบจับธนบัตร
สลากดิจิทัลในเมืองไทย หรือการเสี่ยงโชคออนไลน์ในประเทศอื่นนับเป็นความตื่นเต้นใหม่ที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ยอดขายสลากออนไลน์ในยุโรปมีค่าเฉลี่ยที่ 8-11% ของยอดขายทั้งหมด แตกต่างไปตามรูปแบบการใช้ชีวิตและปัจจัยทางการตลาด เช่น ในอังกฤษ ยอดขายสลากออนไลน์อยู่ที่ 30% เพราะคนส่วนมากคุ้นเคยและชื่นชอบความเร้าใจของการเสี่ยงโชค ส่วนฟินแลนด์ สลากออนไลน์ซึ่งเป็นสินค้าชิ้นแรกตั้งแต่ยุคบุกเบิกการขายออนไลน์ มียอดขายสูงถึง 50% และเป็นปัจจัยนำไปสู่การขยายตัวของตลาดอีคอมเมิร์ซในฟินแลนด์ แต่ในอิตาลี ยอดขายสลากออนไลน์อยู่ในระดับต่ำมากเพียง 4% เนื่องจากคนอิตาเลียนไม่นิยมซื้อของออนไลน์เป็นทุนเดิม จึงพอใจที่จะซื้อสลากจากร้านค้าเจ้าประจำมากกว่า ส่วนในประเทศฝั่งเอเชีย จีนยังคงเป็นตลาดใหญ่ที่สุด ที่คาดว่าจะมีมูลค่าสูงถึง 3.67 พันล้านเหรียญสหรัฐในช่วงปี 2564-2569 ผู้ขายสลากออนไลน์ในจีน เช่น Baidu QQLotto และ Gaming China ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและกลยุทธ์ทางการตลาดในการดึงดูดใจผู้ซื้อ ซึ่งส่วนมากอยู่ในวัยเริ่มทำงาน สลากทายผลกีฬาเป็นสลากที่ได้รับความนิยมสูงสุดและช่วยผลักดันให้ตลาดเติบโตขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ในบางประเทศ เช่น ศรีลังกา ใช้สลากออนไลน์เพื่อแก้ปัญหายอดขายสลากตกลงอย่างต่อเนื่องหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากร้านค้าจำเป็นต้องหยุดขายสลากนานถึง 75 วันตามมาตรการของรัฐบาล และส่วนใหญ่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้
ปรากฎการณ์ที่สลากทั่วโลกค่อย ๆ เปลี่ยนรูปแบบจากตัวเลขบนแผ่นกระดาษ ไปสู่ไฟล์ดิจิทัล และอาจมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี เช่น AI หรือ Streaming เพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้ เพื่อพัฒนาการเก็บข้อมูลหรือเพิ่มความเร้าใจของ Content ด้วยการลุ้นผลแบบ Real time เป็นเพียงเปลือกนอกที่เปลี่ยนไป เพราะไม่ว่าเวลาจะผ่านไปกี่ร้อยปี สลากก็ยังคงทำหน้าที่ “ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ” อย่างแข็งขัน เพียงแต่ยอดขายสลากในเมืองไทยที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนการผลิต อาจไม่ได้มีแต่เรื่องน่ายินดีเพียงอย่างเดียว เพราะเบื้องหลังการขับเคลื่อนผูกไว้ด้วย “ความหวัง” ของคนไทย กับความจริงที่ว่า ยิ่งความหวังมีขนาดใหญ่เท่าไหร่ ปัญหาที่อยากหนีก็มีขนาดใหญ่เท่านั้น
โดย นางสาวกิ่งเกด นิยมเสน
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิง