Bitcoin กับ เงินสกุลดิจิทัลมาแล้ว!! รีบรู้จักจะได้ไม่ตกเทรนด์
Bitcoin กับ เงินสกุลดิจิทัลมาแล้ว!! รีบรู้จักจะได้ไม่ตกเทรนด์
ข่าวเทคโนโลยีในต้นปีนี้ คงไม่มีอะไรที่เด่นเกินเรื่องของเงินสกุลดิจิทัล ว่าแต่เงินสกุลดิจิทัลคืออะไร มีอะไรบ้าง เงินเหล่านี้น่าเชื่อถือหรือไม่ โลกและประเทศไทยมีทิศทางอย่างไรต่อเรื่องนี้กัน วันนี้มีคำตอบ ตามมาเลย
เงินสกุลดิจิทัลคืออะไร?
ระบบเงินสกุลดิจิทัลเริ่มต้นจากการพัฒนาระบบการโอนเงินโดยไม่ต้องใช้สถาบันการเงินเป็นตัวกลางในการตรวจสอบและบันทึกข้อมูล แต่ทุกคนสามารถอาสามีส่วนร่วมโดยการนำคอมพิวเตอร์ของตนเองมาร่วมทำงานในระบบนี้ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต โดยเมื่อต้นทางสั่งโอนเงินไปยังปลายทาง คอมพิวเตอร์ในเครือข่ายของทุกคนในระบบจะเห็นและแข่งกันตรวจสอบว่าคำสั่งมาจากต้นทางจริงมั้ย ซึ่งข้อมูลประวัติธุรกรรมนี้จะถูกเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องที่อาสามาร่วมในเครือข่ายสกุลเงินนี้ (ทำให้เกิดการแก้ไขประวัติย้อนหลังได้ยากมาก) นอกจากนี้ระบบเงินสกุลดิจิทัลยังให้รางวัลกับผู้เข้าร่วมการตรวจสอบเป็นเหรียญของสกุลเงินดิจิทัล ซึ่งเรียกกระบวนการนี้ว่าการขุดเหมือง (mining) อันเป็นแรงจูงใจให้มีผู้มาร่วมเชื่อมต่อกับเครือข่ายและนำทรัพยากรทั้งการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต อุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ การใช้กระแสไฟฟ้า และพื้นที่จัดเก็บข้อมูล มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลธุรกรรม ดังนั้นมูลค่าของสกุลเงินดิจิทัลในมุมหนึ่งจึงขึ้นกับต้นทุนของทรัพยากรที่จะนำมาร่วมใช้ในการทำงานให้กับเครือข่ายด้วยเช่นกัน
เงินสกุลดิจิทัลมีอะไรบ้าง?
ในช่วงเริ่มต้น คนส่วนใหญ่ใช้คำว่า Bitcoin กับคำว่าเงินสกุลดิจิทัลเสมือนเป็นคำเดียวกัน แต่ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาก็มีการสร้างเงินสกุลดิจิทัลอื่นขึ้นมาอีกมากมาย เช่น Ethereum, Ripple, Bitcoin Cash, Litecoin เป็นต้น โดยเฉพาะ Ethereum นั้น ถูกพัฒนาโดย Vitalik Buterin ซึ่งเป็นโปรแกรมเมอร์ผู้เชี่ยวชาญ Bitcoin ในยุคเริ่มต้น และได้มองเห็นถึงข้อจำกัดหลายประการของระบบสกุลเงิน Bitcoin จึงได้พัฒนาสกุลเงินใหม่ขึ้นมา และได้เพิ่มเติมคุณสมบัติในหลายด้าน รวมถึงความสามารถในการรองรับ Smart Contract เพื่อให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โดยการเก็บสัญญาไว้บนการจัดเก็บข้อมูลแบบ Block Chain ซึ่งทำให้ยากต่อการแอบแก้ไขสัญญา และเมื่อเกิดการทำธุรกรรม จะใช้สกุลเงิน Ethereum เป็นสื่อกลาง โดย Ethereum นี้ได้รับความคาดหวังว่าจะได้รับความนิยมที่แพร่หลายมากกว่า Bitcoin เพราะ Smart Contract สามารถนำไปพัฒนาต่อยอด และทำให้เกิดนวัตกรรมของธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้
เงินสกุลดิจิทัลมีความน่าเชื่อถือหรือไม่?
ปัจจุบัน เงินสกุลดิจิทัลยังไม่ได้รับการรับรองโดยรัฐบาล รวมถึงไม่มีการใช้สินทรัพย์เช่น ทองคำ หรือตราสารมาค้ำประกัน โดยที่ราคาหรือมูลค่าของเงินสกุลดิจิทัลนั้นจะขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทาน ถือเป็นกลไกตลาดอย่างแท้จริง ผู้สนใจเงินสกุลดิจิทัลนั้นมีหลากหลาย ตั้งแต่การทดลองเล่นกับนวัตกรรมเทคโนโลยีการเงินด้วยความอยากรู้อยากเห็น การขุดเหมือง (ร่วมผลิตเงินสกุลดิจิทัล) เพื่อหวังผลตอบแทน การใช้เงินสกุลดิจิทัลเป็นทางเลือกในการเก็บเงิน การลงทุนระยะสั้นและระยะยาวเพื่อหวังกำไร หรือแม้แต่การลงทุนกับกลุ่มสตาร์ทอัพที่ระดมทุนแบบ Initial Coin Offering (ICO) . โดยที่ตลาดเงินสกุลดิจิทัลเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงสูงมาก ซึ่งตลาดเงินสกุลดิจิทัลนั้นมีเงินลงทุนไหลเข้ามามาก ทำให้ราคาเกิดความผันผวน และตลาดมีความอ่อนไหวสูง ยกตัวอย่างเช่น ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ราคาของ Bitcoin เกิดการตกลงอย่างรุนแรงถึง 12 ครั้ง และนับตั้งแต่เกิดการพัฒนาเงินสกุลดิจิทัล นักการเงินที่มีชื่อเสียงหลายคน เช่น Paul Krugman, Joseph Stiglitz, Robert Shiller, Warren Buffett รวมถึงสถาบันการเงินขนาดใหญ่ เช่น JP Morgan ได้มองว่าระบบเงินสกุลดิจิทัลจะไม่มีความยั่งยืน เพราะไม่ได้ถูกสร้างขึ้นโดยมีสินทรัพย์ที่มีค่ารองรับมูลค่าของสกุลเงิน และยังมองว่าปริมาณเงินที่สร้างขึ้นก็อาจไม่สามารถควบคุมให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงได้
ประเทศไทยมีทิศทางอย่างไรต่อเงินสกุลดิจิทัล?
สำหรับประเทศไทยเอง ความสนใจเรื่องเงินสกุลดิจิทัลเริ่มเป็นที่สนใจจากสาธารณชนมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้หน่วยงานราชการทั้งธนาคารแห่งประเทศไทยและกระทรวงการคลังได้ติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงได้เริ่มศึกษาการประยุกต์และการปรับแก้ข้อกำหนดทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2561 ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศในงาน Bangkok Fintech Fair 2018 ว่ามีแผนจะนำร่องทดสอบเงินเหรียญคริปโตบาทในชื่อ “อินทนนท์” โดยจะทำงานร่วมกับธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง โดยเงินสกุลดิจิทัลที่ประกาศนี้จะใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนเหมือนเงินสกุลดิจิทัลอื่นๆ และจะนำมาใช้เพื่อลดต้นทุนและประสิทธิภาพในการชำระราคาระหว่างธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเอง แต่จะไม่ได้นำมาใช้กับประชาชนทั่วไป สำหรับกระทรวงการคลัง ก็ได้มีการติดตามและมีการผลักดันประเด็นทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องของไทย โดยมติของคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561 ได้เห็นชอบหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยการปรับเพิ่มประเด็นนิยามของทรัพย์สินดิจิทัลในทางกฎหมาย นอกจากนี้ยังกำหนดแนวทางอัตราการจัดเก็บภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้นจากทรัพย์สินดิจิทัล ในอัตราร้อยละ 15 อีกด้วย
เครดิตข้อมูลโดย นางสาวกษมา กองสมัคร ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และ ผศ.ดร.ณัฐพงษ์ พัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล