ปัจจุบันนี้คาดการณ์ได้ว่าประมาณร้อยละ 15 ของจำนวนประชากรโลกทั้งหมด มีความพิการ (Disability) ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง โดยที่อัตราความพิการกำลังเพิ่มขึ้นตามอายุของประชากรและ ภาวะป่วยเรื้อรัง (World Health Organization, 2016) นอกจากนี้ยังได้มีการคาดการณ์ว่า ประชากรโลกจำนวน 36 ล้านคนเป็นผู้ที่ตาบอด และ 217 ล้านคนมีปัญหาตาเห็นเลือนรางในระดับปานกลางถึงร้ายแรง โดยที่ร้อยละ 81 ของผู้ที่ตาบอดและผู้ที่ตาเห็นเลือนรางในระดับปานกลางถึงร้ายแรงนี้มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป (World Health Organization, 2017) นอกจากนี้ ประชากรโลกประมาณ 466 ล้านคนเป็นคนพิการด้านการได้ยิน และ 34 ล้านคนจากกลุ่มคนดังกล่าวเป็นเด็กและเยาวชน ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในปี พ.ศ. 2593 ประชากรโลกประมาณ 900 ล้านคนจะเป็นคนพิการด้านการได้ยิน (World Health Organization, 2020) ทั้งนี้ ความพิการดังกล่าวย่อมมีการเสื่อมถอยลงอีกเมื่อคนพิการมีอายุมากขึ้น ส่งผลให้สมาชิกครอบครัวที่ไม่ได้พิการจำเป็นต้องให้การช่วยเหลือดูแลญาติหรือเพื่อนที่มีความพิการเหล่านั้น ซึ่งปัญหานี้นับวันจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้น ด้วยสาเหตุที่สภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปโดยมีผู้เข้าสู่วัยสูงอายุมากขึ้นทุกปี
นอกจากสถานการณ์การเพิ่มขึ้นของคนพิการโดยเฉพาะด้านการมองเห็นและการได้ยินแล้ว จะเห็นได้ว่าสังคมปัจจุบันเป็นยุคดิจิทัลที่ข้อมูลองค์ความรู้ล้วนเผยแพร่ผ่านสื่อดิจิทัลอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทั้งในรูปแบบโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ผ่านสื่ออินเทอร์เน็ต และฐานข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งมักเป็นข้อมูลที่อยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมายลิขสิทธิ์ โดยที่เจ้าของลิขสิทธิ์ย่อมมีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำสำเนางาน ดัดแปลง ตลอดจนควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลผลงานของตน อีกทั้งยังสามารถสร้างอำนาจทางการตลาดให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์เช่นว่านั้นด้วย ในขณะที่ข้อมูลองค์ความรู้ดังกล่าวย่อมมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนพิการ โดยสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อขับเคลื่อนให้คนพิการมีศักยภาพในการปฏิบัติงาน หรือสร้างรายได้ สร้างอาชีพ ให้เทียบเท่ากับคนปกติ และเกิดความภาคภูมิใจในคุณค่าศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ได้เป็นอย่างดียิ่ง ทั้งนี้ การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลหากเป็นไปเพื่อประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์มากเกินสมควร ย่อมเป็นอุปสรรคต่อคนพิการในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนได้ บทความฉบับนี้ จึงมุ่งวิเคราะห์ให้เห็นถึงแนวทางที่น่าจะเป็นในการรักษาดุลยภาพแห่งสิทธิของคนพิการในแง่มุมของการเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ยุคดิจิทัล
จากการที่เจ้าของลิขสิทธิ์ได้ทุ่มเทกำลังสติปัญญา กำลังกาย หรือกำลังทรัพย์สินในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อสาธารณชน กฎหมายจึงตอบแทนผลประโยชน์ให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive right) ในการทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่งานดังกล่าว โดยที่หากมีผู้หนึ่งผู้ใดละเมิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์นี้ ย่อมได้รับโทษตามกฎหมาย และเมื่อเจ้าของลิขสิทธิ์เชื่อมั่นในการคุ้มครองตามกฎหมายเช่นนี้แล้ว ก็จะเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อไปอีกได้ แต่อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่งของกฎหมายลิขสิทธิ์จำเป็นต้องมีการชั่งน้ำหนักระหว่างประโยชน์ของเจ้าของลิขสิทธิ์กับประโยชน์สาธารณะที่จำเป็นต้องเข้าถึงและใช้งานอันมีลิขสิทธิ์โดยไม่ถือเป็นการกระทำละเมิดต่องานดังกล่าว เพื่อการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยเสมอภาคเท่าเทียมกัน อันจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืนได้ จึงเกิดเป็นหลักเกณฑ์ที่เรียกว่า “หลักการใช้งานโดยธรรม (Fair use)” ซึ่งกฎหมายลิขสิทธิ์ของประเทศไทยได้บัญญัติไว้เป็นข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ อาทิหลักกฎหมายในมาตรา 32 วรรคสอง (9) แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558 ซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญให้การทำซ้ำ หรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์อันเนื่องมาจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน สติปัญญา หรือการเรียนรู้ หรือความบกพร่องอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยจะต้องไม่เป็นการกระทำเพื่อแสวงหากำไร ไม่ถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์
เมื่อพิจารณาต่อมาถึงหลักเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การใช้ข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อประโยชน์ของคนพิการที่ไม่สามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ พ.ศ. 2562 ซึ่งได้บัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญถึงข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เกี่ยวกับการทำซ้ำหรือดัดแปลงและการเผยแพร่ต่อสาธารณชน เพื่ออำนวยความสะดวกให้คนพิการสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่น ซึ่งจะต้องกระทำโดยองค์กรที่ได้รับอนุญาตหรือได้รับการยอมรับ ด้วยรูปแบบการทำซ้ำหรือดัดแปลงตามความจำเป็นของคนพิการ คือองค์กรที่มีหน้าที่จัดการศึกษา การฝึกอบรมเกี่ยวกับการสอน การอ่านเชิงประยุกต์ หรือการเข้าถึงข้อมูลให้แก่คนพิการทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว สติปัญญา หรือการเรียนรู้ บนพื้นฐานการไม่แสวงหากำไร และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรไม่แสวงหากำไรอื่นที่มีวัตถุประสงค์หรือกิจกรรมหลักในการให้บริการอย่างเดียวกัน ได้แก่ สมาคมตาบอดแห่งประเทศไทย มูลนิธิคนตาบอดไทย มูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิธรรมิกชนเพื่อคนตาบอดในประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มูลนิธิคอลฟิลด์เพื่อคนตาบอด ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมาร วิทยาลัยราชสุดา มหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย สมาคมผู้ปกครองบุคคลออทิซึม (ไทย) มูลนิธิออทิสติกไทย สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ ศูนย์บริการสนับสนุนนักศึกษาพิการระดับอุดมศึกษา (Disability Support Services Center) และกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ซึ่งจากหลักเกณฑ์ดังกล่าวจะเห็นได้ว่าการบังคับใช้ในส่วนของข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์สำหรับคนพิการนี้มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก และอาจส่งผลกระทบให้การผลิตสื่อดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับคนพิการมีน้อย
เมื่อพิจารณาถึงประเด็น Cost and Benefit ในการบัญญัติข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อให้คนพิการสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ได้อย่างเท่าเทียมกับบุคคลอื่น จะเห็นได้ว่าขณะนี้ยังไม่ปรากฏกรณีตัวอย่างการฟ้องร้องดำเนินคดีเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์เพื่อผลประโยชน์ของคนพิการอย่างเป็นรูปธรรม จึงไม่สามารถประเมินผลกระทบของการบังคับใช้กฎหมายในลักษณะดังกล่าวได้ แต่อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัลในทางปฏิบัตินั้น จะเห็นได้ว่าเจ้าของลิขสิทธิ์มักอาศัยหลักกฎหมายในการหวงกันมิให้ผู้อื่นทำสำเนาหรือจำหน่ายงานที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ทำสำเนา อีกทั้งยังมีความพยายามที่จะปกป้อง “รหัสโปรแกรม (Source code)” ซึ่งเขียนด้วยภาษาคอมพิวเตอร์ โดยรหัสดังกล่าวมีความสำคัญและคุณค่าในเชิงธุรกิจอย่างยิ่ง เพราะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และเป็นฐานการต่อยอดพัฒนานวัตกรรมอื่น ๆ ต่อไปได้ โดยที่โปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นย่อมได้รับการคุ้มครองไม่ให้ผู้อื่นทำซ้ำ ดัดแปลง หรือเผยแพร่ โดยมิได้รับความยินยอมจากผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ หรือแม้กระทั่งการหวงกันมิให้ทำวิศวกรรมย้อนกลับ (เว้นแต่จะเข้าหลักเกณฑ์ข้อยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดให้กระทำได้) (จักรกฤษณ์ ควรพจน์ และนันทน อินทนนท์, 2550) นอกจากนี้ ในทางปฏิบัติเจ้าของลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำสัญญาอนุญาตให้ใช้โปรแกรมสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์เพียงหนึ่งเครื่องเท่านั้น หากประสงค์จะใช้กับหลายเครื่อง ผู้ซื้อโปรแกรมจะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการใช้เพิ่มมากขึ้น ตลอดจนในบางกรณีเจ้าของโปรแกรมจะใช้วิธีการทางเทคนิคเพื่อสร้างอำนาจผูกขาดทางการตลาด ในรูปแบบมาตรการทางเทคโนโลยี (Technological Protection Measures: TPM) เช่น กำหนดให้โปรแกรมแอปพลิเคชั่น (application program) จะต้องใช้งานกับโปรแกรมระบบปฏิบัติการของตนเท่านั้น (inter-operability) หรือใช้ข้อมูลการบริหารสิทธิ (Rights Management Information: RMI) เพื่อสื่อถึงเรื่องเกี่ยวกับสำเนางานหรือการแสดงผลงานอันมีลิขสิทธิ์ เช่น ชื่อและข้อมูลเกี่ยวกับผู้สร้างสรรค์งาน การใช้เทคโนโลยีลายน้ำดิจิทัล (Digital Watermark) เพื่อทำเครื่องหมายที่มองไม่เห็นในรูปของเลขฐานสอง ให้แฝงไว้ในสื่อดิจิทัลต่าง ๆ โดยการเข้ารหัส (Encryption) ซึ่งจะช่วยติดตามเส้นทางการทำซ้ำจากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่งได้ ฯลฯ (จักรกฤษณ์ ควรพจน์ และนันทน อินทนนท์, 2550) ทั้งนี้ แม้ว่ามาตรา 53/5 แห่งพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 จะได้กำหนดข้อยกเว้นการละเมิดมาตรการทางเทคโนโลยีไว้สำหรับกรณีที่การกระทำนั้นจำเป็นสำหรับกระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์ ดังเช่นกรณีเพื่อประโยชน์ของคนพิการตามมาตรา 32 วรรค 2 (9) ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ก็ยังคงมีปัญหาการใช้และการตีความกฎหมายดังกล่าวว่าขอบเขตแห่งความจำเป็นสำหรับกรณีเพื่อให้คนพิการได้เข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ควรเป็นอย่างไร จึงจะสามารถรักษาดุลยภาพแห่งสิทธิระหว่างสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์กับประโยชน์ของสาธารณชน ทำให้ยังไม่ปรากฏข้อมูลว่ามีผู้อาศัยช่องความจำเป็นตามกฎหมายนี้ในการฝ่าฝืนมาตรการทางเทคโนโลยีเพื่อปกป้องผลประโยชน์ให้คนพิการสามารถเข้าถึงงานอันมีลิขสิทธิ์ได้ เมื่อพิจารณาไปถึงเจตนารมณ์แห่งกฎหมายลิขสิทธิ์ที่ไม่ได้มุ่งเพียงเพื่อปกป้องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแก่ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ด้วยการคุ้มครองสิทธิแต่เพียงผู้เดียว หากแต่จะต้องส่งเสริมให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมด้วย ดังนั้น การส่งเสริมการดุลยภาพแห่งสิทธิของคนพิการเพื่อให้สามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ในยุคดิจิทัล เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม อาจต้องอาศัยเครื่องมือหรือกลไกด้านอื่นเพื่อช่วยขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การส่งเสริมการออกแบบโมบายแอปพลิเคชั่นในการเรียนรู้เชิงรุกสำหรับคนพิการทางการมองเห็น หรือทางการได้ยิน การส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการจัดทำสื่อดิจิทัลที่คนพิการทางการมองเห็นหรือทางการได้ยินสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการส่งเสริมการจัดทำฐานข้อมูลขนาดมหาศาล (Big Data) เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ให้เกิดแนวทางการจัดทำสื่อดิจิทัลที่เหมาะสมสำหรับคนพิการกลุ่มต่าง ๆ เป็นต้น
โดย ดร.ภัทรพร เย็นบุตร
ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิง: