บริการ
TH
EN
TH
CN

การท่องเที่ยวเชิงอาหารด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง โดยเฉพาะสินค้าอาหารและบริการร้านอาหารที่เป็นผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม เพราะอาหารเป็นส่วนสำคัญของประสบการณ์ที่สะท้อนถึงมรดกวัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการสร้างสรรค์ช่องทางบริการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ที่หลากหลาย อาทิ ประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และประเทศอิตาลี เป็นต้น เพื่อให้กิจการสามารถดำเนินต่อไปแม้ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้บริโภคยังได้รับความปลอดภัย ในขณะที่ผู้ประกอบการยังคงสามารถทำกำไรและมอบประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้แก่ลูกค้าได้

Tabelog mall “ห้างอาหารระดับพรีเมียม ที่ส่งมอบรสชาติของร้านอาหารยอดนิยมชื่อดังที่ยากต่อการจองและร้านอาหารที่คนรู้จัก ถึงบ้านของคุณ” ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน 2563 พัฒนาขึ้นและใช้งานในประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากเห็นโอกาสจากวิกฤตโควิด-19 ที่พบว่าความต้องการอาหารพร้อมทานที่บ้านและการซื้ออาหารออนไลน์ของผู้บริโภคมีอัตราที่เพิ่มขึ้น จึงได้จัดทำแพลตฟอร์มรวบรวมร้านค้าขายอาหารท้องถิ่นรสเลิศชื่อดังทั่วประเทศญี่ปุ่น ซึ่งมีความหลากหลายของประเภทผลิตภัณฑ์และช่วงราคา ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ที่รับประทานในทุกๆ วันไปจนถึงผลิตภัณฑ์ที่ต้องการลิ้มรสในวันพิเศษ โดยสามารถเลือกสั่งซื้อที่เหมาะกับความต้องการผ่านออนไลน์ ทั้งพีซีและสมาร์ทโฟนตลอด 24 ชั่วโมง ให้ไปส่งถึงบ้าน

คุณสมบัติที่โดดเด่นของ Tabelog mall คือ ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ความสุขในการเข้าถึงของการกินกับการช้อปปิ้งเสมือนการท่องเที่ยวอาหาร เนื่องจากเว็บมีการแนะนำรายละเอียดของผลิตภัณฑ์ที่แสดงประวัติ คุณสมบัติพิเศษ พร้อมภาพถ่ายที่สวยงาม และความเห็นของคนดังนักชิม และสามารถสั่งซื้อได้อย่างง่ายดายและมีความสุขเพื่อสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวอาหาร พร้อมลิ้มรสชาติ เสมือนไปนั่งรับประทานที่ร้านด้วยตัวเอง

ภาพที่ 1: Tabelog mall Application ที่มา: https://mall.tabelog.com/

Tours from Home การท่องเที่ยวเสมือนจริง โดยผู้สร้างได้ริเริ่มแนวคิดจากการเล่าประสบการณ์ท่องเที่ยวเมืองโรม ประเทศอิตาลี เป็นการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงวิธีการทำธุรกิจท่องเที่ยวในช่วงเวลาที่ไม่สามารถไปเยี่ยมชมสถานที่จริงได้ โดยการจัดทำโปรแกรมการท่องเที่ยวออนไลน์ผ่านความเป็นจริงเสมือน ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อโปรแกรมเข้าถึงบนหน้าจอที่บ้าน เพื่อไปยังสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้องการ โดยมีไกด์นักเล่าเรื่องนำเที่ยว ซึ่งมีให้เลือกหลายหมวดหมู่ ได้แก่ ซีรีส์เด่น ประวัติศาสตร์วัฒนธรรม และอาหาร เป็นต้น และมีบริการเสริมเป็นพื้นที่สังสรรค์ทางสังคมพบปะออนไลน์ระหว่างนักท่องเที่ยวด้วยกัน

ตัวอย่าง “โปรแกรมการท่องเที่ยวอาหารเสมือนจริง ตอนวิสกี้แบรนด์พรีเมียม Roe & Co” เป็นการนำเสนอเรื่องราว ประวัติศาสตร์ความเป็นมา ทัวร์ชมพื้นที่ผลิตจริง เพื่อเป็นแรงบันดาลใจทางประวัติศาสตร์และนวัตกรรมทางวัฒนธรรมในท้องถิ่น

ภาพที่ 2: เว็บไซต์ Tours from Home ที่มา: https://www.takewalks.com/online-tours/

Contactless Dining Kit หรือชุดรับประทานอาหารแบบไม่สัมผัส ของ Presto โดยมีแนวคิดเริ่มต้นที่สถาบัน MIT และเติบโตใน Silicon Valley ที่จะช่วยให้ร้านอาหารหลายพันร้านเปิดใหม่ทั่วโลกหลังวิกฤตโควิด-19 เป็นนวัตกรรมที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเข้ามาท่องเที่ยวอาหารภายในร้าน โดยไร้สัมผัสแบบครบวงจรตั้งแต่การสั่งซื้อจนถึงชำระเงินแบบไม่สัมผัสผ่านเว็บไซต์มือถือโดยไม่จำเป็นต้องดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน

ภาพที่ 3: Contactless Dining Kit https://presto.com/lp/contactless/

คุณสมบัติที่สำคัญของชุด Contactless Dining Kit ประกอบด้วย:

  • รอลิสต์และการสั่งซื้อล่วงหน้า ลูกค้าสามารถจองออนไลน์เข้าใช้บริการผ่านสมาร์ทโฟนแบบเรียลไทม์ และสามารถเรียกดูเมนูสั่งซื้อล่วงหน้าหรือชำระค่าสินค้าและรับการแจ้งเตือนเมื่อร้านพร้อมให้บริการ
  • เมนูไร้สัมผัส ลูกค้าสามารถเข้าถึงเมนูโดยสแกนสติ๊กเกอร์ QR code โดยใช้สมาร์ทโฟน เพื่อดูเมนูและราคาที่จะสั่งซื้อ
  • การสั่งซื้อแบบไม่ต้องสัมผัส ระบบ Presto ช่วยให้สามารถแก้ไขและเพิ่มรายการสั่งซื้อได้ตลอดเวลา
  • การชำระเงินแบบไร้สัมผัส ลูกค้าสามารถชำระเงินโดยใช้โทรศัพท์ของตัวเองโดยสแกนรหัส QR ซึ่งการชำระเงินถูกเปิดใช้งานโดยใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัย มอบความสะดวกสบายและความสบายใจให้กับลูกค้า

จากตัวอย่างข้างต้นจะเห็นว่า แม้จะเกิดสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 แต่เมื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ ธุรกิจท่องเที่ยวอาหาร ยังคงสามารถเติบโตและให้บริการลูกค้า โดยผ่านช่องทางออนไลน์เป็นสำคัญ อย่างไรนั้นการติดต่อขอรับบริการยังคงเปิดช่องทางเดิมควบคู่ด้วย เช่น ทางโทรศัพท์และโทรสาร เพื่อรองรับการสั่งซื้อจากทุกกลุ่มวัยและกลุ่มคนที่ยังไม่สันทัดในเรื่องของการใช้เทคโนโลยีอีกทางหนึ่ง

นางสาวอัญธิกา วิมุกตานนท์

นักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคตะวันออก

อ้างอิง