บริการ
TH
EN
TH
CN

การสร้าง Social Enterprise ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล: กรณีประเทศเกาหลีใต้

จากการที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ depa ได้ไปร่วมงาน Global Mobile Vision 2018 (GMV 2018) จัดขึ้นโดย สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (Korea Trade-Investment Promotion Agency: KOTRA) ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐบาลเกาหลีใต้ และมีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ประจำทั่วโลก นั้น หนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจ และสามารถนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ คือประเด็นเรื่องการสร้าง Social Enterprise ในประเทศเกาหลีที่ถูกออกแบบมาอย่างเป็นระบบ จากการนำเสนอของเจ้าของผลงานเองและจากเจ้าหน้าที่ของ KOTRA แสดงให้เห็นกระบวนการสร้างและคิดอย่างเป็นระบบร่วมกันของรัฐบาลและผู้ประกอบการในประเทศเกาหลีใต้ เพื่อช่วยสร้างสินค้าและบริการให้เกิดเป็น Social Enterprise ได้ทั้งระบบ และยังช่วยสังคมในเกาหลีให้มีความภาคภูมิใจ ไม่จำเป็นต้องเรียกร้องให้เกิดความสงสารจึงซื้อขายสินค้าและบริการนั้น โดยเกาหลีใต้สามารถกระตุ้นการซื้อขายได้จากการชื่นชมผลงานที่แสดงให้เห็นถึงคุณค่าของสินค้า และบริหารที่ผ่านกระบวนการที่มีความใส่ใจขึ้นมาอย่างน่าทึ่ง

THISABLED หน่วยงาน Social Enterprise ของเกาหลีใต้

ยกตัวอย่างผลงานของ THISABLED ที่ร่วมออกบูธแสดงสินค้าภายในงาน Global Mobile Vision 2018 (GMV 2018)

s1.PNG

s2.PNG

ผลงานศิลปะที่มีความงดงามเต็มเปี่ยมไปด้วยสีสันแห่งจินตนาการในผลิตภัณฑ์เหล่านี้ น่าจะเป็นผลงานของศิลปินที่มีชื่อเสียงที่ดูสวยงามและทันสมัย แต่ผลงานทั้งหมดกลับเป็น “ผลงานของผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมของคนในประเทศเกาหลี” ฟังแล้วดูสะเทือนใจ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น นี่คือการสร้างคุณค่าให้คนในประเทศได้มีความภาคภูมิใจ ตัวอย่างเช่น ผลงานของศิลปินท่านหนึ่งที่มีชื่อว่า 이다래 (อีดาแร)

s3.PNG ผลงานการวาดภาพของศิลปินผู้พิการที่มีชื่อว่า 이다래 (อีดาแร) และ Hansol.Kwon

s4.PNG

สิ่งที่น่าสนใจคือ การสร้างศิลปิน และการสร้างแบรนด์ให้กับศิลปินคนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมให้มีความสามารถและได้รับการยอมรับทัดเทียมศิลปินคนปกติ และได้รับความสนใจจากประชาชน ซึ่งประเทศเกาหลีมีวิธีการสร้างอย่างเป็นระบบ โดยอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยกันลงมือทำอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น เช่น รัฐบาลเกาหลี, KOTRA, SK Foundation, Energy7, ARTRIM, ATELIER PLAY TOGETER, BLUECANVAS ฯลฯ ที่เข้ามามีบทบาทช่วยเหลือและสนับสนุนให้เกิดความสามารถแบบยั่งยืน ผ่านการสนับสนุนให้คนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเกิดการสร้างแบรนด์ และนำมาต่อยอดสู่การสร้างเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืน เป็นการแก้ไขปัญหาสังคมในรูปแบบที่สวยงาม ที่อาศัยความสามารถของหลายๆ หน่วยงานของรัฐบาลเกาหลีและเอกชนเกาหลีใต้มาช่วยกันทำ (หรือ ที่บ้านเราเรียกว่า การบูรณาการ นั่นเอง) เหตุผลที่เกาหลีใต้คิดอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างคนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคมเป็นระบบเช่นนี้ ส่งผลให้เกาหลี ไม่มีคนพิการขอทานข้างถนน ไม่มีคนจรจัดข้างถนนที่ไปทำให้เมืองไม่ปลอดภัยและไม่สวยงาม และเมื่อปลอดสิ่งไม่สบายตาเหล่านี้ ก็สามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีงามให้กับประเทศเกาหลีได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง

ตัวอย่างหน่วยงานที่ร่วมให้การสนับสนุนบางส่วน

s5.PNG

ตัวอย่างกระบวนการสร้าง Social Enterprise

โดยเกาหลีใต้มีการวางแผนการทำ Social Enterprise อย่างเป็นขั้นตอนและเป็นระบบ โดย THISABLED Inc., เป็นบริษัทแบบ Incorporated ซึ่งหมายถึง “ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล” หรือ “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” หรือ “บริษัทจำกัด” ที่ช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาศิลปะของคนพิการในเกาหลีใต้โดยเฉพาะ ซึ่งเป็น Special Arts Agency ที่มีความพิเศษ ดังนี้

  • มีการตั้งเป้าหมายชัดเจน โดยเป้าหมายของ THISABLED คือ สร้างและพัฒนาความสามารถพิเศษด้านศิลปะให้กับผู้พิการ หรือเป็น “Special Art Agency for the Developmentally Disabled”
  • มีการวางแผนการจัดนิทรรศการแสดงผลงานศิลปะให้กับศิลปินคนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม (Event Planning) คือ การเผยแพร่ผลงานของศิลปินคนพิการให้เป็นที่รู้จัก และสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนพิการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาผลงานด้านศิลปะให้มีความยอดเยี่ยมและดียิ่งๆ ขึ้นไป
  • มีการสร้างแบรนด์ให้กับศิลปินคนพิการ (Artist Branding) คือ การสร้างแบรนด์ให้กับศิลปินคนพิการและส่งเสริมให้เข้าถึงการประกวดผลงานทางศิลปะในระดับชาติ และระดับนานาชาติ เพื่อสร้างการยอมรับและสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนพิการ และสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศเกาหลีใต้ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างรวดเร็ว
  • มีการสร้างความร่วมมือทางศิลปะ (Art-Collaboration) คือ การผสมผสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการ ส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ให้เกิดผลงานทางศิลปะ และเกิดการทำไปต่อยอดในเชิงธุรกิจ จนกลายเป็นสินค้าที่สามารถใช้ได้และชีวิตประจำวัน รวมไปถึงสินค้าที่เป็นเทคโนโลยี ซึ่งผลงานศิลปะของคนพิการดังกล่าว ยังสามารถนำไปสร้างคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ที่มีความธรรมดา ให้มีคุณค่าทางจิตใจสำหรับผู้ซื้อสินค้านั้น ๆ ไปใช้งานหรือเป็นของฝาก โดยมีการวางแผนและแบ่งแยกหน้าที่กันโดยชัดเจน เช่น มีหน่วยพัฒนาขีดความ สามารถของผู้พิการ มีหน่วยในการนำผลงานไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ในเชิงพาณิชย์ มีหน่วยในการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ในรูปแบบปกติและในรูปแบบของสื่อดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น Website, Instagram และมัลติมีเดียอื่น ๆ เป็นต้น รวมไปถึงการร่วมกันการสร้างแบรนด์เพื่อการยอมรับและชื่นชมระหว่างหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนในเกาหลี สำหรับโครงสร้างกระบวนการดำเนินกิจการ Social Enterprise ของ THISABLED นั้น คนทั่วไปจะมีการให้การสนับสนุนผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ด้วยการนำผลงานทางศิลปะของศิลปินผู้พิการไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ และร่วมกันกับศิลปินสร้างแบรนด์ของผลงานและสร้างแบรนด์ของสินค้าร่วมกัน โดย 30% ของกำไร ส่วนแรกจะแบ่งกลับมาให้ผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ส่วนที่สองจะแบ่งกลับมาเพื่อ Re-Design และใช้จัดกิจกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้กับศิลปิน และจัดกิจกรรมอื่น ๆ ที่มีประโยชน์ต่อสมาคมผู้พิการและด้อยโอกาส นอกจานี้ จะมีบุคลากรฝ่ายขาย (Selling) หรือ ฝ่ายจัดจำหน่วยชัดเจน ฝ่ายขายมีหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวความตั้งใจของศิลปินและทีมงานทุกคน ในการสร้างผลงานทางศิลปะและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เป็นการเพิ่มความล้ำค่า และคุณค่าของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ โดยจะเห็นได้ว่า กว่าจะได้ Social Enterprise ที่ทำงานได้จริงอย่างยั่งยืน นั้น ประกอบด้วยความมุ่งมั่นของกลุ่มคนในประเทศหลายกลุ่มที่จะช่วยสร้างคุณค่าให้กับคนพิการหรือผู้ด้อยโอกาสของประชาชนในประเทศเกาหลีใต้

s6.PNG

การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการใน Social Enterprise

นอกจากนี้ Social Enterprise ของเกาหลีใต้ แตกออกมาเป็นแบรนด์หลากหลายตามประเภทของสินค้าที่นำมาผลิตต่อยอด โดยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลบวกรวมไปกับศิลปวัฒนธรรม ก็สามารถเพิ่มมูลค่าในตัวสินค้าและบริการได้มากยิ่งขึ้น เช่น ภาพวาดที่ศิลปินคนพิการวาดได้ถูกนำไปผนวกรวมกับเทคโนโลยี AR เมื่อนำมือถือไปส่องที่ภาพจะมี AR เรื่องราวของโซนนั้น ๆ ขึ้นมา เพิ่มสีสันให้ชิ้นงานศิลปะของศิลปินมีตื่นตาตื่นใจ สามารถสร้างคุณค่าของภาพที่มองเห็น และเพิ่มมูลค่าการขายได้มากขึ้น จากเดิมภาพพิมพ์แบบปกติอาจจะขายกันเป็นหลักร้อยวอน (เงินสกุลเกาหลี) พอมี AR เขาไปผนวกรวมกับงานศิลปะ เช่น ภาพเมืองโซล ภาพเมืองแดกู ฯลฯ สามารถมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อชิ้นเป็นหลักพันวอนทีเดียว

s7.PNG

อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือการสร้างการมีส่วนร่วมในผลงาน ภาพงานศิลปะดังกล่าวมีทั้งสองแบบ มีทั้งแบบที่มีสันสวยงามมาแล้ว และภาพที่เป็นภาพร่าง ที่สามารถเติมสีสันสร้างผลงานสร้างสรรค์ต่อยอดจากศิลปิน และนำ AR มาส่องเป็นสีที่ตนเองทำได้เช่นกัน

s8.PNG

การถอดบทเรียนสู่ประเทศไทย

กรณีศึกษานี้ สามารถการนำมาต่อยอดในเมืองอัจริยะ (Smart City) ของประเทศไทย ถ้าเมืองมีผังเมืองบวกกับอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อทำขายในลักษะณะนี้ ก็น่าจะเป็นลูกเล่นดึงดูด(Gimmick) ที่ดี ในการประชาสัมพันธ์ เมืองอีกรูปแบบหนึ่ง ของ 7 จังหวัดเป้าของไทย ที่สำคัญงานศิลปะสามารถขายเป็นของขวัญติดไม้ติดมือผู้มาเยี่ยมชมเมืองอัจฉริยะได้ด้วย และเน้นว่าการทำ Social Enterprise อาจต้องทำแบบบูรณาการหลายมิติดังเช่นกรณีเกาหลีใต้ เพื่อสามารถสร้างรายได้ สร้างองค์ความรู้ดี และก่อให้เกิดสังคมอย่างยั่งยืน นอกจากนี้ อีกมิติในการแก้ปัญหาสังคมของประเทศไทย โดยมีภาพผู้พิการพูดไม่ได้เดินขายตุ๊กตาพวงกุญแจตามร้านอาหาร อาจขายได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ขายเกินราคาเยอะ ผู้ซื้อไม่รู้จะซื้อไปทำอะไรแต่อาจซื้อด้วยความเวทนาสงสาร ดั้งนั้น กระบวนดำเนินกิจการ THISABLED ของเกาหลีใต้ น่าจะเป็นแนวทางให้ภาคเอกชน หรือกลุ่มประชาชน ได้เห็นช่องทาง และเห็นความสำคัญของผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม โดยในมุมของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล อีกมิติที่จะสามารถสร้างมูลค่าของ Social Enterprise คือการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่หลากหลายมิติ เช่น VR AR หรือมัลติมีเดียต่าง ๆ มาถ่ายทอดผลงานของผู้พิการในรูปแบบภาพ 2D 3D 4D หรือยังสามารถนำผลงานมาสร้างเป็น Character ได้ในอุตสาหกรรมเกม, แคแรคเตอร์ หรือภาพยนตร์ ได้อีกมากมาย เพื่อให้ผู้พิการหรือผู้ด้อยโอกาสไทยสามารถอยู่ได้อย่างมีคุณค่าและได้รับความชื่นชมอย่างเป็นระบบ เป็นการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมได้อีกทางหนึ่ง

นางสาวจตุรภรณ์ โชคภูเขียว

เขตพื้นที่ภาคอีสานตอนกลาง

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ข้อมูลอ้างอิง

KOTRA KOREA (Korea Trade-Investment Promotion Agency) ประเทศเกาหลีใต้

KOTRA Bangkok (Korea Trade-Investment Promotion Agency) ประเทศไทย

Bhiraj Tower at EmQuartier, Units 4101-4104, 41st Floor, 689 Sukhumvit Road, North Klongton, Vadhana, Bangkok 10110 Thailand | TEL: (+66) 02-035-1555 ext.32

http://www.kotra.or.kr

THISABLED Inc. และทุกแบรนด์ภายใต้ Social Enterprise ประเทศเกาหลีใต้

http://www.thisabled.co.kr