บริการ
TH
EN
TH
CN

ระบบนิเวศของอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ตอนที่ 3 (สาขาแคแรคเตอร์) Digital Content Series: Character

บทความนี้จะนำแนวคิดด้านระบบนิเวศมาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทย ทั้งนี้คำว่าอุตสาหกรรมดิจิทัลคอนเทนต์ไทยที่สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลให้การสนับสนุน ประกอบไปด้วย ดิจิทัลคอนเทนต์สาขาแอนิเมชัน สาขาเกม และสาขาคาแรคเตอร์ เป็นสำคัญ โดยระบบนิเวศของอุตสาหกรรม แคแรคเตอร์นั้นวิเคราะห์ได้ดังนี้

ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตแคแรคเตอร์

เดิมดิจิทัลคอนเทนต์สาขาคาแรคเตอร์เป็นส่วนหนึ่งของสาขาแอนิเมชัน แต่ใจระยะหลังผู้ประกอบการพบว่าคาแรคเตอร์เพียงตัวเดียวหากได้รับความนิยมก็สามารถสร้างรายได้เป็นจำนวนมากได้ผ่านการขายหรือให้เช่าสิทธิเพื่อผลิตเป็น สินค้า Merchandise ได้ตัวอย่างเช่น มิกกี้เม้าส์ ของบริษัท วอลท์ดิสนีย์ ที่ถึงแม้ว่าครั้งแรกจะถูกสร้างมาเป็นแอนิเมชันแต่ด้วยความนิยม แม้ว่าจะขายตัวละครโดยไม่เป็นแอนิเมชันก็สามารถขายสินค้าที่มีมิกกี้เม้าส์เป็นตราสัญลักษณ์ได้ โดยองค์ประกอบแรกของระบบนิเวศก็คือผู้ประกอบการคาแรคเตอร์นั้นเอง โดยในหลายกรณีผู้ประกอบการคาแรคเตอร์ จะเป็นผู้ประกอบการรายเดียวกับ ผู้ประกอบการแอนิเมชัน โดยภาพรวมแล้วผู้ประกอบการจะมี 3 ลักษณะได้แก่ ผู้ประกอบการที่เป็นผู้สร้างคาแรคเตอร์เป็นของตัวเอง ผู้ประกอบการประเภทรับจ้างออกแบบคาแรคเตอร์ และผู้ประกอบการที่ซื้อหรือเช่าสิทธิในตัวคาแรคเตอร์มาหารายได้อีกทอดหนึ่ง โดยสำหรับประเทศไทยผู้ประกอบการคาแรคเตอร์ยังมีไม่มานัก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการแอนิเมชันหลายรายต้องการลดภาระในการหางานรับจ้างตลอดเวลามาเป็นการหารายได้จากทรัพย์สินที่เป็นของบริษัทแทนจึงหันมาทาง คาแรคเตอร์มากขึ้น โดยในปัจจุบัน ผู้ประกอบการคาแรคเตอร์รายใหญ่ในประเทศไทยโดยมากจะมีลักษณะเป็น ผู้ประกอบการที่ซื้อหรือเช่าสิทธิในตัวคาแรคเตอร์มาหารายได้ โดยที่คาแรคเตอร์ส่วนใหญ่ที่มีมูลค่าสูงในประเทศไทยจะเป็นคาแรคเตอร์ที่มาจากต่างประเทศเป็นหลักตัวอย่างเช่น มิกกี้เม้าส์ โดราเอมอน ปิกาชู เป็นต้น

บุคลากรในอุตสาหกรรมแคแรคเตอร์

องค์ประกอบของระบบนิเวศในลำดับถัดมาก็คือสถาบันการศึกษาซึ่งเป็นแหล่งสร้างบุคลากรหลักป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม แต่สำหรับคาแรคเตอร์นั้น บุคลากรจะไม่มีหลักสูตรโดยตรง ต้องอาศัย ผู้จบการศึกษาจากคณะด้านศิลปกรรมเป็นหลัก ในการสร้างคาแรคเตอร์ และบุคลากรจากคณะนิติศาสตร์เพื่อดูแลงานด้านธุรกิจเพราะโดยส่วนมากงานของผู้ประกอบการด้านคาแรคเตอร์จะเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและข้อตกลงด้านกฎหมายต่าง ๆ โดยนอกจากความรู้ความเข้าใจพื้นฐานแล้วบุคลากรที่จะเข้ามาทำงานในด้านคาแรคเตอร์ยังต้องเรียนรู้ลักษณะธุรกิจของคาแรคเตอร์ด้วย ทำให้บุคลากรที่สนใจมีจำนวนจำกัด หนึ่งในปัญหาของผู้ประกอบการไทยจึงเป็นเรื่องของการขาดบุคลากรนั้นเอง

นักลงทุนและแหล่งเงินทุนของอุตสาหกรรมแคแรคเตอร์

องค์ประกอบของระบบนิเวศในลำดับถัดมาจะเป็นนักลงทุน สถาบันการเงินและกองทุนที่เกี่ยวข้อง โดยจะมีความสัมพันธ์กับผู้ประกอบการในฐานะผู้ให้เงินทุนในการดำเนินการ ซึ่งโดยทั่วไปธุรกิจด้านคาแรคเตอร์ จะประสบปัญหาลักษณะเดียวกันกับ ผู้ประกอบการแอนิเมชัน ในส่วนของการหาทุนเนื่องจากการเข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างจำกัด จากการที่สถาบันการเงินขาดความรู้ความเข้าใจในธุรกิจด้านคาแรคเตอร์ ธุรกิจด้านคาแรคเตอร์แม้ว่าในช่วงแรกจะไม่ต้องใช้ทุนสูงมากเนื่องจากเป็นการสร้างคาแรคเตอร์ขึ้นมา แต่สิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อมาก็คือการทำงานตลาดเพื่อให้คาแรคเตอร์เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมกลับเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เงินทุนเป็นจำนวนมาก ซึ่งจุดนี้เองที่ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายแม้ว่าจะมีคาแรคเตอร์แต่ก็ไม่สามารถนำมาใช้หารายได้ได้อย่างที่ต้องการ และทางออกในปัจจุบันก็เป็นไปตามที่ผู้ประกอบการแอนิเมชัน ทำในลักษณะเดียวกันนั้นก็คือการหาทุนจากกองทุนในต่างประเทศ หรือการเข้าร่วมงานประกวดคาแรคเตอร์ต่าง ๆ เมื่อผู้ประกอบการได้การสร้างและทำการตลาดให้กับตัวคาแรคเตอร์เป็นที่เรียบร้อยแล้วก็จะเข้าสู่กระบวนการหารายได้ต่อไป

โมเดลการหารายได้ของอุตสาหกรรมแคแรคเตอร์

โดยสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของสิทธิในแคแรคเตอร์จะสามารถหารายได้ได้ 2 ทางหลัก ก็คือขายสิทธิในคาแรคเตอร์ให้กับ Master Licensing หรือ Licensing Agent และอีกทางหนึ่ง ก็คือการว่าจ้างผู้ผลิตสินค้าให้ผลิตสินค้าโดยใช้คาแรคเตอร์ของตนเองเป็นองค์ประกอบแล้วนำสินค้าเหล่านั้นออกวางจำหน่ายเพื่อหารายได้ทางตรงเข้าบริษัทเอง เมื่อมาถึงจุดนี้จะเห็นได้ว่ามีองค์ประกอบของระบบนิเวศเพิ่มขึ้นอีก 3 องค์ประกอบ โดยจะอธิบายตามลำดับดังนี้ ในส่วนของ Master Licensing หรือ ผู้ถือสิทธิในคาแรคเตอร์นั้น จะดำเนินการในลักษณะของผู้จัดการสิทธิในคาแรคเตอร์ โดยทั่วไปสิทธิที่ Master Licensing ได้รับจะมีลักษณะเป็น All Right คือสิทธิในการจัดการแต่มักจะมีการจำกัดสิทธิด้วยพื้นที่เป็นประเทศ ภูมิภาค หรือทวีป โดยในการจัดการสิทธินั้น Master Licensing จะสามารถหารายได้ได้จากทั้งการผลิตสินค้าขายเอง จนไปถึงการขายสิทธิหรือให้เช่าสิทธิต่อ โดยผู้ที่จะมาซื้อสิทธิต่อก็คือ Licensing Agent นั้นเอง โดยทั่วไปการดำเนินการของ Licensing Agent จะเป็นการซื้อหรือเช่าสิทธิบางส่วนมาจาก เจ้าของสิทธิหรือ Master Licensing โดยคำว่าสิทธิบางส่วนจะหมายถึงสิทธิที่จะถูกระบุไว้ว่านำคาแรคเตอร์ไปใช้ในงานอะไรได้บ้าง ไม่ได้มีสิทธิในการจัดการทุกอย่างเหมือนกับ Master Licensing ทั้งนี้เมื่อ Licensing Agent ได้ซื้อสิทธิไปแล้วก็จะนำไปว่าจ้างผู้ผลิตสินค้าทั้งในรูปแบบสินค้าอุปโภคบริโภคหรือสินค้าในรูปแบบดิจิทัลเพื่อจัดจำหน่ายให้กับผู้บริโภคต่อไป

ผู้บริโภคคอนเทนต์แคแรคเตอร์

ในส่วนของผู้บริโภคนั้นจะเป็นผู้ซื้อสินค้าที่มีคาแรคเตอร์เป็นองค์ประกอบ โดยจากการศึกษาข้อมูลในปัจจุบันพบว่า การขยายตัวของตลาดสินค้าที่มีคาแรคเตอร์เป็นองค์ประกอบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีการขยายตัวอยู่ในอันดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งคิดเป็นมูลค่ามหาศาล แต่คาแรคเตอร์ที่ได้รับความนิยมมักจะเป็นคาแรคเตอร์ที่มาจากต่างประเทศเป็นหลัก มีคาแรคเตอร์ไทยเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่สามารถ ผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายได้ ดังนั้นจะเห็นได้ว่าความสำคัญของคาแรคเตอร์ นั้นสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้อย่างมาก นอกจากนี้สิทธิในคาแรคเตอร์ยังมีลักษณะเป็นสินทรัพย์ ที่ทำให้เกิดรายได้ที่มีลักษณะเป็นรายได้ต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่าสินค้าที่มีคาแรคเตอร์เป็นองค์ประกอบสามารถส่งผลกระทบเชิงบวกกับระบบเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง

หน่วยงานส่งเสริมสนับสนุน

ภาครัฐผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลได้เข้ามาเป็นองค์ประกอบของระบบนิเวศในส่วนของการเป็นผู้ส่งเสริมอุตสาหกรรมทั้งในด้านการของการใช้นโยบายส่งเสริมผู้ประกอบการในด้านการแข่งขัน และ การจัดงานต่าง ๆ ที่ช่วยแสดงศักยภาพและเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้นำเสนอสินค้าออกสู่ตลาดภายนอกประเทศด้วย และนอกจากหน่วยงานของรัฐแล้วก็ยังมีสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องที่เข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ให้การส่งเสริมอุตสาหกรรมได้ด้วยเช่นกัน