4 นวัตกรรมที่ Agri-Tech Startup ควรรู้
4 นวัตกรรมที่ Agri-Tech Startup ควรรู้
เกษตรกรคืออาชีพที่อยู่คู่สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ซึ่งสินค้าเกษตรก็ยังคงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของเราจนถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามโลกเรากำลังก้าวสู่ยุคดิจิทัล เพราะงั้นเราจึงต้องปรับตัวไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการมากกระบวนการผลิตให้มากขึ้น เพื่อนำไปสู่การเป็นผู้ประกอบการและธุรกิจที่ยั่งยืน และนี่คือ 4 นวัตกรรมที่ Agri-Tech Startup ควรรู้!!
1.โดรนเพื่อการเกษตร โดรน (Drone) คือเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทการทำธุรกิจมากมาย และในภาคการเกษตรก็เช่นกัน ซึ่งทำมาช่วยในเรื่องความแม่นยำได้มาก ไม่ว่าจะเป็นการรดน้ำ การพ่นยา การให้ปุ๋ย การถ่ายภาพวิเคราะห์เพื่อตรวจโรคพืช ทำให้ประหยัดเวลาการทำงาน ประหยัดแรงงาน มีความปลอดภัยต่อผู้ฉีดมากกว่าการฉีดพ่นสารแบบดั้งเดิม หรือการใช้คนเดินฉีด เพราะในการทำงาน ผู้ที่ทำการบังคับการบินของโดรนจะอยู่ด้านนอกแปลง จึงไม่สัมผัสกับสารที่ฉีดพ่น นอกจากนี้การพ่นยายังให้ละอองที่ละเอียดมาก เข้าถึงใบพืชทั่วถึง สามารถกำจัดแมลงศัตรูพืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้สารเคมีได้น้อยลงถึง 50% ทำให้เกษตรกรสามารถดูแลรักษา และควบคุมผลผลิตคุณภาพการผลิตได้อย่างแม่นยำ
2.เครื่องพยากรณ์โรคข้าว
แนวคิดนี้เป็นผลงานของ ผศ.ดร.ดุสิต อธินุวัฒน์ ภาควิชาเทคโนโลยีการเกษตร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยเครื่องพยาการณ์การเกิดโรคในนาข้าวจะ ประกอบไปด้วยเซ็นเซอร์เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศ ทั้งเรื่องของอุณหภูมิ ความชื้น ปริมาณน้ำฝน ซึ่งจะทำงานโดยแบตเตอรี่พลังงานโซลาร์เซลล์ เมื่อเซ็นเซอร์ทำงาน จะส่งสัญญาณไร้สายเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ในบ้าน พร้อมส่งข้อมูลประมวลผลเข้าสู่เว็บไซต์ที่มีฐานข้อมูลสถิติ ทำให้เกษตรกรสามารถดูข้อมูลแบบ Real Time ผ่านสมาร์ทโฟนได้ตลอดเวลา จากนั้นโปรแกรมจะวิเคราะห์ว่าอากาศแบบนี้มีแนวโน้มจะเกิดโรคอะไรตามมาในอีกกี่วัน พร้อมแจกแจงแนวทางป้องกันได้อีกด้วย ทำให้ช่วยลดการใช้ยา สารเคมี เสมือนมีภูมิคุ้มกันชั้นดีติดตัว
3.ระบบควบคุมน้ำ อุณหภูมิ และความชื้น ผ่านแอพลิเคชั่น การจัดการน้ำในช่วงหน้าแล้งเป็นปัญหามาก คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. จึงได้ร่วมกันพัฒนาอุปกรณ์ “สมาร์ทฟาร์มคิท (Smart Farm Kit)” ระบบควบคุมการรดน้ำอัจฉริยะต้นทุนต่ำ ทำให้ระบบมีการใช้น้ำที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยลดการใช้น้ำในการเกษตรได้ไม่ต่ำกว่า 3 เท่า จากการทำงานร่วมกันของระบบตั้งเวลาเปิด-ปิดน้ำ ที่สามารถสั่งตั้งเวลาเปิด-ปิดปั๊มน้ำได้ตามความต้องการของชนิดพืช ระบบเซ็นเซอร์ติดตามสภาพอากาศ ที่ตรวจวัดอุณหภูมิและความชื้นว่าหากตำ่กว่าที่กำหนด ระบบก็จะสั่งรดน้ำโดยอัตโนมัติ และระบบสั่งการและแจ้งเตือนผ่านสมาร์ทโฟน ที่ช่วยส่งข้อความแจ้งเตือน พร้อมแสดงผลสภาพอากาศบริเวณพื้นที่แปลงเกษตรผ่านระบบสมาร์ทโฟนของเกษตรกร ได้อีกด้วย
4.ระบบบริหารจัดการน้ำอัติโนมัติด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ฟาร์มใหญ่ค่าไฟ 0 บาทนี้คือแนวคิดของคุณวีระ ศรแสง จากเรส-คิวฟาร์ม ที่สร้างฟาร์มด้วยการรักษาระบบนิเวศ โดยการขุด “คลองไส้ไก่” หรือคลองระบายน้ำรอบพื้นที่ตามภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยขุดให้คดเคี้ยวไปตามพื้นที่เพื่อให้น้ำกระจายเต็มพื้นที่เพิ่มความชุ่มชื้น ลดพลังงานในการรดน้ำต้นไม้ พร้อมนำแนวคิดของในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้แก่ เขื่อนเก็บกักน้ำ (เขื่อนที่สร้างขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำในช่วงเวลาที่น้ำมากเกินเพื่อไว้ใช้เวลาที่ขาดแคลน), ฝายชะลอน้ำ (ส่วนที่สร้างขึ้นเพื่อขวางทางน้ำ เพื่อเก็บตะกอนไม่ให้ไปทับถมลำน้ำ) และแก้มลิง (การจัดให้มีที่เก็บกักน้ำตามจุดต่างๆ เพื่อเป็นบึงพักน้ำ) ย่อทุกอย่างมาใส่ในรางปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ ทำให้ลดการใช้พลังงานได้มากกว่า 80% พร้อมกับนำนวัตกรรมแผงโซล่าเซลมาช่วยประจำแต่ละโรง ขับเคลื่อนให้ปั้มน้ำทำงานโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้าแม้แต่นิดเดียว จึงไม่เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดแรงงานได้มากเลย