ภาพที่ 1 ปรับปรุงจาก COVID-19 & the Supply Chain (Ascentspecialized, 2020) และ Great Depression On The Fourth Industrial Revolution (The InCAP, 2020)
ในปัจจุบัน โลกได้ค้นพบไวรัสสายพันธุ์ใหม่ชื่อ “ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 2019 (COVID-19)” โดยไวรัสนี้เป็นตระกูลของไวรัสที่ก่อให้เกิดอาการป่วยตั้งแต่โรคไข้หวัดธรรมดาไปจนถึงโรคทางเดินหายใจที่มีความรุนแรงมาก ซึ่งไวรัสสายพันธุ์ใหม่นี้ยังไม่เคยพบมาก่อนในมนุษย์ก่อให้เกิดอาการป่วยระบบทางเดินหายใจในคน และสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไปทั่วโลก จากข้อมูลผู้ติดเชื้อรวมทั้งโลก ณ วันที่ 9 มิ.ย. 2564 มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสมรวม 174.74 ล้านราย โดยประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด ได้แก่ ประเทศสหรัฐอเมริกา อินเดีย และบราซิล
เทคโนโลยี Artificial Intelligence (AI) หรือปัญญาประดิษฐ์ เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการสร้างความฉลาดให้กับเครื่องจักร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถคำนวณ คิดหาเหตุผล มีการเรียนรู้ได้เสมือนกับสมองมนุษย์ และตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ได้ จึงมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI เพื่อประโยชน์ในด้านต่าง ๆ มากขึ้น รวมไปถึงการใช้วิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการติดไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การใช้ AI วิเคราะห์ด้วยภาพ ใช้ AI วิเคราะห์เสียงการไอ หรือวิเคราะห์การแพร่กระจายของโรค COVID-19 รวมถึงในการคิดค้นวัคซีนเพื่อรักษาโรค COVID–19
AI เพื่อตรวจการติดเชื้อ COVID-19
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมมือกับ Huawei เสริมกำลังให้บุคลากรทางแพทย์ของไทย โดย Huawei ได้นำเทคโนโลยี AI มาวิเคราะห์ภาพ CT Scan เพื่อวิเคราะห์การติดเชื้อ COVID-19 ที่ปอดของผู้ที่เข้ารับการตรวจ และยังสามารถระบุว่าเป็นการติดเชื้อในระยะเริ่มต้นหรือระยะลุกลาม (ระยะรุนแรง) โดยมีอัตราความแม่นยำสูงถึงร้อยละ 96 ภายในเวลาเพียง 25 วินาที และยังได้รับคะแนนจาก DICE score หรือค่าประมวลของ Medical Imaging ที่ 85 คะแนน ปัจจุบันโรงพยาบาลในประเทศจีนได้นำ AI นี้ไปวิเคราะห์กว่า 20 แห่ง เพื่อรับมือกับผู้ติดเชื้อ โดยตัวอย่างโปรแกรมดังรูปภาพที่ 2
ภาพที่ 2 การทำงานของโปรแกรม HY Medical
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนา AI โปรแกรมของทีเซลส์ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอก โดยตรวจศูนย์เร่งรัดวิจัยและนวัตกรรมเอกชนที่เป็นความร่วมมือของเครือโรงพยาบาลพญาไทและ เครือโรงพยาบาลเปาโล เพื่อพัฒนาเทคโนโลยี Portable Chest x-ray : CXR มาช่วยถ่ายภาพเอกซเรย์ทรวงอก และใช้ AI ช่วยแปลผลภาพรังสีบริเวณทรวงอก (Chest x-ray : CXR) เพื่อตรวจคัดกรองโรคปอดอักเสบ โดยมีความร่วมมือการพัฒนาในประเทศเกาหลีใต้ โดยบริษัท เมลโลว์ อินโนเวชัน จำกัด และบริษัท JLK Inspection Korea PCL จำกัด สามารถวิเคราะห์ภาพเอกซเรย์ทรวงอกได้ราว 15 โรค ผ่านการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (FDA) จากประเทศเกาหลีใต้ ซึ่ง AI สามารถช่วยแพทย์แปลผลได้รวดเร็วและมีความแม่นยำโดยประมาณ ณ ปัจจุบันคือ 90 เปอร์เซ็นต์
AI ตรวจ COVID–19 ผ่านเสียงไอ
สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT) ได้คิดค้น AI ที่สามารถวิเคราะห์เสียงไอของผู้เข้ารับการตรวจว่ามีการติดเชื้อ COVID–19 รวมทั้งสามารถแยกผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการและไม่แสดงอาการได้อีกด้วย นักวิจัยของ MIT พบว่า เสียงไอของผู้ติดเชื้อนั้นแตกต่างไปจากเสียงไอของบุคคลที่สุขภาพดี ซึ่งความแตกต่างนี้เล็กน้อยมากจนหูของมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ทีมวิจัยได้ทำการเก็บตัวอย่างเสียงไอเพื่อวิเคราะห์อาการป่วยอื่น ๆ มาแล้ว เช่น โรคปอดบวม โรคหอบหืด และโรคอัลไซเมอร์ โดยการเก็บเสียงไอจากคนจำนวนมากผ่านเว็บไซต์ ในตอนนี้ได้มีเสียงไอมากกว่า 70,000 เสียง และมีเสียงไอของผู้ป่วย COVID–19 แบบแสดงอาการและไม่แสดงอาการจำนวน 2,500 เสียง โดย AI มีความแม่นยำถึงร้อยละ 98.5
AI ทำนายการแพร่ระบาดของโรค COVID–19
BlueDot ปัญญาประดิษฐ์สัญชาติแคนาดา ได้รับการพัฒนาโดยใช้ข้อมูลจากนักระบาดวิทยา
ให้สามารถประมวลผลการรายงานข่าวจากทั้ง 65 ภาษา เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลการแพร่กระจายของ COVID-19 และเตือนให้หลีกเลี่ยงเมืองที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ยังสามารถทำนายเมืองต่อไปที่จะมีการแพร่ระบาดของโรค จากข้อมูลการซื้อขายตั๋วของสายการบินต่าง ๆ
AI คิดค้นยารักษา COVID - 19
แพลตฟอร์มการพัฒนายาอัจฉริยะที่ใช้ AI ที่พัฒนาโดย StoneWise ของประเทศจีน มีการศึกษาวิจัยโรค COVID–19 โดยใช้ข้อมูล SARS-CoV-2 และ Remdesivir (GS-5734) เพื่อใช้ในการสอน AI ปัจจุบัน StoneWise อยู่ระหว่างการพัฒนาวัคซีน COVID–19 โดยใช้ AI ในขณะที่สหรัฐอเมริกาก็มี AI ที่ถูกสอนให้คิดค้นพัฒนาวัคซีน COVID–19 ด้วยเช่นกัน ซึ่งใช้ชุดข้อมูล CoronaDB-AI ในการสอนและยังมีการอธิบายการค้นพบวัคซีน COVID-19 อีกด้วย
จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันเริ่มมีการนำเทคโนโลยี AI เข้ามาประยุกต์ใช้ในทางการแพทย์อย่างแพร่หลายทั่วโลก อย่างประเทศไทยในหลาย ๆ โรงพยาบาลเป็น Smart Hospital ทำให้การดูแล รักษา และคัดกรองผู้ป่วยนั้นสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ซึ่งส่งผลให้สามารถลดภาระและลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ได้ซึ่งการมาของ COVID-19 ช่วยกระตุ้นให้ทุกองค์กรปรับตัว นำเทคโนโลยี ทั้งระบบอัตโนมัติและ AI มาใช้มากขึ้น ดังนั้นหากวิกฤตการณ์ COVID-19 ผ่านไป ระบบอัตโนมัติ และ AI จะยิ่งเป็นตัวกำหนดความสามารถทางการแข่งขัน พร้อมทั้งยังสร้างโอกาสให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ ได้มีโอกาสเติบโต
โดยนายไพรัช กิจถาวรชัยสกุล
สถาบันไอโอทีและนวัตกรรมดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: