อุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญของประเทศไทย และเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ซึ่งแหล่งพื้นที่เพาะปลูกลำไยสำคัญในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ และเชียงราย ลำไยอบแห้งถือเป็นสินค้าของฝาก ของที่ระลึกที่เป็นสัญลักษณ์สำหรับ การท่องเที่ยวของภาคเหนือ นักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างประเทศให้ความชื่นชอบและหาซื้อลำไยอบแห้งจากแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั้งยังเป็นสินค้าส่งออกที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยอีกด้วย โดยมีประเทศจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญของลำไยอบแห้งจากประเทศไทย ในปี2563 ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกลำไยอบแห้ง 155,736 ตัน มูลค่า 7,079 ล้านบาท (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2563) จากสภาวะการแข่งขันทางการตลาดและการเข้มงวดการนำเข้าสินค้าลำไยอบแห้งของประเทศจีน ทำให้ธุรกิจอุตสาหกรรมลำไยอบแห้งต้องพัฒนาศักยภาพและคุณภาพของสินค้าให้ได้มาตรฐาน ดังนั้นการนำระบบเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาบริหารจัดการในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมลำไยอบแห้งเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้จึงมีส่วนสำคัญอย่างมากในการยกระดับการแข่งขันทางการตลาด
ในกระบวนการผลิตลำไยอบแห้ง มีขั้นตอนที่สำคัญ 2 ส่วน ซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลสามารถเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิตเพื่อลดต้นทุน เพิ่มโอกาสในการแข่งขันและยกระดับคุณภาพของการผลิตสินค้า ได้แก่
กระบวนการอบแห้งของห้องอบ ในปัจจุบันทุกโรงงานยังคงใช้แรงงานคนในการควบคุมคุณภาพ การผลิต ซึ่งทำให้เกิดความสูญเสียพลังงานไฟฟ้าและความร้อนที่สูญเปล่ามากเกินความจำเป็น หากโรงงาน มีการจัดการควบคุมที่ดี จะสามารถช่วยลดการใช้พลังงาน ลดเวลาในการอบ ทั้งยังจะสามารถได้รอบการผลิตที่เพิ่มขึ้น และทำให้ลำไยอบแห้งที่ได้มีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดอีกด้วย
เทคโนโลยี Internet of Things จะมี Sensor node ต่าง ๆ ที่ใช้ในห้องอบลำไย รวมกันเป็น wireless sensor network (WSN) เพื่อให้อุปกรณ์ต่าง ๆ สามารถเชื่อมต่อการทำงานกัน เกิดความสัมพันธ์ทั้งระบบ สำหรับ Sensor node ที่ใช้วัดค่าจะประกอบด้วยอุปกรณ์วัดอุณหภูมิ ความชื้น และเวลา โดยมีการเก็บบันทึกค่าที่ได้ส่งออกไปยังระบบประมวลผลที่ใช้ลอการิทึมที่สร้างขึ้นมาโดยเฉพาะ เพื่อหาสภาวะที่เกิดประสิทธิภาพการผลิตลำไยอบแห้งที่ดีที่สุดของแต่ละห้องอบ
รูปแบบการเชื่อมต่อภายในทั้งระบบจะเป็นแบบ WLAN IEEE 802.11™ (Wi-Fi) ทำให้การติดตั้งอุปกรณ์และการเชื่อมต่อกันในระบบสามารถทำได้สะดวกขึ้น ในส่วนการสร้างรายงานข้อมูลและการวิเคราะห์ (Information and Analysis) จะมีการแสดงผลทางออนไลน์ ช่วยให้ผู้ปฏิบัติงานและเจ้าของกิจการ สามารถทราบข้อมูลได้ตลอดเวลา ซึ่งจะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจและสามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนการผลิตได้
ภาพที่ 1 : อุปกรณ์และการเชื่อมโยงของระบบ
ที่มา: โครงการระบบบริหารจัดการกระบวนการอบแห้งในอุตสาหกรรมแปรรูปลำไย ของ
บริษัท ปิยะมงคล เค.บี.เอเชี่ยนฟรุ๊ต จำกัด
ระบบแสดงผลรวมของอุปกรณ์และการทำงานในห้องอบ (Dashboard)
เป็นการแสดงภาพรวมของอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องอบ และการแจ้งเตือนที่เกิดขึ้น เช่น แสดงข้อมูลและจำนวนของห้องอบที่กำลังทำงาน แสดงห้องอบที่ยังว่างและแสดงอุณหภูมิ ความชื้น ภายในห้องอบ เพื่อใช้สำหรับการควบคุมและตรวจสอบ ผ่านทางโทรศัพท์มือถือของผู้ปฏิบัติงาน และเจ้าของกิจการที่อยู่นอกพื้นที่โรงงานได้ทราบข้อมูลการทำงานของทั้งระบบ
ภาพที่2 : หน้าสรุปสถานะการทำงาน (Dash Board)
ที่มา: โครงการระบบบริหารจัดการกระบวนการอบแห้งในอุตสาหกรรมแปรรูปลำไย ของ
บริษัท ปิยะมงคล เค.บี.เอเชี่ยนฟรุ๊ต จำกัด
ภาพที่ 3 : รายงานสถานะของอุปกรณ์ อุณหภูมิ ความชื้นของการอบแต่ละรอบ
ที่มา: โครงการระบบบริหารจัดการกระบวนการอบแห้งในอุตสาหกรรมแปรรูปลำไย ของ
บริษัท ปิยะมงคล เค.บี.เอเชี่ยนฟรุ๊ต จำกัด
กระบวนการคัดแยกลำไยอบแห้งที่มีลักษณะบุบ แตก และมีลักษณะที่ไม่ดี ซึ่งก่อนการคัดแยก จะมีลำไยอบแห้งที่เสียปนมาประมาณ 5–15% ของลำไยอบแห้งที่ดี หากโรงงานมีการจัดการที่ดี จะทำให้ลำไยอบแห้งที่คัดลงในกล่องได้คุณภาพมาตรฐานเป็นที่ยอมรับ จะสามารถแข่งขันราคาตลาดได้ในราคาที่สูงขึ้น แต่ในปัจจุบันกระบวนการนี้ทุกโรงงานยังต้องใช้แรงงานคนที่มีทักษะสูงในการคัดแยกลำไยอบแห้ง ซึ่งการใช้แรงงานคนนั้นก่อให้เกิดปัญหาหลาย ๆ ด้านที่ทุกโรงงานต้องประสบ เช่น การแย่งแรงงานช่วงฤดูกาลผลิตทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงาน มีการตัดราคาค่าแรงเพื่อให้ได้แรงงานทักษะสูงหรือผู้ที่มีประสบการณ์ แรงงานที่มีอยู่ไม่มีประสิทธิภาพตามที่โรงงานต้องการทำให้ไม่สามารถเร่งกำลังผลิตได้ในช่วงฤดูกาลผลิตที่มีระยะเวลาจำกัดได้ เป็นต้น
จากปัญหาดังกล่าว จึงมีการปรับปรุงและพัฒนากระบวนการผลิตในขั้นตอนการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง โดยนำเทคโนโลยี Machine Vision มาใช้ในขั้นตอนการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง และการประมวลผล ด้วยวิธีการของ Machine learning ที่นำมาใช้ร่วมกับงานออกแบบเครื่องจักรกลในอุตสาหกรรมลำไยอบแห้ง เพื่อสร้างเครื่องคัดคุณภาพลำไยอบแห้งแบบอัตโนมัติที่สามารถนำลำไยอบแห้งที่เสียออกจากลำไยอบแห้ง ที่มีคุณภาพดีเพื่อแทนการใช้แรงงานทักษะสูง ลดปัญหาการขาดแคลนทางด้านแรงงาน ทั้งยังเพิ่มกำลัง การผลิต เพิ่มคุณภาพและมูลค่าสินค้า ซึ่งประโยชน์นี้ยังส่งผลให้ธุรกิจสามารถลดต้นทุนและเกิดประโยชน์ ในการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีกับกลุ่มอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าลำไยอบแห้งอีกด้วย
ภาพที่ 4 : แผนภาพการเชื่อมโยงของระบบเครื่องคัดคุณภาพลำไยอบแห้งอัตโนมัติ
ที่มา: การประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Predictive Machine Vision ในการคัดคุณภาพลำไยอบแห้ง สำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปลำไยอบแห้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ลำพูนดีเอสฟู๊ด
ภาพที่ 5 : เครื่องคัดลำไยอบแห้งสำหรับอุตสาหกรรมแปรรูปลำไยอบแห้งห้างหุ้นส่วนจำกัด ลำพูนดีเอสฟู๊ด
ที่มา: โครงการระบบบริหารจัดการกระบวนการอบแห้งในอุตสาหกรรมแปรรูปลำไย ของ
บริษัท ปิยะมงคล เค.บี.เอเชี่ยนฟรุ๊ต จำกัด
โดยนางภัคภร กาญจนสกุล
สาขาภาคเหนือตอนบน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก :