บริการ
TH
EN
TH
CN

หลักไตรลักษณ์ กับวงล้อแห่งเทคโนโลยี

ภาพที่ 1 “ภาพวาดวันมาฆบูชา”

ที่มา: “https://www.medium.com/พระพุธศาสนา/tagged/ไตรลักษณ์”

ในหลักคำสอนทางพระพุทธศาสนานั้นมีหลักคำสอนอยู่หลายข้อ โดยข้อที่จัดอยู่ว่าเป็นคำสอนที่สูงสุดของศาสนาพุทธคือ ไตรลักษณ์ ซึ่งเป็นธรรมะที่ทำให้เป็นพระอริยะ (อริยกรธรรม) แปลว่า ลักษณะ 3 ประการ คือ กฎธรรมดาของสรรพสิ่งทั้งปวง ได้แก่

  1. อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - อาการไม่เที่ยง อาการไม่คงที่ อาการไม่ยั่งยืน อาการที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมและสลายไป อาการที่แสดงถึงความเป็นสิ่งไม่เที่ยงของขันธ์
  2. ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - อาการเป็นทุกข์ อาการที่ถูกบีบคั้นด้วยการเกิดขึ้นและสลายตัว อาการที่กดดัน อาการฝืนและขัดแย้งอยู่ในตัว เพราะปัจจัยที่ปรุงแต่งให้มีสภาพเป็นอย่างนั้นเปลี่ยนแปลงไป จะทำให้คงอยู่ในสภาพนั้นไม่ได้ อาการที่ไม่สมบูรณ์ มีความบกพร่องอยู่ในตัว อาการที่แสดงถึงความเป็นทุกข์ของขันธ์
  3. อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - อาการของอนัตตา อาการของสิ่งที่ไม่ใช่ตัวตน ไม่มีตัวตน อาการที่แสดงถึงความไม่ใช่ใคร ไม่ใช่ของใคร ไม่อยู่ในอำนาจควบคุมของใคร อาการที่แสดงถึงไม่มีตัวตนที่แท้จริงของมันเอง อาการที่แสดงถึงความไม่มีอำนาจแท้จริงในตัวเลย อาการที่แสดงถึงความด้อยสมรรถภาพโดยสิ้นเชิง ไม่มีอำนาจกำลังอะไร ต้องอาศัยพึ่งพิงสิ่งอื่นๆ มากมายจึงมีขึ้นได้

หากกล่าวโดยสรุป ไตรลักษณ์ คือ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และ ดับไป ทุกสิ่งในโลกนี้ ล้วนแล้วอยู่ในกฎไตรลักษณ์

ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลมีการเจริญอย่างก้าวกระโดด หากนับตั้งแต่ยุคเริ่มต้นของคอมพิวเตอร์ในช่วงปี ค.ศ. 1613 ซึ่งมีหน้าที่เพียงเครื่องมือช่วยคำนวณตัวเลขหรือชุดตัวเลขต่างๆ ซึ่งบทบาทของคอมพิวเตอร์ในขณะนั้นมีความเหมือนกับเครื่องคิดเลขอย่างมาก จนกระทั่งปี ค.ศ. 1947 จอห์น บาร์ดีน วอลเตอร์ เฮาเซอร์ แบรตเทนและวิลเลียม ชอกลีย์ นักฟิสิกส์ชาวอเมริการ่วมกันคิดค้นทรานซิสเตอร์จุดสัมผัส (point-contact transistor) ซึ่งเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ทั้งโลกมีการพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด ซึ่งการเปลี่ยนแปลงหลักเกิดขึ้นกับคอมพิวเตอร์นั่นคือ ความสามารถในการสวิตซ์เปิดและปิดสัญญาณ (สัญญาณไบนารี่) ที่มีความถี่สูงขึ้นหลายเท่าตัว ซึ่งนำไปสู่เทคโนโลยีตกขอบในเวลาถัดจากนั้นเพียงไม่กี่ปี เช่น Super computer และมนุษย์นั้นไม่หยุดที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ศักยภาพของเทคโนโลยีนั้นเปลี่ยนไป ทั้งในรูปแบบ การรับส่งและประมวลผลที่รวดเร็วขึ้น การประหยัดพลังงานมากขึ้น รวมไปถึงความสามารถในการบริหารจัดการแทนมนุษย์ได้

ภาพที่ 2 S-Curve of Technology

ที่มา: “https://www.winnews.tv/news/24706

โดยหากอธิบายวัฏจักรเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น สามารถใช้ “S-Curve of Technology” ซึ่งเป็นสมการในการอธิบายปรากฏการณ์ในแต่ละช่วงของการเจริญเติบโต โดยสามารถอธิบายได้ 3 ระยะ ดังนี้

  1. ระยะเริ่ม (Birth) เป็นช่วงเวลาของการการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมออกสู่ตลาด ซึ่งเป็นระยะเริ่มต้นจึงมีการดําเนินการที่ใช้เวลาน้อย เมื่อทำการเขียนเส้นกราฟจะได้เส้นลาดเอียงและโค้งขึ้นน้อย ดูเหมือน “ปลายของตัว S”
  2. ระยะกลาง (Take off) เป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีหรือนวัตกรรมเริ่มมีผลต่อผู้ใช้งานและสังคมโดยรวม จึงทำให้เทคโนโลยีมีการพัฒนาประสิทธิภาพขึ้นอย่างรวดเร็วและมาพร้อมกับจำนวนของจำนวนผู้ใช้ จะเห็นว่าในการพัฒนาเทคโนโลยีในระยะนี้จะเป็นการพัฒนาที่รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพสูง จึงทำให้เส้นกราฟโค้งขึ้นมากเหมือนช่วง “ลําตัว S”
  3. ระยะปลาย (Mature) ถือเป็นช่วงเวลาที่เทคโนโลยีมีการอิ่มตัว การพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นถึงขีดสุดของทรัพยากรที่ใช้ผลิตไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้แล้ว ซึ่งเทคโนโลยีไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้จนกว่าจะมีเทคโนโลยีใหม่มาทดแทน ซึ่งหากปล่อยไปเช่นนี้เทคโนโลยีนี้ก็จะเลือนหายจากการใช้งานโดยตรงจากสังคม เมื่อเขียนเส้นกราฟจะโค้งขึ้นน้อยตามศักยภาพการทํางานจึงเป็นเสมือน “ปลายของตัว S”

การเปรียบเทียบความเป็นไปของเทคโนโลยีของโลกเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันกับหลักไตรลักษณ์ สามารถจำแนกได้ ดังนี้

  1. อนิจจตา (อนิจจลักษณะ) - เทคโนโลยีนั้นไม่มีวันหยุดนิ่ง และมีแนวโน้มการพัฒนาที่ก้าวกระโดดอย่างต่อเนื่อง โดยเพียงแค่ 1 ช่วงอายุของคนนั้นจะเห็นการเกิดขึ้นของเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือได้ว่าเป็นระยะเริ่มต้นของวัฏจักรเทคโนโลยี “ปลายของตัว S”
  2. ทุกขตา (ทุกขลักษณะ) - ดังที่กล่าวถึงความหมายของทุกข์นั้นคือ การถูกบีบคั้นด้วยปัจจัยใดๆ ที่ปรุงแต่งดัดแปลงสภาพให้เปลี่ยนแปลงไป ทั้งเร็วและช้า เช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เมื่อเริ่มสร้างขึ้นจนกระทั่งมีผลต่อชีวิตประจำวันของคนมากขึ้น ปัจจัยการต่างๆจะบีบให้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้ถูกพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งถือได้ว่าเป็นระยะกลางของวัฏจักรเทคโนโลยี “ลำตัว S”
  3. อนัตตตา (อนัตตลักษณะ) - เทคโนโลยีมีจุดเริ่มต้นต้องมีจุดเสื่อมหรือจุดปรับเปลี่ยนจากของเดิมที่ไม่ใช่รูปแบบเดิม กล่าวคือ เมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถพัฒนาต่อไปเพื่อตอบสนองความต้องการของมนุษย์ได้แล้วนั้น ก็จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีอื่น ทั้งนี้เทคโนโลยีบางประเภทถึงแม้ว่าจะเลิกนิยมใช้งาน แต่ก็ยังเป็นพื้นฐานของเทคโนโลยีใหม่ๆที่เกิดขึ้น กล่าวคือ การเปลี่ยนแปลงจากยุค Analog สู่ยุค Digital ซึ่งหากย้อนไป 40 - 50 ปีก่อนหน้า จะเห็นว่าการสื่อสารยังให้สัญญาณ Analog ซึ่งมีขีดจำกัดอย่างมากในการใช้งาน แต่เมื่อเปลี่ยนผ่านมาสู่ยุคการสื่อสารแบบ Digital นั้น นำมาซึ่งความสะดวกสบายหลากหลายมิติ ทั้งนี้อาจมองได้ว่ายุค Analog ได้จางหายไปแล้วจากสังคม แต่ในความเป็นจริงนั้น รูปแบบการส่งสัญญาณของ Analog เป็นได้ทั้งพื้นฐานในการพัฒนาสัญญาณดิจิทัลโดยพัฒนาจากข้อจำกัดของสัญญาณ Analog และสัญญาณ Digital นี้เองก็เป็นระบบเลขฐานสอง (BINARY Number System) ซึ่งเราต่างคิดว่าไม่มีใครนำมาใช้อีกแล้ว ซึ่งตรงกับหลักไตรลักษณ์ที่ว่าอนัตตตา ไม่ใช่การดับ แต่เป็นการที่ไม่สามารถดำรงอยู่ในสภาวะเดิมได้ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างล้วนไม่ใช่ตัวตนหรือของของตนเอง ต่างถูกสิ่งรอบข้าง ทั้ง ความต้องการ เวลา บีบคั้นให้ต้องปรับเปลี่ยนสภาวะของตนเองไปอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งถือได้ว่าเป็นระยะจุดจบของวัฏจักรเทคโนโลยี “ปลายของตัว S”

หลักไตรลักษณ์และวงล้อเทคโนโลยี แสดงให้เห็นภาพความจริงสูงสุดของจักรวาล เทคโนโลยีทำให้เกิดรูปแบบ วิธีการ และวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาสังคม และสร้างประโยชน์ ให้กับทุกภาคส่วน ซึ่งหากเราสามารถนำใช้หลักไตรลักษณ์ผนวกเข้ากับกลไลการเป็นไปของเทคโนโลยีปัจจุบันได้อย่างสมบูรณ์แล้วนั้น สามารถทำให้ไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยปัจจุบันหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบส่งเสริมสิ่งเหล่านี้คือ “สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล” ซึ่งได้ขับเคลื่อนพันธกิจองค์กรในการพัฒนาประเทศเป็น Thailand 4.0 โดยหนึ่งในการพัฒา คือ การพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรม S-curve และ New S-curve ผ่านมาตรการส่งเสริมและสนับสนุนต่างๆ ที่บูรณาการองค์ความรู้ความเข้าใจ และวิสัยทัศน์สู่เป้าหมาย โดยอุตสาหกรรมในโลกอนาคตนั้น ล้วนใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาดำเนินการ จึงทำให้ลดต้นทุนและเพิ่มกำไรได้อย่างมหาศาล

จะเห็นว่าเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีการพัฒนาไปอย่างไม่หยุดยั้งนี้ มีทั้งยุคเริ่มต้นและพัฒนาจนไม่สามารถหยุดคงไว้กับที่ได้ ซึ่งการมีตัวตนของเทคโนโลยีนั้นสร้างการมีตัวตนของสภาวะทุกข์ที่มากับเทคโนโลยีด้วย และสุดท้ายสิ่งเหล่านี้ปรับเปลี่ยนสภาวะของตนเองไปจากเดิมโดยสิ้นเชิงตามกลไกการบีบคั้นของทุกข์ในที่สุด โดยการเปรียบเทียบเชิงประจักษ์นี้สามารถสร้างภูมิคุ้มกันในจิตใจของมนุษย์ได้ เพราะเมื่อสามารถเข้าใจถึงความจริงสูงสุดของจักรวาล ความเป็นไปในโลกความเป็นจริง เราจะสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข ซึ่งความสุขที่แท้จริงในทางพระพุทธศาสนาให้นิยามว่า การไม่รู้สึกสุขมากไป และไม่รู้สึกทุกข์กับสิ่งใดเลย นั่นหมายถึง ความรู้สึกที่วางเฉยต่อทุกๆสิ่งรอบตัว

โดย นายกุลธวัช คำแมน

นักส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส สาขาภาคตะวันออก

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก: