ในกลุ่มเกษตรกรปัจจุบันเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น คือ อากาศยานไร้คนขับ หรือที่รู้จักกันในชื่อ โดรน (Drone) ซึ่งได้มีการนำมาใช้ประโยชน์ในภาคการเกษตร โดยในภาคการเกษตรนั้น จะแบ่งการใช้งานได้เป็น 2 ประเภทคือ 1. ใช้ในการสำรวจ วางแผนและถ่ายภาพแปลงเพาะปลูก เพื่อสังเกตการเจริญเติบโตและอาการผิดปกติของพืช และ 2. ใช้ในการทุ่นแรง เช่น การหว่านเมล็ดพืช ฉีดพ่นปุ๋ย และสารกำจัดศัตรูพืช ซึ่งในบทความนี้เราจะกล่าวถึงโดรนประเภทที่สองเป็นหลัก
อย่างที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่มีจุดเด่นเรื่องเกษตรกรรม ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เราจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีโดรน เพื่อการทำงานที่รวดเร็ว สะดวกและได้ประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จากข้อมูลของ Grand View Research พบว่าการเติบโตของรายได้จากการใช้เทคโนโลยีโดรนทั่วโลก ในปี 2562 สามารถสร้างรายได้มากกว่า 600 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา และมีแนวโน้มสูงขึ้นเป็น 4,000 ล้านเหรียญในปี 2567 หรือมากกว่า 6 เท่า ในอีก 5 ปี
ทั้งนี้ ยังมีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องแรงงานไทยกับภาคการเกษตรพบว่า ในปัจจุบันแรงงานไทยรุ่นใหม่เห็นว่าอาชีพเกษตรกรรมเป็นงานหนักและมีความยากลำบาก ทำให้ขาดคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงาน จึงมีแรงงานไม่เพียงพอต่อกระบวนการผลิต นอกจากนั้น วิธีการฉีดพ่นปุ๋ยแบบเก่าที่ต้องแบกเครื่องใส่ปุ๋ยไว้ข้างหลังหรือข้างลำตัว เป็นเรื่องที่ยากลำบากแก่ตัวเกษตรกรโดยเฉพาะหากต้องฉีดพ่นเป็นบริเวณกว้าง ซึ่งส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว เป็นที่มาของอาการปวดหลังหรือปวดตามอวัยวะต่าง ๆ นอกจากนั้นเกษตรกรยังต้องเสี่ยงกับการสัมผัสกับสารเคมีโดยตรงอีกด้วย การทำเกษตรแบบเก่าจึงใช้กำลังคนและเวลามาก ทำให้ผลผลิตไม่ทันกับความต้องการของตลาด เทคโนโลยีโดรนจึงมีความสำคัญมาก ที่จะมาช่วยแก้ปัญหาในพื้นที่เกษตรกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาพที่ 1 อากาศยานไร้คนขับ ปี 2563 ที่มา: สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
เกษตรกรหลายท่านอาจมีคำถามถึงสาเหตุและความจำเป็นของการลงทุนในเทคโนโลยีโดรน สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล จึงขอชี้ให้เห็นถึงข้อดี เพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการตัดสินใจดังนี้
แม้ว่าเกษตรกรจะต้องมีการลงทุนใช้เทคโนโลยี แต่เมื่อเทียบกับการทำเกษตรแบบเดิมแล้ว ผลลัพธ์ที่ได้จากการใช้โดรนจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลา และเพิ่มผลิตผล แถมมีความแม่นยำมากกว่า
เพื่อให้ง่ายต่อการใช้งานโดรน จึงมีแอปพลิเคชันสำหรับนักบินโดรนสำหรับการตั้งค่าการใช้งานฟังก์ชันของ โดรน โดยระหว่างการใช้งานโดรนนั้นผู้ใช้สามารถมองเห็นภาพแบบ real-time อีกทั้งแอปพลิเคชันสามารถตรวจสอบและแจ้งปริมาณน้ำคงเหลือในถัง บอกค่าปริมาณแบตเตอร์รี่/ความสูง/ความเร็ว ระบบควบคุมแม่นยําสูง มี GPS คู่ ระบบวาดแปลนตามภาพถ่ายดาวเทียม เรดาร์กันชนด้านหน้าเพื่อหลบหลีกสิ่งกีดขวาง เป็นต้น
ภาพที่ 2 แอปพลิเคชันสำหรับนักบินโดรน ปี 2563 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
กรณีศึกษา จากวิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนยะลา (บ้านบาตูปูเต๊ะ) ตำบลบ้านแหร อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีโดรนการเกษตร ซึ่งเป็นโครงการต้นแบบในปีงบประมาณ 2563 ที่ประสบความสำเร็จจากการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในชุมชน และผ่านการคัดกรองจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล วิสาหกิจชุมชนพัฒนาคุณภาพทุเรียนยะลาเป็นการรวมตัวของเกษตรกรชาวสวนทุเรียนแปลงใหญ่ของสมาชิกและเครือข่าย มีพื้นที่กว่าประมาณ 5,000 ไร่ โดยพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา เนินเขาและป่าไม้ โดยก่อนการใช้งานเทคโนโลยีโดรน ทางวิสาหกิจชุมชนต้องประสบปัญหาหลายอย่าง เช่น ภูมิศาสตร์พื้นที่ปลูกเป็นพื้นที่เชิงเขาทำให้เป็นอุปสรรคต่อเกษตรกรที่ต้องฉีดพ่นผลผลิต การขาดแคลนแรงงาน ปัญหาในเรื่องของโรคและแมลงศัตรูพืช ที่ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดความเสียหาย และส่งผลให้ผลผลิตทุเรียนไม่ได้คุณภาพ ทำให้เกษตรกรไม่สามารถทำราคาได้ ในแต่ละปีผลผลิตเกิดความเสียหายมากถึง 40% ของผลผลิตต่อแปลง ผลผลิตที่มีคุณภาพดีสามารถส่งออกได้เพียงประมาณ 50% นั้น ส่วนที่เหลือตกไซส์ จึงจำหน่ายได้แค่ในประเทศ และยังเกิดปัญหาสุขภาพจากการแบกถังปุ๋ยและสารเคมีตามมาอีกด้วย เพื่อเป็นการแก้ปัญหาและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ทางเกษตรกรได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีโดรน เนื่องจากสามารถลดต้นทุนการผลิต ประหยัดเวลา และประหยัดการใช้แรงงานคนท่ามกลางภาวะที่แรงงานภาคเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวลดลง
ประธานวิสาหกิจชุมชนกล่าวว่า การนําโดรนเข้ามาประยุกต์ใช้ในการฉีดพ่นต่าง ๆ ช่วยรักษาโรคพืชให้เข้าตรงจุดและแม่นยํามากขึ้น โดยโดรน 1 ลำ สามารถฉีดพ่นพืชในตระกูลพืชไร่ได้จำนวน 100-200 ไร่ต่อวัน ซึ่งใช้แรงงานมาควบคุมโดรนเพียงแค่ 1-2 คน เท่านั้น ขณะที่เมื่อก่อนเทียบกับแรงงานคนอย่างเดียวอาจต้องใช้คน 10-20 คน โดรนสามารถลดต้นทุนการผลิตและการดำเนินงาน ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ต่อเดือน และยังสามารถเพิ่มรายได้จากการรับบริการเช่าบินโดรนเพื่อพ่นปุ๋ยและยาแก่สมาชิกและเครือข่ายโดยรอบ ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนสามารถส่งออกทุเรียนไปยังต่างประเทศได้มากยิ่งขึ้นเนื่องจากการใช้โดรนทำให้ผลผลิตมีคุณภาพที่ดีและมีปริมาณที่มากขึ้น จากก่อนใช้เทคโนโลยีผลผลิตมี 1,000 ตัน และหลังใช้เพิ่มขึ้นเป็น 2,700 ตัน นอกจากนั้น ผลผลิตทุเรียนคุณภาพเกรด A และ B มีปริมาณมากขึ้นจากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 80 นอกจากนี้ การใช้โดรนเพื่อการเกษตรยังช่วยลดการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่เกษตรกรอาจได้รับทั้งการสัมผัสและสูดดมขณะฉีดพ่น ทำให้เกษตรกรมีสุขภาพที่ดีขึ้นในระยะยาว
ภาพที่ 3 การบินโดรนในสวนทุเรียนที่ธารโต ปี 2564 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
ข้อควรคำนึงถึงอีกข้อ หากสนใจในเทคโนโลยีโดรน คือ ผู้ที่สนใจจำเป็นต้องศึกษากฎหมายอย่างถี่ถ้วน เช่น การขึ้นทะเบียนโดรน ซึ่งจะต้องมีการขอใบอนุญาตการบินที่สำนักงานการบินพลเรือน และขอขึ้นทะเบียนโดรนที่ สำนักงาน กสทช. โดยสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมจากประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่อง หลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก พ.ศ. 2558 เพื่อประโยชน์ในการใช้งานอย่างถูกกฎหมาย
เทคโนโลยีโดรนเพื่อการเกษตรจากที่ได้มีการศึกษา ถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่ากว่าวิธีการแบบดั้งเดิม อีกทั้งเทคโนโลยีและราคาจำหน่ายโดรนในอนาคตที่จะถูกลงเรื่อย ๆ ก็จะทำให้ต้นทุนเทคโนโลยีมีราคาถูกลงตามไปด้วย ทั้งประโยชน์ที่ช่วยลดเวลาการทำงาน เพิ่มรายได้ สะดวก ปลอดภัย ลดการฟุ้งกระจายที่เกิดอันตรายต่อเกษตรกรที่ได้จะได้สัมผัสสารเคมีเหล่านั้นเข้าไป การนำเอาเทคโนโลยีเข้าไปประยุกต์ใช้ในการเกษตรกรรมถือเป็นการแบ่งเบาภาระงานแก่เกษตรกร เพื่อก้าวสู่การเป็นสมาร์ทฟาร์มเมอร์ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร และเพื่อให้สอดคล้องกับยุคไทยแลนด์ 4.0 ตามที่รัฐบาลได้วางแนวทางไว้ เพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรไทยสู่ตลาดต่างประเทศ
ศารีญ่า เบ็ญอาหลียรติ
สาขาภาคอีสานตอนกลาง
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก:
รายละเอียดข้อเสนอโครงการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) โครงการ โดรนเกษตรวิถีใหม่พัฒนาคุณภาพทุเรียนจังหวัดยะลา