วิกฤตการณ์ฝุ่นที่ชาวเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียงเผชิญหน้ากันช่วงต้นปีที่ผ่านมา ไม่ใช่เรื่องธรรมดาอีกต่อไป ประชาชนได้รับผลกระทบกับสุขภาพและการดำเนินชีวิต หลายๆคน เริ่มพบความผิดปกติกับร่างกายไม่ว่าจะเป็น ไม่สบายตัว หายใจไม่สะดวก แสบจมูก แสบตา เกิดอาการระคายเคืองระบบหายใจ ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนมีสาเหตุมาจากฝุ่น PM2.5
ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน หรือเล็กกว่าเส้นผมของมนุษย์ ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ขนจมูกไม่สามารถกรองได้ การสูดเอา ฝุ่น PM2.5 เข้าไปในร่างกายจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพราะสามารถเดินทางผ่านทางเดินหายใจสู่ปอด กระแสเลือด แทรกซึมกระบวนการทำงานในอวัยวะต่างๆได้ง่าย เพิ่มโอกาสของโรคหัวใจและโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ และในปี 2556 องค์การอนามัยโลกยังจัดให้ PM2.5 อยู่ในกลุ่ม สารก่อมะเร็ง ทำให้มีโอกาสเป็นโรงมะเร็งปอดอีกด้วย
ฝุ่น PM2.5 เกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งจากธรรมชาติและน้ำมือมนุษย์ สาเหตุจากธรรมชาติ ก็เช่น ไฟป่า ส่วนที่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ ก็อย่างที่เราพอจะรู้กันว่าเป็นฝุ่นจากการเผาชีวมวลในที่โล่งแจ้ง เผาเพื่อเปิดหน้าดิน การเผาขยะ รวมถึงการเผาจากประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้กลุ่มฝุ่นควันลอยมาตามสภาพอากาศ โรงงานอุตสาหกรรมที่ปล่อยควันไม่ได้มาตรฐาน และไอเสียดีเซล เป็นต้น
ดัชนีคุณภาพอากาศของประเทศไทยแบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย โดยดัชนีคุณภาพอากาศ 100 จะมีค่าเทียบเท่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในบรรยากาศโดยทั่วไป หากดัชนีคุณภาพอากาศมีค่าสูงเกินกว่า 100 แสดงว่าค่าความเข้มข้นของมลพิษทางอากาศมีค่าเกินมาตรฐานและคุณภาพอากาศในวันนั้นจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน
การนำเทคโนโลโนยีและนวัตกรรมมาใช้ในการแก้ไขปัญหาฝุ่นในปัจจุบันมีตัวอย่างเช่น การใช้โดรนพ่นสารกำจัดหมอกควันเพื่อจับตัวกับฝุ่นควันทำให้ฝุ่นควันค่อยๆเคลื่อนตัวตกลงมายังพื้นดิน และการใช้สปริงเกอร์ขนาดยักษ์ติดตั้งบนตึกสูงแล้วฉีดน้ำลงมาเพื่อช่วยลดฝุ่นละอองในความสูงไม่เกิน 300 ฟุตจากพื้นดิน อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีแนวทางการแก้ปัญหาอย่างชัดเจนที่ได้มีประสิทธิภาพประสิทธิผลในวงกว้าง ทำให้มีความจำเป็นที่ต้องมีการสร้างระบบบริหารจัดการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วย เริ่มจากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ตรวจเช็คสภาพอากาศและฝุ่น เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถติดตามสถานการณ์ เฝ้าระวังดูแลป้องกันตัวเอง จัดให้มีการติดตั้งเซนเซอร์วัดฝุ่นตามพื้นที่เฝ้าระวัง และส่งข้อมูลผ่านคุณภาพอากาศ แอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์ดังกล่าวเพื่อช่วยรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ สามารถเช็คมลพิษตามพื้นที่ที่ประชาชนอยู่ได้ โดยสามารถรายงานข้อมูลรายชั่วโมง (สำหรับบางสถานี) และข้อมูลรายวัน และกราฟคุณภาพอากาศย้อนหลัง 7 วัน ด้วยเซนเซอร์วัดคุณภาพของอากาศจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก และเซนเซอร์ของหน่วยงานต่างๆที่ติดตั้งแต่ละจุด
โดยหลายท่านอาจคิดว่าระบบการแจ้งเตือนแบบนี้ก็มีอยู่มากมายอาทิเช่น AirVisual, Real time AQI, BreezoMeter, Air4Thai ฯลฯ มีความจำเป็นหรือไม่ที่ต้องพัฒนาเพิ่มเติม แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากมีการพัฒนาตัวแอพพลิเคชั่นในการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ ให้มีความสามารถเพิ่มขึ้นในการแจ้งเตือนจุด Hot Spot แสดงตำแหน่งการเกิดไฟป่า (จุดความร้อน) โดยทำการอัพเดทข้อมูลแบบเรียลไทม์ พร้อมกับระบบแจ้งเตือนอัตโนมัติ ผ่านแอพพลิเคชั่น หรือเว็บไซต์ หรือง่ายที่สุด คือ ข้อความผ่าน Line ไปยังผู้เกี่ยวข้อง รวมไปถึงใช้ข้อมูลกราฟสถิติรายอำเภอ ตำบล และรายละเอียดพิกัดทางภูมิศาสตร์ในแต่ละจุดพร้อมระบบนำทาง (Google Map) เพื่อให้เข้าถึงและแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที จะเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาหมอกควันในพื้นที่ และสร้างให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการเพิ่มข้อมูลการแจ้ง กรณีการเกิดไฟป่า และการเผาในพื้นที่โล่งแจ้ง ในช่วงระยะเวลาห้ามเผา เป็นการบูรณาการระบบต่างๆ เข้าหากันเพื่อแก้ปัญหาการเกิดฝุ่นควันอย่างรวดเร็ว
สำหรับการทำงานของตัวแอพพลิเคชั่นในการรายงานข้อมูลคุณภาพอากาศ ข้อมูลจะถูกส่งมาจากเซ็นเซอร์วัดคุณภาพอากาศ ติดตั้งตามจุดต่างๆ ที่สำคัญ เช่น โรงพยาบาล เทศบาล โรงเรียน อำเภอ ที่มีสัญญาณ WiFi เพื่อลดค่าใช้จ่ายไม่ต้องใช้ซิมอินเตอร์เน็ต และจุดติดตั้งในที่ร่มอุปกรณ์เซ็นเซอร์จะยืดอายุการใช้ได้นาน และมีราคาไม่แพงเมื่อเทียบกับอุปกรณ์เซ็นเซอร์ที่ติดตั้งกลางแจ้ง ในส่วนการแจ้งเตือน ข้อมูลจะแจ้งเตือนในแอพพลิเคชั่น หรือส่งข้อมูลใน Line กลุ่ม โดยสมาชิกในชุมชนที่อยู่ในกลุ่ม Line ก็จะได้ทราบถึงข้อมูลคุณภาพในแต่ระดับตามดัชนีวัดคุณภาพอากาศ และเตรียมป้องกันตนเองด้วยการใส่หน้ากากกันฝุ่น PM2.5 หรือหากร้ายแรงก็ควรออกจากพื้นที่นั้นโดยเร็ว รวมถึงส่งข้อมูลต่อๆไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบในการดำเนินการแจ้งเตือนชุมชน หรือดำเนินการตามแผนอพยพเป็นต้น ถ้าเราช่วยกันและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วย เราก็จะข้ามผ่านวิกฤติฝุ่นพิษ PM2.5 ในทุกๆปีไปได้ด้วยกัน ซึ่งจะช่วยลดภาระการเจ็บป่วยของประชาชนในแต่ละชุมชนได้ในระยะยาว
ในการนี้เอง นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นความสำคัญ จึงมีแนวคิดในการสร้างระบบเฝ้าระวังร่วมกับทาง depa ในการพัฒนาระบบดังกล่าว โดยจะทำการติดตั้งเครื่องวัดฝุ่นควันที่ได้ผ่านการทดสอบความแม่นยำในการตรวจวัดจากหน่วยวิจัยสนามไฟฟ้าประยุกต์ในงานวิศวกรรม ตามมาตรฐานของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมสหรัฐอเมริกา หรือ อีพีเอ (United States Environmental Protection Agency: EPA) และบูรณาการร่วมกันกับโครงการเน็ตประชารัฐนำมาติดตั้งในพื้นที่เป้าหมายในเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 1000 จุด เพื่อขับเคลื่อนสู่เมืองอัจฉริยะในด้าน Smart people, Smart Living และ Smart Environment
เขตพื้นที่ภาคเหนือ ตอนบน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล