21 มีนาคม 2566, กรุงเทพมหานครฯ – สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) นำโดย ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ พร้อมด้วย นายฉัตรชัย คุณปิติลักษณ์ รองผู้อำนวยการใหญ่กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัล, ดร.ชินาวุธ ชินะประยูร ผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มงานส่งเสริมระบบนิเวศเศรษฐกิจดิจิทัลและ ดร.สักกเวท ยอแสง ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล เปิดบ้านต้นรับนายกสมาคมและผู้แทน 9 แห่ง ได้แก่ 1. สมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) 2. สมาคมการค้าผู้ประกอบการเทคโนโลยีดิจิทัล (DTE) 3. สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย (TPA) 4. สมาคมการค้าสตาร์ทอัพไทย 5. สมาคมไทยไอโอที 6. สมาคมเมตาเวิร์สไทย 7. สมาคมมาร์เทค แอสโซซิเอชั่น 8. สมาคมไทยผู้ประกอบธุรกิจเงินร่วมลงทุน (TVCA) และ 9. สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย (THECA) ในการประชุมสนทนากลุ่ม (Focus Group) ภายใต้หัวข้อ “การพัฒนามาตรการส่งเสริม และกลไกเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัล”
ในช่วงแรก ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ได้กล่าวต้อนรับนายกสมาคมและผู้แทนทั้ง 9 แห่ง โดยได้กล่าวถึงพันธกิจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ในการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ผ่านมาตรการส่งเสริมของสำนักงานฯ ซึ่งเพื่อให้เกิดมาตรการส่งเสริม และกลไกในการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นจะต้องมีการบูรณาการดำเนินงานร่วมกับองค์กร หน่วยงาน หรือสมาคมภายใต้อุตสาหกรรมดิจิทัล จึงเป็นที่มาของการประชุมสนทนากลุ่มในครั้งนี้
โดยในช่วงที่สองของการสนทนากลุ่ม ตัวแทนแต่ละสมาคมได้นำเสนอถึงประเด็นที่เกี่ยวข้อง 3 ประเด็นดังนี้ 1. Existing Pain Points 2. Flagship Projects of Your Association และ 3. Recommendations to Build Your Ecosystem อาทิ สมาคมเมตาเวิร์สไทย ที่เล็งเห็นถึงปัญหาความเข้าใจเกี่ยวกับ Blockchain Technology และ Web 3.0 จึงเป็นที่มาของการจัดตั้งสมาคมเพื่อสร้างความตระหนักต่อเทคโนโลยีดังกล่าวในอุตสาหกรรม รวมถึงสมาคมได้รวบรวม Serious Player หรือผู้เชี่ยวชาญด้าน Blockchain Technology และ Web 3.0 ในการให้ความรู้ผ่านการจัดการสมนาทั้งระดับประเทศและนานาชาติ ซึ่งได้เสนอความประสงค์ให้มีการสนับสนุนในด้านดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น หรือสมาคมมาร์เทค แอสโซซิเอชั่น ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของผู้เชี่ยวชาญด้าน Marketing Technology ได้เสนอถึงปัญหาการประยุกต์ใช้ Marketing Technology ในปัจจุบัน ซึ่งมักจะเป็นบริษัทต่างชาติที่ได้รับการยอมรับในการจัดเก็บ,วิเคราะห์ และติดตามข้อมูลของลูกค้า ทำให้ผู้ประกอบการดิจิทัลไทยยากในการแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดดังกล่าวได้
ต่อเนื่องจากการนำเสนอปัญหา (Pain Points) และข้อเสนอแนะจากผู้แทนแต่ละสมาคมนั้น ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ได้แสดงความเห็นเพิ่มเติมถึงความเชื่อมั่นในมาตรฐานของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย โดยสำนักงานได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าวและมีการพัฒนามาตรการส่งเสริม และกลไกด้านมาตรฐาน อาทิ การจัดทำทะเบียนบัญชีบริการดิจิทัล โดยสำนักงานจะเป็นหน่วยงานหลักในการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประกอบการดิจิทัลไทย รวมถึงสินค้าและบริการดิจิทัลที่ขอรับการขึ้นทะเบียน ไม่ว่าจะเป็น Software, Software as a Service, Digital Content Service, Smart Devices และ Hardware and Firmware ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดด้านมาตรฐานตามที่สำนักงานฯ กำหนด เช่น CMMI, ISO สำหรับ Software และ dSURE สำหรับ Smart Devices ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งจะสามารถเปิดตลาดทั้งภาครัฐและเอกชนให้แก่ผู้ประกอบการดิจิทัลไทยได้ นอกจากนั้นตามที่ตัวแทนสมาคมแต่ละแห่งให้ความเห็นด้านการสนับสนุนด้านทุนทรัพย์ภายใต้มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนของสำนักงานอยู่แล้วนั้น ดีป้ายังมีแผนการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอื่นที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน อาทิ โครงการ Thailand Digital Valley, Digital ซึ่งประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ One-Stop Service, Startup Knowledge Exchange Centre, Innovation Centre, Edutainment Complex และ Edutainment Complex ซึ่งเป็นการส่งเสริมด้านพื้นที่สำหรับผู้ประกอบการดิจิทัลไทยที่ต้องการระบบนิเวศทางด้านดิจิทัลที่ครบถ้วน ร่วมถึงได้รับสิทธิประโยชน์ภายใต้เขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลประเทศไทย (Eastern Economic Corridor of Digital: EECd) อีกด้วย โดยในช่วงท้ายของการหารือคณะผู้บริหารและตัวแทนแต่ละสมาคมได้ร่วมกันถ่ายภาพและร่วมกิจกรรม Networking Dinner เพื่อเจรจาหาความร่วมมือในการพัฒนามาตรการส่งเสริม และกลไกเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลต่อไป