ยิ่งการใช้โซเชียล มีเดียแพร่หลายขึ้นเท่าใด การละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาก็ดูเหมือนจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ เป็นเงาตามตัว แม้สหรัฐอเมริกาได้ประกาศปรับสถานะการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของไทยออกจากบัญชีประเทศที่ต้องจับตามองพิเศษเมื่อปลายปี 2560 และรัฐบาลได้แก้ไข พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ฉบับใหม่ (ปี 2558 ฉบับที่ 2) ให้คุ้มครองลิขสิทธิ์งานต่างๆ ขยายความคุ้มครองไปถึงบนโลกออนไลน์ และลิขสิทธิ์ของนักแสดงได้อย่างครอบคลุมแล้วก็ตาม
การคุ้มครองลิขสิทธิ์งานต่างๆจากกฎหมายที่ได้ปรับแก้ฉบับล่าสุดนี้ ขยายความคุ้มครองไปถึงบนโลกออนไลน์ และลิขสิทธิ์ของนักแสดงได้อย่างครอบคลุม เช่น บทความ หนังสือ ซอฟต์แวร์ เพลง รูปภาพ ภาพวาด ภาพถ่าย ภาพข่าว ภาพยนตร์ ละครต่างๆที่อยู่ในโซเชียลมีเดีย ทั้งทวิตเตอร์, เฟซบุ๊ก, ไลน์ หรืออินสตาแกรม และมีการเพิ่มบทกำหนดโทษ ที่ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิของนักแสดง ต้องจ่ายค่าเสียหายเพิ่มขึ้นไม่เกิน 2 เท่าของค่าเสียหายที่เกิดขึ้น หากมีหลักฐานชัดแจ้งว่า เป็นการเจตนาโทษฐาน “ละเมิดลิขสิทธิ์” โดยมีโทษปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท และหากกระทำความผิดมีเจตนาเพื่อการค้า มีโทษปรับตั้งแต่ 100,000-800,000 บาท หรือจำคุก 6 เดือน - 4 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ
เมื่อมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อป้องปรามและจัดการกับผู้ที่ละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้ที่นิยมใช้โซเชียลมีเดียจึงต้องระมัดระวังกันเป็นพิเศษ เพราะมีความเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมายได้ง่ายๆ หากไม่มีความตระหนักเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ไม่มีความรู้ ความเข้าใจเรื่องกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา ก็มีความเสี่ยงที่จะละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น หากนำข้อมูลของผู้อื่นมาเเชร์ในโลกโซเซียลโดยไม่ให้เครดิต หรือนำไปใช้เพื่อการค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจมีความผิด โดยกฎหมายฉบับใหม่ได้กำหนดอัตราโทษขั้นต่ำไว้ที่ ปรับ 1 หมื่น-1 แสนบาท หากกระทำเพื่อการค้ามีโทษปรับตั้งแต่ 5 หมื่น-4 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น
วันนี้ผู้ใช้โซเชียลมีเดียต่างๆ จึงต้องมีความรู้พื้นฐานในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาโดยเฉพาะการละเมิดลิขสิทธิ์ของภาพ ข้อความ ที่เผยแพร่ในโซเชียลมีเดียหรือเว็บไซต์ต่างๆ รวมถึงควรรู้จักการปกป้องความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของตนเองด้วยเช่นกัน เพื่อไม่ให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้อง สามารถเข้าข้อมูลส่วนตัวของตนเอง หรือถูกเผยแพร่ออกไปในเครือข่ายสังคมออนไลน์เช่นเฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ หรือ อินสตาแกรมได้ โดยเลือกใช้ฟีเจอร์ที่รู้กันทั่วไปว่า สามารถจำกัดความเป็นส่วนตัวตามลักษณะโซเชียลมีเดียในแต่ละประเภท
ผู้ใช้เฟซบุ๊คต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการตั้งค่าความเป็นส่วนตัว (Privacy) ซึ่งเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่จะป้องกันไม่ให้บุคคลทั่วไปสามารถเห็นข้อมูลของเราได้ หากเราไม่ได้รับเข้ามาเป็นเพื่อน หรือไม่ได้โพสต์ข้อความเป็นสาธารณะ ซึ่งจะสร้างความปลอดภัยได้ในระดับหนึ่ง
ส่วนผู้ใช้ทวิตเตอร์ควรใช้ Direct Message (DM) ในการส่งข้อความหรือภาพที่เป็นส่วนตัว ควรระมัดระวัง หรือควรจำกัดผู้เข้าถึง ไม่ควรใช้วิธีทวีตตรงๆ
เช่นเดี่ยวกับอินสตราแกรม ที่สามารถตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้เฉพาะคนที่ได้รับการอนุญาต สามารถเข้าถึงภาพและข้อความที่เราโพสได้เท่านั้น และมีเจอร์ให้สามารถส่งข้อความส่วนตัว Direct Message ถึงผู้ที่ต้องการสื่อสารได้
ในโปรแกรมแชตที่เป็นที่นิยมอย่าง Line ก็มีฟังก์ชัน Line Hidden Chat หรือแชตลับ สำหรับการแชตกับเพื่อน ซึ่งข้อความจะถูกลบทิ้งไปอย่างอัตโนมัติตามเวลาตามที่ได้กำหนดไว้
เมื่อโพสต์ข้อความ รูปภาพ ภาพเคลื่อนไหว เพลง ซอฟต์แวร์ใดๆ ไปบนโซเชียล มีเดียแล้ว แม้บางช่องทางจะอนุญาตให้ผู้โพสสามารถลบได้ แต่ต้องเข้าใจใหม่ว่าภาพและข้อความใดๆ ที่โพสต์ไปแล้วก็ไม่หายไปไหน ก็ยังมีวิธีเก็บหลักฐานในการโพสต์ เช่นการเซฟรูปหน้าจอเอาไว้ หรือการดูประวัติในการแก้ไขโพส เป็นต้น หากได้มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นไปแล้ว ควรรีบติดต่อกับผู้ที่เราละเมิดเพื่อหาทางเจรจา ผ่อนหนักเป็นเบา และลบสิ่งที่โพสต์ให้เร็วที่สุดเพื่อลดการขยายเป็นวงกว้าง นอกจากนี้ การโพสข้อความที่ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสีย แม้จะไม่ระบุชื่อคนที่คนที่ถูกพาดพิง แต่มีการสื่อให้รู้ว่าหมายถึงใคร กรณีนี้ในอดีตเอาผิดไมได้ แต่ปัจจุบันสามารถเอาผิดได้แล้ว เพื่อเป็นการการรักษาสิทธิผู้ที่ถูกทำให้เสื่อมเสีย ดังนั้น จึงต้องคิดก่อนโพสต์ ให้ดีทุกครั้ง
1368 สายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ได้แนะนำวิธีการโพสต์หรือแชร์บนโลกโซเชียลมีเดียอย่างปลอดภัย ไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธิ์ เช่น การนำคลิปเพลงมาเผยแพร่ในลักษณะก๊อบปี้ลิงก์ หรือการฝังโค้ด (embed) คลิปวิดีโอของยูทูปจากเจ้าของลิขสิทธิ์มาไว้แชร์ในเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กของตัวเอง โดยไม่ผิดและไม่เข้าข่ายละเมิดลิขสิทธ์ เนื่องจากการเปิดวิดีโอนี้จะลิงก์ไปหาต้นตอของวิดีโอในยูทูปที่เป็นต้นฉบับ ไม่ได้ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์เสียประโยชน์ ที่ไม่ทำให้เกิดยอดซึ่งนำไปสู่การขายโฆษณาได้ เป็นต้น
ในหมวดรูปภาพหรือข้อความที่ก๊อบปี้จากเว็บไซต์ หากดาวน์โหลดมาใช้ ต้องอ้างอิงที่มาหรือให้เครดิตเสมอ รวมถึงต้องพิจารณาประกอบกับเงื่อนไขต่างๆ เช่น การนำไปใช้ในปริมาณไม่มาก และไม่ได้นำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า หรือหากำไรในเชิงพาณิชย์ และไม่กระทบกระเทือนกับส่วนได้ส่วนเสียของเจ้าของลิขสิทธิ์ เช่น เจตนานำมาใช้ในการวิจัยหรือศึกษางานซึ่งไม่ใช่เพื่อหากำไร ใช้ในการเสนอข่าวทางสื่อสารมวลชนโดยมีการรับรู้ความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานนั้น และใช้ในการเรียนการสอน เป็นต้น
คุณนุสรา กาญจนกูล ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา เเละ ร.ศ.อรพรรณ พนัสพัฒนา ผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพย์สินทางปัญญา คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ร่วมตอบคำถามเพื่อไขข้องข้องใจเเก่ประชาชนในงานบรรยายพิเศษหัวข้อ "รู้จักกฎหมายลิขสิทธิ์ฉบับใหม่" ดังตัวอย่างต่อไปนี้
ถ้าหากนำรูปภาพที่ไม่ทราบถึงชื่อเจ้าของลิขสิทธิ์ที่แท้จริง แต่นำมาจากเว็บไซต์ที่เผยแพร่ภาพนั้นๆมาใช้ แล้วให้เครดิตโดยอ้างเว็บไซต์ที่มีภาพนั้นอยู่ ได้หรือไม่
ตอบ :หากผู้ใช้ไม่ทราบถึงที่มาจริงๆด้วยความสุจริตใจก็สามารถให้เครดิตจากเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ โดยต้องระบุให้ชัดเจนว่าเข้าถึงจากเว็บใดวันเวลาใด และต้องนำเอามาใช้ในปริมาณน้อย ไม่เยอะเกินไป และไม่ใช้รูปที่เป็นภาพหัวใจหลักของผลงานที่ทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์สูญเสียรายได้ที่พึงจะได้จากภาพหรือบทความดังกล่าว
กรณีเว็บไซต์ข่าว นำภาพของดารานักแสดงจากเฟซบุ๊คและอินสตาแกรมมาใช้ประกอบข่าวทำได้หรือไม่
ตอบ :ผอ.สำนักกฎหมาย กรมทรัพย์สินทางปัญญา กล่าวว่า ในกรณีเป็นนักข่าวมีข้อยกเว้นที่จะใช้ภาพประกอบข่าวโดยต้องระบุเครดิตการรับรู้ความเป็นลิขสิทธิ์ของภาพนั้นๆอย่างชัดเจน ส่วนภาพดาราเซลฟี่ ที่จะนำมาใช้อย่างต่อเนื่องนั้น ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาแนะนำให้ทำการขออนุญาตที่จะใช้อย่างต่อเนื่องก่อนเพื่อความรอบคอบปลอดภัย
ในกรณีเป็นบริษัท ได้รวบรวมบทความจากนักเขียนโดยได้รับอนุญาตจากผู้เขียนแล้ว ต่อมาผู้เขียนได้ทำการไปละเมิดภาพลิขสิทธิ์โดยทางบริษัทไม่ทราบมาก่อนและได้ทำเผยแพร่ผลงานออกสู่สาธารณชน ดังนั้นบริษัทไม่ต้องรับผิด ใช่หรือไม่ ?
ตอบ :ปกติแล้วโจทก์ผู้ยื่นฟ้องจะฟ้องแบบเหมารวม โดยบริษัทจะต้องโดนฟ้องไปด้วยในความผิดช่วยเผยแพร่ ขอแนะนำบริษัทต่างๆให้นิติกรบริษัททำสัญญากับผู้เขียนให้ชัดเจนและบริษัทต้องทำการเช็คให้ดีโดยรอบคอบหากมีการเผยแพร่ไปแล้วก็ต้องเก็บกลับคืนมาก่อนเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ
กรมทรัพย์สินทางปัญญา กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี - บก.ปอท.