บริการ
TH
EN
TH
CN

AR Technology เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวอัจฉริยะ อย่างปลอดภัย

ประเทศไทย เป็นประเทศที่มีความสวยงามทั้งในด้านภูมิทัศน์ทางธรรมชาติ วัฒนธรรม ตลอดจนอุปนิสัยของผู้อาศัย ทำให้นักท่องเที่ยวทั่วโลกนิยมมาท่องเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมากนับตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน แต่การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา หรือ โควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2562 ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของโลกแบบไม่มีใครคาดคิด ในขณะที่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย ต้องประสบภาวะชะงักงันทั้งจากการระบาดของโรคและมาตรการการควบคุมการแพร่กระจายของโรค การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้เปิดเผยรายงานการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบธุรกิจกิจท่องเที่ยว จำนวน 650 ราย จากสถานประกอบการ ทั่วประเทศ ในช่วงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ – 10 มีนาคม 2563 พบว่า “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 1/2563 อยู่ที่ระดับ 57 ลดลงจากระดับ 88 ในไตรมาสที่ 4/2562 และเป็นตัวเลขที่ลดลงต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี” ผลสำรวจเดียวกันยังคาดการณ์ว่า สถานการณ์มีแนวโน้มที่จะคงความรุนแรงต่อไป ส่งผลให้จำนวน นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากเดิมมากกว่าร้อยละ 80

ปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการชะลอตัวอย่างต่อเนี่องของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ นำไปสู่การดำรงชีวิตวิถีใหม่ที่ต้องรักษาระยะห่างระหว่างบุคคล ในขณะที่การท่องเที่ยวก็เป็นภาคที่ได้รับผลกระทบอย่างสำคัญดังที่กล่าวข้างต้น และจำเป็นต้องมีการปรับตัวในการดำเนินธุรกิจภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย และมีการเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยว การนำเทคโนโลยี Augmented Reality (AR) เข้ามาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยให้ได้สัมผัสภาพหรือเสียงต่าง ๆ ได้เสมือนจริง เสมือนว่าผู้ที่กำลังใช้เทคโนโลยี AR ได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์ดังกล่าว จึงเป็นเทคโนโลยีทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยววิถีใหม่ เพื่อลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อจากการพูดคุยและสัมผัสกัน

Augmented Reality (AR) เป็นเทคโนโลยีของการผสมผสานสภาพแวดล้อมจริงเข้ากับวัตถุเสมือนให้กลมกลืนในเวลาเดียวกัน โดยวัตถุเสมือนอาจจะเป็น ภาพ เสียง คลิปวิดีโอ เกม ข้อความ หรือภาพแอนิเมชัน เพื่อตอบโต้กับผู้ใช้งาน ซึ่งเทคโนโลยีนี้จำเป็นต้องประมวลผลผ่านมือถือ แทปเลต คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้สวมใส่ประเภทต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น แว่นตาอัจฉริยะ

PIC 8.1.png

ภาพที่ 1 ความหมายของเทคโนโลยี AR

ระบบ AR แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. AR ประเภท Location-Based คือ การใช้ตำแหน่งสถานที่ตั้ง (GPS) เป็นตัวกำหนดให้เกิดภาพเสมือนจริงขึ้น ได้แก่ แสดงป้ายบอกทาง และ ชื่อถนน
  2. AR ประเภท Marker Based ที่ยึดตามเครื่องหมายระบุตำแหน่งพิกัด หรือบาร์โค้ด โดย Marker อาจจะเป็นภาพสีหรือขาวดำสองมิติที่มีลวดลาย โดยตัวโปรแกรมจะทำหน้าที่จับจุดต่างของสีต่างของภาพ เพื่อประมวลผลรหัสภาพ และดำเนินการเรียกสื่อดิจิทัลนั้นมาออกมาแสดงผล ให้เห็นในรูปแบบที่ต้องการ เช่นภาพเคลื่อนไหวสามมิติ สื่อภาพยนตร์ แอนิเมชัน การ์ตูน โปรแกรมเกม หรือ รูปแบบของรายงานที่นำเสนอ ตัวอย่างอย่างง่าย คือ การติดตั้ง Marker ในใบปลิว หรือ วัตถุต่าง ๆ โดยผู้ใช้งานสามารถดูภาพ 3 มิติได้จากการนำกล้องของ Smartphone ไปส่องที่วัตถุนั้น

การประยุกต์ใช้ AR กับการท่องเที่ยวสามารถใช้ประโยชน์ได้ในหลายสถานการณ์ อาทิ

การวางแผน Augmented Reality Guided Travel Tours

AR Location-Based สามารถทำหน้าที่เป็นระบบนำทาง พานักท่องเที่ยวไปยังจุดท่องเที่ยวต่าง ๆ ที่สำคัญได้อย่างแม่นยำ ตัดปัญหาเรื่องการหลงทางและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการสื่อสารพูดคุย การสัมผัสใกล้ชิดตลอดจนการรวมกลุ่มของบุคคลระหว่างการท่องเที่ยวเป็นหมู่คณะแบบเดิม

การรับข้อมูลเพิ่มเติมจาก AR แอปพลิเคชัน แอปพลิเคชัน AR ประเภท Marker ของสถานที่ต่าง ๆ อาทิ สถานที่ท่องเที่ยวที่ประวัติความเป็นมา คือการใช้อุปกรณ์ที่มีแอปพลิเคชัน ส่องกล้องไปในตำแหน่งพิกัดที่แอปพลิเคชันระบุ เพื่อรับเนื้อหาจากสื่อดิจิทัลจากระบบมัลติมีเดียในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งสามารถเพิ่มเติมเนื้อหาได้อย่างไม่มีขีดจำกัด และสามารถสื่อสารไปยังผู้ใช้งานได้หลากหลาย เช่น การให้ความรู้ การสร้างประสบการณ์ใหม่ในการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นภาพโมเดลสามมิติที่ผสานไปกับโลกแห่งความเป็นจริง โดยได้ความรู้และความสนุกไปพร้อม ๆ กัน

สถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งมีการปรับตัวนำ AR ที่ยึดตามตำแหน่งสถานที่มาใช้เสริมความน่าสนใจ และกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเกิดความสนใจเดินทางมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พิพิธภัณฑ์อนุสาวรีย์ ในประเทศสหรัฐอเมริกา ใช้โปรแกรม AR นำเสนอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาพถ่ายที่จัดแสดง โดยแสดงข้อมูลเท็จจริงสำคัญของรูปที่พื้นหลังภาพเพื่อจะช่วยให้ผู้รับชมมีความเข้าใจเหตุการณ์มากขึ้น

PIC 8.2.png

ภาพที่ 2 ตัวอย่างการใช้เทคโนโลยี AR ในพิพิธภัณฑ์อนุสาวรีย์ของสหรัฐอเมริกา

AR ยังสามารถสร้างภาพเสมือนและปรับบรรยากาศของพิพิธภัณฑ์ให้สอดคล้องกับเนื้อหาที่จัดแสดงเพื่อให้ผู้เยี่ยมชมได้รับประสบการณ์พิเศษ แตกต่างกันไปตามรายละเอียดของเนื้อหาในแต่จะจุด ทำให้ผู้เยี่ยมชมเกิดความรู้สึกมีส่วนร่วมระหว่างการเข้าชม มีประสบการณ์แปลกใหม่จากข้อมูลที่ตอบโต้กัน และสามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาด้านตลาดออนไลน์ และการโฆษณาในเชิงบูรณาการต่อไป

ในประเทศไทย “มิวเซียมสยาม” มีการจัดนิทรรศการแบบ “VIRTUAL EXHIBITION” ระบบพิพิธภัณฑ์เสมือนจริง ให้ทุกคนสามารถรับชมนิทรรศการหมุนเวียนภายในมิวเซียมสยามได้ในมุมมอง 360 องศา เสมือนได้เดินทางไปชมนิทรรศการด้วยตนเอง ส่วนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ก็ได้เปิดให้บริการทัวร์เสมือนจริง พานักท่องเที่ยวไปสัมผัสบรรยากาศและกลิ่นอายประสบการณ์ในสถานที่ท่องเที่ยว 10 แห่งใน 9 จังหวัดเมืองรอง เช่น คุ้มเจ้าหลวง จ.แพร่ ปราสาทหินพิมาย จ.นครราชสีมา อ่าวคุ้งกระเบน จ.จันทบุรี พระนารายณ์ราชนิเวศน์ จ.ลพบุรี บ้านหนังตะลุง จ.นครศรีธรรมราช เป็นต้น โดยสามารถรับชมได้ผ่านทางเว็บไซต์และโซเชียลมีเดียของททท. สร้างแรงบันดาลใจให้นักท่องเที่ยวระหว่างที่แหล่งท่องเที่ยวต้องปิดให้บริการชั่วคราว ตามมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น

การใช้ AR จึงเป็นนวัตกรรมอัจฉริยะ ที่จะช่วยให้กระตุ้นภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยภายหลังการเปิดประเทศให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง ด้วยการท่องเที่ยววิถีใหม่ที่มีความปลอดภัย รักษาระยะห่าง และลดการปฏิสัมพันธ์หรือสื่อสารระหว่างบุคคลในสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งนี้การพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ เพื่อรองรับการท่องเที่ยวรูปแบบดังกล่าว อาทิ VIRTUAL EXHIBITION จึงมีความสำคัญต่อการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวประเทศไทย เพื่อเชิญชวนนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมาเที่ยวเมืองไทยและกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศต่อไป

โดยนายธีรชัย ศรีสุวงศ์

ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมและธุรกิจ

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

ที่มา

http://www.thailandtourismcouncil.org/en/สถานการณ์ท่องเที่ยวไทย-และดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส-12563/

https://www.bltbangkok.com/news/26958/

https://www.marketsandmarkets.com/Market-Reports/augmented-reality-market-82758548.html

https://www.marketsandmarkets.com/Market-Reports/augmented-reality-market-82758548.html

https://www.illusion.in.th

https://www.theappsolutions.com/blog/development/ar-vr-travel-tourism/

https://www.myrecall.app/recall-nescafe-wat-mangkorn-kammalawas/

https://www.thansettakij.com/content/tech/432287