เทคโนโลยีดิจิทัลมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว และมีบทบาทอย่างมากในชีวิตประจำวันต่อสังคมทุกช่วงวัย สังเกตได้จาก พฤติกรรมการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทำงานส่งข้อมูลทางอีเมล เล่นเกม และโทรศัพท์มือถือที่ใช้ติดต่อสื่อสารเป็นหลัก แต่เมื่อเทคโนโลยีได้พัฒนาและก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก จึงส่งผลต่อการใช้งานคอมพิวเตอร์เป็นอย่างมากในแง่ของการใช้โปรแกรมต่าง ๆ ฟังเพลง เล่นเกมออนไลน์ สนทนา/ ประชุมออนไลน์ ส่วนโทรศัพท์มือถือจากเดิมมีเพียงแค่ติดต่อสื่อสาร แต่ปัจจุบันนี้โทรศัพท์มือถือเพียงเครื่องเดียวก็สามารถฟังเพลง เล่นเกม ดูทีวี ถ่ายรูป และดูข้อมูลข่าวสารต่าง ๆ ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็วและทันใจ
จากข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรทั่วโลกโดย We are Social ในช่วงเดือนเมษายน 2563 เปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2562 พบว่ามีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้น 301 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 7.1% โดยประชากรทั่วโลกมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตประมาณ 4,570 ล้านคน คิดเป็น 59% ของประชากรทั่วโลก และระยะเวลาเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชากรทั่วโลกอยู่ที่ 6 ชั่วโมง 43 นาที/คน/วัน
ภาพที่ 1 ข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรทั่วโลกในเดือนมกราคม 2020 ที่มา: https://datareportal.com/reports/digital-2020-global-digital-overview
และในส่วนของประเทศไทยพบว่ามีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตรายใหม่เพิ่มขึ้น 1 ล้านคนหรือเพิ่มขึ้นคิดเป็น 2.0% ซึ่งในปัจจุบันมีประชากรไทยที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตแล้วประมาณ 52 ล้านคน คิดเป็น 75% ของประชากรทั้งหมดในประเทศ โดยระยะเวลาเฉลี่ยการใช้งานอินเทอร์เน็ตของประชากรไทยอยู่ที่ 9.01 ชั่วโมง 43 นาที/คน/วัน
ภาพที่ 2 ข้อมูลการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรไทยในเดือนมกราคม 2020 ที่มา: https://datareportal.com/reports/digital-2020-thailand?rq=thailand
โดยจากการศึกษาของ Global Web Index พบว่าระยะเวลาการใช้งานอินเทอร์เน็ตเฉลี่ยของประชากรทั่วโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อันเนื่องมาจากมาตรการ Lockdown จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดย 3 ใน 4 ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตอายุระหว่าง 16 – 64 ปี ใช้ระยะเวลาในการท่องอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นเทียบจากระยะเวลาก่อนมาตรการ Lockdown
นอกเหนือจากการใช้งานอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ข้อมูลการศึกษาของ Global Web Index ยังเผยว่าพฤติกรรมดิจิทัลของผู้คนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากอันเป็นผลมาจากมาตรการ Lockdown จากสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 และอาจจะส่งผลต่อเนื่องไปจนหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด 19 เช่น การที่ประชาชนหันมาชอปออนไลน์ที่มากขึ้น สั่งอาหารออนไลน์มากขึ้น การประชุมทางไกล (Work from Home) การศึกษาทางไกล (Learn from Home) หรือแม้แต่การชำระเงินด้วย Mobile Banking เป็นต้น ซึ่งผลจากพฤติกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นนั้น ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีในการเก็บข้อมูลต่าง ๆ เพื่อรวบรวมเป็นบิ๊กดาต้าที่มีข้อมูลอย่างมหาศาลและอาจจะสามารถนำมาประยุกต์ใช้และช่วยให้แต่ละประเทศสามารถผ่านพ้นวิกฤตทั้งในยุคการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 และรวมถึงการประยุกต์ใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังมาตรการ Lockdown ประเทศ
โดยตัวอย่างจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือมีการนำเอาข้อมูลที่มีอยู่มาประยุกต์ให้เกิดประโยชน์กับเหตุการณ์วิกฤตไวรัสโควิด 19 เช่นประเทศจีนที่มีเก็บข้อมูลการเดินทางของประชาชน การเฝ้าระวังติดตาม และการแสดงข้อมูล dashboard ไม่ว่าจะเป็นแผนที่การระบาดแบบเรียลไทม์ ข้อมูลผู้ป่วย สถานพยาบาล ที่เปิดเผยข้อมูลให้แก่ประชาชน
ส่วนไต้หวันก็ได้นำบิ๊กดาต้ามาประยุกต์ใช้กับไวรัสโควิด 19 ด้วยเช่นกัน กล่าวคือ มีการรวบรวมฐานข้อมูลประกันสุขภาพของประเทศรวมเข้ากับฐานข้อมูลการตรวจคนเข้าเมืองและฐานข้อมูลศุลกากร เพื่อสร้างข้อมูลบิ๊กดาต้า สำหรับการวิเคราะห์ประวัติการเดินทาง ระบุตัวตนผู้ป่วยที่เดินทางมาจากสถานที่ต่าง ๆ และระบบการแจ้งเตือนแบบเรียลไทม์ รวมทั้งยังมีแอปพลิเคชันแสดงแผนที่จุดจำหน่ายหน้ากากอนามัย คลินิก ร้านขายยาแบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ประเทศไทยก็ได้มีการนำเอาข้อมูลบิ๊กดาต้ามาประยุกต์ใช้ในปัจจุบันโดยมีสาระสำคัญคือ
กล่าวคือ สามารถหาข้อมูลพิกัด location เช่น หากมีผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสโควิด 1 คน ทำให้ทราบสถานที่ที่เสี่ยงต่อการได้รับเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้ และทำให้ทราบได้ว่าไปสถานที่ไหนมาบ้าง ช่วยระยะเวลาไหน และใครที่มีความเสี่ยง ณ ช่วงเวลาขณะนั้น เพื่อจะได้แจ้งข่าวสารกับกลุ่มคนที่อยู่ในช่วงสถานที่แห่งนั้น ระยะเวลาช่วงนั้น และหาวิธีป้องกันต่อไป
นอกจากนี้ การที่ได้นำข้อมูลบิ๊กดาต้านำมาใช้ประโยชน์ในช่วงวิกฤตโควิดแล้ว เรายังสามารถนำข้อมูลมหาศาลเหล่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลังจากเหตุการณ์วิกฤตนี้เริ่มมีสถานการณ์ที่ดีขึ้น กล่าวคือ กรณีที่เปิดประเทศแล้ว ทำให้ประชาชนเริ่มออกจากบ้านมากขึ้น จากเดิมที่มีการทำงานจากบ้านอาจเปลี่ยนเป็นทำงานที่ทำงาน หรือมีการเดินทางเพื่อจับจ่าย ใช้สอย ซื้อของจากห้างสรรพสินค้า ซึ่งจากเดิมในช่วงวิกฤตต้องสั่งสินค้าทางออนไลน์เริ่มเปลี่ยนเป็นไปห้างสรรพสินค้า ซึ่งจะทำให้มีกลุ่มคนจำนวนมากที่ต้องการทำธุระ และบริโภคสินค้าที่จำเป็นจริง ๆ จึงทำให้เกิดการกระจุกตัว และเกิดความแออัดในห้างสรรพสินค้าหรือตลาด หากเรานำเอาข้อมูลบิ๊กดาต้าเข้ามาช่วยในการวิเคราะห์ ซึ่งเป็นข้อมูลแบบทันที (Real time) ส่งผลให้ทราบความหนาแน่นของประชากรในสถานที่นั้น ๆ ทำให้เกิดความเสี่ยงลดลง ปลอดภัยจากการติดเชื้อ รวมทั้ง สวนสาธารณะ สถานที่ออกกำลังกาย
หากมีการกลุ่มคนจำนวนมากก็จะเกิดผลเสียตามมาเช่นกัน นอกจากนี้ เป็นที่แน่นอนว่ากลุ่มแรงงานเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ซึ่งหากมีการนำเอาข้อมูลบิ๊กดาต้าในเรื่องของข้อมูลแรงงานมาวิเคราะห์จะทำให้ทราบว่าจะมีภาคแรงงานจำนวนเท่าใดที่ได้รับผลกระทบ หรือแม้หากมีการสร้าง Platform กลางเพื่อกระจายข้อมูลด้านแรงงาน ทำให้สามารถทราบ แรงงานในแต่ละพื้นที่ แต่ละภาค แต่ละจังหวัดได้ ทั้งนี้ หากมีการบูรณาข้อมูลระหว่างหน่วยงานก็จะทำให้ช่วยกลุ่มแรงงานที่กำลังตกงานได้รวดเร็วยิ่งขึ้น หากมีการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยในเหตุการณ์วิกฤตไวรัสโควิด 19 ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ ประมวลผลข้อมูล หรือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่สามารถช่วยให้ระบบการทำงาน มีประสิทธิภาพที่ดี นอกจากนี้ ยังช่วยทดแทนแรงงานกำลังคน ลดความเสี่ยงในการติดโรค และทำให้ได้ ข้อมูลบิ๊กดาต้าที่เป็นฐานข้อมูลสำหรับให้ประชาชนรู้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ในช่วงเหตุการณ์วิกฤต ไวรัสโควิด 19 แม้เราจะมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรงแล้ว แต่หากเราใช้ข้อมูลไม่ถูกต้อง บริหารจัดการข้อมูลไม่มีประสิทธิภาพก็ย่อมเกิดผลกระทบทางลบตามมาแน่นอน
นางสาวเมืองเพลง ปัญญาโชติ
โดย ฝ่ายนโยบายและยุทธศาสตร์
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล
อ้างอิงจาก
• กรุงเทพธุรกิจ (https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/866478)
• We are Social ผ่าน Social Media Management Tool (www.marketeeronline.co/archieve/143663)
• Yuan Xue Beijing Open Economy Research Institute, UIBE (https://mgronline.com/china/detail/9630000025037)
• นสพ.ประชาชาติธุรกิจ ประจำวันจันทร์ที่ 23 ถึงวันพุธที่ 25 มีนาคม 2563 (https://www.salika.co/2020/03/22/taiwan-fight-covid-19-strategy-model/)
• มติชนออนไลน์ (https://www.matichon.co.th/foreign/news_2123698)
• ไทยรัฐออนไลน์ (https://www.thairath.co.th/event_corona)