ภาคเกษตรนับว่ามีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยเป็นอย่างมาก จากข้อมูลการทำสำมะโนการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ประเทศไทยมีจำนวนประชากรในภาคเกษตรมากถึง 25 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ขนาดใหญ่ที่สุด ทั้งนี้ ภาคเกษตรยังสามารถสร้างรายได้ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศประมาณร้อยละ 9 ของ GDP โดยมีผลผลิตทางการเกษตรที่สำคัญ อาทิ ข้าว ยางพารา อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน ที่เป็นสินค้าเกษตรและมีมูลค่าการส่งออกรวมกันคิดเป็นร้อยละ 80 ของ GDP ภาคเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพาราที่ไทยเป็นผู้นำในการผลิตและส่งออกสูงสุดเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก นอกจากนี้ เมื่อปี 2563 ประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นผู้ผลิตและส่งออกอาหารในอันดับที่ 11 ของโลก ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของภาครัฐที่ต้องการพัฒนาและส่งเสริมให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทยให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ภายใต้นโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” (Kitchen of the World)
จากที่กล่าวมาข้างต้น ภาคเกษตรเป็นแหล่งรองรับแรงงานที่ขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นแหล่งสร้างรายได้สำคัญแก่ครัวเรือนของประชากรจำนวนมาก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาผลตอบแทนทางด้านรายได้ของภาคเกษตร พบว่า ภาคเกษตรที่ใช้แรงงานคนส่วนใหญ่ของประเทศหรือกว่าร้อยละ 40 ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ กลับไม่สามารถสร้างรายได้มากเท่าที่ควร เกษตรกรเป็นกลุ่มที่มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่น ๆ อีกทั้งยังขาดความมั่นคงทางรายได้ มีความผันผวนตามฤดูกาล จึงก่อให้เกิดปัญหาคุณภาพชีวิตของเกษตรกรตกต่ำ เกิดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ และปัญหาด้านคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ตามมา ดังนั้น การยกระดับรายได้ต่อหัวของเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ จึงเป็นประเด็นปัญหาทางเศรษฐกิจที่มีความสำคัญในลำดับต้น ๆ ของการพัฒนาประเทศมาโดยตลอด เพราะหากประเทศสามารถยกระดับรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้นได้ ประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามไปด้วย ที่ผ่านมาปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาพรวมของประเทศมีแนวโน้มลดลง แต่พบว่ายังมีปัญหาเชิงลึกที่ซับซ้อนและไม่ทีท่าว่าจะคลี่คลายได้โดยเร็ว ถึงแม้ประเทศไทยจะประสบความสำเร็จในการลดปัญหาความยากจนลงได้ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นได้จากรายงานสถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำในปี พ.ศ. 2562 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่แสดงตัวเลขสัดส่วนคนยากจนที่มีจำนวนลดลงเหลือเพียงร้อยละ 6.24 (4.3 ล้านคน)
อย่างไรก็ดี จากข้อมูลภาวะความยากจนของประชากรไทย พบว่า กลุ่มคนที่ประสบภาวะยากจนจำนวนมากนั้นอยู่ในภาคเกษตรแทบทั้งสิ้น โดยครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ชนบท ซึ่งหากพิจารณาในมิติของรายได้ พบว่า จัดเป็นกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำเพียงเฉลี่ยเดือนละประมาณ 5,000 บาท คิดเป็น 1 ใน 3 ของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนของแรงงานนอกภาคเกษตรที่อยู่ที่ 16,000 บาท และหากพิจารณา ในเชิงลึก จะพบว่าในจำนวนนั้นส่วนใหญ่เป็นเพียงเกษตรกรรายเล็ก ประมาณร้อยละ 40 ถือครองที่ดินเพียง 1 - 10 ไร่ และอีกร้อยละ 8 ไม่มีที่ดินทำกิน และพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาสภาพภูมิอากาศในการทำการเกษตร ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ และส่งผลกระทบต่อปริมาณและคุณภาพของผลผลิตของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ทำให้สมาชิกครัวเรือนบางส่วนจึงต้องเคลื่อนย้ายแรงงานไปยังนอกภูมิภาคและนอกภาคเกษตรเพื่อหารายได้อื่น ๆ เป็นแหล่งรายได้สนับสนุนอีกทางหนึ่ง ซึ่งจากปัจจัยทั้งทางด้านมิติของรายได้ และการพึ่งพาสภาพภูมิอากาศนั้นมีส่วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันเป็นผลให้เกษตรกรเป็นอาชีพที่ไม่สามารถให้ความมั่นคงกับครัวเรือน มีรายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่าย
ซึ่งตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันหากวิเคราะห์ลึกลงไปถึงสาเหตุ และปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อรายได้ของกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้ค่อนข้างต่ำนั้น พบว่า สอดรับประเด็นของต้นทุนการผลิตและผลิตภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกรเป็นหลัก โดยจากการศึกษาข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 - 2558 พบว่า อัตราการเติบโตเฉลี่ยของมูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อแรงงานต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 2.8 และมูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อไร่ต่อปีอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่ต่ำมาก อีกทั้งจากข้อมูลของ World Bank ระบุว่ามูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อแรงงานต่อปีของไทยอยู่ที่ประมาณ 1,200 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 36,000 บาท ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มร้อยละ 10 ของกลุ่มต่ำสุด แตกต่างจากกลุ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรต่อแรงงานสูงสุดถึงเกือบ 50 เท่า ส่งผลให้ความสามารถทางการแข่งขันการผลิตสินค้าเกษตรของไทยต่ำกว่าประเทศคู่แข่งสูงมาก เช่น ผลผลิตทางการเกษตรในส่วนของข้าว ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ของไทยอยู่ที่ 459 กิโลกรัมต่อไร่ ในขณะที่เวียดนามมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยสูงกว่าไทยเกือบ 2 เท่าตัว และไทยมีต้นทุนการผลิตสูงกว่าประมาณร้อยละ 30 - 40
โดยตัวอย่างความสำเร็จของประเทศพัฒนาแล้ว ที่สามารถขจัดปัญหามูลค่าผลผลิตทางการเกษตรต่ำได้อย่างดีเยี่ยมนั้น พบว่า มีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ได้อย่างผสมผสานและลงตัวอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้จาความสำเร็จของกรณีของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ซึ่งเป็นประเทศที่มีสภาพภูมิอากาศและสภาพพื้นดินที่แห้งแล้ง การเพาะปลูกพืชต่าง ๆ บนพื้นดินปกติจึงทำได้อย่างยากลำบากมากกว่าในประเทศไทยหลายเท่าตัว โดยในปีพ.ศ. 2561 ที่ผ่านมาทางการ UAE ร่วมกับคณะนักวิจัยด้านสายพันธุ์ข้าวจากจีน ได้ทดลองปลูกข้าวสายพันธุ์ทนเค็มในนาข้าวกลางทะเลทรายโดยใช้เทคโนโลยี AgriTech ได้แก่ BioTech (เทคโนโลยีชีวภาพ) ในการปรับปรุงสายพันธุ์และคัดเลือกพันธุ์ข้าวจากจีนที่ทนความเค็มได้ราว 80 สายพันธุ์ เพื่อนำมาทดลองปลูกในแปลงนากลางทะเลทราย นอกจากนี้ ยังมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Internet of Thing (IoT) จากการใช้อุปกรณ์เซ็นเซอร์เพื่อวัดระดับความเค็มของน้ำใต้ดินและปริมาณแร่ธาตุในแปลงนา เพื่อช่วยเตือนให้เกษตรกรปรับระดับน้ำและเติมแร่ธาตุ หากระดับความเค็มของน้ำใต้ดินและปริมาณแร่ธาตุในแปลงนาอยู่ในระดับที่ไม่เหมาะสม ทำให้ข้าวในแปลงนาดังกล่าวให้ผลผลิตสูงถึง 9.4 ตันต่อเฮกตาร์ มากกว่าค่าเฉลี่ยของผลผลิตข้าวทั่วโลกซึ่งอยู่ที่ราว 4.6 ตันต่อเฮกตาร์ สามารถแก้ไขปัญหามูลค่าผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำได้อย่างเป็นที่ประจักษ์
สำหรับประเทศไทยนั้น ก็มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาประเทศสำหรับเกษตรกร และชุมชนอย่างต่อเนื่อง ดังที่ปรากฏจาก แผนยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2579) ภายใต้วิสัยทัศน์ “ประเทศมีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้ว ด้วยการพัฒนาปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งกำหนดให้เกิดการพัฒนาศักยภาพด้านภาคการเกษตรของประเทศ ไว้ในมิติที่ 2 ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อส่งเสริมเกษตรกรให้มีศักยภาพสู่การทำการเกษตรยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยส่วนที่สำคัญประการหนึ่งในการเพิ่มศักยภาพภาคการเกษตรด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล อีกทั้งยังเป็นการสร้างโอกาสและความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล จากสภาพประเด็นปัญหาและเป้าหมายการพัฒนาประเทศตามยุทศาสตร์ของประเทศดังกล่าว สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) ซึ่งมีภารกิจในการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลและนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาให้เกิดการส่งเสริมและเกิดการนำไปใช้เทคโนโลยีดิจิทัล โดยสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดตั้งสำนักงานตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ. 2560 จึงมีกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเกษตรกรในชุมชนชนบทให้สามารถเพิ่มผลิตภาพ เพิ่มรายได้ ลดต้นทุนได้อย่างยั่งยืน ผ่าน 2 มาตรการด้วยกัน
ส่วนแรก มาตรการคูปองดิจิทัลเพื่อการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa-mini Transformation Voucher) เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้กิดการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศโดยผลักดันให้ภาคการเกษตรใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการลดต้นทุน การผลิตสินค้าและบริการ ตลอดจนพัฒนาไปสู่การแข่งขันเชิงธุรกิจในรูปแบบใหม่ในระยะยาวได้อย่างกระจายตัว และทั่วถึงในวงกว้าง โดยสนับสนุนทุนรูปแบบเงินให้เปล่า (Grant) ในสัดส่วน 100% แต่อยู่ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 10,000 บาท (หนึ่งหมื่นบาท) ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายคือ ผู้ประกอบการ SMEs เกษตรกรรายย่อย ซึ่งมีการดำเนินงานส่งเสริมและสนับสนุนอย่างต่อเนื่องไปแล้วกว่าหลายหมื่นรายทั่วประเทศ
ส่วนที่สอง มาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท (depa Digital Transformation Fund for Community) โดยเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ซึ่งเป็นเงินให้เปล่า (Grant) เพื่อสนับสนุนการช่วยเหลือหรืออุดหนุนสำหรับหน่วยงานภาครัฐ สถาบันเฉพาะทางของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์การเอกชน สถาบันการศึกษาของรัฐและเอกชน วิสาหกิจชุมชน นิติบุคคลหรือกลุ่มบุคคลในระดับชุมชนที่มีการจัดตั้งตามกฎหมายเฉพาะหรือพระราชบัญญัติเฉพาะ สำหรับใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อชุมชนในชนบท เป็นเงินทุนหมุนเวียน และเป็นเงินลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 200,000 บาท (สองแสนบาท) ต่อรายของผู้ขอรับการอุดหนุน ยั่งยืน ซึ่งจากการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนที่ผ่านมา ได้สนับสนุนเงินทุนไปแล้วกว่า 179 ชุมชนทั่วประเทศ
โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล มุ่งหวังให้ภาคเกษตรซึ่งมีขนาดแรงงานที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และชุมชนซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญ ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงและสามารถเพิ่มรายได้และผลิตภาพการผลิตให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยการประยุกต์เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล นำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ชุมชน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการเพิ่มขีดความสามารถ ผลิตภาพและรายได้ของชุมชนในด้านต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจากการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนที่ผ่านมามีการสร้างรายได้ ลดต้นทุนเป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจกว่าร้อยล้านบาท เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรและชุมชน ให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเกษตรในทุกรูปแบบได้อย่างยั่งยืน
โดย นายบุญทวี ดวงนิราช
ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: