ประเทศไทยเรานั้นมีการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสารไร้สายมาโดยตลอด ซึ่งการเดินทางของยุคสมัยเทคโนโลยีเริ่มต้นตั้งแต่ 2G จนถึงยุค 3G และ 4G ตามลำดับ ทำให้การสื่อสารผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้นเริ่มพัฒนาจากการที่รับส่งข้อความ หรือสื่อสารได้แค่เพียงเสียง เป็นการสื่อสารด้วยมัลติมีเดีย โดยองค์ประกอบเป็น ข้อความหรือตัวอักษร(Text) ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว เสียง และวิดีโอ ซึ่งเมื่อก่อนนั้นการดาวน์โหลดรูปภาพหรือวีดีโอที่เคยใช้เวลาหลายนาที จะเหลือเพียง ไม่กี่วินาทีผ่านระบบ 3G/4G ได้โดยผ่านโทรศัพท์ Smart Phone ซึ่งเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในโลกของการสื่อสารไร้สายในอนาคตอันใกล้นี้ คือ เทคโนโลยีการเชื่อมต่อไร้สายยุคที่ 5 (5th Generation) หรือ 5G นั่นเอง
ถ้ามองถึงภาพโดยรวมของ 5G นั้นจะเห็นได้ว่ามีความคล้ายคลึงกับ 3G และ 4G แต่จะมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ทุกคนคงทราบดีว่าเทคโนโลยี 5G จะคล้ายกับ 3G และ 4G ตรงที่มีการพัฒนาให้มีความเร็วในการรับ-ส่ง ข้อมูลสูงขึ้นกว่าเทคโนโลยีเดิมถึง 10 เท่ารวมอีกทั้งมีประสิทธิภาพสูงกว่าในการรองรับปริมาณข้อมูลที่ได้มากกว่าในช่วงเวลาที่เท่ากัน อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญของการเข้ามาของ 5G นั้นไม่ใช่การแทนที่เทคโนโลยี 3G หรือ 4G เพียงแต่เทคโนโลยี 5G จะเข้ามาช่วยสนับสนุนและขยายโอกาสการบริการดิจิทัลให้กว้างขวางและครอบคลุม ตอบโจทย์แก่ผู้ใช้งานได้มากขึ้น ควบคู่ไปกับบริการ 3G หรือ 4G ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน ซึ่งเทคโนโลยีที่เรียกว่า 5G นั้นจะประกอบไปด้วย 3 คุณสมบัติหลักคือ ความเร็วของการ เชื่อมต่อแบบไร้สาย หรือ Enhanced Mobile Broadband (eMBB) ความล่าช้าในการรับส่งข้อมูลที่ต่ำมาก หรือ Ultra-Reliable and Low Latency Communications (uRLLC) และความสามารถในการเชื่อมต่อ อุปกรณ์จำนวนมากพร้อมกันโดยใช้พลังงานต่ำ หรือ Massive Machine Type Communications (mMTC)
Enhanced Mobile Broadband หรือที่เรารู้จักคือ eMBB
จะพูดได้ว่าแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลงในแต่ละยุคของระบบเครือข่ายคงหนีไม่พ้นความต้องการทำให้เครือข่ายสามารถรับ-ส่งข้อมูลที่รวดเร็วขึ้นหรือได้ปริมาณมากขึ้นโดยใช้เวลาที่น้อยลง 5G ที่ออกมาจึงควรจะต้องตอบสนองต่อความต้องการที่เพิ่มขึ้นโดยสามารถที่จะเข้ามาทดแทนเครือข่ายแบบใช้สาย และให้บริการทั้งในธุรกิจหรือแม้แต่ในที่พักอาศัยได้ด้วย โดยในปัจจุบันเครือข่าย 4G ก็ได้มีการนำมาประยุกต์ใช้งานอยู่บ้างแล้วในรูปแบบที่เราเรียกกันว่า Mobile Broadband โดยใช้อุปกรณ์อย่าง Mobile Router หรือ Pocket Wireless Access Point เป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการเครือข่ายเพื่อใช้บริการอินเตอร์เน็ต ซึ่งใน 4G นั้นสามารถทำได้ในระดับหลาย Mbps อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้ใน 5G จึงตั้งเป้าสู่ความเป็น Enhanced Mobile Broadband ที่มีความเร็วในการรับ-ส่งเพิ่มขึ้นเป็นระดับ Gbps ซึ่งสามารถนำมาเปรียบเทียบและแข่งขันได้กับบริการ High Speed Internet ตามบ้านด้วยเทคโนโลยี Fibre to the Home (FTTH) ที่กำลังเป็นบริการบรอดแบนด์ที่เริ่มขยายตัวอยู่ในขณะนี้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดและจะถูกผลักดันออกมาเป็นอันดับแรกของการใช้ 5G ในรูปแบบ eMBB คือ แอพพลิเคชันที่มีชื่อเรียกว่า Fixed Wireless Access (FWA) สำหรับรองรับงานที่ต้องการรับ-ส่งข้อมูลมากๆ ตัวอย่างเช่น การให้บริการวิดีโอสตรีมมิงทั้งแบบ 4K หรือ 8K ในอนาคต การทำ Augmented Reality (AR) และ Virtual Reality (VR) รวมไปถึงการให้บริการเกมส์ในรูปแบบใหม่ที่มีความสมจริงมากขึ้นในอนาคต ซึ่ง eMBB จะส่งผลกระทบโดย ทำให้เกิดการกระตุ้นของปริมาณทราฟฟิกที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด และยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ 4G ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจาก eMBB ได้แก่ ภาคข้อมูลสารสนเทศและการสื่อสาร ภาคสื่อและบันเทิง ภาคการศึกษา ภาคการผลิต และบริการด้านวิชาชีพ
URLLC (Ultra-Reliable Low-Latency Communication)
ถ้าพูดในมุมมองของผู้ใช้งานนั้นความเร็วของการใช้งานเครือข่ายเป็นองค์ประกอบหลักที่เราจะสนใจและดูเป็นอันดับต้นๆ นั่นก็คือตัวเลขความเร็วในหน่วยของจำนวนข้อมูลต่อวินาทีอย่าง Mbps หรือ Gbps ซึ่งจะบอกได้ว่าเครือข่ายที่เราใช้บริการสามารถรับ-ส่งข้อมูลให้เราได้มากแค่ไหนในช่วงเวลาหนึ่งแต่ความเร็วที่กำลังเรากำลังพูดถึงในหัวข้อนี้เรียกว่าเป็นความเร็วในการตอบสนองของการรับ-ส่งข้อมูลคือ เมื่อเราส่งข้อมูลไปในเครือข่ายแล้วจะใช้เวลามากน้อยแค่ไหนในการส่งไปถึงยังปลายทางหรือข้อมูลใช้เวลามากแค่ไหนในการจะส่งกลับมาถึงเรา ซึ่งในทางการสื่อสารเรียกว่า ความล่าช้าของเครือข่าย ซึ่งอาจจะเคยได้ยินคำว่าค่า PING เครือข่ายสูง หรือใช้งานแล้วมันแล็ค (Lack) มันช้า เป็นต้น
ซึ่งทั้งนี้เอง 5G จึงได้ออกมาพัฒนาและออกแบบเครือข่ายที่ตอบสนองให้ได้อย่างรวดเร็วและมีความล่าช้าที่ต่ำ รวมไปถึงต้องมีความน่าเชื่อถือของระบบที่สูงมากและมีเสถียรภาพ จึงทำให้การส่งผ่านข้อมูลระหว่างกันจะมีความเป็น real time มากขึ้น ซึ่งตรงนี้เองจะเหมาะกับงานที่ต้องใช้ความแม่นยำสูงและผิดพลาดน้อยที่สุด เช่น ระบบไร้คนขับ ระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ หรือระบบการแพทย์ระยะไกล เป็นต้น ดังนั้นเทคโนโลยี 5G จึงเป็นกุญแจที่สำคัญสำหรับการพัฒนาระบบดังกล่าวให้มีเสถียรภาพ ความสมบูรณ์และมีปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน
Massive Machine Type Communications (mMTC)
เทคโนโลยี 5G ยกระดับความสามารถในการรองรับและสื่อสารเพื่อให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น mMTC จึงถูกพัฒนาขึ้นเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี LPWA (Low Power Wide Area) อาทิเช่นมาตรฐาน NB-IoT (Narrowband IoT) cat-nb1 และ LTE-M (LTE for Machine) หรือ eMTC (Enhanced Machine-Type Communication) ซึ่ง NB-IoT (Narrowband-Internet of Things) ซึ่งเป็นการให้บริการที่ เน้นไปที่การเชื่อมต่ออุปกรณ์ที่ใช้พลังงานไม่มากแต่ใช้จำนวนมหาศาล โดยต้องเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่นๆ ในบริเวณกว้าง ซึ่งผู้นำทางเทคโนโลยีหลายฝ่ายจึงมีความเห็นที่ว่าการพัฒนา mMTC จะมาพร้อมกับเทคโนโลยี 5G เพราะ 5G สามารถรองรับการเชื่อมต่อได้มากถึงสองแสนถึงหนึ่งล้านเครื่องต่อตารางกิโลเมตร และยังลด ปริมาณการใช้พลังงานสำหรับการเชื่อมต่ออีกกว่าร้อยละ 90 เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีเก่าๆ ที่ผ่านมา
ดังนั้นแล้ว mMTC จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของ IoT ให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น เนื่องจาก IoT เป็นการออกแบบระบบโครงข่ายเพื่อให้รองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์หลากหลายชนิด ไม่ว่าจะ เป็นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ เซนเซอร์ หรืออุปกรณ์โครงข่ายเองก็ตาม ซึ่งในปัจจุบัน IoT (Internet of Things) เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น เห็นได้จากตัวอย่างรอบๆ ตัว เช่น รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Autonomous vehicles)ที่มีการประมวลผลจากส่วนกลางในการแปรสัญญาณจากเซนเซอร์ที่ติดรอบตัวรถ ตามมาด้วยบ้านอัจฉริยะ (Smart home) ที่มีเซนเซอร์ตรวจสอบว่าเราอยู่ในบ้านหรือไม่ จะเปิดปิดไฟในช่วงเวลาที่ใดๆก็ตาม เป็นต้น
นอกจากนี้มีเคสที่น่าสนใจจากการที่ 5G ได้เริ่มมีการใช้ในหลายๆประเทศ ซึ่งเราจะยกตัวอย่างประเทศจีน ที่มีบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ชื่อว่า China Mobile เข้ามาให้บริการ ทำให้เกิดการใช้เทคโนโลยี 5G ที่อำนวยความสะดวกในการทำงานและใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
การออกแบบอาคาร โดยใช้ 5G AI และ Cloud computing ซึ่งสามารถเปลี่ยนรูปแบบหรือทรงอาคาร รวมถึงการปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการแบบ real time อาศัยการส่งข้อมูล 5G ไปยัง Cloud computing ในการเรียกข้อมูล และนำ AI มาใช้คำนวน และออกแบบตึกให้ได้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
การติดตั้งเซนเซอร์ ในเครื่องจักรอุตสาหกรรม เพื่อการขุดอุโมงข้ามแม่น้ำ และ โรงไฟฟ้า โดยใช้ 5G AIoT และCloud computing การใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่มีขนาดใหญ่ เมื่อเกิดปัญหาในด้านกลไก ระบบไฟฟ้า รวมถึงเซ็นเซอร์ที่หัวขุดเจาะ หรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่สำคัญในโรงไฟฟ้านั้น หากเป็นระบบเซ็นเซอร์ที่เป็นชิ้นส่วน AIoT เมื่อพบความผิดพลาด ระบบจะสามารถรายงานผลทันที และหยุดการทำงานทันที เพราะเพียงเสี้ยววินาทีนั้นก็จะสามารถลดการสูญเสียต่อเครื่องมือ และทรัพยากรมนุษย์ได้
การควบคุมการจราจร โดยใช้ 5G AI และ Cloud computing บางสี่แยกในเมืองเฉิงตู ประเทศจีน ได้ทำการทดลองการจัดการจราจร โดยใช้ 5G และ AI ในการคำนวนปริมาณรถยนต์บนท้องถนน ให้สอดคล้องกับสัญญาณไฟจราจร โดยที่ระบบจะสามารถตรวจจับได้ว่า สิ่งที่เคลื่อนที่บนท้องถนน นั้นเป็นรถยนต์ รถจักรยานยนต์ รถบัส รถบรรทุก หรือคนเดินข้ามถนน รายละเอียดเหล่านี้จะสามารถนำไปวิเคราะห์หรือจำแนกสิ่งต่างๆที่เคลื่อนที่บนท้องถนน อีกทั้งยังสามารถวัดความหนาแน่นของจราจรได้เป็นอย่างดี ซึ่งต่างจากระบบเก่าที่สามารถทำได้เพียงใช้ระบบไมโครเวฟที่ยิงวัดจำนวนรถที่ผ่านได้อย่างเดียว โดยไม่สามารถจำแนกรายละเอียดได้ครบถ้วนและถูกต้อง
ซึ่งจะเห็นได้ว่าในเคส หลายกรณีนั้น สามารถใช้งานได้ทั้งในชีวิตประจำวัน หรือในอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน ซึ่งสามารถมาลดระยะเวลาและข้อผิดพลาดในการทำงาน และไปเพิ่มความแม่นยำที่สูงขึ้นแทน ดังนั้นแล้วหาก 5G ได้ใช้งานจริงในประเทศไทยเรา จะทำให้เทคโนโลยีเราก้าวไกลไปได้แน่นอน
โดยนายมโนฤทธิ์ จันทรฉายะ
ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก