สถานการณ์ในปัจจุบันเกี่ยวกับ Metaverse
ในช่วงปี 2565 นี้ มีข่าวที่กล่าวถึงเมตาเวิร์ส (Metaverse) จำนวนมาก โดยที่ข่าวต่าง ๆ ได้อ้างถึงบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกว่าได้ให้ความสนใจลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี Metaverse ซึ่งเป็นโลกเสมือนจริงสามมิติ เช่น Facebook ได้เปลี่ยนชื่อเป็น Meta เพื่อส่งสัญญาณสร้างกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ให้ตื่นตัวไปที่ Metaverse ในขณะที่ Microsoft เองก็กำลังศึกษาค้นคว้าวิธีการใช้ Metaverse เพื่อการทำงานและเพื่อความบันเทิง ส่วน Apple ก็อยู่ระหว่างการพัฒนาชุดหูฟังสำหรับ Metaverse และ Google ก็ให้ความสำคัญกับ Metaverse ด้วยเช่นกัน อีกทั้งยังมีข่าวเกี่ยวกับ McDonald ที่เรียกได้ว่าเป็นฟาสต์ฟู้ดที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งหนึ่งได้พัฒนารูปแบบการโฆษณาอาหารเสมือนจริงใน Metaverse ที่หากมีการสั่งซื้อก็จะนำส่งอาหารในโลกความเป็นจริงให้สอดคล้องกันได้ด้วย นอกจากนี้ ยังมีผู้ให้ความเห็นถึงผลดีของ Metaverse ไว้โดยสรุปใจความได้ว่า Metaverse จะช่วยทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโตมากขึ้น เพราะสามารถสร้างประสบการณ์อย่างไร้ขีดจำกัดให้กับลูกค้า โดยที่ไม่จำต้องรอให้ลูกค้าเข้าร้าน นอกจากนี้ Metaverse ยังเป็นโลกของ Creator ทั้งหลายอีกด้วย
จากข่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า Metaverse นี้เป็นเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน และมีความเชื่อมโยงในแง่มุมของการทำการตลาดออนไลน์และการประชาสัมพันธ์สินค้าหรือบริการต่าง ๆ ด้วย โดยที่นักการตลาดทั้งหลายสามารถใช้เทคโนโลยีดิจิทัลสร้างร้านขายสินค้าหรือให้บริการ สร้างสถานที่เพื่อประชาสัมพันธ์ ตลอดจนจัดกิจกรรมแคมเปญต่าง ๆ ใน Metaverse หรือแม้กระทั่งทำให้ Avatar ของผู้บริโภคได้รู้จักและผูกพันกับแบรนด์ของธุรกิจตนเองมากขึ้น หรืออาจเป็นการสร้างกระแสความนิยมโดยอาศัยตัวละคร Avatar ใน Metaverse มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ หรือเป็น Influencer ให้กับแบรนด์สินค้าหรือบริการในโลกจริงก็ได้ ซึ่งมุมมองจากการทำการตลาดที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse นี้ ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าของธุรกิจตนเองด้วย โดยมีตัวอย่างธุรกิจที่ให้ความสนใจกับการจดทะเบียนคุ้มครองเครื่องหมายการค้าใน Metaverse เช่น กรณีของ Nike ที่มีข้อมูลจากรายงานของสำนักงานสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้าของสหรัฐอเมริกาสรุปได้ว่า Nike ได้มีการยื่นขอเครื่องหมายการค้าใหม่หลายรายการ เพื่อจะทำและขายรองเท้าผ้าใบตลอดจนเครื่องแต่งกายแบรนด์ Nike เสมือนจริง ซึ่งในทัศนะผู้เขียนเห็นว่าแนวโน้มทั่วโลกจะมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ไปตามกระแสการพัฒนา Metaverse
คดีที่น่าสนใจเกี่ยวกับการคุ้มครองเครื่องหมายการค้าใน Metaverse
รูปที่ 1: A Hermes Birkin handbag is displayed in the showcase of a Hermes boutique at a shopping mall in Lanzhou city, northwest Chinas Gansu province, 22 September 2012 จาก https://depositphotos.com/241955090/stock-photo-hermes-birkin-handbag-displayed-showcase.html
คดีที่น่าสนใจคดีหนึ่งที่เพิ่งมีการฟ้องร้องกันเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 คือคดี Hermès vs. Mason Rothschild ซึ่งโจทก์คือ Hermès ผู้เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า Birkin สำหรับสินค้าประเภทกระเป๋าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายยาวนานได้กล่าวหาว่าจำเลยคือ Mason Rothschild ซึ่งเป็นเจ้าของผลงานศิลปะดิจิทัลที่วาดภาพกระเป๋า Birkin นั้น ไม่มีสิทธิใช้เครื่องหมายการค้า BIRKIN และเครื่องแสดงออกทางการค้า (Trade Dress) ใน MetaBirkins NFTs อีกทั้งจำเลยยังได้กำไรจำนวนมากจากการขายหรือขายต่อ NFT ที่ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตผ่านเว็บไซต์ MetaBirkins หรือบนแพลตฟอร์มอื่น ซึ่งมีผู้ใช้เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ใช้จำนวนมากนั้นเชื่อว่าผลงานศิลปะดิจิทัลที่วาดภาพกระเป๋า Birkin ดังกล่าวเป็นความร่วมมือกันของโจทก์และจำเลย จึงสร้างความเสียหายในชื่อเสียงเครื่องหมายการค้าของโจทก์ (Trademark Dilution) รวมถึงทำให้สาธารณชนมีความเข้าใจที่ผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้า (False Designation of Origin) ส่วนจำเลยก็ได้ให้การต่อสู้ว่าตนเองไม่ได้สร้างหรือขายกระเป๋า Birkin ปลอม เพราะจำเลยมีสิทธิที่จะทำงานศิลปะที่วาดภาพให้เห็นถึงกระเป๋า Birkin และขาย NFT จากงานศิลปะดังกล่าวโดยไม่จำเป็นต้องให้ Hermès เข้ามามีส่วนร่วม
ด้วยข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวได้มีผู้ให้ความเห็นทางวิชาการในแง่มุมกฎหมายคุ้มครองเครื่องหมายการค้าไว้เป็นสาระสำคัญว่า หากบริษัท Hermes International ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ครอบคลุมสำหรับสินค้าประเภทเครื่องหนังที่เป็นสินค้าจริงที่จับต้องได้เท่านั้น ย่อมไม่สามารถขยายสิทธิไปถึงสินค้าในโลกเสมือนไปได้ ในขณะที่สินค้าของจำเลยเองก็ไม่ได้ทำให้เกิดส่วนแบ่งทางการตลาดมาจากสินค้าของบริษัทโจทก์ด้วย ผู้บริโภคจึงไม่น่าที่จะสับสนหรือหลงผิดในแหล่งกำเนิดของสินค้าดังกล่าว
จากคดีที่ได้นำเสนอข้างต้น ในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า หากผู้ประกอบการมีความประสงค์จะดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Metaverse แล้ว การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าหรือบริการของธุรกิจตนเอง ภายใต้เงื่อนไขการกำหนดประเภทของสินค้าหรือบริการที่ครอบคลุมไปถึงในโลกเสมือนด้วยย่อมเป็นสิ่งที่เริ่มเข้ามามีบทบาทสำคัญในยุคดิจิทัล นอกจากนี้ ในโลกจริงผู้ที่ซื้อสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าใด ๆ มาโดยถูกกฎหมายย่อมมีสิทธิที่จะจำหน่ายตัวสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้านั้นต่อไปได้ รวมถึงมีสิทธินำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้านั้นด้วย โดยไม่เป็นการละเมิดเครื่องหมายการค้าของเจ้าของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว ตามหลักการสิ้นสิทธิของเจ้าของเครื่องหมายการค้าเพราะได้มีการจำหน่ายสินค้าครั้งแรกโดยชอบแล้ว (First Sale Doctrine) (เทียบเคียงคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2817/2543) อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ยังไม่มีคดีที่เกิดขึ้นในประเทศไทยสำหรับกรณีการละเมิดเครื่องหมายการค้า ใน Metaverse ซึ่งอาจมีประเด็นปัญหาที่จะต้องศึกษาและพิจารณาข้อสัญญาการโอนสิทธิในสินค้าหรือบริการใน Metaverse แต่ละกรณีต่อไป
ดร.ภัทรพร เย็นบุตร
ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิง