ปัจจุบันได้เกิดการปฏิวัติด้านดิจิทัลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทำให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลจำนวนมหาศาลอย่างกว้างขวางและรวดเร็วกว่าในอดีต ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเริ่มชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของ Soft Power และได้ออกบทความเตือนถึง พลังของ Soft Power ว่า จะมีบทบาทและความสำคัญมากขึ้น เรื่อย ๆ ซึ่งในหนังสือของนายโจเซฟ เนย์ นักวิชาการจาก มหาวิทยาลัย Harvard ที่ได้รับการยอมรับว่า เป็นบุคคลแรกที่เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำว่า Soft Power ไว้หนังสือเรื่อง Soft Power ที่ออกมาเมื่อปี 2004 ได้มีการอธิบายเกี่ยวกับ Soft Power ไว้ว่า Soft Power คือพลังที่สามารถใช้ในการโน้มน้าวหรือชักจูง ให้กลุ่มเป้าหมาย มีความเห็นที่สอดคล้องและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน โดยไม่ต้องใช้กำลังหรือความหวาดกลัว ในการบังคับ ให้กลุ่มเป้าหมาย มีพฤติกรรมหรือการปฏิบัติตน ตามที่ผู้ใช้ Soft Power ต้องการ ตัวอย่างเช่น ในยุโรปช่วงศตวรรษที่ 19 ประเทศมหาอำนาจ สามารถแสดงถึงอำนาจอันยิ่งใหญ่ของประเทศในยุคนั้นได้ นอกจากจะต้องมีขีดความสามารถ ด้านกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทันสมัยแล้ว ยังมีอำนาจอื่นที่เป็น Soft Power ด้วย เพราะหลายครั้ง แม้ประเทศจะมีกองทัพที่ได้รับชัยชนะ แต่หากไม่สามารถกระตุ้นและดึงดูดหัวใจของประชาชนได้แล้ว ชัยชนะที่ได้ก็ไม่สามารถที่จะทำให้ประเทศสงบลงได้ ดังนั้นผู้ชนะจึงจำเป็นต้องสร้างเรื่องราวที่แสดงให้ประชาชน เห็นถึงความชอบธรรมของชัยชนะ โดยมักจะอยู่ในรูปแบบของการสร้างเรื่องราวของการเป็นฝ่ายธรรมะที่เข้ามากำจัดอธรรม ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่า มีการใช้ Soft Power ในการกำหนดวาระและทำให้สาธารณชน มีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ทำให้ประชาชนทุกภาคส่วนสร้างความกลมเกลียว และสามัคคีรวมกันเป็นหนึ่งเดียวได้ ด้วยการใช้พลังของ Soft Power ทำให้สามารถลดความขัดแย้งของ คนในประเทศได้อย่างมาก การใช้ Soft Power ไม่ได้จำกัดเฉพาะกับประเทศและหน่วยงานรัฐเท่านั้น แต่ยังมีกลุ่มคนที่มีการใช้ Soft Power อย่างหลากหลาย โดยเมื่อพิจารณาในโลกธุรกิจ ก็จะพบว่า มีบริษัทเอกชนหลายแห่ง ใช้ Soft Power ด้วยการจ้าง Influencer ในโลก Online เข้ามาเป็น Presenter ให้สินค้าและบริการ ทำให้บริษัทมียอดขายที่สูงขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องไปแข่งขันด้านราคา หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง ได้แก่ การเลือกตั้งประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจะเห็นได้ว่าในระยะหลัง ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ต่างก็ใช้ Social media ที่ถือได้ว่าเป็นเครื่องมือ Soft Power ประเภทหนึ่ง เข้ามาใช้ในการหาเสียงกับคนรุ่นใหม่ ทำให้ คนรุ่นใหม่ลงคะแนนเสียงให้กับผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่เมื่อหันกลับมามองการใช้ Soft Power ของไทย เรากลับพบว่า หน่วยงานภาครัฐนั้น ยังขาดความรู้และความเข้าใจในการนำเครื่องมือที่เป็น Soft Power ไปใช้อย่างเหมาะสม ดังนั้นเราควรหันมาให้ความสนใจและพิจารณาถึงแนวทางในการใช้ Soft Power อย่างสร้างสรรค์และส่งผลประโยชน์ต่อประเทศอย่างสูงสุดและยั่งยืนต่อไป
ความจริงแล้วในประเทศไทยเองก็มีการใช้ Soft Power มาอย่างต่อเนื่อง แต่ Soft Power ประเภทหนึ่ง ที่มีการใช้ประโยชน์ค่อนข้างน้อยในประเทศไทยคือ การชักจูงให้ผู้ชมละครโทรทัศน์ขนาดยาว (ซีรีย์) มีทัศนคติที่ดี หรือมีค่านิยมที่เป็นไปในแนวทางที่ภาครัฐต้องการ ตัวอย่างหนึ่งที่บทความนี้จะขอนำเสนอก็คือ ประเทศไทยของเรามีการใช้ละครโทรทัศน์เข้ามาสร้างความตระหนักให้ประชาชนหันมาสนใจพัฒนาทักษะดิจิทัลและเลือกที่จะเข้าทำงานในวิชาชีพด้าน IT ซึ่งในประเด็นนี้ มีข้อมูลเชิงประจักษ์ ที่เราสามารถใช้เป็นหลักฐานได้จากการพิจารณาถึงข้อมูลด้านอาชีพของตัวละครเอกในละครโทรทัศน์ของไทยของเว็บไซต์ the Matter
เมื่อพิจารณาจากละครไทยที่ออกอากาศในช่วงเดือน มกราคม ถึง เดือนพฤศจิกายน 2562 จากทีวี 5 ช่อง ได้แก่ ช่อง 3 ช่อง 7 ช่อง 8 ช่อง GMM TV ช่อง ONE ช่อง PPTV ในประเด็นอาชีพการงานของตัวละคร พบว่า ละครไทย มีความพยายามนำเสนออาชีพผ่านตัวละครในรูปแบบที่หลากหลาย โดยที่ตัวละครต่าง ๆ ไม่ได้เดินไปเดินมาเหมือนกับว่าไม่มีงานทำอย่างเดียว แต่อาชีพอันดับหนึ่งสำหรับตัวละครชายหลักในละครไทย มักจะมีอาชีพเป็น “นักธุรกิจ” ที่มีกิจการเป็นของตัวเอง ส่วนตัวละครหลักฝ่ายหญิง อาชีพอันดับหนึ่งก็คือ การเป็นเจ้าของธุรกิจ เช่นเดียวกัน แต่สำหรับอันดับที่สองของตัวละครหญิง กลับพบว่า ว่างงาน เสียเป็นส่วนใหญ่
ภาพจาก https://thematter.co/entertainment/characters-in-thai-dramas/92045
แต่ที่น่าสนใจในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา ตัวละครหลักที่เป็น LGBTQ เริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาถึงอาชีพของ LGBTQ ในละคร ก็พบว่า ตัวละคร LGBTQ จะมีทั้ง ข้าราชการ พนักงานบริษัท ช่างแต่งหน้า สไตล์ลิสต์ในค่ายเพลง เป็นต้น
ส่วนตัวร้ายในละคร อาชีพยอดฮิต อันดับหนึ่ง ก็ยังคงเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ก็มักจะเป็นธุรกิจสีเทา เสียเป็นส่วนใหญ่และอาชีพอันดับสองจะพบว่า ว่างงาน
ภาพจาก https://thematter.co/entertainment/characters-in-thai-dramas/92045
ซึ่งเมื่อศึกษาจากข้อมูลที่ปรากฏข้างต้น เราจะพบว่า ในละครโทรทัศน์ของไทยนั้นแทบไม่ปรากฏอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานของประเทศไทยเลยและข้อมูลจากเว็บไซต์หางานชื่อดัง JobsDB พบว่า ตำแหน่งงานที่ขาดแคลนผู้สมัครจำนวนมาก ได้แก่ สายงานด้าน IT และการตลาดดิจิทัล แต่กลับไม่มี ตัวละครเอกในละครไทย ที่ทำอาชีพดังกล่าวเลย
ที่มา: ฐานข้อมูลของ jobsDB
ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเทศไทยของเราไม่มีการใช้ละครโทรทัศน์ เข้ามาสื่อสารถึง อาชีพ ที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานแต่อย่างใด ซึ่งเมื่อเทียบซีรีย์ในประเทศแถบ เอเชียตะวันออก อาทิ จีน เกาหลี และญี่ปุ่น มีการสอดแทรกบทนำของเรื่อง ให้ ตัวละครเอกของเรื่อง มีอาชีพที่เป็น Programmer หรืออาชีพที่จะได้รับความนิยมในอนาคต เช่น ซีรีย์จีน Cute Programmer (2020) และ Go Go Squid พระเอกเป็นนักกีฬาอีสปอร์ต
ภาพจาก https://pantip.com/topic/40978484 และ https://pantip.com/topic/39090139
และสำหรับซีรีย์ที่มียอดวิวในจีนเกินหมื่นล้านวิวที่รวบรวมจากทุก Platform อย่างเรื่อง Love o2o ที่พระเอกของเรื่องเป็นเซียนคอมพิวเตอร์ นิสิตปี 4 วิศวะคอมพิวเตอร์ ทั้งฉลาด เก่ง หล่อ รวย ไปไหนสาวกรี๊ด ส่วนนางเอก ก็เป็นดาวคณะวิศวะคอมพิวเตอร์ ปี 2 รุ่นน้องพระเอก
ภาพจาก https://pantip.com/topic/35521183
ส่วนฝั่งของประเทศที่ผลิตซีรีย์จำนวนมากอย่างเกาหลี ก็มีซีรีย์เรื่อง A piece of your mind ที่พระเอกของเรื่องเป็น โปรแกรมเมอร์ AI และซีรีย์เรื่อง Startup ตัวเอกที่เป็นผู้หญิงของเรื่อง มีความฝันอยากเป็น Steve Jobs
ภาพจาก https://pantip.com/topic/40285222
หรือ ซีรีย์อย่าง Ghost (2012) ที่พระเอกเป็นคนที่เก่งด้านเขียนโปรแกรมมาก สอบได้คะแนนสูงสุดของโรงเรียนตำรวจ แต่หลังจบมากลายเป็นแฮกเกอร์
ภาพจาก https://pantip.com/topic/31591000
สำหรับละครญี่ปุ่นนั้น แม้จะมีละครที่เกี่ยวกับอาชีพยุคใหม่ไม่มากนัก อาจเป็นเพราะญี่ปุ่น นั้นได้เข้าสู่ความเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบแล้ว ดังนั้นจึงมีซีรีย์ที่ตัวเอกมีอาชีพยุคใหม่ไม่มาก แต่ก็ยังพอมีบ้าง เช่น ซีรีย์เรื่อง Dele ที่พระเอกของเรื่องมีอาชีพเป็น Programmer ที่ในเรื่อง พระเอกและคู่หู ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลในคอมพิวเตอร์ของคนที่เสียชีวิตไปแล้ว
ภาพจาก https://pantip.com/topic/38398427 และ https://pantip.com/topic/33396119
หรือซีรีย์เรื่อง Rich Man Poor Woman ที่พระเอกที่ก่อตั้งบริษัทซอฟแวร์ พร้อมกับเพื่อนคู่หู ซึ่งในเรื่องจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการต่อรองและการหักหลังกันทางธุรกิจ ความล้มเหลวและการเริ่มต้นใหม่
แม้ว่าซีรีย์ญี่ปุ่น จะมีซีรีย์เกี่ยวกับอาชีพอย่าง Programmer หรือ อาชีพในอนาคต ไม่มากนัก แต่กลับมี ซีรีย์ที่สร้างแรงบันดาลใจในการปลุกไฟให้พนักงานเห็นความสำคัญของความจำเป็นในการพัฒนาทักษะ ให้เชี่ยวชาญและเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานหลายเรื่องอย่างซีรีย์ในตำนาน เรื่อง Haken no Hinkaku ซึ่งเรื่องนี้โด่งดังจนทางเกาหลีเองก็นำไป Remake ในชื่อ The Queen of Office
ภาพจาก https://maigee.wordpress.com/2015/08/07/haken-no-hinkaku/ และ https://asianwiki.com/The_Queen_of_Office
ซีรีย์เรื่องนี้เป็นเรื่องของ “โอมาเอะ ฮารุโกะ” สาว Haken หรือพนักงานสัญญาจ้าง หญิงสาวที่ไม่มี คำว่า “ทำงานล่วงเวลา” ความเทพของนางเอกเรื่องนี้ คือ ให้ทำงานอะไร เธอก็มีทักษะทำได้หมดและทำได้ดีด้วย และที่น่าประทับใจมากๆ ก็คือ นางเอกของเรื่อง เป็นคนที่ทำงาน Productive แบบสุดๆ สามารถจัดการ ทุกอย่างเสร็จได้ในเวลางาน พอเลิกงานก็กลับทันที และพอหมดสัญญาจ้างกับที่ทำงาน ก็จะให้เวลาตัวเองได้ท่องเที่ยว พักผ่อนจากงาน แต่ว่าก่อนที่นางเอกจะเก่งกาจแบบนี้ เธอก็เคยถูกไล่ออกจากบริษัทเพราะปัญหาทางเศรษฐกิจ เธอจึงเกิดความคิดว่า มันไม่สำคัญ หรอกว่าต้องทำงานอยู่ในองค์กรที่มั่นคง แต่สิ่งสำคัญคือ "ทักษะและความสามารถที่เรามี" ปรัชญาของนางเอกก็คือ ถ้ามีทักษะและความสามารถก็อยู่ได้ทุกที่
ซึ่งจากตัวอย่างของทั้ง 3 ประเทศข้างต้น ก็จะเห็นได้ว่า ประเทศเหล่านั้น มีการใช้ Soft power ในละครโทรทัศน์ (ซีรีย์) มาอย่างต่อเนื่อง เพราะทั้ง 3 ประเทศ เห็นถึงความสำคัญของ การใช้ Soft power ในการจูงใจให้คนรุ่นใหม่ของประเทศ มีความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงาน การปรับทัศนคติ ค่านิยม ตลอดจนสื่อสารให้คนส่วนใหญ่ รู้ว่าอาชีพในอนาคต มีรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตอย่างไร ทั้งนี้มีงานวิจัยที่ชัดเจนของประเทศอังกฤษที่แสดงให้เห็นชัดว่า คนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มที่จะเลือกอาชีพตามตัวละครที่ตนเองชื่นชอบ
ภาพจาก: https://www.fletcherssolicitors.co.uk/news/careers-on-the-box/
จากข้อมูลของ Fletchers Solicitors บริษัทกฎหมายชั้นนำในอังกฤษ พบว่า คนรุ่นใหม่มักจะใช้เวลากับความบันเทิงในการดูละครโทรทัศน์ (ซีรี่ย์เรื่องโปรดเป็นระยะเวลายาวนาน) ซึ่งผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ละครโทรทัศน์ ได้สร้างผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อชีวิตของผู้ชมและคนที่พวกเขารัก โดยผู้ชมร้อยละ 18 ถูกชักจูงให้เลือกอาชีพที่ตนจะทำผ่านตัวละครในซีรีย์และในกรณีของคนรุ่น Millennial มีคนเลือกอาชีพตามตัวละครที่ชอบถึงร้อยละ 39
แม้ว่าจะยังไม่มีผลการศึกษาในระยะยาวถึงผลสัมฤทธิ์ของการใช้ละครโทรทัศน์ในการสร้างค่านิยมและเลือกอาชีพของผู้ชม แต่เราก็ไม่ควรละเลยถึงพลังของ Soft Power ประเภทนี้ไป ดังนั้นเราจึงไม่ควรเห็นว่า ละครโทรทัศน์ขนาดยาว (ซีรีย์) นั้น เป็นแค่สื่อความบันเทิงราคาถูกเท่านั้น แต่หากรัฐรู้จักการใช้ Soft Power ประเภทละครโทรทัศน์ ให้เข้ามาเปลี่ยนทัศนคติ การเลือกอาชีพ ตลอดจนค่านิยมของคนรุ่นใหม่ ก็จะทำให้ประเทศสามารถเดินไปในทิศทางที่รัฐต้องการได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้เงื่อนไขในรูปแบบเผด็จการ ที่ไม่ได้รับการยอมรับจากคนรุ่นใหม่ แต่เราควรต้องใช้สื่อประเภทละครโทรทัศน์ ในการโน้มน้าวให้คนรุ่นใหม่ เลือกเส้นทางอาชีพในสายดิจิทัล และแสดงให้คนรุ่นใหม่เห็นว่า การทำงานในสายดิจิทัลจะมีผลต่อการสร้างผลิตภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้
นอกจากละครโทรทัศน์แล้ว ภาครัฐของเราควรบูรณาการ Soft Power ประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น Reality Show หรือสารคดีที่นำเสนอการเริ่มต้นธุรกิจที่ได้รับความนิยมในประเทศตะวันตก ซึ่งในประเทศไทยเอง เริ่มมีผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ของไทย ซื้อลิขสิทธิ์มาผลิตในบริบทของประเทศไทย เช่น รายการ SHARK TANK Thailand เป็นรายการที่ผู้ประกอบการที่มีผลิตภัณฑ์หรือบริการที่เป็นนวัตกรรม มานำเสนอต่อนักลงทุน เพื่อขอรับเงินทุนสนับสนุน หรือหาทางสนับสนุนให้มีการฉายนำรายการที่เกี่ยวข้องกับการสร้างธุรกิจในช่องฟรีทีวี เช่น รายการ เลิกหรือรอด กับตัน อิชิตัน ที่อยู่ในช่อง Youtube ของเขา ที่เป็นรายการเกี่ยวกับ การพยายามผลักดัน ให้ธุรกิจขนาดเล็กประสบผลสำเร็จ เป็นต้น
ซึ่งหากเรามีสื่อบันเทิงในรูปแบบที่หลากหลายและมีการบูรณาการสื่อทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นละครโทรทัศน์ หรือรายการประเภทอื่นๆ ที่มีการปรับบริบทให้เข้ากับคนรุ่นใหม่ของไทยเรา จะมีผลทำให้คนรุ่นใหม่ของเราสนใจติดตามและจะได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของตนเองที่จะเป็นกำลังสำคัญในการช่วยสร้างชาติด้วยการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล เพื่อใช้สร้างความเติบโตให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้ในอนาคต
โดย นายภาคภูมิ เอี่ยมจิตกุศล
ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล
ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล
อ้างอิงจาก: