บริการ
TH
EN
TH
CN

การเตรียมความพร้อมประเทศไทยเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR)

รู้จักกับยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (4IR)

ในปัจจุบัน ทั่วโลกได้ให้ความสำคัญกับการยกระดับโครงสร้างเศรษฐกิจเข้าสู่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Fourth Industrial Revolution: 4IR) โดยที่แนวคิดปฏิวัติอุตสาหกรรมด้วยเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือในการพัฒนาอุตสาหกรรม 3 ยุคก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นยุคเครื่องจักรไอน้ำ (1784) ยุคการผลิตไฟฟ้าและเครื่องจักรอุตสาหกรรม (1870) ยุคคอมพิวเตอร์ (1969) นั้นใช้เวลาพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีเป็นร้อยปีกว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงอุตสาหกรรมครั้งใหญ่ แต่ในยุค 4IR นี้ เครื่องจักร ซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ มนุษย์ และสิ่งแวดล้อม จะเชื่อมต่อกันหมดด้วยเซ็นเซอร์ และข้อมูล โดยมีอัตราเร่งของการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆที่สูงมากในระดับเท่าทวีคูณ

โดยในยุคนี้ มีนวัตกรรมเทคโนโลยีสำคัญสำหรับภาคอุตสาหกรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น 3D Printing, Internet of Things and Connected Device, Cloud and Data Analytics, Artificial Intelligence, Robotics and Drones, Autonomous Vehicles, Augmented Reality/ Virtual Reality, Blockchain, Simulation Technology และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ ผ่านระยะของการพัฒนาขั้นแรกมาแล้ว สามารถนำไปใช้เพื่อ “disrupt” หรือฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจได้ รวมถึงมีราคาถูกลงเรื่อยๆ จนการนำไปใช้ไม่เป็นอุปสรรคใหญ่อีกต่อไป โลกสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด หรือประยุกต์ใช้ได้

โดยปรากฎการณ์การพัฒนาทางเทคโนโลยีนี้ มีนัยยะสำคัญต่อภาคอุตสาหกรรมเป็นอย่างยิ่ง เพราะทำให้เกิดความผลิกผันทางธุรกิจ (disruption) มากมายอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน จะเห็นได้ว่าแม้แต่ธุรกิจยักษ์ใหญ่ของโลก ตัวอย่างที่ทุกคนรู้จัก เช่น Kodak, Xerox, Nokia ก็ปรับตัวไม่ทันจนสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน และท้ายที่สุดเป็นผู้แพ้มาแล้ว อย่างไรก็ตาม จุดเด่นของยุค 4IR คือ สำหรับธุรกิจเดิมในภาคอุตสาหกรรมหรือธุรกิจเกิดใหม่ ที่มีความสามารถในการเรียนรู้ และปรับตัว จะสามารถใช้นวัตกรรม และเครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆที่กล่าวมาแล้วเป็นคานงัด สำหรับเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน ลดความผิดพลาด ลดแรงงานมนุษย์ เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก ไปจนถึงการ ผลิตสินค้า บริการ และโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ตัวอย่างเช่น การใช้ 3D Printing และการ Co-Creation ของนักออกแบบสามารถลดเวลาการออกแบบผลิตภัณฑ์จากปีเป็นเดือนหรือวันได้; การใช้ Internet of Things, Big Data, และ AI ผสมผสานเป็นระบบอัตโนมัติที่เชื่อมโยงถึงกันหมดทำให้ ทำให้สามารถใช้ทรัพยากรร่วมกัน และเชื่อมข้อมูลแบบ Real-time เพื่อผลิตสินค้าในแบบ Custom Manufacturing และการเชื่อม Supply Chain ทั่วโลกในราคาที่เป็นไปได้ ตลอดจนถึงสร้างความสามารถในการคาดการณ์ และช่วยตัดสินใจในกระบวนการผลิตได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว มากขึ้น; หรือ การใช้ Robots, Drones, และ AI เพื่อช่วยลดแรงงานมนุษย์ในโรงงานทำให้มนุษย์สามารถไปทำงานที่เบาขึ้น ถูกต้องมากขึ้น และปลอดภัยขึ้นได้ ซึ่งแอพพลิเคชันของเทคโนโลยีเรียกได้ว่าไร้ขีดจำกัด ขึ้นอยู่กับว่าธุรกิจจะสามารถปรับตัว และฉกฉวยโอกาสที่มากับเทคโนโลยีได้หรือไม่เท่านั้นเอง

ประเทศไทยในยุค 4IR

สำหรับประเทศไทย ในการแถลงตัวเลขมูลค่าทางเศรษฐกิจล่าสุดของสภาพัฒน์ฯ ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศปีที่ผ่านมาอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท เติบโตร้อยละ 4.1 โดยมีสัดส่วนจีดีพีของภาคอุตสาหกรรมการผลิตอยู่ถึง ร้อยละ 26.9 จึงจะเห็นได้ว่า ภาคการผลิตเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุดของประเทศตัวหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าภาคธุรกิจไทยจะมีความแข็งแกร่งเป็นพื้นฐาน แต่ธุรกิจเหล่านี้จะไม่สามารถรักษาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ หากไม่สามารถปรับตัวตามเทคโนโลยีไห้ทัน ยังผลิตด้วยวิธีการแบบเดิม ไม่เพิ่มมูลค่าด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ไม่สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากข้อมูล (Big Data) ไม่สามารถเชื่อมโยง Supply Chain ในประเทศ กับ Supply Chain ของโลกและไม่มีกำลังคนในภาคการผลิตที่พร้อมเข้าสู่ยุค 4IR ซึ่งประเด็นความท้าท้ายเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลไทยตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแบบรวดเร็วรุนแรงที่เกิดขึ้นทั่วโลก และจะส่งผลงต่อประเทศไทยในระยะยาว ในเชิงนโยบาย รัฐบาลได้กำหนด อุตสาหกรรมเป้าหมาย 10 อุตสาหกรรม ทั้ง S-Curve และ New S-Curve โดยมีสาขาการผลิตสำคัญคือ ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ การบินและโลจิสติกส์ เกษตรและแปรรูปอาหาร เชื้อเพลิงและชีวภาค และอุตสาหกรรมดิจิทัล ซึ่งทั้งหมดนี้จะต้องเร่งนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการปรับตัว เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศทั้งในระยะสั้น กลาง ยาว ส่วนในเชิงการแปลงนโยบายไปสู่การปฏิบัติ เพื่อรองรับการเข้าสู่ยุค 4IR รัฐบาลมีการดำเนินการเร่งด่วนใน 3-4 โครงการ/ ด้าน ตัวอย่างเช่น

  1. โครงการเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล Digital Park Thailand ในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ ได้รับการออกแบบให้เป็นศูนย์กลางเทคโนโลยีดิจิทัล และโลจิสติกส์ของภูมิภาคอาเซียน โดย Digital Park Thailand นี้ ได้ให้สิทธิประโยชน์การลงทุนที่สูงที่สุดในเอเชีย คือยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงสุด 13 ปี สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รวมถึงอุตสาหกรรมดิจิทัลที่เป็นตัวเร่งปฏิกริยาการปรับเปลี่ยนภาคการผลิตของไทยเข้าสู่ยุค 4.0

  2. โครงการ Thailand Digital Valley เป็นโครงการเร่งด่วนสร้างแรงจูงใจ สร้างความเชื่อมั่น ให้เกิดการลงทุนด้านดิจิทัลใน Digital Park Thailand โดยจะพัฒนาระบบนิเวศน์ที่เชื่อมบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่ของโลก และดิจิทัลสตาร์ทอัพด้าน FinTech, AgriTech, TourismTech, HealthTech, EdTech, GovTech ที่จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมีทำงานใกล้ชิดกับเจ้าของเทคโนโลยีของโลก ยิ่งไปกว่านั้น Thailand Digital Valley ยังเป็นสนามบ่มเพาะทางเทคโนโลยี IoT, Big Data, AI, Robotics, AR/ VR, และ 5G โดยโครงการมีพื้นที่ประมาณ 30 ไร่ และอยู่ระหว่างการก่อสร้างเฟสที่ 1 และถือว่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศเพื่อรองรับ 4IR

  3. โครงการพัฒนากำลังคนดิจิทัลที่ยังคงเป็นจุดอ่อน (ของทั่วโลก และประเทศไทย) ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยในปีที่ผ่านมา ในพื้นที่ EEC ได้มีการจัดตั้ง Digital Academy Thailand ขึ้นจากการรวมพลังภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเร่งพัฒนาทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐาน ขั้นกลาง ขั้นสูง ให้กับกำลังคนในพื้นที่เพื่อปรับเปลี่ยนธุรกิจ (โรงงาน) เข้าสู่ยุค 4.0 โดยมีกลุ่มเป้าหมาย 3 กลุ่มคือ หนึ่ง กลุ่ม New Skill หรือการสร้างนักศึกษาจบใหม่ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน เทคโนโลยี 4IR (IoT, Big Data, AI, Robotics, AR/ VR) สอง กลุ่ม Up-Skill หรือการเพิ่มทักษะดิจิทัลขั้นสูงให้กับกลุ่มกำลังคนดิจิทัลที่เป็นผู้ทำงานด้านดิจิทัลอยู่แล้ว เพื่อให้มีทักษะเพียงพอต่อการนำภาคธุรกิจไปสู่การเปลี่ยนแปลงให้ทันกับยุค 4.0 และสาม กลุ่ม Re-Skill หรือการเพิ่มทักษะดิจิทัลให้กับแรงงานและกำลังคนสาขาอื่น เพื่อให้สามารถปรับมาทำงานด้านดิจิทัลได้

  4. อีกประเด็นที่สำคัญคือ สืบเนื่องจากการเป็นประธานอาเซียนในปีนี้ ประเทศไทยไทยได้ผลักดันให้อาเซียนกำหนดแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ยุค 4IR ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมในประเด็นการพัฒนานวัตกรรม 4IR, การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีของ SME และการพัฒนากำลังคน ซึ่งแม้ว่า ประเทศสมาชิกอาเซียนแต่ละประเทศมีความพร้อมในการรับมือกับ 4IR ในระดับที่แตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลและนโยบายที่รองรับทิศทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอนาคต แต่จัดว่าเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพสูง GDP รวมเกือบ 2.8 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2560 และเติบโตเฉลี่ยปีละ 5.3% จัดเป็นเศรษฐกิจรายใหญ่อันดับที่ 6 ของโลก และมีประชากรรวมกว่า 630 ล้านคน ซึ่งในนั้น มีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประจำประมาณ 260 ล้านคน นอกจากนี้ การพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง มีอัตราผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น 3 เท่าใน 10 ปี มีการใช้สมาร์ทโฟนเพิ่มขึ้นแบบเท่าทวีคูณ และเริ่มใช้เทคโนโนโลยี 4IR เช่นข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ และหุ่นยนต์ในภาคอุตสาหกรรม และอาเซียนยังเป็นตลาดใหญ่ที่มีการลงทุนสูงในธุรกิจสตาร์ทอัพ Startup โลกอีกด้วย

กล่าวโดยสรุป 4IR นั้นถือเป็นทั้งโอกาส และความท้าทายครั้งใหญ่ของประเทศไทย ถ้าหากประเทศไทยสามารถปรับตัวพัฒนา และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีใหม่เพื่อเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างฉลาก 4IR อาจทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางที่เป็นอยู่ แต่หากประเทศไทย (โดยภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา) ไม่สามารถปรับตัวรองรับ 4IR ก็จะสูญเสียความสามารถในการแข่งขัน เป็นผู้แก้ไปในที่สุด

ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์ฅ | สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล