จากสถิติโดย DataReportal ในเดือนกรกฎาคม 2564 มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั่วโลกราว 4.8 พันล้านคน (ประมาณร้อยละ 61 ของจำนวนประชากรทั้งหมด) เป็นจำนวนที่เพิ่มขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาถึง 257 ล้านคน ส่วนจำนวนผู้ใช้สื่อสังคมออนไลน์หรือโซเชียลมีเดียก็เป็นไปในทิศทางเดียวกัน จำนวนผู้ใช้มีทั้งหมด 4.48 พันล้านคนทั่วโลก (ประมาณร้อยละ 57 ของจำนวนประชากรทั้งหมด) และมีจำนวนผู้ใช้ในโลกโซเชียลฯ เพิ่มขึ้นในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาถึง 520 ล้านคน จากตัวเลขดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงช่องทางการมีปฏิสัมพันธ์ของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปและการสื่อสารข้อมูลที่ไร้พรหมแดน รวดเร็ว และเสรีมากยิ่งขึ้น ดังนั้น เมื่อการสื่อสารข้ามดินแดนทำได้เพียงปลายนิ้ว ในโลกของการทูต (Diplomacy) ที่มีนักการทูต (Diplomat) เป็นผู้เล่นหลัก และผู้เป็นสื่อกลางระหว่างรัฐนั้น จะใช้ประโยชน์จากโลกโซเชียลฯ และจะเดินหน้าสื่อสารนโยบายของตนได้อย่างไร
“การทูตดิจิทัล” หรือ Digital Diplomacy ยังไม่ได้รับการนิยามความหมายอย่างเป็นทางการ โดย Antonio Deruda ผู้เขียนหนังสือ Digital Diplomacy Handbook ไว้ในปี 2557 ได้กล่าวถึงการทูตดิจิทัลไว้ว่า “เป็นการดำเนินการทางการทูตโดยใช้ประโยชน์จากเครื่องมือดิจิทัล รวมถึงเครือข่ายสังคมที่มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ และเป็นกระบวนการสำคัญ อันเป็นประโยชน์ต่อการบริหาร รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์สร้างบทสนทนากับสาธารณชนที่เป็นชาวต่างชาติ” ส่วนนางคริสตี้ เคนนี่ (Kristie Kenney) อดีตเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้กล่าวสรุปไว้ว่า “การทูตดิจิทัลเป็นการใช้ประโยชน์ของการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือในการสื่อสารในด้านการทูตได้โดยตรงกับสาธารณชนที่เป็นวงกว้างในวงการต่าง ๆ แบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ” นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยและเอกสารเผยแพร่อื่น ๆ ที่กล่าวถึงสื่อสังคมออนไลน์ว่าเป็นเครื่องมือสื่อสารทางการทูตที่มีอิทธิพลมากที่สุดรูปแบบหนึ่ง เนื่องจากเป็นพื้นที่สื่อสารที่เปิดกว้าง โปร่งใส และไร้เงื่อนไข ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ที่ได้รับความนิยมทั่วโลก ได้แก่ Twitter, Facebook, Instagram และ YouTube เป็นต้น
นอกจากตัวอย่างการทูตดิจิทัลในประเทศไทยแล้ว ในประเทศอื่น ๆ ก็ให้ความสำคัญกับประเด็นนี้เช่นเดียวกัน ตัวอย่างเช่น เมื่อปี 2562 ประเทศอินโดนีเซียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคว่าด้วย การทูตดิจิทัล 2562 (Regional Conference on Digital Diplomacy 2019) ที่มีขึ้นเป็นครั้งแรก มีผู้แทนจากกระทรวงการต่างประเทศ ผู้เชี่ยวชาญ และตัวแทนรัฐบาลจากประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศคู่เจรจาอีก 6 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์เข้าร่วม ในที่ประชุม รมว.ต่างประเทศอินโดนีเซีย ได้ยกตัวอย่างในกรณีการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของอินโดนีเซียอาทิ Facebook Twitter และช่องทางอื่น ๆ เผยแพร่ข่าวสารมุ่งสร้างสันติภาพเป็นประโยชน์กับประชาชน ป้องกันการรับข่าวปลอม ตัดตอนความเข้าใจผิดและหยุดการปลุกปั่นสร้างกระแสในสังคม และยังได้กล่าวไว้ว่า "อินเทอร์เน็ตอาจเป็นแหล่งที่มาของความขัดแย้ง และความเข้าใจผิด แต่แน่นอนว่าการทูตดิจิทัลก็สามารถทำหน้าที่เจรจา ประสานทำความเข้าใจแบบคู่ขนานกันไป” หรือหากย้อนราว 20 ปีก่อน เมื่อปี 2546 ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศแรกที่ก่อตั้งหน่วยงาน Office of eDiplomacy ภายใต้กระทรวงการต่างประเทศ มีหน้าที่สนับสนุนและอำนวยความสะดวกนักการทูตสหรัฐฯ ทั้งในและต่างประเทศให้ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการสื่อสาร การเจรจา และการดำเนินงานทางการทูต แสดงให้เห็นว่า การทูตดิจิทัล นั้นได้รับความสำคัญในระดับชาติ
นอกจากสื่อสังคมออนไลน์จะมีบทบาทในโลกการทูตแล้ว ย่อมมีบทบาทในโลกของการเมืองด้วยเช่นกัน เมื่อปี 2551 ได้เกิดคำว่า Twiplomacy หรือ Twitter Diplomacy ขึ้น โดยนาย Matthias Lüfkens จากบริษัท Burson Cohn & Wolfe ผู้เริ่มต้นการศึกษาการใช้งาน Twitter ของผู้นำประเทศต่าง ๆ และรัฐบาล จนขยายผลออกมาในรูปแบบบัญชี Twitter ภายใต้ชื่อ Twiplomacy ที่โพสต์เรื่องราวเกี่ยวกับการใช้โซเชียลฯ โดยผู้นำประเทศ รัฐบาล สถานทูต นักการทูต รวมถึงองค์กรระหว่างประเทศ โดยปัจจุบันมีผู้ติดตามราว 6.5 หมื่นราย รวมทั้งยังเผยแพร่รายงานการศึกษาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของผู้นำในแต่ละช่องทางเป็นประจำทุกปี ทั้ง Twitter Facebook และ Instagram ผ่านเว็บไซต์ https://twiplomacy.com/ อีกด้วย จากรายงานฉบับล่าสุดเมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 เปิดเผยว่า รัฐบาลและผู้นำของ 189 ประเทศทั่วโลกจะมีอย่างน้อย 1 บัญชีบนช่องทางโซเชียลฯ โดยมีเพียงรัฐบาลของ 4 ประเทศที่ไม่มีการใช้ Twitter ได้แก่ ลาว เกาหลีเหนือ เซาตูเมและปรินซีปี และเติร์กเมนิสถาน ประเด็นยอดนิยมในโลก Twitter ของเหล่าผู้นำตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 ก็หนีไม่พ้น #coronavirus และ #COVID19 ตัวอย่างเช่น เมื่อเดือนมีนาคม 2563 นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน แห่งสหราชอาณาจักร ได้โพสต์ข้อความแจ้งว่าตนติดเชื้อโควิด-19 ผ่านบัญชี Twitter ของตน ซึ่งได้รับความสนใจจากทั่วโลกรวมทั้ง ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในช่วงเวลานั้นอย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ส่งข้อความอวยพรนายกฯ บอริส อย่าง “Get Well Boris” ด้วยเช่นกัน
จากกรณีตัวอย่างทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น จึงทำให้เห็นข้อดีของการใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อการทูตและทางการเมือง ทั้งการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ การเข้าถึงสาธารณชนได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง และยังมีค่าใช้จ่ายต่ำ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงหรือความท้าทายที่เกิดจากโลกดิจิทัลก็ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อาทิ ภัยจากความเสรีของอินเทอร์เน็ตและโลกโซเชียลฯ ที่สามารถสร้างความเข้าใจผิดและความขัดแย้งที่กระจายในสาธารณชนได้
ท้ายที่สุดนี้ จากกรณีตัวอย่างข้างต้นทั้งหมด ทำให้เห็นแง่มุมหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้เกิดประโยชน์ในระดับประเทศ และระหว่างประเทศ สื่อสังคมออนไลน์ได้กลายเป็นเครื่องมือสื่อสารอันทรงอิทธิพลที่ทั่วโลกเลือกใช้ ซึ่งสามารถสร้างการรับรู้ทางสังคมอย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับเชื่อถือจากสาธารณชนทั่วไป ดังนั้น การทูตดิจิทัล จึงเป็นแนวทางนโยบายยุคใหม่ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และได้ทวีความสำคัญขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโรคระบาดใหญ่ซึ่งทำให้การมีปฏิสัมพันธ์แบบตัวต่อตัวนั้นมีข้อจำกัด อย่างไรก็ตาม การสื่อสารที่รวดเร็วเช่นนี้ ย่อมมีความเสี่ยงและช่องโหว่เกิดขึ้นได้ง่าย ผู้ใช้จึงต้องคำนึงถึงความถูกต้องของข้อมูล และระมัดระวังก่อนเผยแพร่สิ่งใดออกไป เนื่องจากข้อมูลทุกรูปแบบที่อยู่บนโลกดิจิทัลครั้งหนึ่งแล้ว ย่อมยังคงอยู่ตลอดไป แม้ผู้ผลิตหรือเผยแพร่ข้อมูลนั้น ๆ จะจากโลกไปแล้วก็ตาม
โดย ญาณภา ฉัตรกุล ณ อยุธยา
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: