เมื่อกล่าวถึงคำว่า “เศรษฐกิจดิจิทัล” หลายคนย่อมนึกถึงนิยามของเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการผลิตและจำหน่ายสินค้าหรือบริการ การดำเนินธุรกิจ การศึกษา การสาธารณสุข การบริหารรัฐกิจ ตลอดจนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมอื่นที่ช่วยในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน ซึ่งภาพวัตถุที่มักนึกถึงเชื่อมโยงกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลก็คือคอมพิวเตอร์ เมื่อพิจารณาตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรแล้วจะเห็นได้ว่า เครื่องคอมพิวเตอร์หากมีการพัฒนาจนเป็นการประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่ มีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น และมีความสามารถในการประยุกต์ใช้ได้ในทางอุตสาหกรรม ก็ย่อมสามารถขอรับสิทธิบัตรได้ แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น ไม่อาจขอรับสิทธิบัตรได้ เพราะโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกิดขึ้นจากอัลกอริธึม (algorithms) ที่นำมาจัดเรียงลำดับขั้นตอนเพื่อแก้ปัญหา และเกิดขึ้นจากสูตรคณิตศาสตร์ (mathematical formula) ที่นำมาใช้เป็นชุดคำสั่งเพื่อการคำนวณทางคณิตศาสตร์ อันเป็นเพียงทฤษฏีและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ โดยที่กฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตรจะไม่คุ้มครองกฎเกณฑ์และทฤษฏีใดๆ แต่อย่างไรก็ตาม หากเป็นการนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาประยุกต์เป็นการประดิษฐ์ หรือเรียกว่า “การประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (computer-related invention)” ก็อาจนำมาขอรับสิทธิบัตรได้ เช่น U.S. Patent No.7,469,381 (the ‘381 patent) เป็นสิทธิบัตรเกี่ยวกับการทำงานบนหน้าจอ โดยการใช้นิ้วเลื่อนหน้าจอไปจนสุดขอบ จากนั้นหน้าจอจะดีดกลับ (bounce-back effect) รวมถึงการย่อหรือขยายสิ่งที่ปรากฏอยู่บนหน้าจอ โดยการใช้นิ้วบังคับบนหน้าจอ (pinch to zoom) ฯลฯ
จากนิยามข้างต้น ชี้ให้เห็นได้ว่าการคุ้มครองสิทธิบัตรนั้นมีส่วนที่ช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้เป็นอย่างดี เนื่องจากเจ้าของสิทธิบัตรในสิ่งประดิษฐ์ที่กฎหมายคุ้มครองจะเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive right) ในการผลิต ใช้ ขาย เสนอขาย หรือนำเข้ามาในประเทศซึ่งผลิตภัณฑ์ตามสิทธิบัตรของตน ภายในช่วงระยะเวลาอันมีจำกัดตามกฎหมาย (หลักเกณฑ์ตามมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติสิทธิบัตร พ.ศ. 2522) หลังจากนั้นเทคโนโลยีการประดิษฐ์ดังกล่าวก็จะตกเป็นของสาธารณะ (public domain) และเมื่อมีมาตรการและการบังคับใช้กฎหมายที่เหมาะสม ก็ย่อมทำให้ผู้ประดิษฐ์เกิดความเชื่อมั่นที่จะใช้เทคโนโลยีนี้เพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของตนเอง โดยไม่ต้องระแวงว่าจะมีผู้กระทำการละเมิดสิทธิแต่เพียงผู้เดียวดังกล่าว อีกทั้งยังเป็นการนำผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากระตุ้นให้เกิดการเปิดเผยข้อมูลการประดิษฐ์ของตนต่อสาธารณชน เพราะการขอรับสิทธิบัตรนั้นผู้ยื่นคำขอจะต้องแสดงรายละเอียดการประดิษฐ์ด้วย ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 ยังได้บัญญัติไว้เป็นสาระสำคัญให้สามารถนำทรัพย์สินทางปัญญาซึ่งหมายความรวมถึงสิทธิบัตรมาเป็นใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้อีกด้วย โดยที่การบัญญัติกฎหมายในลักษณะนี้ย่อมช่วยเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขันให้ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีมากยิ่งขึ้น เพราะผู้ประกอบธุรกิจดังกล่าวมีขีดความสามารถในการแข่งขันน้อย เมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ ในขณะที่กฎหมายนี้ช่วยให้ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายยิ่งขึ้น เนื่องจากสามารถกู้ยืมเงินได้โดยไม่ต้องส่งมอบหลักประกันให้แก่ผู้รับหลักประกัน และในขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็ได้รับประโยชน์จากการแบ่งเบาภาระที่จะต้องเก็บและดูแลหลักประกันในระหว่างที่กู้ยืมเงินนั้น ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกประกาศให้ผู้รับหลักประกันที่เป็นสถาบันการเงินต้องทำตามหลักเกณฑ์การประเมินมูลค่าทรัพย์สินทางปัญญาของสมาคมผู้ประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทยและสมาคมนักประเมินราคาอิสระไทย (วรรณวิภา พัวศิริ, 2560) ดังนั้น จึงกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าสิทธิบัตรสามารถเป็นเครื่องมือสร้างแรงผลักดันให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งใหม่ ๆ เป็นเครื่องมือในการถ่ายทอดเทคโนโลยี อีกทั้งยังสามารถช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและภายในประเทศได้เป็นอย่างดี
ข้อสังเกตที่สำคัญประการหนึ่งในการขอรับสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลในปัจจุบันและอนาคตสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง ทำให้เกิดนวัตกรรมการเปลี่ยนแปลงและส่งผลกระทบต่อตลาดของผลิตภัณฑ์เดิม อีกทั้งยังสามารถทำให้ธุรกิจที่ใช้เทคโนโลยีเดิมต้องปรับตัวกระทันหัน หรือที่เรียกว่า “Digital Disruption” ซึ่งความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ย่อมมีผลต่อข้อมูลที่ปรากฏในคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลหรือเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ด้วย โดยที่ข้อมูลเช่นว่านี้จะเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาต่อยอดเพื่อช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้ยั่งยืนต่อไปได้ ก็ต่อเมื่อเป็นข้อมูลที่ที่ผ่านการคัดกรองอย่างถูกต้อง ครบถ้วน ชัดเจน สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ เศรษฐกิจ และสังคม สามารถรวบรวมและวิเคราะห์เป็นข้อมูลขนาดใหญ่ (big data) ที่ใช้จัดทำแผนที่สิทธิบัตร (intellectual property mapping) สำหรับการกำหนดทิศทางการวิจัยและพัฒนาของประเทศได้ต่อไปอีกด้วย แต่ในทางตรงกันข้ามหากข้อมูลดังกล่าวไม่มีคุณภาพ ก็ย่อมส่งผลกระทบทางลบต่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะทำให้เกิดพฤติกรรมการหวงกันมิให้บุคคลอื่นใช้งานข้อมูลที่ขอรับสิทธิบัตรนั้น ตลอดระยะเวลาที่กฎหมายคุ้มครอง (ใจรัก เอื้อชูเกียรติ, 2560)
เมื่อพิจารณาถึงสาเหตุที่ข้อมูลการขอรับสิทธิบัตรอาจไม่มีประสิทธิภาพ จะเห็นได้ว่า อาจมีที่มาจากการที่ผู้ขอรับสิทธิบัตรขาดความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนประสบการณ์ด้านกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร ทำให้มีการระบุขอบเขตในข้อถือสิทธิ (claims) ที่กว้างขวางจนเกินไป จนกระทั่งผู้อื่นไม่สามารถใช้ประโยชน์จากข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรนั้นได้ตลอดช่วงระยะเวลาที่กฎหมายให้ความคุ้มครอง หรือหากระบุข้อถือสิทธิไม่เข้มแข็งเพียงพอที่จะคุ้มครองสิ่งประดิษฐ์ของตน สิทธิบัตรนั้นก็ย่อมไร้ประสิทธิภาพที่จะปกป้องสิทธิของเจ้าของ ส่วนในแง่มุมของการตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรก็จะเห็นได้ว่า หากคำขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นเอกสารมาให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบมีข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนชัดเจน หรือไม่ถูกต้องตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดแล้ว ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรก็ย่อมต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณามากยิ่งขึ้น เพราะต้องตรวจสอบจากงานที่ปรากฏอยู่ก่อนแล้วจากที่ต่าง ๆ ทั่วโลก เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่างานนั้นมีความใหม่ (novelty) และมีขั้นตอนการประดิษฐ์ที่สูงขึ้น (inventive step) เพียงพอที่กฎหมายจะให้ความคุ้มครองสำหรับการผูกขาดข้อมูลคำขอรับสิทธิบัตรเช่นว่านั้น อีกทั้งฐานข้อมูลที่ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรใช้สืบค้นข้อมูลงานที่ปรากฏอยู่แล้วจำเป็นต้องเป็นภาษาสากลที่มีการใช้งานทั่วไป เช่น ภาษาอังกฤษ เพราะหากเป็นภาษาท้องถิ่นต่าง ๆ การสื่อสารถึงรายละเอียดการประดิษฐ์และข้อถือสิทธิอาจไม่ชัดเจนจนทำให้การตรวจสอบที่คลาดเคลื่อน ไม่พบว่าเป็นงานที่ปรากฏอยู่แล้ว และทำให้สิทธิบัตรที่ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายนั้นไม่มีประสิทธิภาพที่พึงมี จึงเกิดการหวงกันข้อมูลความรู้ที่จำเป็นต่อการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรม เนื่องจากเจ้าของสิทธิบัตรผูกขาดไม่ให้ความยินยอมในการนำข้อมูลนั้นไปใช้ประโยชน์
ดังนั้น แนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในทัศนะของผู้เขียนเห็นว่า จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการส่งเสริมและสนับสนุนเครื่องมือซึ่งอาจอาศัยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในการอำนวยความสะดวกสำหรับการสืบค้นข้อมูลสิทธิบัตรที่แม่นยำ และรวดเร็ว ไปพร้อม ๆ กับการส่งเสริมการสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการขอรับสิทธิบัตรสำหรับสิ่งประดิษฐ์ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อให้ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรและผู้ยื่นคำขอมีการสื่อสารกันได้อย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในขั้นตอนที่ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรอาจต้องชี้แจงเพิ่มเติม อีกทั้งยังช่วยลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการคัดค้านผลการพิจารณาหรือดำเนินคดีในศาลอันเนื่องมาจากสิทธิบัตรได้อีกด้วย
โดย ดร.ภัทรพร เย็นบุตร
ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความมั่นคง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิง: