ธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์น (Unicorn) คือสตาร์ทอัพที่มีมูลค่าการลงทุนที่ได้รับจากนักลงทุน มากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็นประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ตัวอย่างธุรกิจสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นที่รู้จักกันทั่วไป เช่น Uber หรือ Airbnb ของสหรัฐอเมริกา หรือ Xiaomi ของจีน เป็นต้น ซึ่งในประเทศแถบเอเชียนอกเหนือจากประเทศจีน ประเทศเกาหลีใต้ก็นับว่าเป็นประเทศที่มียูนิคอร์นมากที่สุดเป็นอันดับ 5 ของโลกโดยประกอบไปด้วยสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นจำนวน 12 ราย เป็นรองจากประเทศสหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ และอินเดียเท่านั้นปัจจัยสู่ความสำเร็จของยูนิคอร์นเกาหลีจึงมีความน่าสนใจและนำมาสู่การถอดบทเรียนในครั้งนี้
การที่ธุรกิจสตาร์ทอัพของเกาหลีใต้ประสบความสำเร็จได้นั้น เป็นผลมาจากหลายปัจจัยจากทั้งตัวธุรกิจสตาร์ทอัพเอง ปัจจัยภายนอกที่มีส่วนช่วยสนับสนุนและเอื้อต่อการประสบความสำเร็จ เช่น ประเทศเกาหลีใต้มีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการเข้าถึงโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต มีจำนวนการใช้ Smartphone สูง และยังเป็นผู้พัฒนาโครงข่ายอินเตอร์เน็ตอันดับต้นของโลก มีเครือข่ายสำหรับอุปกรณ์ IoT ครอบคลุมทั่วประเทศ และเริ่มใช้เครือข่าย 5G เป็นประเทศแรกๆ ซึ่งเอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของสตาร์ทอัพ หรือจำนวนเงินลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพจากบริษัทร่วมลงทุน (Venture Capital) ในปี 2561 มีมูลค่าการลงทุนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 3.42 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 9.4 หมื่นล้านบาท และการสนับสนุนของรัฐบาลเกาหลีใต้ในการขับเคลื่อนวิสาหกิจเริ่มต้นให้เติบโตและแข่งขันได้ในเวทีโลก
ประเทศเกาหลีใต้มีกระทรวงที่ดูแลวิสาหกิจเหล่านี้โดยเฉพาะและอย่างใกล้ชิด ชื่อว่า Ministry of SMEs and Startups (MSS) ซึ่งทำหน้าที่ออกนโยบายและมาตรการเพื่อสนับสนุนระบบนิเวศของสตาร์ทอัพ
โดยดำเนินงานภายใต้แผนที่จะ “สร้างเกาหลีใต้ให้เป็นประเทศสตาร์ทอัพ” โดยการสร้างบรรยากาศ และระบบนิเวศของประเทศให้เอื้อต่อการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยมีการดำเนินมาตรการต่างๆ เช่น
นอกเหนือจากการสนับสนุนทางด้านนโยบาย รัฐบาลเกาหลียังสนับสนุนเป็นเม็ดเงิน เช่นโครงการ Technology Incubation Program (TIPS) ของรัฐบาล ที่ให้เงินในการสนับสนุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) กับสตาร์ทอัพ 8 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อแห่ง หรือประมาณ 24 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าภายในปี 2025 ยอดการลงทุนสนับสนุนของรัฐบาลเกลาหลีใต้ในธุรกิจสตาร์ทอัพจะสูงถึง 8 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณส่วนหนึ่งในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและนวัตกรรม
อีกตัวแปรสำคัญในการผลักดันสตาร์ทอัพคือบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นรากฐานของระบบเศรษฐกิจเกาหลี เพราะบริษัทเหล่านี้มีการผันตัวไปเป็นนายทุนให้สตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการร่วมทุน ลงทุนโดยตรง หรือผ่านโปรแกรม accelerator ของตน และแน่นอนว่าความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชนนี้ ล้วนแต่เป็นผลดีต่อการเติบโตของสตาร์ทอัพ
แต่แม้จะได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากรัฐบาล เกาหลีใต้ก็ยังเผชิญกับ “สตาร์ทอัพซอมบี้” ที่หากจะอธิบายให้ง่ายคือสตาร์ทอัพที่ไม่ตายแต่ก็ไม่โต ซึ่งมีจำนวนมากไม่แพ้ประเทศใดในโลก สตาร์ทอัพซอมบี้เหล่านี้ สามารถขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลเพื่อต่ออายุบริษัทไปเรื่อยๆ แต่ไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะทำเงินหรืออยู่ได้ด้วยกำไรของตนเอง ประกอบกับทัศนคติของคนเกาหลีเองที่ยึดติดกับการทำงานในองค์กรใหญ่ เช่น Samsung Hyundai LG กลุ่มคนที่ทำงานในบริษัทใหญ่เหล่านี้จะได้รับการยอมรับว่าประสบความสำเร็จ หรือแม้หากมีความสนใจในงานสตาร์ทอัพก็จะมุ่งเข้าหาแต่สตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จและเป็นยูนิคอร์นเท่านั้น เช่น Coupang Naver Kakao Talk Line ทำให้สตาร์ทอัพหน้าใหม่ประสบปัญหาในการหาคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมงาน
ในปัจจุบัน แม้ว่าเกาหลีใต้ยังคงเป็นรองประเทศต่าง ๆ ในด้านจำนวนยูนิคอร์น หรือสภาพแวดล้อมบางอย่าง แต่เรียกได้ว่าประเทศนี้กำลังมาแรง และมีวงการสตาร์ทอัพที่คึกคัก ในอนาคตเราอาจได้เห็นเกาหลีใต้ขึ้นมาอยู่ในลำดับต้นของวงการสตาร์ทอัพระดับโลกได้ ด้วยการผลักดันอย่างเต็มที่ และวางแผนขับเคลื่อนประเทศไปสู่อนาคตของรัฐบาล
ตัวอย่างของประเทศเกาหลีใต้นี้ แสดงให้เห็นว่าสตาร์ทอัพจะเติบโตได้เพราะการสนับสนุนจากรัฐบาลเป็นปัจจัยหลัก โดยมีความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นแรงกระตุ้นในการขับเคลื่อน ซึ่งเมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย การพัฒนาตลาดสตาร์ทอัพของประเทศนับว่ายังอยู่ในระยะเริ่มต้นที่ต้องเร่งสร้างสภาพแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการเติบโตของสตาร์ทอัพ ตลอดจนเร่งแก้กฎหมาย กฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องให้เอื้อต่อการลงทุนและการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ นอกจากนี้การเพิ่มจำนวนบริษัทร่วมทุน (Venture Capital) จากทั้งในและต่างประเทศ ก็จะช่วยสร้างโอกาสให้กับธุรกิจสตาร์ทอัพไทยในการเติบโตและก้าวไปสู่ระดับโลกได้อีกทางด้วย
โดย นางสาวปัทมพร โวหาร
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: