ผลพวงโควิด-19 สร้างความเดือดร้อนของเกษตรกรไทย โดยเฉพาะชาวไร่ ชาวนา ชาวสวน ที่ต้องเผชิญกับโรคระบาดโควิด-19 แล้วยังต้องประสบกับปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ อีกทั้งตลาดทั้งในประเทศและส่งออกถูกปิดตัวจนก่อให้เกิดสินค้าล้นตลาด ไม่มีสถานที่รับซื้อ กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ขาดรายได้ที่จะมาต่อยอดในการเพาะปลูก ผลผลิตขายไม่ได้จนเน่าเสีย ประกอบกับสภาวะเศรษฐกิจ ทั้งภาคธุรกิจ ร้านค้า ตลาดสด และสถานบริการหลายแห่งปิดตัวลง ปริมาณการสั่งซื้อก็ลดจำนวนตามมาจนสร้างความเดือดร้อนต่อเกษตรกรไทยที่หวังเพียงให้ผลผลิตที่ออกมาได้รอดพ้นภาวะวิกฤตนี้ไปได้
การปรับตัวของเกษตรกรไทยเพื่อให้อยู่รอด ผลผลิตที่ขายไม่ได้ต้องนำมาแปรรูปยืดอายุผลผลิตเตรียมรอขายหลังตลาดเปิดโดยใช้เทคโนโลยีโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วยในการแปรรูปผลผลิต ระบบอบแห้งด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีความเหมาะสมในการอบแห้งผลิตผลทางการเกษตรในเชิงการค้าทั้งในระดับวิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมไปจนถึงผู้ประกอบการขนาดใหญ่ การพัฒนาระบบโรงอบ 4.0 เป็นการพัฒนาระบบการควบคุมอุณหภูมิหรือความชื้นให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมระบบสามารถควบคุมการดูดของพัดลมดูดอากาศด้วยการโหมดการทำงาน 2 แบบ แบบที่ 1 คือแบบแมนนวล สามารถเปิดปิดสั่งการพัดลมได้บนหน้าตู้ควบคุม แบบที่ 2 คือสั่งควบคุมการทำงานผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ต หรือบนคอมพิวเตอร์ บนแอปพลิเคชันมีฟังก์ชันการตั้งค่าให้ระบบทำงานแบบอัตโนมัติด้วยการกำหนดค่าอุณหภูมิหรือความชื้น เมื่ออุณหภูมิหรือความชื้นมีค่าเกินกว่าค่าที่ตั้งไว้ระบบก็จะสั่งทำงานแบบอัตโนมัติ ลักษณะการติดตั้งของเซ็นเซอร์จะมีอยู่สองตำแหน่งคือภายนอกและภายในโรงเรือน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ต่อการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ โดยข้อมูลทั้งหมดจะถูกนำไปแสดงผลในรูปแบบของตัวเลขและกราฟเพื่อให้ผู้ใช้เข้าใจได้ง่าย (Dash Board) โดยหน้าจอการแสดงผลข้อมูลและการควบคุมจะแสดงผลในคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟน ส่วนข้อมูลที่ได้จากการวัดและเก็บค่าจากเซ็นเซอร์จะมีการจัดเก็บในรูปแบบของฐานข้อมูล โดยจะเก็บไว้บน Cloud สามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้เป็นรายเดือน หรือแบบเรียลไทม์ (real time) ในการส่งข้อมูลขึ้นไปเก็บไว้บนคลาวด์หรือการส่งควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนระบบจะอาศัยอินเทอร์เน็ตในการเชื่อมต่อและอุปกรณ์ที่ใช้ในการปล่อยสัญญาณอินเทอร์เน็ตจะเป็นแบบ Portable WIFI Router แบบซิมการ์ด เพื่อให้การทำงานในโรงเรือนได้รับการควบคุมระบบอย่างมีประสิทธิภาพ และแม่นยำยิ่งขึ้น ครอบคลุมในพื้นที่ที่ไม่มีสายอินเทอร์เน็ตเข้าถึง
รูปภาพที่ 1 ภาพรวมของระบบและแผนผังการติดตั้งเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์, บริษัท คิท ฟอร์เวิร์ค จำกัด ตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านมาตรการส่งเสริมสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท
รูปภาพที่ 2 : วิสาหกิจชุมชนเกษตรธรรมชาติลีซู ตำบลเมืองแหง อำเภอเวียงแหง จังหวัดเชียงใหม่ ปี 2564 โครงการโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์วิสาหกิจเกษตรธรรมชาติลีซู
รูปภาพที่ 3 : วิสาหกิจชุมชนการท่องเที่ยวเกษตรอินทรีย์และวิถีชุมชนคนเจียงฮาย อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ปี 2564 โครงการโรงอบอัจฉริยะ แปรรูปสมุนไพรและผลไม้ นอกจากโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ยังมีเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เครื่องอบลมร้อนแบบความชื้นต่ำ ใช้เทคนิคทำแห้งด้วยลมร้อนแห้งไหลผ่านผลิตภัณฑ์ในห้องปิดสนิทและนำอากาศที่ผ่านผลิตภัณฑ์ซึ่งมีความชื้นสูงกลับมาควบแน่นเอาน้ำออกและสร้างอุณหภูมิให้แก่อากาศ เพื่อนำอากาศร้อนแห้งผ่านผลิตภัณฑ์อีกครั้งต่อเนื่องกันในช่วงระยะเวลาหนึ่ง จึงเป็นการทำแห้งด้วยอุณหภูมิต่ำ (40-60 องศาเซลเซียส) ซึ่งส่งผลให้ยังคงคุณค่าทางสารอาหาร สี และรสชาติของผลิตภัณฑ์ไว้ได้อย่างดี ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ แห้ง และยืดอายุการเก็บรักษาได้นาน โดยมีชุด Controller เก็บข้อมูลและรายงานผลแบบ Data logger ซึ่งสามารถบันทึกข้อมูลการใช้งาน กราฟ ผ่านช่องทาง USB Port ได้ ซึ่งง่ายต่อการวิเคราะห์และตรวจสอบการทำงานของเครื่องจักร และมีระบบ IoT สำหรับการรายงาน ค่าอุณหภูมิภายในห้องอบและความชื้นภายในห้องอบผ่านโทรศัพท์มือถือเพื่อตรวจเช็คสถานะของผลิตภัณฑ์ได้อย่างง่ายดาย ตัวอย่างวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมสนับสนุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล เครื่องอบลมร้อนแบบความชื้นต่ำ โครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตปลานิลอบแห้ง โดยวิสาหกิจชุมชนแปรูปสินค้าค้าประมง ตำบล แม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ผลผลิตหลักของชุมชนเลี้ยงปลานิล ปลูกสับปะรด และแก้วมังกร ฤดูกาลที่ผลผลิตล้นตลาด ตลาดปิด จึงนำผลผลิตที่มีอยู่มาแปรรูปเพื่อรอจำหน่าย
รูปภาพที่ 4 : วิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าประมงตำบลแม่เย็น อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ปี2564 โครงการพัฒนาคุณภาพการผลิตปลานิลอบแห้ง การนำเอาเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลการอบแห้ง มาใช้ในกระบวนการแปรรูปผลผลิต สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้มีคุณภาพ ยกระดับสินค้า และสร้างรายได้ให้กับชุมชน ช่วยเพิ่มรายได้ให้คนในพื้นที่ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 และยังสามารถเพิ่มกำลังการแปรรูป ตากแห้ง อบแห้ง ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 35 เมื่อเทียบกับการตากแห้งด้วยวิธีธรรมชาติ ลดการสูญเสียจากผลผลิตที่ล้นตลาดสามารถนำมาแปรรูปด้วยวิธีการอบแห้ง และยังช่วยแก้ปัญหาการตากแห้งในที่โล่งจะได้ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกสุขลักษณะ อาจเปื้อนฝุ่นละออง มีแมลงรบกวนหรือวางไข่ไว้ ทำให้ผลิตภัณฑ์เสียหายภายหลังได้ และยังมีปัญหามาจากฝนตกซึ่งทำให้เกิดความยุ่งยากในกระบวนการตากแห้ง การอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ ช่วยให้ผลผลิตสะอาดเนื่องจากการอบในระบบอบแห้งฯ นั้น จะไม่มีแมลงวันมารบกวน ปลอดภัยจากเชื้อโรคต่างๆ ที่มากับฝุ่นควัน ช่วยแก้ปัญหาการตากแห้ง ในช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 ได้เป็นอย่างดี และยังช่วยลดเวลาในการตากแห้งเมื่อเทียบกับการตากแห้งตามธรรมชาติ ผลผลิตมีสีสันสวยงาม ช่วยให้มีการเก็บรักษาสินค้าเกษตรไว้ได้นานยิ่งขึ้นและช่วยลดการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าตามฤดูกาล สำหรับข้อควรระวังในการนำเอาเทคโนโลยีโรงอบพลังงานมาใช้ในกระบวนการอบแห้ง ระยะเวลาในการอบแห้งขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในวันที่ทำการอบแห้งในฤดูฝนหรือวันที่มีฝนตก ปริมาณแสงแดดอาจจะมีไม่เพียงพอในการอบแห้ง วิธีการแก้ปัญหาด้วยการใช้ความร้อนเสริม สามารถติดตั้งระบบก๊าซ LPG เพิ่มเพื่อให้สามารถอบแห้งในวันที่ฝนตกได้ และผู้ใช้งานควรศึกษาวิธีการใช้งานและข้อมูลความปลอดภัยให้เข้าใจก่อนใช้งานและปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ตัวเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิความชื้นที่ใช้ในโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ ต้องเป็นเซ็นเซอร์ที่สามารถทนความร้อนได้ดี มีมาตรฐานเช่นเดียวกับที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรรม เพื่อการใช้งานที่ยาวนาน การดูแลบำรุงรักษาโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นสิ่งสำคัญ ท้ายสุดด้วยเหตุผลที่จะต้องอบเพื่อให้ได้ผลผลิตออกมาอย่างมีคุณภาพจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำการยกระดับกระบวนการผลิตด้วยระบบดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด
หากผู้อ่านสนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัลโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ได้ที่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคเหนือตอนบน โทร.086-430-2278 E-mail: [email protected]
โดยวิไลพร ถานะวุฒิพงศ์
สาขาภาคเหนือตอนบน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก :
• บริษัท คิท ฟอร์เวิร์ค จำกัด
• บริษัท ทีซัส เฟบิกซ์ ฟู๊ดเทค จำกัด
• https://www.ppp.energy.go.th/แบบโรงอบแห้ง_พพ-1-3/