บริการ
TH
EN
TH
CN

โอกาสและความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของยุค Gen Z

โอกาสและความท้าทายครั้งยิ่งใหญ่ ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของยุค Gen Z

Gen Z หมายถึง คนรุ่นใหม่ในยุคปัจจุบันที่เกิดระหว่างปี พ.ศ. 2540 - 2555 (ค.ศ. 1997 - 2012) ซึ่งในปีปัจจุบัน พ.ศ. 2563 คน Gen Z จะอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 7 ปี ถึง 22 ปี โดย Gen Z ถูกให้คำนิยามว่าเป็นชนพื้นเมืองดิจิทัล หรือที่เรียกว่า Digital Natives และเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ขั้นสูง (Tech-savvy) เนื่องด้วย Gen Z เติบโตมาพร้อมกับ โลกแห่งความก้าวหน้าและนวัตกรรมทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลอันไร้ขีดจำกัด มีเครือข่ายอินเทอร์เน็ต Smartphone และ Platform ต่างๆ เป็นที่แพร่หลาย พวกเขาเกิดมาโดยพวกเขาไม่เคยรู้จักโลกที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตที่พวกเขาสามารถเชื่อมต่อและเข้าถึงข้อมูลต่างๆ ได้อย่างทันที อันเป็นองค์ประกอบตามธรรมชาติของชีวิตของเด็กในยุคนี้ และบ่อยครั้งที่เราจะได้ยินการเรียกคน Gen Z ว่า คน Gen C (ซี) ด้วยเหตุผลที่ว่า ตัวอักษร C มาจากคำว่า Communication (การสื่อสาร), Collaboration (การทำงานร่วมกัน), Connection (การเชื่อมโยง) และ Creativity (ความคิดสร้างสรรค์) ซึ่งเป็นคุณสมบัติเฉพาะของ Gen Z นั่นเอง ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าจับตามองจากผลกระทบของ Gen Z ต่อมหภาคทั่วโลกนั้นคือ Gen Z กำลังเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเศรษฐกิจโลก โครงสร้างทางวัฒนธรรม โครงการทางสังคม โครงสร้างขององค์กร และวิธีชีวิตของประชาชนทั่วโลก ด้วยเหตุผลทางสถิติที่ว่า Gen Z ประกอบด้วย 32% ของประชากรโลกทั้งหมด ซึ่งทำให้ Gen Z จะเป็นกลุ่มคนที่ใหญ่ที่สุดในปี พ.ศ. 2562 และ Global Consumer Population ของ Gen Z คาดว่าจะเป็น 2.6 พันล้านคน ก่อนสิ้นปี พ.ศ. 2564

ตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน เพื่อให้สามารถเข้าใจ Gen Z มากขึ้น และเห็นความแตกต่างระหว่าง Gen Z กับคนรุ่นก่อนๆ (Baby Boomers, Gen X, Millennials) ได้แก่

  1. พฤติกรรมการบริโภค Social Media ของ Gen Z
    Gen Z แตกต่างจากคนในรุ่นก่อนๆ เนื่องจากพวกเขาไม่ได้ใช้ Social Media เพื่อการคบค้าสมาคมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้ Social Media เพื่อการบันเทิง เพื่อเรียนรู้บริษัทที่พวกเขาสนใจ และเพื่อค้นหาผลิตภัณฑ์และแบรนด์สินค้าใหม่ๆ ซึ่ง Gen Z ใช้เวลาเฉลี่ยบน Social Media ประมาณ 7.4 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ Online Platforms นั้น ตัวเลขทางสถิติแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า Gen Z มีการใช้ Facebook ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จาก 71% ในปี พ.ศ. 2557 เหลือเพียง 51% เท่านั้น ในปี พ.ศ. 2561 โดยปัจจุบัน Gen Z ใช้เวลาในการบริโภค Social Media ใน Online Platforms ของ Youtube มากที่สุด รองลงมาเป็น Instagram, Snapchat, Facebook และ Twitter ตามลำดับ จะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็น Gen Z ในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาสินค้า และการทำการตลาดอื่นๆ ควรมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับ Youtube เป็นอันดับแรก นอกเหนือจากนี้ Gen Z ยังใช้ประโยชน์จาก Youtube เพื่อการศึกษาผ่อนคลาย ให้กำลังใจตนเอง และพัฒนาทักษะเฉพาะด้านของพวกเขาอีกด้วย


  1. พฤติกรรมการจับจ่ายใช้สอย (Shopping) ของ Gen Z
    • 66% ของ Gen Z กล่าวว่า คุณภาพของผลิตภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับพวกเขา
    • ความสวยงามเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจเพื่อซื้อสินค้าของ Gen Z โดย 93% เลือกที่จะซื้อสินค้าที่ดูดี รองลงมาเป็น หน้าที่การทำงาน (Functionality) คุณภาพสินค้า (Quality) ที่ตรงตามความต้องการของตน และ ความทันสมัย ตามลำดับ
    • Gen Z ที่ช้อปปิ้งออนไลน์ ชื่นชอบเว็ปไซต์ที่มีส่วนลด คิดเป็นสัดส่วนมากที่สุดที่ร้อยละ 62% ในบรรดาปัจจัยอื่นๆ รองลงมาเป็นการที่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการส่งสินค้าคืน (Free Return Shipping) และรูปภาพที่ดึงดูด ตามลำดับ
    • 60% ของ Gen Z จะไม่ใช้เว็บไซต์หรือแอปพลิเคชันที่มี Loading Times ช้า
    • 58% ของนักชอปปิงกล่าวว่า พวกเขาเต็มใจที่จะจ่ายเงินเพิ่มประมาณ 150 บาท ($5) หากสินค้าถึงมือพวกเขาภายในระยะเวลา 1 ชั่วโมง Gen Z ซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านมือถือ สูงกว่าคนในรุ่น Millennial ถึง 2 เท่า


  1. ทัศนคติที่มีต่อเทคโนโลยีและงานในอนาคต ของ Gen Z
    จากงานวิจัยของ บริษัท Dell Technologies ที่ได้ทำการสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 12,000 คน ทั้งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาและนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ใน 17 ประเทศทั่วโลก ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา ประเทศแคนาดา ประเทศบราซิล สหราชอาณาจักร ประเทศเยอรมนี ประเทศฝรั่งเศส ประเทศตุรกี ประเทศออสเตรเลีย ประเทศนิวซีแลนด์ ประเทศจีน ประเทศญี่ปุ่น ประเทศอินโดนีเซีย ประเทศสิงคโปร์ ประเทศมาเลเซีย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศไทย ซึ่งผลสำรวจพบว่า Gen Z มีความมั่นใจในทักษะทางด้านเทคโนโลยีของพวกเขา แต่ยังไม่มั่นใจเกี่ยวกับความพร้อมสำหรับการเป็นพนักงาน ซึ่งในปี พ.ศ. 2563 Gen Z จะอยู่ในตลาดแรงงานถึง 20 % ของตลาดแรงงานทั่วโลก

ผลการสำรวจของ บริษัท Dell Technologies ระบุว่า

  • 98% ใช้เทคโนโลยีเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา
  • 91% กล่าวว่าเทคโนโลยีที่นายจ้างเสนอให้นั้น เป็นปัจจัยในการตัดสินใจสำหรับการเลือกงาน
  • 80% ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Cutting-edge Technology 38% มีความสนใจในสายงานอาชีพไอที และ 39% ต้องการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ Cybersecurity
  • 80% เชื่อว่าเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติ (Automation) จะสามารถสร้างสภาพแวดล้อม การทำงานที่เท่าเทียมมากขึ้น โดยสามารถป้องกันการเลือกปฏิบัติและอคติได
  • 89% ตระหนักดีว่า พวกเขากำลังเข้าสู่ยุคของการเป็นหุ้นส่วนมนุษย์กับเครื่องจักร(Human-machine Partnerships) โดย 51% เชื่อว่ามนุษย์และเครื่องจักรจะทำงานเป็นทีมรวมกันได้ในขณะที่ 38% มองว่าเครื่องจักรเป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับมนุษย์

และผลการศึกษาของทีมนักวิเคราะห์ของ Indeed เว็บไซต์หางานอันดับ 1 ของโลก ในหัวข้อ “งานอะไรที่ได้รับความสนใจจาก Gen Z” โดยวิเคราะห์จากการคำนวณจาก “Popularity Index” ที่ Gen Z คลิกในประกาศการรับสมัครงานแบบเต็มเวลา (Full-time Job Postings) จากผลการศึกษานี้ ระบุว่า ตำแหน่งงานด้านดิจิทัล ได้รับความนิยมสูงสุดเป็น 3 อันดับแรก ในบรรดางานด้านอื่นๆ ดังนี้

  • อันดับที่ 1 นักพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ iOS (iOS Developer)
  • อันดับที่ 2 วิศวกรคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (Computer Vision Engineer)

คอมพิวเตอร์วิทัศน์ เป็นสาขาหนึ่งของวิทยาการทางด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) โดยการฝึกให้ระบบ เรียนรู้ เข้าใจและตอบสนองต่อวัตถุต่าง ๆ ผ่านแบบจำลอง Deep Learning ด้วยภาพดิจิทัลหรือวิดีโอต่าง ๆ โดยตัวอย่างของการประยุกต์ใช้คอมพิวเตอร์วิทัศน์ ได้แก่ เทคโนโลยีความเป็นจริงเสมือน (Augmented Reality), เทคโนโลยีจดจำใบหน้า (Face Recognition), เทคโนโลยีด้านการสำรวจระยะไกล (Remote Sensing), เทคโนโลยีหุ่นยนต์ชั้นสูง (Advanced Robotic) และเทคโนโลยียานพาหนะ ไร้คนขับ (Autonomous Vehicle) เป็นต้น

  • อันดับที่ 3 วิศวกรการเรียนรู้ของเครื่องจักร (Machine Learning Engineer) จะเห็นได้ว่า Gen Z มีความแตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากคนในยุคของ Baby Boomers, Gen X, Millennials อย่างไรก็ดี ในความต่างของ Gen Z นั้น จะเป็นส่วนผสมที่ลงตัวกับคนทุกยุคที่อยู่ในองค์กร ด้วยเหตุผลที่ว่า คน Gen Z กำลังนำพาทัศนคติที่ดีทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล และด้วยความเป็น Digital Natives ที่มีทักษะทางด้าน Data Science และทักษะทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลขั้นสูงนั้น จะเป็นแรงผลักดันชั้นเลิศให้องค์กรสามารถยกระดับ พร้อมที่จะก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และจะเป็นตัวแปรสำคัญในการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีโลก จากการพัฒนารูปแบบธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ และ การบริการ ที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในเชิงลึก (Deep Digital Technology) นั่นเอง

จากพฤติกรรมของ Gen Z ที่มีความแตกต่างไปจากคนในยุค Baby Boomers, Gen X, Millennials อย่างมากมาย ทำให้ปัจจุบันนานาประเทศเห็นโอกาสและความท้าทายที่กำลังจะเกิดขึ้นในยุคใหม่ของ Gen Z จึงเป็นที่มาของการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเมือง เพื่อรองรับและดึงดูดเด็ก Gen Z ที่ถูกคาดว่าจะเป็นบุคลากรทักษะสูงทางด้านดิจิทัลในอนาคต (Tomorrow’s Digital Talent) จะเป็นผู้สร้างในอนาคต (Tomorrow’s Creators) และ จะเป็นผู้สนับสนุนในอนาคต (Tomorrow’s Advocates) รวมถึง จะเป็น ผู้บุกเบิกในอนาคต (Tomorrow’s Pioneers) ซึ่งการเตรียมความพร้อมของเมืองดังกล่าวเป็นการดึงดูด Gen Z ไม่ว่าจะเป็น Gen Z ของแต่ละประเทศเอง หรือ Gen Z จากต่างประเทศที่มีความประสงค์จะเข้าศึกษาต่อ ทำงานหรือเริ่มต้นธุรกิจในประเทศนั้น ๆ โดย คน Gen Z จากต่างประเทศกลุ่มนี้มีแนวความคิดว่า พวกเขาสามารถปฏิเสธที่จะอาศัย ศึกษา หรือทำงานในประเทศของตัวเองได้ หากประเทศนั้นๆ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของพวกเขาได้ ทั้งนี้ Nestpick ได้ทำการสำรวจและประเมินเมืองทั่วโลกจำนวน 110 เมือง สำหรับ “ความพร้อมในการตอบสนองความต้องการของ Gen Z” โดย ผลการศึกษาระบุว่า 5 อันดับแรกของเมืองที่มีความพร้อมในการตอบสนองความต้องการของเด็ก Gen Z ได้แก่

  • อันดับที่ 1 เมืองลอนดอน (London) สหราชอาณาจักร (United Kingdom)
  • อันดับที่ 2 เมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm) ประเทศสวีเดน (Sweden)
  • อันดับที่ 3 ลอสแอนเจลิส (Los Angeles) ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States of America)
  • อันดับที่ 4 เมืองโทรอนโต (Toronto) ประเทศแคนาดา (Canada)
  • อันดับที่ 5 เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา (United States of America) หมายเหตุ ประเทศไทยอยู่ลำดับที่ 103 ซึ่ง Nestpick ใช้เกณฑ์ประเมินทั้งสิ้น 22 เกณฑ์สำคัญ และสิ่งที่น่าสนใจที่สุดสำหรับการศึกษานี้คือ Nestpick ใช้ตัวชี้วัดของ Degree of Digitalization เป็นครั้งแรก โดย ตัวชี้วัดของ Degree of Digitalization ประกอบด้วย
    1. การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digitalization) ตาม 2018 United Nations E-government Development Index นั้น ระดับการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลของรัฐบาล (Government Digitalization) ประเมินจากประสิทธิภาพของการบริหารระดับชาติในการพัฒนารัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (E-government) โดยมีตัวชี้วัด 3 ตัวชี้วัด ได้แก่ การให้บริการออนไลน์ (Online Services) การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน การสื่อสารโทรคมนาคม (Telecommunication Infrastructure) และการขับเคลื่อน การเสริมสร้างศักยภาพกำลังคนดิจิทัล เป็นต้น หมายเหตุ เมืองโคเปนเฮเกน (Copenhagen) ได้รับการประเมินในระดับความก้าวหน้ามากที่สุด สำหรับการพัฒนา E-government ด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตามด้วยเมืองเมลเบิร์น (Melbourne) เมืองซิดนีย์ (Sydney) เมืองบริสเบน (Brisbane) และเมืองเพิร์ท (Perth)
    2. การเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) ตาม Ookla Speedtest และ 5G Map, Testmy.net และ Cable.co.uk นั้น การเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) ประเมินจากโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสาร ความเร็วสูง รวมถึงความพร้อมในการผสมผสานและต่อยอดกับเทคโนโลยีแห่งอนาคต (Next Generation Technology) โดยมีตัวชี้วัดประกอบด้วยความเร็วบรอดแบนด์ของเมือง (City Broadband) ความเร็วของมือถือเฉลี่ยในระดับประเทศ และความพร้อมในการทดสอบหรือการวางแผนการขับเคลื่อนการบริการในเครือข่าย 5G ทั่วประเทศ หมายเหตุ ประเทศสิงคโปร์มีคะแนนการเชื่อมต่อและเครือข่าย 5G (Connectivity/5G) สูงที่สุดด้วยคะแนนเต็ม 100 คะแนน ตามด้วยเมืองโซล (Seoul) และเมืองสต็อกโฮล์ม (Stockholm)
    3. การทำธุรกรรมรับ-จ่ายเงินในระบบดิจิทัล (Digital Payment) และธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) ตาม 2018 EIU Government E-Payments Adoption Ranking, G4S 2018 World Cash Report และ Hootsuite/We Are Social 2018 Global Digital Report นั้น การทำธุรกรรมรับ-จ่ายเงินในระบบดิจิทัล (Digital Payment) และ ธนาคารดิจิทัล (Digital Banking) ประเมินจากความพยายามของรัฐบาลในการประยุกต์ใช้การชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การแพร่หลายของการชำระเงินดิจิทัล และความพร้อมของเมืองในการเป็นสังคมไร้เงินสด (Cashless)
    4. การขับเคลื่อนระบบขนส่งด้วยดิจิทัล (Digitalized Mobility) และเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy) ตาม 2018 Timbro Sharing Economy Index, 2019 Coya Bicycle Cities Index, ADL 2018 Future of Mobility Report, 2019 Easypark Smart Cities Index, Uber และ Bike Share Map นั้น ประเมินจากระบบนิเวศของเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันระหว่างผู้ใช้ (Peer to Peer : P2P) โดยมุ่งเน้นไปที่การบริการการสัญจรแบบแบ่งปัน (Shared Mobility Services) เช่น การบริการรถจักรยานสาธารณะแบบแบ่งปัน (Bike-sharing) และ การบริการผ่านทางแอปพลิเคชันเพื่อใช้เรียกยานพาหนะในเครือข่ายผู้ให้บริการ (Ride-hailing)
    5. นิสัยทางสังคมแบบดิจิทัล (Digitalized Social Habits) ตาม Hootsuite/We Are Social 2018 Global Digital Report นั้น นิสัยทางสังคมแบบดิจิทัล (Digitalized Social Habits) ประเมินจากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ และร้อยละ ของพลเมืองที่ใช้บริการดิจิทัลเพื่อจัดการกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน
    6. การศึกษา (Education) ตาม Times Higher Education 2019 World University Rankings นั้น การศึกษา (Education) มีตัวชี้วัดประกอบด้วยจำนวนสถาบันการศึกษาระดับสูงที่มีหลักสูตรวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เทคโนโลยี (Technology) และหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับนวัตกรรม โดย คำนวณจากที่ตั้งของสถาบันการศึกษา อยู่ภายในรัศมี 200 กิโลเมตรจากใจกลางเมืองนั้น ๆ
    7. ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และ ความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ตาม The French National Commission on Informatics and Liberty (CNIL), National Cyber Security Index, Kaspersky และ TheBestVPN นั้น ความเป็นส่วนตัว (Privacy) และความมั่นคงและปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ประเมินจากการให้คำมั่นของรัฐบาลที่จะปกป้องความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้งานและปกป้องความปลอดภัยบนออนไลน์ โดยคะแนนจะรวมถึงขอบเขตของกฎหมายความเป็นส่วนตัวทางด้านดิจิทัล (Digital Privacy Legislation) ข้อห้ามของเครือข่ายส่วนตัวเสมือน (Virtual Private Network) และ ระดับความปลอดภัยสำหรับข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากนี้ เกณฑ์ประเมินยังประกอบด้วยคะแนนจากตัวชี้วัดอื่น ๆ เช่น ความเท่าเทียมกันทางสังคม (Social Equality) ความเป็นสากล (Internationalism) ความบันเทิงที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเกมอิเล็กทรอนิกส์ (E-gaming Events) สถานที่นั่งทำงานร่วมกันกับผู้อื่นแบบชั่วคราว (Co-working Space) การเข้าถึงบริการสุขภาพ (Access to Healthcare) จิตวิญญาณผู้ประกอบการและนวัตกรรม (Entrepreneurial Spirit & Innovation) ความเป็นผู้ประกอบการสังคม (Social Entrepreneurship) และความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรมปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น ทั้งนี้ ในท้ายที่สุดประเทศที่มีศักยภาพและพร้อมรองรับคน Gen Z ตามที่กล่าวมาข้างต้น จะมีผลต่อเนื่องทำให้ประเทศเหล่านั้นสามารถเป็น Pool ของ Global Talent และยกระดับระบบนิเวศทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัลของประเทศ ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (Global Competitiveness) ต่อไป


โดย สถาบันส่งเสริมวิสาหกิจดิจิทัลเริ่มต้น

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก