บริการ
TH
EN
TH
CN

ไทยแลนด์ 4.0 ยุคแห่งการใช้ดิจิทัลพลิกโฉมเกษตรไทย Smart Farm Series: Digital Transformation in the Agricultural Sector

ทุกวันนี้ โลกได้เข้าสู่ระบบและเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล รัฐบาลได้ประกาศวิสัยทัศน์ ไทยแลนด์ 4.0 เพื่อให้ประเทศไทยให้กลายเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง โดยปรับเปลี่ยนโมเดลเศรษฐกิจแบบ “ทำน้อยได้มาก” และใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนประเทศ1 สำหรับภาคการเกษตรทั่วโลกประสบปัญหากับภาวะผู้สูงอายุของเกษตรกร เช่น ประเทศญี่ปุ่นเกษตรกรมีอายุเฉลี่ย 66 ปี2 และเกษตรกรไทยมีอายุเฉลี่ย 58 ปีขึ้นไป ยิ่งไปกว่านั้นข้อมูลล่าสุดพบว่าสมาชิกครัวเรือนเกษตรกรไทยที่มีอายุเกิน 65 ปี เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 11 ของเกษตรกรทั่วประเทศ 25 ล้านคน ปัญหาของธรุกิจภาคการเกษตรของประเทศไทย นอกจากเผชิญปัญหาด้านภาวะผู้สูงอายุของเกษตรกรแล้ว ยังเผชิญปัญหาด้านอื่นๆ เช่น ขาดความรู้ในเทคโนโลยีใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ขาดการวางแผนการผลิตและการจัดการที่ดี ขาดทักษะด้านการบริหารจัดการกลุ่ม ขาดความรู้ด้านการตลาดและช่องทางจำหน่าย เป็นต้น ส่งผลให้ขายผลผลิตได้ในราคาต่ำและรายได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หนึ่งในแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือการเปลี่ยนการเกษตรแบบดั่งเดิม เป็นการเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและใช้เทคโนโลยี เพื่อให้ผลิตได้อย่างแม่นยำ โดยใช้ทรัพยากรที่ประหยัด เป็น เกษตรกรแบบผู้ประกอบการเบ็ดเสร็จโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Farmer as merchant with digital technology) ซึ่งปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐ มหาวิทยาลัย และบริษัทเอกชน ได้พัฒนาโมบายแอพพลิเคชั่น ด้านการเกษตรเพื่อเป็นเครื่องมือช่วยเกษตรกรรุ่นใหม่ ใช้ในการบริหารจัดการตั้งแต่การจัดการแปลงปลูก การดูแลฟาร์มทั้งพืช ประมง และปศุสัตว์ ไปจนถึงการตลาดหรือการค้าขายออนไลน์ เป็นต้น ดังนั้น เกษตรกรรุ่นใหม่ควรพัฒนาตนเองผ่านการแบ่งปันข้อมูลจากภาครัฐและเอกชน รวมทั้งเพิ่มความตระหนักต่อการใช้ข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจและการทำการเกษตรกรรม โดยในหัวข้อนี้ผู้เขียนของนำเสนอ แอพพลิเคชั่นที่ภาครัฐและภาคเอกชนได้พัฒนาเพื่อช่วยให้เกษตรกรใช้ประกอบการวางแผน การปลูกไปจนถึงการวางจำหน่วยสินค้าบนตลาดออนไลน์ ดังต่อไปนี้

สำรวจดิน บริหารจัดการ ปุ๋ย และน้ำ ด้วยแอพพลิเคชั่น

เกษตรกรสามารถสำรวจความสมบูรณ์ของดิน โดยการสืบค้นข้อมูลชุดดินของที่ดินตนเองได้จากแอพพลิเคชั่น LDD Soil Guide หรือ “กดดูรู้ดิน” ของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อให้เกษตรกรทราบถึงชุดดิน ของตนเองสำหรับเป็นข้อมูลขั้นต้นในการวางแผนการปลูกและปรับปรุงดินเพื่อให้มีความเหมาะสมต่อการปลูกพืช

การให้ปุ๋ยที่เหมาะสมต่อความต้องการของพืชนั้นสามารถช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนการเพาะปลูก และยังช่วยให้พืชมีความสมบูรณ์ โดยเกษตรกรสามารถสืบค้นความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิดได้ จากข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐ เช่น เอกสารวิชาการเรื่องคำแนะนำการใช้ปุ๋ยพืชเศรษฐกิจของ กรมวิชาการเกษตร และคำแนะนำการใช้ปุ๋ยสั่งตัดสำหรับพืชเศรษฐกิจ ของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร เมื่อเราทราบถึงความต้องการธาตุอาหารที่พืชต้องการแล้วเราสามารถใช้โปรแกรม คำนวณปุ๋ยเพื่อผสมปุ๋ยเคมีใช้เองได้จาก แอพพลิเคชั่น คำนวณผสมปุ๋ย ของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เป็นต้น

น้ำถือเป็นปัจจัยหลักในการปลูกพืช เกษตรกรสามารถดูปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยใน 25 ลุ่มน้ำหลัก ได้จากเว็บไซต์ฝ่ายสารสนเทศและพยากรณ์น้ำ กรมชลประทาน และสามารถดูรายงานสถานการณ์น้ำประจำวันได้ที่ แอพพลิเคชั่น WMSC ของกรมชลประทาน เกษตรกรยังสามารถตรวจสอบสภาพภูมิอากาศได้จาก แอพพลิเคชั่น TMD SmartSim และ Thai Weather ของกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถวางแผนการจัดการแปลงได้ดียิ่งขึ้น

อีกหนึ่งแอพพลิเคชั่น ที่ภาครัฐได้บูรณาการข้อมูลทางการเกษตรจากหลายหน่วยงาน คือ Agri-Map ซึ่งให้บริการข้อมูลแก่เกษตรกรเกี่ยวกับชนิดของพืชที่ควรปลูกในแต่ละพื้นที่ ข้อมูลทรัพยากรพื้นฐานการผลิต เช่น ดิน น้ำ พืช และ ข้อมูลด้านการตลาดรวมถึงตำแหน่งตลาดและสหกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง เป็นต้น

ทำการตลาดออนไลน์ด้วยแอพพลิเคชั่น

ช่องทางตลาดสินค้าเกษตรออนไลน์ ภาครัฐและภาคเอกชน ได้เปิดช่องทางจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้กับเกษตรกรสามารถขายสินค้าให้กับผู้บริโภคได้โดยตรง เช่น เว็บไซต์ตลาดกลางสินค้าทางการเกษตร เว็บไซต์องค์การตลาดเพื่อการเกษตร ของกระทรวงเกษตรและสหรกรณ์ เว็บไซต์ kasetin-c ของกระทรวงพาณิชย์ และเว็บไซต์สบายมาร์เก็ตของดีแทค เป็นต้นุ

เทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ Internet of things (IoT)

ปัจจุบันภาคการเกษตรได้เริ่มนำเซ็นเซอร์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการผลิต โดยองค์ประกอบระบบเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farm จะประกอบไปด้วย เซ็นเซอร์ บอร์ดที่ทำหน้าที่เป็น Wireless Lan และ โปรแกรมหรือระบบงานที่เป็น Software หรือ Application ศูนย์เทคโนโลยีไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (TMEC) ได้พัฒนาเซ็นเซอร์ด้านการเกษตร เช่น เซ็นเซอร์วัดความชื้น เซ็นเซอร์ความดัน (Pressure sensor) เพื่อควบคุมระบบน้ำหยด เซ็นเซอร์วัดธาตุอาหารพืช N-P-K เพื่อใช้ในระบบจ่ายปุ๋ยผ่านท่อ เป็นต้น ซึ่งการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT ในภาคการเกษตร เกษตรกรต้องมีความรู้ความเข้าใจในการเลือกใช้เซ็นเซอร์ และการเชื่อมต่อการทำงานทั้ง 3 ส่วนข้างต้น ซึ่งทาง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจทัล ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยและหน่วยงานภาครัฐ จัดอบรมและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉริยะ เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถนำเทคโนโลยีการเกษตรอัจฉจิยะ นำไปประยุกต์ใช้ได้จริง สามารถติดตามข้อมูลได้ทาง www.depa.or.th

เกษตรกรในยุค 4.0 จึงควรใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าช่วยในการวางแผนการปลูก การบริหารจัดการแปลงปลูก ผลิตสินค้าที่เน้นคุณภาพ ได้ตามมาตรฐาน สร้างมูลค่าให้กับสินค้าโดยการสร้างเรื่องราว เกี่ยวกับสินค้าให้น่าสนใจ และศึกษาเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคบนโลกอินเตอร์เน็ต เพื่อสร้างฐานลูกค้าบนตลาดออนไลน์ และก้าวสู่การเป็นเกษตรกรแบบผู้ประกอบการเบ็ดเสร็จด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Farmer as merchant with digital technology)

เทคโนโลยีหุ่นยนต์และแทรกเตอร์ไร้คนขับสำหรับเกษตรสมัยใหม่

สำหรับหัวข้อนี้จะแนะนำให้เห็นถึงช่องทางการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการเกษตรสมัยใหม่ โดยขอยกนำเสนอผลการศึกษาวิจัยและการนำเทคโนโลยีที่ดิจิทัลและหุ่นยนต์ ของประเทศญี่ปุ่น เพื่อจุดประกายให้ผู้ประกอบการด้านการเกษตรสมัยใหม่ นักวิจัย นิสิตและนักศึกษา ได้มีแนวทางต่อยอดความคิด และสามารถนำไปพัฒนาเป็นโมเดลธรุกิจต่อไป

ประเทศญี่ปุ่นเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานด้านการเกษตร โดยพบว่าเกษตรกรของประเทศญี่ปุ่นมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 66 ปี ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลและมหาวิทยาลัย จึงได้พัฒนาคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านการเกษตรโดยใช้ IoT และรถแทรกเตอร์ไร้คนขับ เพื่อช่วยทดแทนแรงงานและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการทำการเกษตรให้กับเกษตรกรรุ่นใหม่

มหาวิทยาลัยฮอกไกโด โดยห้องปฏิบัติการด้านการขับเคลื่อนหุ่นยนต์ (The Laboratory of Vehicle Robotics: VeBots) คณะเกษตร ประสบความสำเร็จในการศึกษาวิจัยการใช้งานรถแทรกเตอร์ไร้คนขับ โดยการติดตั้งเซ็นเซอร์บนรถแทรกเตอร์ซึ่งถูกควบคุมทิศทางการขับเคลื่อนด้วยระบบดาวเทียม GPS ที่ถูกสั่งการผ่านระบบคอมพิวเตอร์ โครงการนี้ได้ผ่านการทดลองในแปลงปลูกจริง ซึ่งเกษตรกรสามารถป้อนคำสั่งให้ แทรกเตอร์ไร้คนขับทำกิจกรรมอื่นๆ ในแปลง เช่น การไถ การหว่านเมล็ด การให้ปุ๋ย การกำจัดวัชพืช การพ่นยาฆ่าแมลง และการเก็บเกี่ยว เป็นต้น ซึ่งทำให้เกษตกรมีเวลามากขึ้นในการทำงานที่สำคัญอื่นๆ เช่น พัฒนาผลิตผล และหาช่องทางการตลาด เป็นต้น

ห้องปฏิบัติการ VeBots ยังได้พัฒนาระบบบริหารจัดการสำหรับการควบคุมรถแทรกเตอร์ไร้คนขับได้หลายคันในเวลาเดียวกัน โดยการใช้ระบบการสื่อสารไร้สาย (Wireless communication system) เพื่อเพิ่มผลผลิตซึ่งเชื่อมโยงกับการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งระบบการสื่อสารไร้สายด้วยดาวเทียมนั้น ถือเป็นพื้นฐานของหุ่นยนต์ด้านการเกษตร

แผนภาพการทำงานของรถแทรกเตอร์ไร้คนขับ

ที่มา : VeBots Laboratory of Vehicle Robotics Hokkaido University

จากการศึกษาวิจัยของห้องปฏิบัติการ VeBots ยังพบว่ารถแทรกเตอร์ขนาดเล็กเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากน้ำหนักที่เบาจึงทำให้เกิดแรงกดทับของชั้นผิวดินน้อย การเจริญเติบโตของพืชจึงมีความสมบูรณ์ และเกษตกรยังสามารถป้อนคำสั่งผ่านคอมพิวเตอร์ให้รถแทรกเตอร์ไร้คนขับขนาดเล็กสามารถปรับการใส่ปุ๋ย และเก็บเกี่ยวเฉพาะแปลงที่สมบูรณ์พร้อมเก็บเกี่ยว และทำงานอื่นๆ ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นเป้าหมาย ของการทำเกษตรแม่นยำ (Precision agriculture)

การทำการเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) โดยใช้ อากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicles : UVA) ร่วมกับ ภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อรวบรวมข้อมูลภูมิศาสตร์และข้อมูลภาพถ่ายมัลติสเปกตรัม(Multi spectrum) ตรวจสอบความสมบูรณ์ของพืช ซึ่งช่วยให้การทำเกษตรขนาดใหญ่ สามารถปรับการเจริญเติบโตของพืชให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม รวมถึงการให้ปุ๋ย และยาฆ่าแมลงที่เหมาะสม และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

รูป การทำงานระหว่าง UVA และ ดาวเทียม

ที่มา : VeBots Laboratory of Vehicle Robotics Hokkaido University

เทคโนโลยี Big Data เพื่อสนับสนุนเกษตรกรทั้งในปัจจุบันและอนาคต

เหตุผลที่อยู่เบื่องหลังรสชาติที่ดีของพืชผลทางการเกษตรคือธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมในการเพาะปลูกซึ่งส่งผ่านจากประสบการณ์และความรู้จากรุ่นสู่รุ่นของเกษตรกรและผู้ที่เกี่ยวข้อง ในเกาะฮอกไกโด ได้มีการรวบรวมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ Big Data ที่คำนึงถึงวิธีการเพาะปลูกที่ดีในทุกขั้นตอนที่เกี่ยวข้องในการทำการเกษตร และนำข้อมูลขนาดใหญ่มาศึกษาวิจัยเพื่อเป็นข้อมูลสนับสนุนในการทำการเกษตรของเกษตรกรชาวญี่ปุ่น

แผนภาพ Big Data เพื่อการเกษตร

ที่มา : VeBots Laboratory of Vehicle Robotics Hokkaido University

จากบทความข้างต้น เราจะเห็นได้ว่าภาคการเกษตรสมัยใหม่มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการจัดการตั้งแต่การปลูก การดูแลจัดการภายในแปลง การเก็บเกี่ยว ไปจนถึงการตลาด สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มีบทบาทภารกิจการส่งเสริม และสนับสนุน ให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และส่งเสริมให้เกิดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงของประเทศ สำนักงานฯ มีมาตรการ depa fund เพื่อส่งเสริมสนับสนุนการศึกษาวิจัยพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม มาตรการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในชนบท และมาตรการส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่ง Digital Startup ด้านธุรกิจการเกษตร รวมถึงผู้ให้บริการเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคการเกษตร (Service Provider) ที่สนใจการศึกษาวิจัยหรือสนใจพัฒนาธุรกิจและบริการ และวิสาหกิจชุมชน ที่สนใจในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมไปประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร สามารถติดตามข้อมูลข่าวสาร การฝึกอบรม แหล่งทุน และเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ได้ทางเว็บไซต์ www.depa.or.th

ดร.อภิชาติบุตร รอดยัง หัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลอาวุโส ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาการเกษตรสมัยใหม่

เอกสารอ้างอิง

1.ทีมเศรษฐกิจ (2559) ไขรหัสประเทศไทย 4.0 สร้างเศรษฐกิจใหม่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง สืบค้นเมื่อ 22 พฤษภาคม, 2561, จาก https://www.thairath.co.th/content/613903

2.Research Faculty of Agriculture Laboratory of Vehicle Robotics Hokkaido University. Agricultural Robots. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม, 2561, จาก http://vebots.bpe.agr.hokudai.ac.jp/wp-content/uploads/2017/12/english-merged.pdf

3.แม่ลูกจันทร์. (2560). แก่กว่าบาน. สืบค้นเมื่อ 8 พฤษภาคม, 2561, จาก https://www.thairath.co.th/content/1028796

4.สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร. (2555). การศึกษาสภาพครัวเรือนเกษตรยากจนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง. เอกสารวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร เลขที่ 102, น.81-83

5.กรวิทย์ ตันศรี (2560) แรงงานกับการเปลี่ยนแปลงของภาคการเกษตรไทย ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

6.กรมพัฒนาที่ดิน. LDD Soil Guide กดดูรู้ดิน. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก http://www.ldd.go.th/www/lek_web/web.jsp?id=17837

7.กรมวิชาการเกษตร (2548) เอกสารวิชาการเรื่องคำแนะนำการใช้ปุ๋ยพืชเศรษฐกิจของกรมวิชาการเกษตร7 สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก http://aglib.doa.go.th/lib/images/Downloads/2549/EB00271.pdf

8.มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. คำแนะนำการใช้ปุ๋ยสั่งตัดสำหรับพืชเศรษฐกิจ. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก http://www.ssnm.info/home

9.ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. แอพพลิเคชั่น คำนวณผสมปุ๋ย สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก https://www.nectec.or.th/innovation/innovation-mobile-application/fmc.html

10.กรมชลประทาน. ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยใน 25 ลุ่มน้ำ. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก http://water.rid.go.th/hyd/hyd_isohyetal/hyd_isohyetal.html

11.กรมชลประทาน. แอพพลิเคชั่น WMSC. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จากhttp://wmsc.rid.go.th

12.กรมอุตุนิยมวิทยา. แอพพลิเคชั่น TMD SmartSim และ Thai Weather. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก https://www.tmd.go.th

13.กระทรวงเกษตรและสหรกรณ์. เว็บไซต์องค์การตลาดเพื่อการเกษตร. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก http://www.ortorkor.com/

14.กระทรวงเกษตรและสหรกรณ์. เว็บไซต์เว็บไซต์ตลาดกลางสินค้าทางการเกษตร สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก http://www.agrimart.in.th/about-us.php

15.กระทรวงพาณิชย์. เว็บไซต์ kasetin-c. สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก http://kasetin-c.com/?SID=ij88ka6gg0hjpk33jhcvjhb8o2

16.ดีแทค. เว็บไซต์สบายมาร์เก็ตของดีเทค สืบค้นเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม, 2560, จาก https://www.sabuymarket.com/

17.Write Paper (2560). การพัฒนาเชิงดิจิทัลในภาคการเกษตร. รายงานเชิงลึกเรื่องการพัฒนาเข้าสู่เศรษฐกิจฐานดิจิทัลของประเทศไทย. หน้า 49-77