ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เกษตรกรไทยเริ่มปรับตัวเข้าสู่การพัฒนาตนเองเป็นเกษตรสมัยใหม่ แต่ยังติดปัญหาในการทำงานการเกษตรแบบเดิม โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นจังหวัดในภาคเหนือที่ทำเกษตรกรรมมากที่สุดเป็นลำดับต้นของประเทศ ซึ่งปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรในจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงเป็นการใช้แรงงานและขาดองค์ความรู้ที่จะมาช่วยต่อยอดในการพัฒนาการทำการเกษตร เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีการบริหารจัดการ ไม่มีการตลาด ไม่มีทุน และไม่มีองค์ความรู้ ทำให้ผลิตภาพทางการเกษตร (Productivity) อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อีกทั้งยังมีความเสี่ยงจากโรคระบาด ภัยธรรมชาติ ความผันผวนของราคาสินค้า ทำให้เกษตรกรจึงมีหนี้สินทุกครัวเรือน เป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถก้าวหลุดจากการเป็นประเทศกับดักรายได้ปานกลางได้ ถ้ายังไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงภาคเกษตร
ภาพที่ 1 ภาพถ่ายทางอากาศของพื้นที่ทดลองปลูกภายใต้โครงการ VAM
จนกระทั่งการมาถึงของวิกฤติการณ์การแพร่ระบาดของโรค Covid - 19 ในห้วงเวลานี้ถือเป็นการขับเคลื่อนภาคการเกษตรไทย คงไม่มีอะไรที่ต้องให้ความสำคัญไปมากกว่าการเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน ให้เกษตรกรรู้จักปรับตัวเข้าสู่ยุคดิจิทัล เนื่องจากผลกระทบดังกล่าวส่งต่อไปถึงข้อจํากัดด้านแรงงานภาคการเกษตร ต้นทุนด้านการผลิตที่สูงขึ้น และความต้องการสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยของผู้บริโภค มีผลกระทบโดยตรงกับการทำเกษตรกรรมในประเทศไทยและประเทศในภูมิภาคอาเซียนอย่างหลีกเลียงไม่ได้ โดยเกษตรกรจะต้องผลิตผลผลิตที่มีคุณภาพ มาตรฐานเป็นที่ยอมรับผู้บริโภคในต้นทุนที่ต่ำ เพื่อสร้างความเชื่อมันให้กับผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนามาตรฐานดังกล่าวให้สอดคล้องกับมาตรฐานกลางในภูมิภาค เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับผลกระทบในรูปแบบของมาตรการกีดกันทางการค้า และอำนวยความสะดวกให้เกษตรกรสามารถค้าขายกับต่างประเทศได้ จึงต้องนําเทคโนโลยีเกษตรอิเล็กทรอนิกส์ (Agritronics) มาใช้เพื่อยกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things) และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพื่อการเกษตร มีราคาถูกลงและสามารถเข้าถึงได้ง่าย สามารถนำมาประยุกต์เพื่อยกระดับการทำการเกษตรในประเทศ
ภาพที่ 2 รายละเอียดพื้นที่กิจกรรมใน “VAM Maker Space”
หมู่บ้านนักพัฒนาการเกษตรดิจิทัล หรือ Village of AgTech Maker (VAM) เป็นหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเชี่ยวชาญในศาสตร์การเกษตรที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านเกษตรดิจิทัล พร้อมพัฒนาสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการผลิตนักพัฒนานวัตกรรมสำหรับงานทางด้านการเกษตรดิจิทัลอย่างครบวงจร
การดำเนินโครงการอาศัยพื้นที่และองค์ความรู้จากการเกษตรอัจฉริยะที่มีอยู่ในมหาวิทยาลัยแม่โจ้เป็นตัวขับเคลื่อน ผ่านการให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตรแบบครบวงจร นำไปสู่การปฏิรูปและเปลี่ยนผ่านภาคเกษตรด้วยเทคโนโลยีในการพัฒนาความเข้มแข็งของผู้ประกอบการภาคการเกษตร ทั้ง SMEs Startup รวมถึงเกษตรกร ทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งช่วยลดความเหลื่อมล้ำ และเชื่อมโยงสู่เศรษฐกิจทางการเกษตร โดยนำผลงานที่ประสบความสำเร็จจาก มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และพันธมิตรสู่การใช้งานจริงในพื้นที่ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ภาคการเกษตรอย่างทั่วถึง พร้อมทั้งพัฒนาบุคลากรใน Ecosystem ด้านการเกษตรให้ก้าวทันเทคโนโลยี ผ่าน 2 ส่วนหลักคือ
โครงการหมู่บ้านนักพัฒนาการเกษตรดิจิทัล (Village of AgTech Maker: VAM) จะช่วยส่งเสริมให้เกษตรกรและนักพัฒนาจะได้เรียนรู้และทดลองที่เน้นการได้สัมผัสกับปัญหาจริง และใช้องค์ความรู้ที่มาจากงานวิจัยที่ผ่านการทดลองแล้วเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ตัวอย่างแสดงดังภาพที่ 3
ภาพที่ 3 ระบบโรงงานพืชต้นทุนต่ำภายใต้โครงการ VAM
นอกจากนี้ ยังเป็นศูนย์การรังสรรค์นวัตกรรมทางกรเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงเป็นแหล่งความรู้เทคโนโลยีอุบัติใหม่เช่น AI Accelerator, Drones, Cobots, Agriculture 4.0, 5G Chipset Sensor Fusion Postharvest and Transportation และ Big data เพื่อวิเคราะห์พยากรณ์ข้อมูล (Predictive Analytics) รวมถึง Urban Farm Platform พัฒนาอาหารสดสะอาดระดับ Medical grade ที่ตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มประชากรยุคใหม่ ซึ่ง Village of AgTech Maker (VAM) จะช่วยสร้างความเข้มแข็งในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ เกษตรสมัยใหม่ ด้านเทคโนโลยีเกษตรเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการผลิตภาคการเกษตรของประเทศที่เป็นหนึ่งในความหวังที่จะยกระดับเกษตรกรไทยให้ก้าวไปอีกขั้นในอนาคต สำหรับรายละเอียดโครงการสามารถติดต่อขอรับข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สาขาภาคเหนือตอนบน (https://www.depa.or.th/th/article-view/20210701_03) และคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ (http://110.170.129.118/show_act.php?ActID=20046)
โดย นายปรัชญา โกมณี
สาขาภาคเหนือตอนบน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: