บริการ
TH
EN
TH
CN

วิกฤตและโอกาสของพนักงานธนาคารในยุคดิจิทัล

เมื่อประมาณ 30 ปีที่แล้วพนักงานธนาคารถือว่าเป็นอาชีพที่มั่งคง มีรายได้สูง สวัสดิการดีมาก โบนัสสูง ซึ่งมีแต่คนอยากจะเข้าบรรจุเป็นพนักงานธนาคาร เพราะในแต่ละปีธนาคารประกาศตัวเลขผลกำไรมหาศาลจากการทำงานของพนักงาน รายได้จากดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมจากการทำธุรกรรม สามารถ พูดได้ว่าธนาคารจัดอยู่ในกลุ่มทุนเสือนอนกินมาอย่างยาวนาน ขนาดสภาพเศรษฐกิจโดยรวมที่หลาย ๆ คนในสังคมพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าย่ำแย่ แต่เมื่อปีที่แล้ว 2562 ผลประกอบครึ่งปีแรกได้จากการรวบรวมของนิตยสารออนไลน์ Techsauce แสดงให้เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์ยังคงมีกำไรในการดำเนินกิจการ ธนาคารพาณิชย์ 11 แห่ง มีผลกำไรสุทธิ 170,481 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3,973 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.39 ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารธนชาต ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทิสโก้ ส่วนธนาคารที่มีกำไรสุทธิลดลงได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารเกียรตินาคิน และกลุ่มการเงินแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ตั้งแต่มีการปฏิรูปหรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Disruption) ที่กระทบธุรกิจและหลาย ๆ หน่วยงานทั้งทางตรงและทางอ้อมก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเรื่องนี้สังคมรับรู้มานานพอสมควร แต่ผลกระทบ ขยายวงกว้างไปเรื่อย ๆ จนทำให้บางอุตสาหกรรมต้องออกมาเรียกร้องให้มีมาตรการหรือแผนคุ้มครองพนักงาน ขอยกตัวอย่างที่เกิดขึ้นทั่วโลกและก็เกิดขึ้นในประเทศไทย คือ พนักงานสถาบันการเงินที่มีโอกาสเสี่ยงสูงในการถูกเลิกจ้างงาน อันด้วยการเข้ามาแทนที่ของเทคโนโลยี และธนาคารเองก็ได้เข้าสู่ระบบ Digital Banking เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แต่การเข้าสู่ยุคดิจิทัลของธนาคาร ทำให้เกิดการแทนที่แรงงานของมนุษย์อย่างเห็นได้ชัด ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินในที่ใดก็ได้ เพียงแค่มีการเชื่อมต่อระบบอินเทอร์เน็ต ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์และดิจิทัลแพลตฟอร์ม เพียงแค่ปลายสัมผัสลูกค้าก็สามารถทำ Mobile banking และทำธุรกรรมผ่านเครื่องอัตโนมัติ ทำให้ธนาคารสามารถลดรายจ่ายได้ เช่น ลดจำนวนการจ้างพนักงาน ขนาดของสาขา พัสดุเครื่องเขียนที่ต้องใช้ในการทำธุรกรรม เป็นต้น แต่ก็สามารถรักษาอัตรากำไรได้เหมือนเดิมหรือเพิ่มมากขึ้น แต่สิ่งลดลง คือ พนักงานหลังบ้าน พนักงานหน้าเคาเตอร์ พนักงานประจำสาขา หรือแม้แต่พนักงานประจำสำนักงานใหญ่ ก็มีแนวโน้มสูงที่จะถูกเลิกจ้าง

รายงานสำนักข่าวอีไฟแนนซ์ไทยระบุว่า พนักงานธนาคารทั่วโลกจะถูกลดราว 75,000 ตำแหน่ง ธนาคารในยุโรปถูกปลดมากที่สุด ธนาคารยักษ์ใหญ่ในประเทศอิตาลี UniCredit ประกาศลด 8,000 ตำแหน่ง ปิดบริการ 500 สาขา ธนาคารในยุโรปนำโดย Deutsche Bank มีการลดตำแหน่งมากที่สุด 18,000 ตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละกว่า 80 และในอีก 4 ปี ข้างหน้า พ.ศ. 2566 ธนาคารในประเทศอิตาลีมีแผนเลิกจ้างพนักงานจำนวน 8,000 คน และปิดบริการอีก 500 สาขา

ในส่วนของประเทศไทยนั้น ท่ามกลางตัวเลขผลกำไรประจำปีที่ดูเหมือนจะไม่สวนทางกับเศรษฐกิจของประเทศดังที่กล่าวมาข้างต้น แต่ปรากฏว่าธนาคารได้ยุบหลายสาขา ลดจำนวนพนักงานลงอย่างแทบ จะเรียกได้ว่าแบบกระทันหัน ข้อมูลจากนิตยสารออนไลน์กรุงเทพธุรกิจพบว่าแม้แต่ธนาคารระดับใหญ่และ มีสาขาอยู่ต่างประเทศ อย่างธนาคารกสิกรไทย ปิดประมาณ 850 สาขาในปี 2562 และธนาคารที่อยู่คู่กับประเทศไทยตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 อย่าง ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้ลดจำนวนสาขาจาก 1,153 เหลือ 400 สาขา และลดจำนวนพนักงานเหลือเพียง 15,000 คน จากเดิมที่มีอยู่ 27,000 คน และในปี 2563 ธนาคารของรัฐอย่าง ธนาคารกรุงไทยก็เตรียมลดจำนวนพนักงานลง 30 เปอร์เซ็นต์ จากจำนวนพนักงานประมาณ 21,000 คน และเตรียมยุบ 70 สาขา

เหตุผลหลักของการลดจำนวนสาขาและพนักงานธนาคารของประเทศไทย มาจากการเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ที่มีผู้ใช้บริการออนไลน์หรือ Mobile banking เป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่ตัวเลขจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ อีกทั้งยังเป็นแนวทางในปรับตัวการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของธนาคาร นายอาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2561 ได้ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ภายใต้แนวคิด “Transformation” และใช้กลยุทธ์ “กลับหัวตีลังกา” เพราะเป็นความจำเป็นขององค์กรที่จะต้องลดขนาดเพื่อความอยู่รอดขององค์กรในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจ จากเดิมที่มีแนวคิดว่าความเป็นยักษ์ ถือเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ แต่ในปัจจุบันกลับเป็นข้อจำกัด แต่ความหมายการลดขนาดองค์กรของคุณอาทิตย์ นันทวิทยา ไม่ได้หมายถึงการปลดพนักงานแต่เป็นการไม่รับพนักงานใหม่เพิ่ม เพราะในแต่ละปีจะมีพนักงานลาออกเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3,000 คน ซึ่งภายใน 3 ปี จะมีพนักงานลดไปถึงเกือบหมื่นคน

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการธนาคารกสิกรไทยเผยว่า “ขณะนี้ยังไม่นิ่งว่าสาขาของธนาคารควรจะมีกี่แห่ง ต้องปิดอีกกี่แห่ง ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการใช้บริการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป ธนาคารก็พยายามดักทางว่าพฤติกรรมลูกค้าจะไปในทางใดก็ปรับตัวรองรับ สาขาของธนาคารก็เช่นเดียวกัน หากไม่มีคนไปใช้ก็ต้องปิด” ปรีดีปิดท้ายว่า ที่ผ่านมา ถึงแม้การใช้ธุรกรรมออนไลน์จะเพิ่มถึง 5 เท่าตัว แต่ธนาคารก็ยังเปิดให้บริการในสาขาตามปกติ ไม่ได้ปรับจำนวนสาขาลง

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีดิจิทัล หรือ Digital Disruption มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อเสียที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ คือ การเลิกจ้างแรงงานเพราะมีการแทนที่ด้วยเครื่องจักรหรืออุปกรณ์ดิจิทัล ทำให้นายจ้างลดค่าใช้จ่าย และยังได้ผลผลิตเท่าเดิมหรือมากกว่า หากเรามองในแง่บวกก็จะเห็นว่า การพัฒนาของเทคโนโลยี คือ การที่ทำให้ธุรกิจมีการพัฒนาตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของการดำเนินงาน หากบริษัทไม่ทำอะไรเลย ก็จะตกอยู่ในที่นั่งลำบาก จะมีแต่นโยบายเลิกจ้างพนักงาน เพราะพนักงานมีทักษะ ไม่เพียงพอต่อการแข่งขัน ก็จะต้องพยายามหาพนักงานที่ได้รับการฝึกฝนอย่างต่อเนื่อง เพราะในอีก 2-3 ปีข้างหน้าอุปกรณ์หรือเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ จะสามารถปฏิบัติงานแทนพนักงานธนาคารได้ถึงร้อยละ 30 ของงานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

หากเปรียบเทียบวิกฤตของพนักงานธนาคารที่จะถูกเลิกจ้างและลดจำนวนพนักงาน ด้วยสาเหตุการ มาแทนที่ของระบบดิจิทัล กับพนักงานในอุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือแม้แต่พนักงานสำนักงานทั่วไป ยังถือว่ามีโอกาสสูงในการได้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงาน เพราะส่วนมากพนักงานธนาคารมีความคุ้นเคยกับเทคโนโลยีดิจิทัล ได้เรียนรู้ระบบดิจิทัลในระหว่างการทำงาน นั้นหมายความว่าพนักงานธนาคารได้เริ่มออกจากจุดปล่อยวิ่งไปเรียบร้อยแล้ว ในขณะที่พนักงานบางอุตสาหกรรมยังคงอยู่ที่จุดเริ่มต้น อาจเพราะเนื้องานที่ปฏิบัติอยู่มีความเกี่ยวข้องกับระบบดิจิทัลน้อยมาก สามารถกล่าวได้ว่าพนักงานธนาคารถือว่ามีแต้มต่อดีกว่าบางกลุ่มแรงงานในการเปลี่ยนสายอาชีพหรือหางานใหม่ กรณีหากถูกเลิกจ้าง

Upskill เพื่อเปิดโอกาส

สรุปได้ว่าเพียงได้รับการฝึกอบรมอยู่เรื่อยๆ (Upskill) ถึงหากถูกออกจากงาน พนักงานธนาคารก็สามารถหางานใหม่ได้ไม่ยาก เพราะในอนาคตประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์การลงทุนขนาดใหญ่ตามเป้าหมายของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ซึ่งจะทำให้มีอัตราการจ้างงานเกือบ 2 แสนอัตรา ตำแหน่งงานที่จะเกิดขึ้นใหม่ส่วนมากต้องการบุคลากรที่มีพื้นด้านดิจิทัล ซึ่งพนักงานธนาคารสามารถเปลี่ยนสาขาอาชีพอื่นได้ไม่ยาก เพราะมีพื้นฐานทักษะด้านดิจิทัลอยู่แล้ว

ทางออกของการลดจำนวนของพนักงานธนาคารที่มีการคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือ ควรจะเปลี่ยนจากความกังวลหรือการต่อรองการลดชั่วโมงการทำงาน หรือหามาตรการมาเยี่ยวยา เป็นการอบรมเพื่อเรียนรู้ทักษะใหม่และทักษะที่จำเป็นในการทำงาน Bhang Chowdhy อาจารย์วิชาการเงินแห่ง มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส กล่าวกับรายการ บีบีซี ว่า สิ่งที่ดีที่สุดที่ภาคธุรกิจสามารถให้แก่พนักงาน คือ การให้ความรู้อย่างต่อเนื่อง และยังกล่าวเสริมว่าแทนการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ พนักงานควรใช้เวลาประมาณร้อยละ 60 ในการทำงาน และร้อยละ 40 ในการฝึกอบรมทักษะใหม่ ๆ

Data Analytics ทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัล

จากรายงานของ The Institute of Banking and Finance และ The Monetary Authority of Singapore กล่าวว่า ตำแหน่งงานในภาคธุรกิจการเงินได้รับผลกระทบเยอะที่สุด เพราะจะมีการรวมกิจการและเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรที่ทำให้งานประจำที่พนักงานทำอยู่เกิดความล้าสมัยไม่ทันท่วงที ดังนั้น พนักงานจึงควรได้รับการฝึกอบรม (Reskill และ Upskill) คือ เจ้าหน้าที่สินเชื่อเงินกู้ เจ้าหน้าที่กองทุน และผู้จัดการผลิตภัณฑ์ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้สามารถถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีและจะถูกเพิ่มด้วยทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลภายในอีก 2 ถึง 3 ปี ในรายงานยังกล่าวเสริมอีกว่า ทักษะที่จำเป็นต่อพนักงานธนาคาร คือ ทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ทักษะนี้มีความจำเป็นในการดำเนินงานธุรกิจทางการเงิน เพราะผลของการวิเคราะห์ข้อมูลช่วยให้พิจารณาการปล่อยสินเชื่อแม่นยำยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้บริการผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากทักษะด้านการวิเคราะห์ข้อมูล อีกหนึ่งทักษะที่จำเป็นต่อพนักงานธนาคารในอนาคต คือ การบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า “อย่ามองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องท้าทายอย่างเดียว แต่ต้องมองว่าเป็นโอกาส เพราะเทคโนโลยีหลายอย่างธนาคารนำมาใช้ได้หลายด้าน เช่น งานหลังบ้านเพื่อลดความเสี่ยง หรือดาต้า นำมาแบ่งกลุ่มลูกค้าได้ ทำให้ลูกค้าได้รับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมที่เหมาะสม ดังนั้น การทำสาขาเดียว แบบเดียวคงไม่ตอบโจทย์ลูกค้าทุกกลุ่ม เพราะยังมีลูกค้าบางกลุ่มที่ไม่ทันเทคโนโลยีอยู่ ส่วนเรื่องพนักงานเชื่อว่าธนาคารจะบริหารจัดการได้ โดยการนำไปเทรนหรือเสริมทักษะด้านอื่น เพราะทุกอย่างไม่ได้นำเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีมาใช้ทั้งหมด” จะเห็นได้ว่าทักษะที่เกี่ยวกับข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ไม่ว่าจะเป็น การบริหารจัดการข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล เพราะในปัจจุบัน ข้อมูลถือเป็นน้ำมันชนิดใหม่หรือที่เรียกว่า Data is the New Oil คือ ข้อมูลกลายเป็นพื้นฐานหลักในการผลักดันเศรษฐกิจยุคดิจิทัล ซึ่งมีลักษณะเดียวกับแหล่งน้ำมันดิบในอดีตที่ถือเป็นทรัพยากรที่มีค่า เป็นปัจจัยหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในช่วงที่ผ่านมา นั้นหมายความว่า Data หรือ ข้อมูลดิบ ต้องถูกนำมากลั่นก่อนจึงจะเกิดประโยชน์ น้ำมันดิบเมื่อนำมากลั่น จะได้น้ำมันสำเร็จรูปซึ่งแปลงรูปได้เป็นพลังงาน ขณะที่ข้อมูลเมื่อนำมากลั่นกรองแปลงรูปไปเป็น Information เป็นข้อมูลสารสนเทศ ก็จะนำไปสู่ข้อมูลเชิงลึก (Insights) ที่สามารถต่อยอดไปสู่สิ่งอื่น ๆ ได้อีกมากมายเหมือนพลังงาน ดังนั้น ผู้ที่มีทักษะทางด้านการกลั่นกรองข้อมูล จึงเป็นทรัพยากรที่มีค่าขององค์กร เพราะในยุค Digital Transformation ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการดำเนินงานขององค์กร ยิ่งองค์กรมีข้อมูลมากเท่าไร องค์กรนั้นจะได้เปรียบมากเท่านั้น องค์กรต่างๆ ยังต้องการผู้ที่มีทักษะเกี่ยวกับการใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์สูงสุด อย่างที่กล่าวมาข้างต้น

ทักษะที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลขนาดใหญ่และการวิเคราะห์ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ได้กับหลาย ๆ อาชีพ และมีความสำคัญอย่างมากในโลกธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้พนักงานธนาคารสามารถหางานใหม่ได้ง่าย หากมีองค์ความรู้ด้านนี้ติดตัว เนื่องจากหลาย ๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ต้องการพนักงานที่มีทักษะทางด้านนี้

ทักษะในยุคธนาคารดิจิทัล

ธนาคารในยุคดิจิทัลมีการปรับตัวอย่างมาก กลยุทธ์ที่จะดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดและสามารถแข่งขันได้ ต้องอาศัยทั้งศาสตร์และศิลป์ ดังที่บริษัท Portfolioquest ของสิงคโปร์ยังได้รวบรวมทักษะที่จำเป็นสำหรับพนักงานธนาคารดิจิทัลซึ่งจะต้องมีทั้งทักษะด้านเทคนิค (Hard Skill) และทักษะเชิงสังคมและการทำงาน (Soft Skill) ทักษะด้านเทคนิค ได้แก่

  1. Cybersecurity
  2. AI Machine Learning
  3. Data Visualization
  4. Big Data
  5. UI/UX Design
  6. Cloud Computing และทักษะทางด้าน Soft Skill ได้แก่
    1. การสื่อสารแห่งอนาคต (Future Communication)
    2. การตื่นตัวด้านดิจิทัล (Digital Awareness)
    3. การทำงานแบบลดขั้นตอน (Agile/Entrepreneurial Thinking)
    4. ความเสี่ยงและการควบคุมในโลกดิจิทัล (Risk & Governance in the Digital World)
    5. การตัดสินใจด้วยฐานข้อมูล (Data Driven Decision Making)
    6. ออกแบบเพื่อลูกค้า (Human Centered Design)

Soft Skill

Soft Skill.png

ภาพที่ 2 Key aspects of digital banking

ที่มา: https://www.fintalent.com/future-enabled-digital-banking-skill-sets/

  1. Future Communication การสื่อสารยุคดิจิทัลเปลี่ยนไปจากเดิมและรูปแบบการสื่อสารระหว่างธนาคารและลูกค้าก็เปลี่ยนไป เนื่องจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการทำธุรกรรมของลูกค้าในยุคธนาคารดิจิทัล ลูกค้าหันไปใช้ธุรกรรมออนไลน์และ Mobile banking มากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าสะดวกและรวดเร็วกว่าการทำธุรกรรมที่สาขาอย่างเห็นได้ชัด ดังจำนวนสาขาที่กระจายอยู่ทั่วประเทศทยอยปิดตัวลง การสื่อสารกับลูกค้าจึงเน้นสื่อสารผ่านระบบออนไลน์หรือดิจิทัลมากขึ้น จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการสื่อสารกับลูกค้า
  2. Digital Awareness พนักงานธนาคารควรแบ่งเวลาเพื่อติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเทคโนโลยีดิจิทัล เพราะมีผลเกี่ยวกับการทำการตลาดดิจิทัล เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงลูกค้าและจับกระแสการตลาดได้ การตลาดและการขายแบบดิจิทัลคือ หัวใจสำคัญในการให้บริการของธนาคารดิจิทัล
  3. Agile/Entrepreneurial Thinking รูปแบบการทำงานในยุคดิจิทัลก็ได้ปรับเปลี่ยนโดยใช้แนวคิดระบบของ Agile ซึ่งเป็นการทำงานแบบลดขั้นตอนเพื่อความสะดวกรวดเร็ว และจะมีการสื่อสารกันมากขึ้นในกลุ่มงาน หมายความว่าองค์กรต้องทำงานให้เร็วขึ้น จะช่วยทำให้ลูกค้าได้รับบริการที่สะดวกและเร็วขึ้น ลูกค้าต้องเข้าถึงบริการได้ง่ายและสะดวก หากธนาคารไม่สามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้ ทั้งในเรื่องความเร็วและคุณภาพ ธนาคารก็จะเสียโอกาสทางธุรกิจไป การแข่งขันในยุคดิจิทัลต้องรวดเร็วทันใจ
  4. Risk & Governance in the Digital World ปัญหาที่เริ่มมีจำนวนมากขึ้นในยุคดิจิทัลคือ ความปลอดภัยของข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลลูกค้า ข้อมูลทางการเงินของธนาคารเอง ข้อมูลลับทางธุรกิจ แม้แต่บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ที่สหรัฐอเมริกายังประสบปัญหาข้อมูลรั่วไหลได้ การทำ Digital Transformation ที่ดีต้องคำนึงถึงความเสี่ยงตรงจุดนี้ด้วย และในปัจจุบันจำนวน Hacker ก็มีจำนวนมากในยุคดิจิทัล ดังที่มีข่าวอยู่เป็นประจำถึงการรั่วไหลของข้อมูล
  5. Data Driven Decision Making ธนาคารต้องการผู้ที่มีความรู้และทักษะในการวิเคราะห์ข้อมูล ข้อมูลเปรียบเสมือน น้ำมันใหม่ หรือที่มีการกล่าวขานกันอย่างแพร่หลาย Data is the New Oil เพราะ การตัดสินใจของผู้บริหารมากจากการวิเคราะห์ข้อมูล
  6. Human Centered Design การดำเนินธุรกิจของธนาคารดิจิทัลได้ยึดลูกค้าเป็นปัจจัยหลัก ลูกค้าคือ จุดศูนย์กลางของการให้บริการ ลูกค้าต้องได้รับประสบการณ์ที่ดีจากการให้บริการของธนาคาร และต้องมีมากกว่าหนึ่งทางเลือกให้ลูกค้าเข้าถึงบริการ ดังนั้น ในการออกแบบผลิตภัณฑ์และรูปแบบการให้บริการต้องมาจากมุมมองของลูกค้า และสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ธนาคารดิจิทัลต้องใช้ศาสตร์และศิลป์ในการดำเนินกิจการในโลกยุคดิจิทัล พนักงานธนาคารจำเป็นต้องมีทั้งทักษะหรือความรู้ในทางด้านเทคนิคการปฏิบัติงาน และทักษะเกี่ยวกับมนุษย์การให้บริการและเข้าใจธรรมชาติของมนุษย์ พนักงานธนาคารควรได้รับการพัฒนาสองทักษะนี้ควบคู่กันไป ทางออกที่ดีของพนักงานธนาคารหากถูกเลิกจ้าง คือ การพัฒนาตัวเองให้มีความรู้ใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง พนักงานเองต้องเป็นผู้ริเริ่มที่จะพัฒนาหรือปรับปรุงรูปแบบในการปฏิบัติงานโดยตระหนักถึงความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และควรหาโอกาสในการเรียนรู้และติดตามการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการวิเคราะห์ข้อมูลและระบบดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง สถาบันการเงิน ควรเตรียมความพร้อมให้กับพนักงานในการรับมือกับการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล โดยร่วมมือกับ สถาบันการศึกษาและผู้ให้บริการฝึกอบรม ถ่ายทอดองค์ความรู้ดิจิทัลใหม่ๆ และหลักสูตรที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เพื่อที่พนักงานสามารถย้ายไปทำงานตำแหน่งอื่นได้ หากตำแหน่งที่ทำอยู่ในปัจจุบันถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี หรืออย่างน้อยหากเกิดกรณีเลิกจ้าง พนักงานยังมีองค์ความรู้ใหม่ๆ ติดตัวและเป็นประโยชน์ต่อการหางานใหม่ การให้องค์ความรู้และทักษะดิจิทัลใหม่ๆ แก่พนักงาน เป็นการแก้ไขปัญหาการว่างงาน เพราะอนาคตอันใกล้ เกือบทุกสาขาอาชีพจะมีระบบดิจิทัลเข้ามาเกี่ยวข้อง

โดย นายกฤษฎาธาร คชาธาร

ฝ่ายส่งเสริมการพัฒนากำลังคนดิจิทัล

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

เอกสารอ้างอิง