ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก หรือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation: APEC) ก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2532 ณ กรุงแคนเบอร์รา ประเทศออสเตรเลีย เป็นการรวมตัวกันของ 21 เขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ระบบการค้าพหุภาคี การขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคและโลก ความร่วมมือทางการเงินการคลังในการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจ ด้วยการลดอุปสรรคเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การบริการ และการลงทุนระหว่างประเทศสมาชิก รวมถึงเป็นเวทีสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นทางเศรษฐกิจที่ประเทศสมาชิกสนใจ การดำเนินงานยึดหลักฉันทามติ ความเท่าเทียมกัน และผลประโยชน์ร่วมกันของประเทศสมาชิก อันสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก
ด้วยตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจดิจิทัลและอินเทอร์เน็ต ใน พ.ศ. 2560 เอเปคจึงจัดทำแผนที่นำทางอินเทอร์เน็ตและเศรษฐกิจดิจิทัล (APEC Internet and Digital Economy Roadmap) สำหรับกลุ่มสมาชิกเอเปค โดยมีคณะกรรมการด้านดิจิทัล หรือ Digital Economy Steering Group (DESG) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาด้านกรอบแนวทางในการปรับปรุงแผนที่นำทาง และการดำเนินงานร่วมกันเพื่อเป็นแนวทางด้านนโยบาย การดำเนินงาน การแลกเปลี่ยนความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัล รวมถึงสร้างการเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน และลดช่องว่างด้านดิจิทัลระหว่างประเทศสมาชิก
เอเปคจึงได้จัดการสัมมนาออนไลน์ภายใต้กรอบเอเปค “การเสริมสร้างการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานในเอเปค ผ่านการรายงานผลลัพธ์ตามแบบสอบถามเกี่ยวกับความคล่องในช่วงวิกฤติ (Building Resilient Supply Chains in APEC: Agility in Crisis Survey Results Forum)” ในวันที่ 28 ตุลาคม 2563 เพื่ออภิปรายร่วมกันถึงผลลัพธ์ตามแบบสอบถามเรื่องการฟื้นตัวของห่วงโซ่อุปทานโลก ภายใต้ประเด็น (1) การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลและการใช้บริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น (2) การบริการและการหยุดชะงัก (Disruption) ของห่วงโซ่อุปทาน (3) การเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับแรงงานเพื่อเสริมสร้างทักษะให้มีการฟื้นตัว (4) การอำนวยความสะดวกทางการค้าและบทบาทของภาครัฐในการปรับกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) (5) ความคล่องตัว ของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในการรับมือกับผลกระทบจากการแพร่ระบาด และ (6) สตรีกับผลกระทบของโรคโควิด-19 ต่อการเจริญเติบโต
การสัมมนา ฯ นำเสนอ การสำรวจผลกระทบทางเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด-19 ในประเด็นการฟื้นตัว ความท้าทายในการสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน การหยุดชะงักในภาคการบริการและห่วงโซ่อุปทาน การส่งเสริมด้านการค้าระหว่างประเทศ และบทบาทของรัฐบาลในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจสังคมสู่ยุคดิจิทัล โดยเฉพาะวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และบทบาทของสตรี
ผลการสำรวจ พบว่า คะแนนตามดัชนี Resilience index ของกลุ่มเอเปค มีค่าอยู่ระหว่าง 0.15-0.77 ซึ่งต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว และอุตสาหกรรมชั้นนำ เฉกเช่น สหภาพยุโรป OECD และ G20 สำหรับกลุ่มเอเปค ประเทศจีน และฮ่องกง มีคะแนนอยู่ในลำดับสูงสุด (หรือมีความสามารถในการปรับตัวทางธุรกิจสูงสุด) ซึ่งดัชนีนี้ พิจารณาความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทาน ที่หมายถึง การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและคาดไม่ถึง เพื่อฟื้นฟูกลับเข้าสู่การดำเนินงานตามปกติของห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงความสามารถในการปรับตัว เตรียมพร้อม ตอบสนอง และฟื้นฟูต่อความเสี่ยงและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เช่น ความเสี่ยงด้านภัยธรรมชาติ กฎระเบียบ และเทคโนโลยีสารสนเทศที่เปลี่ยนแปลงไป เป็นต้น
ประเด็นที่มีการถกเถียงอย่างมีนัยยะสำคัญ คือ วิกฤตโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบวงกว้างต่อห่วงโซ่อุปทานโลก อันมีผลกระทบเช่นเดียวกับภัยพิบัติทางธรรมชาติ ที่แทรกแซงและส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน ได้แก่ การลดลงของอุปสงค์จากผู้บริโภค การเพิ่มขึ้นของกิจกรรมการค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (โดยเฉพาะด้านสาธารณสุข) ความล่าช้าในการขนส่งสินค้าและการชำระเงิน ซึ่งทำให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ก่อให้เกิดความเสี่ยงทางการเงิน โดยเฉพาะปัญหาความล่าช้าในการชำระเงิน ที่ทวีความรุนแรงขึ้นท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 ผนวกกับข้อจำกัดด้านภาษีอากรระหว่างประเทศ กฎระเบียบและมาตรฐานด้านศุลกากร รวมถึงการขนส่งสินค้า ส่งผลให้เกิดความท้าทายในดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง (กลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม)
จากข้อมูลการสำรวจที่บ่งชี้ว่า สัดส่วนของกิจกรรมทางธุรกิจระหว่างประเทศ กว่าร้อยละ 80 คือ การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์และบริการ การวิจัยและพัฒนา รวมการผลิตและยื่นขอเพื่อจดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์ ซึ่งยังคงประสบอุปสรรคด้านกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการที่ธุรกิจมีแนวโน้มหันมาเปลี่ยนแหล่งผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่หลากหลาย เพื่อสร้างความยืดหยุ่นในห่วงโซ่อุปทานมากขึ้นนั้น ที่ประชุมจึงมีข้อเสนอแนะ ดังนี้
สำหรับประเทศไทย ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกของเอเปคตั้งแต่แรกเริ่มก่อตั้งในพ.ศ. 2532 มีการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจดิจิทัล ผ่านนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) และแผนแม่บทการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล พ.ศ. 2561 – 2564 ในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืนโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ผ่านมาตรการด้านการเงิน การคลัง การลงทุน รวมทั้งภาษีและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และความมั่นคงปลอดภัย เพื่อยกระดับภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยสู่ดิจิทัลไทยแลนด์ พัฒนากำลังคน ชุมชน และโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนวัตกรรม และการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล อันมีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับแผนที่นำทางฯ ของเอเปค
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังคงมีประเด็นท้าทายที่สำคัญ ได้แก่ ทักษะด้านดิจิทัลของแรงงานและประชาชาชน การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคธุรกิจอย่างเป็นรูปธรรม การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก และกฎระเบียบด้านดิจิทัลทั้งภายในและระหว่างประเทศ (อ้างถึงดัชนี World Digital Competitiveness Ranking 2020) โดยประเด็นที่ควรต้องเร่งหาแนวทางในการก้าวผ่าน ได้แก่ การผ่อนปรนกฏระเบียบที่เป็นอุปสรรคในดำเนินธุรกิจด้านดิจิทัล (รวมถึงการค้าและบริการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์) ให้ลดความเข้มงวดลง และอำนวยความสะดวกการจดจัดตั้ง/เข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการภายในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงชุมชนท้องถิ่น นอกจากนี้การอำนวยความสะดวกด้านการค้า/การส่งผ่านข้ามพรมแดนก็มีความจำเป็นและสำคัญในลำดับต้นเช่นกัน การดำเนินการสามารถยึดโยงข้อเสนอแนะในที่ประชุมเอเปคข้างต้นมาเป็นแนวทางในการประยุกต์ปฏิบัติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อเสนอแนะที่ (2) (4) และ (8) ที่จะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างห่วงโซ่อุปทาน (ตลาด ผู้ผลิต แหล่งวัตถุดิบ และลูกค้าผ่านระบบออนไลน์) ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นทั้งในระดับประเทศ และภายในภูมิภาค
โดย ดร. หิริพงศ์ เทพศิริอำนวย
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก: