บริการ
TH
EN
TH
CN

ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ตอนที่ 2 (สาขาเกม) Digital Content Series: Game

บทความนี้จะนำแนวคิดด้านระบบนิเวศมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ทั้งนี้คำว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้การสนับสนุน ประกอบไปด้วย ดิจิทัลคอนเทนต์สาขาแอนิเมชัน สาขาเกม และสาขาคาแรคเตอร์ เป็นสำคัญ โดยระบบนิเวศของอุตสาหกรรมเกมนั้นวิเคราะห์ได้ดังนี้

ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตเกม

เช่นเดียวกันกับดิจิทัลคอนเทนต์สาขาแอนิเมชัน ในสาขาเกมก็เริ่มองค์ประกอบแรกสุดที่ผู้ประกอบการเกม ซึ่งแบ่งผู้ประกอบการได้ 3 ลักษณะหลักคือ ผู้พัฒนาเกม (Developer) ดำเนินธุรกิจสร้างและถือสิทธิในเกมตัวอย่างเช่น เกม Home Sweet Home ของบริษัท Yggdrasil, เกม Dummy ของบริษัท GameIndy เป็นต้น ผู้รับจ้างผลิต (Outsource) ดำเนินธุรกิจรับจ้างผลิตเกมหรือองค์ประกอบของเกม ตัวอย่างเช่น บริษัท Imagicmax ที่มีการรับจ้างผลิตเกมให้บริษัทเกมจากต่างประเทศ และผู้จัดจำหน่าย (Publisher) ดำเนินธุรกิจผู้ซื้อหรือเช่าสิทธิในเกมมาจัดจำหน่าย ตัวอย่างเช่น NADZ Project, ZEST, Origin, Steam, Tencent, Garena, Netmable, Nexon เป็นต้น โดยปัจจัยในการผลิตหลักของผู้ประกอบการเกม จะประกอบไปด้วย เงินทุน บุคลากรและ เครื่องมือในรูป Software และ Hardware

นักลงทุนและแหล่งเงินทุนของอุตสาหกรรมเกม

โดยในส่วนของเงินทุนในปัจจุบัน โดยส่วนมากเป็นเงินทุนของผู้ประกอบการเอง ทั้งนี้ในส่วนของเงินลงทุนปัจจุบันผู้ประกอบการประสบปัญหาลักษณะเดียวกับ ผู้ประกอบการแอนิเมชันก็คือการเข้าถึงแหล่งเงินทุนปกติค่อนข้างยาก จากการที่สถาบันการเงินไม่เช้าใจในลักษณะการดำเนินการของผู้ประกอบการเกม ผู้ประกอบการเริ่มมีการปรับตัวในการหาทุนผ่านช่องท่างอื่นตัวอย่างเช่น การเอา Project สร้างเกมไประดมทุนผ่าน Crowd Funding เป็นต้น

บุคลากรในอุตสาหกรรมเกม

ในส่วนของบุคลากรในอุตสาหกรรม โดยส่วนใหญ่มาจากการเรียนการสอนในระดับมหาวิทยาลัย แต่ด้วยความซับซ้อนขององค์ประกอบของการสร้างเกมทำให้ต้องใช้บุคลากรจากหลายสาขาวิชาตัวอย่างเช่น นักออกแบบภาพกราฟฟิก จากคณะศิลปกรรม ดิจิตัลอาร์ท โปรแกรมเมอร์ จากคณะวิศวกรรม สาขาคอมพิวเตอร์ เป็นต้น ซึ่งการพัฒนาเกมเป็นงานที่ต้องการการบูรณาการจากบุคลากรที่หลากหลาย ซึ่งจากการศึกษาในปี 2560 พบว่าในเรื่องบุคคลากรยังค่อนข้างมีปัญหาเนื่องจากบุคลากรใหม่ ยังไม่พร้อมใช้งานต้องฝึกงานระหว่างการทำงานเป็นเวลานาน และมีการขาดบุคคลากรในบางสาขา ตัวอย่างเช่น โปรแกรมเมอร์ เป็นต้น ทั้งนี้ด้วยปัญหาด้านการหาทุนและบุคลากรในอุตสาหกรรมทำให้ผู้ประกอบการประเภทนักพัฒนาเกมมีการขยายตัวค่อนข้างจำกัด นอกจากนี้ยังประเด็นเรื่องลักษณะของนักพัฒนาเกมที่เป็นนักสร้างแต่ไม่ได้มีความรู้ด้านการขายและธุรกิจ ยิ่งทำให้การขยายตัวของนักพัฒนาเกมในไทยมีน้อยลงไปอีก

ผู้จัดจำหน่ายและช่องทางการจัดจำหน่าย

องค์ประกอบของระบบนิเวศในลำดับต่อมาก็คือ ผู้จัดจำหน่ายเกม หรือ Publisher โดยผู้จัดจำหน่ายนี้จะมีหน้าที่หลักในการซื้อสิทธิเกมแล้วนำมาทำการตลาดและจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภค โดยผู้จัดจำหน่ายมีอยู่ในทุกแพลตฟอร์มของเกม ไม่ว่าจะเป็น PC Game, Console Game และ Mobile Game อาจกล่าวได้ว่าผู้จัดจำหน่ายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่ทำเกมมีมูลค่าทางการตลาดสูงขึ้น และมีโอกาสประสบความสำเร็จในการสร้างรายได้ แต่จากการศึกษาในปัจจุบันพบว่า ผู้จัดจำหน่ายที่บริษัทสัญชาติไทยโดยตรงยังมีจำนวนที่ค่อนข้างจำกัดทำให้การเลือกเกมที่พัฒนาโดยนักพัฒนาสัญชาติไทยน้อยลงด้วย เนื่องจากผู้จัดจำหน่ายจะเป็นผู้เลือกเกมที่จะนำมาทำการตลาดหากเกมไหนมีความน่าสนใจก็จะเลือกเกมนั้น หากไม่มั่นใจก็จะไม่ลงทุน นอกจากการทำการตลาดให้เกมเป็นที่รู้จักแล้ว ในกรณีของเกมออนไลน์ ผู้จัดจำหน่ายยังมีส่วนสำคัญในการทำให้ Life Cycle ของเกมนั้นยาวขึ้นด้วยผ่านการดูแลรักษาและควบคุม server ของเกมนั้นให้เล่นได้อย่างลื่นไหล

ผู้บริโภคคอนเทนต์เกม

องค์ประกอบถัดมาที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดนั้นก็คือผู้บริโภค หรือ Player นั้นเอง สำหรับประเทศไทยนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นตลาดของเกมที่ค่อนข้างใหญ่ มีผู้บริโภคตั้งแต่เด็กจนถึงผู้ใหญ่ เป็นผู้บริโภคที่มีความพร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อเล่นเกมให้ได้บรรลุถึงจุดมุ่งหมายที่ตัวเองต้องการ ตั้งแต่เพื่อการพักผ่อนที่มีการใช้จ่ายกับเกมน้อย จนถึงเล่นเพื่อเป็นอาชีพหรือเพื่อการแข่งขันระดับนานาชาติที่จะมีการใช้จ่ายกับเกมมาก โดยในปัจจุบันจะพบว่ายังมีองค์ประกอบของระบบนิเวศที่ช่วยเร่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ทำมีการตัดสินใจซื้อ เล่นเกมและจ่ายเงินในเกมมากขึ้น ประกอบไปด้วย เกมแคสเตอร์/ยูทูปเบอร์ คนกลุ่มนี้เดิมก็คือผู้บริโภคนั้นเอง โดยในเวลาต่อมาได้มีการเล่นเกมต่าง ๆ โชว์ให้กับผู้เล่นคนอื่น ๆ ได้ดู ทำให้ผู้บริโภคที่ยังไม่ซื้อเกมสามารถเห็นเนื้อหาของเกมก่อนการซื้อได้ ทำให้ผู้บริโภคเกมตัดสินใจซื้อเกมได้มากขึ้น โดยแคสเตอร์ จะได้รายรับทั้งจากการบริจาคโดยผู้ชม ค่าโฆษณาในกรณีที่มีผู้ชมจำนวนมาก และรายได้จากการว่าจ้างรีวิวโดย ผู้จัดจำหน่าย โดยแลกกับฐานลูกค้าที่จะตัดสินใจซื้อเกมมาเล่นมากขึ้น

จากการเล่นเกมไปสู่ E-Sport

นอกเหนือจากแคสเตอร์แล้ว ยังมีองค์ประกอบที่เป็นการจัดงาน E-sport อีเว้น โดย E-sport อีเว้นนั้นก็คือการจัดแข่งขันเกมนั้นเอง โดยไม่ใช่แค่เป็นการแข่งขันกันเองแบบปกติของผู้เล่นแต่เป็นการแข่งที่มีการจัดอันดับในการเล่น ที่มีการแบ่งผู้เล่นเป็นลีกจนถึงระดับตัวแทนประเทศเพื่อที่จะเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติ โดยในการแข่งขันจะมีการให้เงินรางวัลด้วย โดยเงินรางวัลในการแข่งขันนั้นจะมาจากการแบ่งรายได้ของผู้จัดจำหน่ายมาสนับสนุนนั้นเอง ซึ่งในการแข่งขันระดับนานาชาติเงินรางวัลอาจมีมูลค่าสูงถึงหลักล้านบาทได้ ทำให้เกิดการเล่นเกมเพื่อเป็นอาชีพขึ้น E-sport นั้นนอกจากจะทำให้เกิดผู้เล่นในระดับอาชีพแล้วยังทำให้เกิดอาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการแข่งขัน E-sport ตัวอย่างเช่น กรรมการ หรือ GM นักพากษ์ เป็นต้น ในปัจจุบัน E-sport ในประเทศไทยนั้นได้รับการรับรองให้เป็นกีฬาอย่างเป็นทางการแล้ว มีการจัดตั้งสมาคมขึ้นมาดูแลนักกีฬาและการจัดการแข่งขัน สิ่งที่สนใจอีกประการหนึ่งของการมีการแข่งขัน E-sport ในอนาคตก็คือการผลักดันในเกิดการพัฒนาเกมใหม่ ๆ ชึ้นมาในประเทศ เนื่องจากหากเกมใดได้รับเลือกให้ใช้เป็นเกมที่จะใช้ในการแข่งขัน E-sport เกมนั้นๆ ก็จะมีฐานผู้เล่นจำนวนมาก และมีการใช้จ่ายในเกมที่สูงขึ้นไปด้วย และด้วยความนิยมใน E-sport ทำให้บริษัท Hardware ต่าง ๆ เข้ามาสนับสนุน การแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ทั้งในเรื่องของการจัดตั้งทีม E-sport การสนับสนุนการจัดการแข่งขัน เพื่อสร้างการยอมรับในตราสินค้าและภาพลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นั้นเอง โดยก่อนหน้าที่จะมีการแข่งขัน E-sport บริษัท Hardware เหล่านี้หลายครั้งก็เป็นผู้ให้เงินสนับสนุนในการสร้างเกมหรือเป็น partner กับผู้พัฒนาเกม โดยมีการสื่อสารกับผู้เล่นว่า หากต้องการเล่นเกมได้ประสิทธิภาพสูงสุดจะต้องเล่นผ่านอุปกรณ์ของบริษัทนั้นเอง และองค์ประกอบสุดท้ายของระบบนิเวศนั้นก็คือ หน่วยงานภาครัฐและสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกมนั้นเอง ตัวอย่างเช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล สมาคมอีสปอตแห่งประเทศไทย สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์เกมไทย เป็นต้น

การส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม

โดยสำหรับประเทศไทยจากการวิเคราะห์ระบบนิเวศเกม จะเห็นได้ว่าเป็นตลาดของผู้เล่นเกมขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าในการบริโภคสูง ซึ่งเดิมเกมจัดได้ว่าเป็นสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งการบริโภคจำนวนมากย่อมทำให้เกิดการขาดดุลการค้า ดังนั้นด้วยศักยภาพของผู้ประกอบการไทย การส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเกมในไทยจึงมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ นอกเหนือจากการรักษาดุลยภาพทางเศรษฐกิจแล้ว อุตสาหกรรมเกมยังก่อให้เกิดอาชีพ การจ้างงาน และ องค์ความรู้ในการพัฒนาด้าน IT ของประเทศด้วย ดังนั้นหน่วยงานภาครัฐและสมาคมต่าง ๆ จึงเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรมเกม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมผู้ประกอบการที่ถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของระบบนิเวศ ทั้งในด้านของนโยบาย ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างประเทศ และในด้านของกิจกรรมส่งเสริมในเรื่องของการจัดคู่ธุรกิจ การจัดและไปร่วมงาน Road show ในต่างประเทศเพื่อแสดงศักยภาพของผู้ประกอบการไทยอีกทางหนึ่งด้วย