ข้อมูลจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” (Complete Aged Society) นั่นหมายความว่าประเทศไทยจะมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากกว่า 20% ของสัดส่วนประชากรทั้งประเทศอันที่จริงไม่ใช่ประเทศไทยอย่างเดียวเท่านั้นที่กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงนี้ ทั่วโลกก็กำลังเข้าสู่ “สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์” เช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่โลกกำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านประชากรศาสตร์และกำลังถูกขับเคลื่อนเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างสมบูรณ์เช่นเดียวกัน จะเกิดอะไรขึ้นหากการพัฒนาเชิงดิจิทัลใหม่ๆ ต้องทำควบคู่ไปกับจำนวนที่เพิ่มขึ้นของผู้สูงอายุที่โตมาในยุคที่การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตหรือการใช้คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องยากลำบาก คำถามสำคัญคือ โลกที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเช่นนี้ การพัฒนาเข้าสู่โลกดิจิทัล (Digitalization) จะมีทิศทางเป็นเช่นไร
ผู้สูงอายุ (Older/ Elderly Person) ตามนิยามขององค์กรสหประชาชาติ (United Nations) หมายถึงผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งนี้ ในประเทศที่พัฒนาแล้ว อาจมีการกำหนดให้ผู้สูงอายุเป็นผู้มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป แต่ประเทศไทยยังคงใช้เกณฑ์อายุ 60 ปีตามองค์กรสหประชาชาติ โดยกำหนดใน พ.ร.บ. ผู้สูงอายุ ปี พ.ศ. 2546 มาตรา 3 ว่าผู้สูงอายุ คือ บุคคลซึ่งมีอายุเกิน 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไปและมีสัญชาติไทย
ส่วนคำว่า สังคมสูงวัย (aged society) นั้น เป็นการอ้างถึงสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับคือ 1.) สังคมสูงวัย (aged society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 10 ของประชากรทั้งหมด 2.) สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (complete aged society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด และ 3.) สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (super aged society) หรือสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 28 ของประชากรทั้งหมด
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ประมาณร้อยละ 16 ของประชากร ทั้งประเทศ ทำให้ประเทศไทยถูกจัดเป็นสังคมสูงวัย โดยมีการคาดการณ์จากตัวเลขสถิติประชากรศาสตร์ว่าในปี พ.ศ. 2564 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ และในอีก 10 ปีหลังจากนั้น หรือในปี พ.ศ. 2574 ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอดอย่างเต็มตัว ในขณะที่ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2558 ระบุว่าโลกของเราได้กลายเป็นสังคมสูงวัยด้วยสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุอยู่ที่ราวๆ ร้อยละ 12 ของประชากรทั้งโลก เมื่อพิจารณาในอีกด้านหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง โลกของเราก็กำลังถูกพัฒนาเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัวเช่นเดียวกัน แต่เพื่อให้การพัฒนาสามารถกระทำควบคู่กันไปและสร้างอรรถประโยชน์ร่วมกันได้นั้น มีความเป็นไปได้ว่าการพัฒนาเชิงดิจิทัล หรือ Digitalization ในสังคมสูงวัย จะมีทิศทางเป็นไปดังนี้
1. การลดความเสี่ยงต่ออันตรายผ่าน Internet of Things (IoT)
การพัฒนาระบบและอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยของผู้สูงอายุ เป็นการพัฒนาโอกาสทางด้านดิจิทัลในสังคมสูงวัย โดยมีความเป็นไปได้สูงในการนำระบบ Internet of Things (IoT) มาใช้ในที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น เพื่อเชื่อมต่ออุปกรณ์และระบบต่าง ๆ ในบ้านเข้าด้วยกัน เช่น ในห้องน้ำหรือหัวเตียงนอนมีปุ่มกด Call for Help ในกรณีฉุกเฉิน โดยเมื่อกดแล้ว จะมีเสียงแจ้งเตือนสมาชิกคนอื่นๆ ในบ้าน พร้อมแจ้งเตือนผ่าน
แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนของผู้ดูแล ที่มากับพร้อมกับฟีเจอร์ในการแจ้งเหตุฉุกเฉินไปยังเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และฟีเจอร์ในการแสดงกล้องวงจรปิด ณ ที่เกิดเหตุ หรือการเชื่อมต่อระบบเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ในบ้านเข้าด้วยกัน ให้สามารถสั่งตัดไฟฟ้าได้อัตโนมัติ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดจากความหลงลืมของผู้สูงอายุ
2. การสร้างเกมเพื่อผู้สูงอายุ (Gamification for Seniors)
เมื่ออายุมากขึ้น ความสามารถในการจดจำและการใช้ร่างกายจะเริ่มลดลง การสร้างเกมเพื่อกระตุ้นการทำงานของสมองและการเคลื่อนไหวร่างกายในผู้สูงอายุจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสในการพัฒนาทางด้านดิจิทัลในสังคมสูงวัย โดยเกมที่ว่านี้ เป็นเกมที่ช่วยพัฒนาการทำงานของสมอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเพิ่มความทรงจำ เพื่อลดอาการหลงลืมหรือป้องกันโรคอัลไซเมอร์ในอนาคต นอกจากนี้ยังเป็นเกมที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของร่างกาย เพื่อให้ผู้สูงอายุได้มีการออกกำลังกายมากยิ่งขึ้น ลดปัญหาสุขภาพที่พบได้บ่อย ๆ ในผู้สูงวัย เช่น ปัญหาข้อเข่าเสื่อม เป็นต้น
3. การติดตามสภาวะสุขภาพเชิงดิจิทัล (Digital Health Tracking) ปัจจุบัน มีการพัฒนา Smart Watch และแอปพลิเคชันต่าง ๆ ที่สามารถติดตามสภาวะสุขภาพและการทำงานของร่างกายเบื้องต้นได้ แต่กลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่ยังเป็นคนรุ่นใหม่ที่สนใจออกกำลังกายและดูแลสุขภาพเป็นประจำ ทั้งนี้ เมื่อจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น การพัฒนาต่อยอดอุปกรณ์และแอปพลิเคชัน ต่าง ๆ เหล่านี้เพื่อผู้สูงอายุจะมีมากขึ้น เช่น Smart Watch ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจ ความดันเลือดสูง-ต่ำ และการตรวจจับการล้ม พร้อมกับเชื่อมต่อข้อมูลเหล่านี้ไปยังแอปพลิเคชันเพื่อประมวลผล ในเชิงลึกผ่าน AI (Artificial Intelligence) ร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ เช่น น้ำหนัก ประวัติการรักษาโรคต่าง ๆ และ ส่งต่อข้อมูลไปยังผู้ดูแล ไม่ว่าจะเป็นบุตรหลานและบุคลากรทางการแพทย์เพื่อวางแผนแนวทางการดูแลสุขภาพหรือการรักษาต่อไปได้ หรือแอปพลิเคชันช่วยจัดยา ที่จัดเก็บข้อมูลยาและระยะเวลาการรับยาที่ผู้สูงอายุทานต่อเนื่อง พร้อมแจ้งเตือนการทานยาในแต่ละช่วงวัน เป็นต้น
4. การเข้าถึงการรักษาแบบออนไลน์ (Online Doctors)
ผู้สูงอายุมีแนวโน้มที่จะต้องเข้าพบแพทย์มากกว่าคนในช่วงวัยอื่น ๆ ดังนั้นการพัฒนาช่องทางการเข้าถึงการรักษาในเชิงดิจิทัลจึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสสำคัญในโลกที่มีผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น โดยอาจมีการพัฒนาระบบการรักษาทางไกลให้ผู้สูงอายุสามารถปรึกษาแพทย์ได้ผ่านวิดีโอคอล ช่วยลดปัญหาค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ตลอดจนปัญหาในการเดินทางคนเดียว ในกรณีที่ผู้ดูแลไม่สามารถไปเป็นเพื่อนได้ รวมถึงปัญหาความไม่ต้องการไปโรงพยาบาลที่พบได้บ่อยครั้งในผู้สูงอายุอีกด้วย นอกจากนี้ยังช่วยลดความแออัดในสถานพยาบาลที่ต้องรองรับและให้บริการผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากด้วยเช่นกัน
5. การพัฒนา UX/UI เพื่อผู้สูงอายุ
เมื่อสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นในตลาด การออกแบบ UX/UI ให้สอดคล้องกับการใช้งานของผู้สูงอายุนับเป็นโอกาสทางดิจิทัลในการขยายฐานลูกค้าเพื่อรองรับตลาดผู้สูงอายุ โดยการออกแบบ UX (User Experience Design) for Seniors หมายถึงการสร้างประสบการณ์การใช้งานที่ดีขึ้นในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์ต่าง ๆ ของผู้สูงอายุ ส่วนตัวประสานกับผู้ใช้ UI (User Interface Design) for Seniors คือการออกแบบเทคโนโลยีดิจิทัล แอปพลิเคชัน และอุปกรณ์ต่างๆ ให้เหมาะสมกับการใช้งานของผู้สูงอายุ เช่น ตัวหนังสือมีขนาดใหญ่ อ่านง่าย สีสันโดดเด่น สะดุดตา เป็นต้น โดยอาจมีการผลิตสินค้าและบริการในเวอร์ชั่นเฉพาะสำหรับผู้สูงอายุ หรือมีการออกแบบแบบเพื่อคนทั้งมวล (Universal Design) สำหรับผู้ใช้ทุกกลุ่มอายุ แต่คำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุเป็นหลัก ด้วยมองว่าหากผู้สูงอายุใช้งานได้สะดวกสบาย ผู้ใช้วัยอื่นๆ ก็สามารถใช้งานได้ดีเช่นเดียวกัน
ทั้งหมดนี้ คือโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาด้านดิจิทัลในสังคมสูงวัย ทั้งนี้ คำถามต่อไปคือ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุหันมาใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมากยิ่งขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญในการเชื่อมโลกดิจิทัลและโลกของผู้สูงอายุเข้าด้วยกัน
โดย ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล ส่วนส่งเสริมและสนับสนุนการตลาด
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก