บริการ
TH
EN
TH
CN

มุมมองนานาชาติสู่ปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบ ตอนที่ 2 กรณีศึกษาจากรัฐบาลแคนาดา

เริ่มต้นการพัฒนายุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์

ดังกล่าวไปแล้วในตอนที่ 1 ปัจจุบันเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) เป็นประเด็นการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เนื่องจากปัญญาประดิษฐ์เป็นเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกที่เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมและกำลังเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษยชาติอีกด้วย ซึ่งประเทศที่มีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีหลายประเทศกำลังเร่งศึกษาและออกแบบแนวทางการปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบ หนึ่งในประเทศดังกล่าวที่มีการดำเนินการด้านนี้อย่างจริงจังได้แก่ประเทศแคนาดา อันเป็นกรณนีศึกษาในบทความนี้

โดยที่ในปี 2560 ประเทศแคนาดาประกาศยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (National AI Strategies) ที่เรียกว่า “Pan-Canadian Artificial Intelligence Strategy” โดยมีเป้าหมาย 4 ข้อได้แก่ 1) เพิ่มจำนวนนักวิจัยทางด้านปัญญาประดิษฐ์และบัณฑิตที่มีทักษะ 2) จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศทางด้านปัญญาประดิษฐ์ ณ เมือง Edmonton, Montreal และToronto 3) พัฒนาการเป็นผู้นำทางความคิดที่เกี่ยวข้องกับนัยยะทางกฎหมาย นโยบาย จริยธรรมและเศรษฐกิจที่สัมพันธ์กับปัญญาประดิษฐ์ และ 4) สนับสนุนชุมชนวิจัยแห่งชาติที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์

.

สมุดปกขาว Responsible Artificial Intelligence in the Government of Canada

หลังจากนั้น ในปี 2561 รัฐบาลแคนาดาได้ดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบ เพื่อให้การดำเนินการของรัฐบาลบรรลุวัตถุประสงค์และเกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม เป็นที่มาให้ สมุดปกขาว (White Paper) เรื่อง “Responsible Artificial Intelligence in the Government of Canada”17 ได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการเชิงนโยบายในวาระถัดไป โดยเนื้อหาในสมุดปกขาวระบุว่า ปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์กำลังเปลี่ยนวิถีการทำงานของรัฐบาล ดังเช่น Imagine Virtual Service Agents ที่ให้ความช่วยเหลือชาวแคนาดาและธุรกิจด้วยการทำธุรกรรมตลอด 24 ชั่วโมงต่อวัน 7 วันต่อสัปดาห์ และระบบปัญญาประดิษฐ์สามารถตรวจสอบสถานะของอุตสาหกรรม เพื่อตรวจจับและเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ เป็นต้น

โดยปัญญาประดิษฐ์มีความสามารถในการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกหน่วยงานภาครัฐให้ออกแบบนโยบายสาธารณะได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสามารถตอบสนองความต้องการของสังคม ที่ไม่เคยสามารถทำได้มาก่อนอีกด้วย อย่างไรก็ตามรัฐบาลแคนาดาตระหนักว่า ปัญญาประดิษฐ์ต้องได้รับการพัฒนาให้มีความรับผิดชอบและมีจริยธรรม เนื่องด้วยถ้าปัญญาประดิษฐ์เรียนรู้จากข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอคติ (Bias) เรียนรู้จากความไม่สมบูรณ์ของชุดข้อมูล เช่น เชื้อชาติหรือความพิการไม่ถูกบรรจุอยู่ในชุดข้อมูล หรือเรียนรู้จากความอัปยศทางสังคมและวัฒนธรรม เช่น การฆ่าตัวตายหรือการคุกคามทางเพศ จึงส่งผลให้ผลลัพธ์ของคำแนะนำหรือการตัดสินใจเกิดความผิดพลาดอย่างมหาศาลและห่างไกลจาก ความเป็นจริงหรือแม้กระทั่งปัจจุบันปัญญาประดิษฐ์บางระบบดำเนินการเหมือน “กล่องดำ (Black Boxes)” ซึ่งหมายความว่าการตัดสินใจของปัญญาประดิษฐ์นั้นยากที่จะตรวจสอบหรือเข้าใจได้อย่างสมบูรณ์

.

ชุดหลักการปฏิบัติทางด้านจริยธรรม 7 ข้อ

ดังนั้นรัฐบาลแคนาดาจึงให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่งกับการประยุกต์ใช้ระบบปัญญาประดิษฐ์ เพื่อความสมดุลระหว่างการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของรัฐบาล กับความเสี่ยงในทางที่ผิดที่จะเกิดขึ้น โดยสมุดปกขาวเล่มนี้ได้เสนอชุดหลักการปฏิบัติทางด้านจริยธรรม 7 หลักการ สำหรับองค์กรภาครัฐในการประยุกต์ใช้ปัญญาประดิษฐ์ ดังต่อไปนี้

  1. ประชาชนควรถูกปกครองด้วยประชาชนเอง และรับทราบว่าตนควรถูกปกครองด้วยอำนาจแห่งประชาชนเช่นเดียวกัน (People should always be governed – and perceive to be governed – by people)
  2. ระบบปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งถูกนำมาใช้งานในส่วนของภาครัฐนั้น ควรจะได้รับการ "ฝึกฝน" อย่างเหมาะสมเพื่อรองรับมิติด้านจริยธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ในการดำเนินงาน เช่นเดียวกับองค์กรของภาครัฐเหล่านั้น รวมถึงตอบสนองต่อข้อผูกพันและหลักการด้านสิทธิมนุษยชน ทั้งของประเทศแคนาดาเอง และในระดับสากล (AI systems deployed on behalf of government should be trained to reflect the Values and Ethics of the Public Sector as well as Canadian and international human rights obligations)
  3. องค์กรภาครัฐต้องรับผิดชอบต่อการกระทำของระบบปัญญาประดิษฐ์ และควรสร้างระบบที่ตรวจสอบได้ (Organizations are accountable for the actions of AI systems, and should build systems that are auditable)
  4. ระบบปัญญาประดิษฐ์ต่างๆ ควรมีการนำมาใช้งานด้วยกระบวนการที่มีความโปร่งใสมากเท่าที่จะสามารถกระทำได้ (Understanding the need to protect privacy and national security, AI systems should be deployed in the most transparent manner possible)เพื่อตอบสนองต่อประเด็นด้านความเป็นส่วนตัว สิทธิส่วนบุคคล และความมั่นคงของประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อนนั้น
  5. องค์กรต่างๆ ควรมีมาตรการรองรับเพื่อให้มั่นใจได้ว่า จะมีแผนสำรองเพื่อรองรับในกรณีที่ระบบการทำงานของ AI เกิดความผิดพลาดที่รุนแรงหรือล้มเหลว ตลอดจนมีแนวทางการให้บริการแก่ผู้ใช้งานที่ไม่สามารถเข้าถึงการทำงานของระบบได้ตามปกติ (Organizations should ensure that reliable contingencies are in place for when AI systems fail, or to provide services to those unable to access these systems)
  6. ระบบปัญญาประดิษฐ์ควรได้รับการพัฒนาในทีมที่มีความหลากหลาย ซึ่งรวมถึงบุคคลที่มีความสามารถในการประเมินผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจสังคมและจริยธรรมของระบบ (AI systems should be developed in a diverse team that includes individuals capable of assessing the ethical and socioeconomic implications of the system)
  7. ระบบปัญญาประดิษฐ์ควรถูกนำมาใช้งานในลักษณะที่ลดผลกระทบเชิงลบต่อพนักงานให้น้อยที่สุดเท่าที่สามารถจะทำได้ (AI systems should be deployed in a manner that minimizes negative impact to employees where possible)

.

พันธกิจในการออกแบบและพัฒนานโยบายที่เกี่ยวกับการพัฒนาและใช้ปัญญาประดิษฐ์

โดยจากหลักการปฏิบัติทางด้านจริยธรรมดังกล่าวข้างต้น องค์กรของภาครัฐของประเทศแคนาดาจึงมีพันธกิจที่สำคัญในการออกแบบและพัฒนานโยบายให้ครอบคลุมประเด็นต่างๆ ดังนี้

  1. จัดลำดับความสำคัญของแนวทางการกำกับดูแลข้อมูลที่ดี (Good Data Governance Practices) ด้วยการตรวจสอบข้อมูล ทดสอบข้อมูล จัดการข้อมูลที่ดี กำจัดสัญญาณรบกวนและข้อมูลสกปรก และสร้างแบบฝึกฝนที่มากเพียงพอ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีคุณภาพสูง (High-quality Data) และตรงกับความตั้งใจเริ่มต้นในผลลัพธ์ที่ถูกคาดการณ์ไว้
  2. ลงทุนในคน ผ่านการเร่งสร้างชุดทักษะใหม่ๆ (Skillsets) ให้กับผู้ปฏิบัติงาน และลงทุนกับระบบ เพื่อให้การสร้างข้อมูล เก็บข้อมูล ป้องกันข้อมูลและการเข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด
  3. ปรับปรุง พรบ.ความเป็นส่วนตัว (Privacy Act) และการประเมินผลกระทบความเป็นส่วนตัว (Privacy Impact Assessments) ให้ทันสมัยและรองรับความก้าวหน้าของนวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ เนื่องด้วยปัญญาประดิษฐ์เกี่ยวข้องกับการรวบรวม ใช้ เปิดเผยและเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
  4. ยึดหลักการสิทธิมนุษยชนระดับนานาชาติและปฏิบัติตามมาตรฐานขององค์กรระหว่างประเทศ เช่น IEEE Standards Association, OpenAI, และ ISO เป็นต้น เมื่อมีการประยุกต์ใช้งานปัญญาประดิษฐ์หรือระบบอัตโนมัติอื่นๆ
  5. สร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนตลอดเวลา ด้วยการสร้างกฎระเบียบและข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการใช้ปัญญาประดิษฐ์ด้วยการ ยึดหลักความโปร่งใส
  6. เพิ่มการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทางด้านกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานต่างๆ ตั้งแต่เริ่มต้น เพื่อเป็นประโยชน์ในการออกแบบและพัฒนากฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ และมาตรฐานต่างๆ อย่างมีพลวัต เนื่องด้วยการใช้ปัญญาประดิษฐ์ในรัฐบาลแคนาดาเกี่ยวข้องกับนัยยะทางกฎหมายในวงกว้าง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายการบริหาร (Administrative Law), กฎหมายความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber-security Law), กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property Law), กฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง (Procurement Law), กฎหมายการจ้างงาน (Employment Law) เป็นต้น
  7. พัฒนาระบบรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์สำหรับฐานข้อมูลอย่างเหมาะสม เนื่องด้วยผู้บุกรุกสามารถเจาะระบบเพื่อเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ จึงสามารถส่งผลกระทบต่อผลลัพธ์ที่เกิดจาก อัลกอรึทึม (Algorithm) ได้อย่างมีนัยสำคัญ

ซึ่งสมุดปกขาวเรื่อง แนวทางการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบของรัฐบาลแคนาดาที่กำหนดชุดหลักการปฏิบัติทางด้านจริยธรรม 7 ข้อ และข้อเสนอประเด็นสำคัญสำหรับการออกแบบและพัฒนานโยบายให้ครอบคลุมประเด็นด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ดังกล่าว ถือว่ามีรายละเอียดที่น่าศึกษา เพื่อมาปรับใช้เป็นทางในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ที่มีความรับผิดชอบของประเทศไทยต่อไป

.

สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น | สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

.

ข้อมูลอ้างอิง

  1. World Economic Forum in collaboration with McKinsey & Company (2018). Creative Disruption: The Impact of Emerging Technologies on the Creative Economy. Switzerland: World Economic Forum; REF 310517
  2. Ernst & Young LLP (2017). Deconstructing Disruption: Impact of Future Technologies. India: EY; EYIN1704-043
  3. IDx Technologies Inc. Our Mission of IDx. ที่มา: (https://www.eyediagnosis.co/about). 2018.
  4. Planck Aerosystems. Drones for Boats and Trucks ที่มา: (https://www.planckaero.com/). 2018.