การระบาดของไวรัสโคโรน่า หรือ COVID-19 ในประเทศไทยช่วงที่ผ่านมา คณะบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขได้ทุ่มเทกำลังกาย และกำลังใจ ในการเฝ้าระวัง การตรวจ และการรักษา ทำให้สามารถรับมือกับการระบาดของเชื้อ COVID-19 ได้เป็นอย่างดี เมื่อเทียบกับอีกหลายๆ ประเทศ โดยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข รายงานสถานการณ์กรณีโรคติดเชื้อ COVID-19 ประจำวันที่ 30 เมษายน 2563 มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ COVID-19 รักษาในโรงพยาบาล 213 ราย กลับบ้านแล้ว 2,687 ราย เสียชีวิต 54 ราย รวมสะสม 2,954 ราย
การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย ทั้งภาคการผลิต ภาคการค้า ภาคบริการ ภาคเกษตร และภาคอุตสาหกรรม ที่ประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง ธุรกิจชะลอตัว ส่งผลให้ผู้ประกอบการ SMEs บางรายต้องหยุดกิจการ มีการเลิกจ้างแรงงานจำนวนมาก รวมทั้งธุรกิจขนาดเล็ก หาบแร่ แผงลอย ตลาดสด ที่ได้รับผลกระทบโดยทั่วกัน นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง ประชาชนเข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง ทันเหตุการณ์ ทำให้เกิดความไม่เข้าใจหรือถูกหลอกลวง สร้างความเสียหายซ้ำเติมให้สังคม อย่างไรก็ตาม ผลจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้ก่อให้เกิดความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ขึ้นในสังคมไทย เช่น สังคมไร้เงินสด การทำงานทางไกล การเรียนการสอนออนไลน์ ซึ่งเป็นโอกาสในการปรับเปลี่ยนเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ในแง่มุมต่างๆ มากขึ้น เช่น การซื้อ-ขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์ การทำธุรกรรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ การทำงานจากบ้าน (Work from Home) และการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ เป็นต้น
เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ ในการก่อให้เกิด New Normal ในสังคมไทย โดยเทคโนโลยีดิจิทัลได้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือในการบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ สร้างความรู้ความเข้าใจ และช่วยเหลือประชาชนให้สามารถดำเนินชีวิตหรือทำกิจกรรมทางกายภาพได้อย่างใกล้เคียงกับสถานการณ์ปกติ ดังนั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (สศด.) จึงได้ดำเนินการประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อบรรเทาผลกระทบ ลดความเสียหาย ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ดังนี้
สศด. ร่วมกับ บริษัท Huawei นำระบบ AI มาวิเคราะห์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 จากภาพถ่ายรังสีที่ได้จากการใช้เครื่อง CT scan เอกซเรย์ปอดคนไข้ โดยเมื่อมีการทำ CT scan ระบบ AI จะนำผลเอกซเรย์ไปเทียบเคียงกับตัวอย่างภาพเอกซเรย์ปอดของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัส COVID-19 ในประเทศจีน ซึ่งได้เก็บข้อมูลไว้กว่า 20,000 ตัวอย่าง จากผู้ป่วยมากกว่า 4,000 ราย เพื่อวินิจฉัยเบื้องต้นว่าคนไข้มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัส COVID-19 หรือไม่ โดยได้มีการนำระบบ AI ดังกล่าว ไปติดตั้งที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และโรงพยาบาลศิริราช เรียบร้อยแล้ว
เทคโนโลยี AI เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้แพทย์นำมาใช้วินิจฉัยผลตรวจ CT scan ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัส COVID-19 ได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว สามารถวิเคราะห์ผลได้ภายในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อ 1 เคส และมีความแม่นยำสูงถึง 96% จึงลดภาระให้บุคลากรทางการแพทย์ไทยได้เป็นอย่างมาก ที่สำคัญความเร็วในการส่งข้อมูลของเครือข่าย 5G จะยิ่งเพิ่มประสิทธิภาพให้บุคลากรทางการแพทย์รับมือสถานการณ์ในขณะนี้ได้ดียิ่งขึ้น เพราะช่วยให้ระบบทางการแพทย์สามารถตอบสนองการใช้งานได้อย่างรวดเร็ว ช่วยติดตามอาการ และเก็บข้อมูลคนไข้ดีขึ้น อีกทั้งช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรทางการแพทย์มีประสิทธิภาพขึ้นอีกด้วย
สศด. ได้พัฒนาและเปิดตัวแพลตฟอร์มจัดหางานด้านดิจิทัล เพื่อรองรับผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 เพื่อเชื่อมโยงการจ้างงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมคุณภาพชีวิต และมีส่วนช่วยลดภาระของรัฐบาลในการออกมาตรการเยียวยาผู้ที่ตกงานจากสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 โดยกลุ่มเป้าหมายจะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มที่ 1 งานด้าน IT กลุ่มที่ 2 งานด้าน Startup ที่จ้างคนกลุ่ม Non-IT และกลุ่มที่ 3 งานและอาชีพอิสระ เช่น E-Commerce หรือ Social Commerce เป็นต้น นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าว ยังให้โอกาสผู้หางานสามารถพัฒนาทักษะที่เป็นที่ต้องการของนายจ้างได้ โดยพัฒนาศักยภาพที่เป็นที่ต้องการผ่านแพลตฟอร์ม เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้งาน และเป็นช่องทางให้บริษัท ที่ต้องการบุคลากรมาร่วมงาน ได้ประกาศรับสมัครงาน โดย สศด. จะช่วยประชาสัมพันธ์ตำแหน่งที่ต้องการ ผ่านช่องทาง Facebook "JobD2U" เเละ เว็ปไซต์ thaifightcovid.depa.or.th
ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการป้องกัน บรรเทาผลกระทบ ลดความเสียหาย ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทยจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 แต่การฝ่าวิกฤตในครั้งนี้ ต้องอาศัยความรู้ ความเข้าใจ และความรับผิดชอบ ทั้งต่อตนเองและสังคมของทุกคนในประเทศ ในการรับมือสถานการณ์กรณีโรคติดเชื้อ COVID-19 อย่างมีสติ “ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก”
โดยสรุปแล้ว แม้ว่าประเทศไทยจะมีความเสี่ยง และยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์กรณีโรคติดเชื้อ COVID-19 แต่คนไทยสามารถผ่านวิกฤตนี้ไปได้ และมีโอกาสฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ด้วยความร่วมมือ ร่วมใจของคนในประเทศ เหมือนกับช่วงที่เคยเกิดวิกฤตครั้งต่างๆ ในอดีต และในช่วงนี้ยังเป็นโอกาสของประเทศไทยในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และยังเป็นโอกาสในการพัฒนาและส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีด้านดิจิทัลของประเทศอีกด้วย
โดย นายเสกสันต์ พันธุ์บุญมี
ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล