หากย้อนกลับไปเมื่อต้นปี 2020 ถ้ามีคนบอกคุณว่าในเดือนเมษายน ปี 2020 ห้างที่คึกคักมากที่สุดในประเทศไทยจะไม่ใช่เครือเดอะมอลล์หรือเครือเซ็นทรัล ไม่ใช่แม้แต่ห้างหรือตลาดที่เคยมีใครได้ยินชื่อมาก่อน แต่เป็นพื้นที่ขายสินค้าที่ชื่อว่า “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” นอกจากคุณจะงงว่าสองสิ่งนี้คืออะไรแล้ว คงไม่มีใครเชื่อว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นจริง วันที่ห้างที่ครองแชมป์เป็นธุรกิจใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศมาเป็นเวลานาน จะโดนโค่นแชมป์โดยเครือข่ายที่ไม่มีแม้แต่ประสบการณ์ทำห้างมาก่อน โดยใช้เวลาเพียงแค่สามเดือนนับจากที่ไวรัสโควิด-19 เริ่มระบาดในประเทศไทย แม้จะเป็นกระแสที่เกิดขึ้นเพียงช่วงสั้นๆ ก็ตาม
จากเหตุการณ์ไวรัสโควิด-19 ระบาด ทำให้ผู้คนต้องลดการติดต่อกันทางกายภาพ ใช้ชีวิตที่บ้าน ร้านอาหาร ธุรกิจบริการหลายอย่าง รวมถึงห้างสรรพสินค้าไม่สามารถเปิดให้บริการตามปกติได้ ผู้เชี่ยวชาญและสื่อหลายสำนักชี้ว่าเหตุการณ์นี้คือตัวเร่ง digital transformation แบบไฟลท์บังคับ ธุรกิจที่ให้บริการออนไลน์ได้หรือพร้อมปรับเข้าสู่การให้บริการออนไลน์ได้เร็วกว่า คือผู้ชนะในสถานการณ์ดังกล่าว ปรากฏการณ์เฟซบุ๊คกรุ๊ป “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ที่เกิดจากความตั้งใจให้เป็นพื้นที่สำหรับศิษย์เก่าที่มีธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ ได้มาประชาสัมพันธ์ธุรกิจของตัวเอง เพื่อให้ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน รวมถึงผู้ที่สนใจ มาช่วยอุดหนุน เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ออนไลน์ที่เกิดขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด ที่ได้อานิสสงค์จากเทคโนโลยีดิจิทัล คือสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ค ทำให้ผู้ค้าและผู้ซื้อ มาเจอกันได้ และเกิดการพูดต่อถึงความน่าสนใจของตลาดนี้ จนกลายเป็นกระแสชั่วข้ามคืน
ในขณะที่ห้างใหญ่ๆ ของประเทศไทย แม้จะมีการปรับตัวเพื่อให้สามารถให้บริการแก่ลูกค้าได้ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และไม่สามารถเปิดให้ประชาชนมาใช้บริการในห้างได้ตามปกติ แต่ก็ยังมีข้อจำกัด เช่น ถึงแม้จะมีการเปิดเว็บไซต์เพื่อให้ลูกค้าสามารถช็อปปิ้งออนไลน์ได้ แต่ก็ยังมีสินค้าไม่หลากหลาย และแม้จะมีการเปิดบริการช็อปปิ้งผ่านการแช็ท ซึ่งเป็นบริการที่ให้ลูกค้าสามารถแช็ทคุยกับพนักงานเพื่อซื้อสินค้าที่มีขายในห้าง และจัดส่งทางไปรษณีย์ แต่บริการดังกล่าว ก็ยังมีความล่าช้าในขั้นตอนการตอบแช็ทของพนักงานเนื่องจากปริมาณสินค้าที่มีจำนวนมาก รวมถึงเวลาทำการที่จำกัด เมื่อเปรียบเทียบความสะดวกสบายในการซื้อสินค้าของช่องทางออนไลน์ของห้างสรรพสินค้าชั้นนำ จึงยังไม่สะดวกเท่ากับการซื้อผ่านห้างออนไลน์อย่างเช่น Lazada และ Shoppee ซึ่งมีสินค้าหลากหลาย ที่ระบบให้ข้อมูลและการตอบคำถามที่พร้อม สามารถซื้อได้ตลอด 24 ชั่วโมง หรือแม้แต่ช่องทางเฟซบุ๊คกรุ๊ปของสองสถาบัน อย่างเช่น “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ที่ถึงแม้จะไม่ได้สะดวกสบายเท่า แต่ก็ตอบโจทย์ทางจิตใจในสถานการณ์นี้ได้ดี
เช่นเดียวกับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในเรื่องอื่นๆ เทคโนโลยีดิจิทัลเพียงอย่างเดียว คงไม่สามารถทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ได้หากขาดปัจจัยด้านธุรกิจและสังคม ปัจจัยที่ทำให้เฟซบุ๊คกรุ๊ป “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ประสบความสำเร็จในสถานการณ์ที่ประเทศถูกล็อคดาวน์นั้น นอกจากแฟลตฟอร์มเฟซบุ๊คที่นำมาใช้เป็นพื้นที่กลางแล้ว ยังผนวกกับองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การสร้างความรู้สึกร่วมทางสังคม ความรู้สึกสามัคคี ช่วยเหลือ เกื้อกูลกันของพี่น้องร่วมสถาบัน ความคาดเดาไม่ได้ มีสิ่งที่เราไม่เห็นว่าจะมีขายในตลาด อย่างเช่น การขายจระเข้ ขายที่ดินของตระกูลเก่าแก่ในสุขุมวิท และสิ่งที่เป็นเสน่ห์ที่สำคัญที่สุด คือความคิดสร้างสรรค์ ลีลาการขายที่สนุก สร้างความบันเทิงให้แก่ผู้อ่าน เหมือนทั้งได้มาเดินเล่นในตลาด และเสพเนื้อหาบันเทิงไปพร้อมๆ กัน จึงดึงดูดทั้งศิษย์เก่าและคนทั่วไป ให้เข้ามาเลือกชมสินค้า ส่งผลให้ปรากฏการณ์ออนไลน์นี้ กลายเป็นการสร้างตลาดของชุมชนดังเช่นในอดีต แต่เป็นตลาดที่รวมร้านค้าชุมชนขนาดใหญ่ที่พ่อค้าแม่ค้าไม่ต้องเสียค่าพื้นที่ คนสามารถมาเยี่ยมชมได้ทั้งวันทั้งคืน โดยใช้การรวมพลังอุดหนุนร้านค้ารายย่อย ความช่วยเหลือระหว่างพี่น้องร่วมสถาบัน และความบันเทิงเป็นกุญแจสำคัญ ผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัลที่เป็นพื้นฐาน
แน่นอนว่าการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อ จากออฟไลน์เป็นออนไลน์ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบถึงห้างร้าน แต่ยังมีผลกระทบทั้งด้านบวกและลบถึงธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อย่างเช่นบริการส่งของอีกด้วย ในภาวะที่บริษัทหลายแห่งต้องเลิกจ้างพนักงาน ธุรกิจที่สวนกระแสและต้องการรับสมัครพนักงานจำนวนมาก คือธุรกิจส่ง ทั้งการส่งอาหาร ส่งสินค้าด่วนแบบ on-demand delivery เช่น Grab และ Lineman ซึ่งในวันแรกๆที่มีการประกาศการล็อคดาวน์ ได้เกิดปรากฏการณ์การแย่งกันใช้บริการสั่งอาหารผ่าน Grab และ Lineman โดยเฉพาะเวลาอาหารเที่ยง จนพนักงานให้บริการไม่ทัน หลายคนต้องเลี่ยงเปลี่ยนเวลาสั่งอาหารเป็นก่อนเที่ยงหรือช่วงบ่าย แม้แต่บริการส่งสินค้าถึงบ้านของซุปเปอร์มารเก็ตก็ต้องจองคิวส่งของกันข้ามสัปดาห์ นอกจากนี้ ธุรกิจการส่งพัสดุหรือสินค้าแบบเดิม ต่างปรับบริการเพื่อรองรับต่อความต้องการในการใช้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในภาวะที่คนต้องเก็บตัวอยู่บ้าน เช่น โครงการ “ยิ้มสู้–19”ของ ไปรษณีย์ไทย ที่ปรับบริการมารับส่งถึงหน้าบ้าน และส่งได้ทุกอย่างทั่วประเทศได้ ในราคาเหมาจ่าย 1 กก. 19 บาท เป็นต้น ในทางกลับกัน ปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวในเวลารวดเร็วก็ทำให้ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าที่ปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงไม่ทันเกิดปัญหาในการให้บริการ ดังที่ได้เห็นเป็นข่าวที่ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าเอกชนรายใหญ่อันดับต้นๆของประเทศ ประสบปัญหามีสินค้าค้างในคลังจำนวนมากและพนักงานไม่สามารถบริหารจัดการได้ทันทำให้มีผู้ร้องเรียนเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
ปรากฏการณ์ “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” แสดง ให้เห็นว่า แม้จะมีเงินทุนสูงกว่า ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าจะปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า หรือ ทำ digital transformation สำเร็จสูงกว่าเสมอไป ธุรกิจควรจะเตรียมพร้อมและทำ digital transformation อยู่ตลอดเวลาแม้จะยังไม่มีสัญญาณ เพราะเมื่อรอให้มีสัญญาณก็อาจจะช้าไปเสียแล้ว อย่างเช่นเหตุการณ์ครั้งนี้ที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นรวดเร็วมาก และแม้จะมีเงินทุนสูงก็ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน ในทางตรงข้ามธุรกิจเล็กๆ ที่เงินทุนน้อยกว่า กลับสามารถปรับตัวเข้าสู่สนามการแข่งขันในโลกดิจิทัลได้เร็วกว่า เพราะความรวดเร็วในการตัดสินใจ ความคล่องตัว จำนวนสินค้าที่น้อยกว่า เราอาจจะเคยได้ยินคำพูดที่ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลสร้างโอกาสที่เท่าเทียมให้ทุกคนได้มาหลายครั้ง เหตุการณ์นี้น่าจะเป็นตัวอย่างที่อธิบายคำพูดนี้ได้อย่างเห็นภาพชัดเจน
จริงอยู่ว่าทั้ง “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” อาจจะเป็นแค่กระแสเพียงชั่วคราว เหมือนอีกหลายๆ กระแสในโลกดิจิทัล ที่เกิดขึ้นในช่วงภาวะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น การที่คนลุกขึ้นมาเป็นนักเต้นทาง TikTok ทั่วประเทศ หรือกระแสเจน นุ่น โบว์ ที่ทำให้เพลงเมื่อ 6 ปีก่อน กลับมาดังเป็นพลุแตกภายในเวลาวันเดียว แต่ถึงจะเป็นเพียงกระแส ทั้ง “จุฬาฯ มาร์เก็ตเพลส” และ “มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการฝากร้าน” ก็เป็นกระแสที่สร้างรายโอกาสและรายได้ให้ผู้ค้าได้จริง และต้องยอมรับว่ากระแสออนไลน์เหล่านี้มีส่วนอย่างสูงที่ทำให้คนสนุกกับการอยู่บ้าน ไม่ออกมาข้างนอก ลดอัตราการแพร่เชื้อและการระบาดในประเทศได้จริงในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย
เป็นที่น่าจับตามองว่าในอนาคต คนไทยจะใช้ความคิดสร้างสรรค์แบบไทยๆ มาผนวกกับเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเทรนด์ใหม่อะไร ให้เราได้ดูกันต่อไป
โดย นางสาวมาลียา โชติสกุลรัตน์
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล