ประเทศไทยมีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมาก โดยจากผลสำรวจปี 2563 พบว่า จำนวนประชากรเกินครึ่งของประเทศไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ต 48.59 ล้านคน (ร้อยละ 69.5 ของประชากร) และหากดูจำนวนผู้ใช้ Social Media พบว่า 3 อันดับแรกคือ Google Youtube และ Facebook จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้ว่าคนไทยมีการใช้อินเทอร์เน็ตเป็นจำนวนมากในการเป็นสื่อกลางในการรับข่าวสาร ความบันเทิง หรือใช้ในการสื่อสารพูดคุยกันระหว่างเพื่อน เพื่อนร่วมงาน หรือคนในครอบครัว อาจเป็นเพราะโลกในปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลได้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว การดำเนินชีวิตในสังคมก็เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่น เมื่อก่อนใช้เงินสดในการซื้อขาย/ แลกเปลี่ยนสินค้า แต่ในปัจจุบันโทรศัพท์มือถือเพียงหนึ่งเครื่องก็สามารถดำเนินในชีวิตประจำวันได้หลายอย่าง ขอเพียงแค่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ไม่ว่าจะเป็นการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชันที่มีอยู่ในโทรศัพท์มือถือ การฟังเพลง ดูละครโทรทัศน์ ทั้งถ่ายทอดสดและย้อนหลังก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนทุกคนต้องรีบมาดูละครทางโทรทัศน์ตามเวลาที่กำหนด จะเห็นได้ว่า โลกปัจจุบันนี้มีความสะดวกสบาย และรวดเร็วเป็นอย่างมาก แต่ในขณะเดียวกัน โลกออนไลน์ หรือสังคมออนไลน์ก็มีข้อเสียด้วยเช่นกัน กล่าวคือ การที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และมีการแชร์ข้อมูลกันอย่างรวดเร็ว จนทำให้ผู้ใช้มีการเสพข่าวกันอย่างรวดเร็ว จนบางครั้งอาจขาดความระมัดระวัง ไม่ได้มีการกลั่นกรอง หรือวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อน โดยข้อมูลเนื้อหาข่าวอาจจะจริงหรือไม่จริง (ข่าวปลอม) ก็ได้
ข่าวปลอม (Fake News) คือ เนื้อหาข้อมูลที่เป็นเท็จ หลอกลวง หรือข่าวที่สร้างสถานการณ์ รวมถึงการเขียนหรือการนำเสนอข่าวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างปิดบังหรือแอบแฝง โดยมีความประสงค์เพื่อชักนำบุคคลอื่นให้มีความเชื่อในทางที่ผิด บิดเบือน และส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือหน่วยงาน
หากดูสถิติข่าวปลอมของประเทศไทย ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563-30 มิถุนายน 2564 จากศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พบว่า จำนวนผู้โพสต์ข่าวปลอม 587,039 คน และจำนวน ผู้แชร์ข่าวปลอม 20,294,635 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุระหว่าง 18-34 ปี ส่วนข้อมูลการรับแจ้งเบาะแสและติดตามการสนทนาบนโลกออนไลน์เกี่ยวกับข่าวปลอม พบว่า มีข้อความข่าวที่ต้องคัดกรองทั้งหมด 145,515,605 ข้อความ และข้อความข่าวที่เข้าเกณฑ์ดำเนินการตรวจสอบ 13,165 ข้อความ รวมทั้ง ข้อความข่าวที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 5,010 เรื่อง ซึ่งข่าวปลอมนั้น อาจเป็นได้ทั้งข่าวการเมือง ข่าวซื้อขายสินค้าออนไลน์ เศรษฐกิจ ความมั่นคงของประเทศ หรือคนดังที่มีชื่อเสียง รวมทั้ง คนรอบตัวที่เรารู้จัก นอกจากนี้ หากแบ่งประเภทแพลตฟอร์มที่พบเห็นข่าวปลอม (Fake News) พบว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่เคยเห็นข่าวปลอมจากทาง Social networks เช่น Facebook Twitter LINE คิดเป็นร้อยละ 78.4% รองลงมาได้แก่ Media sharing networks เช่น YouTube Instagram คิดเป็นร้อยละ 78.4% และ Search engines เช่น Google Bing คิดเป็นร้อยละ 72.8% ตามรูปที่ 1
รูปที่ 1 ร้อยละของผู้ตอบแบบสำรวจ จำแนกตามแพลตฟอร์มที่พบเห็นข่าวปลอม (Fake News)
ของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
อย่างไรก็ตาม หากเรามาดูการรู้เท่าทันสื่อหรือการเข้าใจดิจิทัลของประชากรในประเทศไทย พบว่า
ในปี 2562 ประเทศไทยมีคะแนนในเรื่องของการเข้าใจดิจิทัล อยู่ในระดับพื้นฐาน (คะแนน 64.5) กล่าวคือ
มีความเข้าใจทฤษฎี หลักการ แนวทางปฏิบัติ ข้อบังคับ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ข้อมูลเพื่อสื่อสารในสังคมดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพและมีจริยธรรม การใช้งานเครื่องมือดิจิทัล อินเทอร์เน็ต และมีความสามารถในการประเมินสื่อดิจิทัล ส่วนการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ อยู่ในระดับดี (คะแนน 68.1) กล่าวคือ สามารถวิเคราะห์ ประเมิน คุณค่าและผลกระทบ รวมถึงจัดระบบสื่อและสารสนเทศได้อย่างเหมาะสม ตามรูปที่ 2
ซึ่งจากผลสำรวจ ถือว่าประเทศไทยมีความรู้ มีความเข้าใจต่อเนื้อหาที่ได้เสพข่าว การใช้สื่อดิจิทัล สามารถประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลได้ มีความพร้อม มีสติ และมีวิจารณญาณในการเสพข่าวในโลกออนไลน์
ซึ่งอาจส่งผลให้การเสพข่าวปลอม (Fake News) มีอัตราที่ลดลงได้ในอนาคต
รูปที่ 2 ผลการประเมินสถานภาพการเข้าใจดิจิทัลผลการสารวจสถานภาพการรู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศของประเทศไทย ปี 2562 ของสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
จากข้อมูล จะเห็นได้ว่า ประเทศไทยมีข่าวปลอมจำนวนไม่น้อยที่เกิดขึ้นในสังคม ถึงแม้ประชาชนจะมีความรู้ การเท่าทันต่อสื่อออนไลน์แต่ก็อาจไม่เพียงพอ ถ้าคนบางกลุ่มยังละเลย โพสหรือแชร์ตามใจชอบโดยที่ขาดความวิเคราะห์ ไตร่ตรอง และเช็คข้อมูลก่อนเผยแพร่/ ส่งต่อให้ผู้อื่น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ควรมีบทลงโทษผู้ที่กระทำผิดที่เผยเพร่ข่าวปลอม เช่น รัฐบาลควรมีบทลงโทษที่ชัดเจนและเด็ดขาด มีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจนและรวดเร็ว หรือเจ้าของแพลตฟอร์มควรมีการลบโพสต์ข่าวปลอมที่ก่อให้เกิดอันตราย
ประชาชนควรมีความตระหนักและไตร่ตรองข้อมูลที่ได้รับจากสื่อออนไลน์ โดยควรทราบที่มา แหล่งข่าวและมีการตรวจสอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อนที่จะแชร์ ว่าข้อมูลที่ได้รับมานั้นเป็นข่าวจริง ไม่จริง “หยุดคิด สักนิดก่อนแชร์” ซึ่งหากแชร์ข้อมูลไปโดยขาดความรอบคอบ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ คอมพิวเตอร์ ได้
โดย นางสาวเมืองเพลง ปัญญาโชติ
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: