บริการ
TH
EN
TH
CN

Blockchain กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหม่ในวงการเงิน

การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อหลายภาคส่วนธุรกิจ ทั้งการเกษตร อุตสาหกรรม ตลอดจนการเงิน การธนาคาร ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดำเนินธุรกิจและใกล้ชิดกับวิถีชีวิตประจำวันของมนุษย์ ตลอดระยะเวลากว่า 5 ปีที่ผ่านมา การกำเนิดขึ้นของระบบ e-wallet, e-payment, QR code payment เป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันถึงความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทางการเงินและเป็นสัญลักษณ์ถึงการก้าวสู่สังคมไร้เงินสด (Cashless Society) ที่ชัดเจน ซึ่งจากรายงานของธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2014 – 2019 ภาพรวมของการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ผู้บริโภค (consumer e-payment) เติบโตเฉลี่ยสูงถึง 34.2% ต่อปี อันเป็นผลมาจากการผลักดันโครงการ National e-payment หรือที่มักคุ้นในชื่อของ Prompt pay ซึ่งเป็นหนึ่งในผลผลิตภายใต้โครงการนี้ กลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่กระตุ้นให้ทั้งภาครัฐและเอกชน ปรับเข้าสู่ระบบนิเวศ e-payment และขยายวงกว้างยิ่งขึ้นจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน

พัฒนาการเทคโนโลยีทางการเงินคงเดินหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา คำว่า DeFi หรือ Decentralized Finance มีการกล่าวถึงอย่างแพร่หลาย โดย Defi เป็นแนวคิดทางการเงินแบบใหม่ ในลักษณะเงินดิจิทัล ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการบันทึกและดำเนินธุรกรรมโดยไม่ผ่านตัวกลางอย่างสถาบันการเงิน ธนาคาร หรือศูนย์กลางทางการเงินต่างๆ อันมีผลทำให้การดำเนินธุรกรรมเป็นไปอย่างรวดเร็ว ความเสี่ยงต่อการโดนโจมตีและบิดเบือนข้อมูลในระบบที่ต่ำ โดยตัวอย่างผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เริ่มมีการนำมาใช้ เช่น บัญชีเงินฝาก การกู้ยืมเงินระหว่างรายย่อย หรือที่รู้จัก Peer-to-Peer Lending

มาทำความรู้จักเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain)

โดยปกติ โครงสร้างของข้อมูลแบ่งได้เป็น 2 แบบใหญ่ คือ แบบรวมศูนย์ (Centralised) เป็นระบบฐานข้อมูลที่มีจุดศูนย์กลางเพียงจุดเดียว ฉะนั้นการเรียกใช้และบันทึกข้อมูลจะเกิดเพียงจุดเดียว ซึ่งเป็นระบบฐานข้อมูลที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน ส่วนแบบที่สอง คือ แบบกระจาย (decentralised) เป็นระบบกระจายฐานการเก็บข้อมูล โดยไม่ได้กระจุกเพียงจุดใดจุดหนึ่ง อาจมีลักษณะเป็นการเชื่อมโยงในลักษณะที่มีตัวกลางในการรวบรวมชุดข้อมูลในแต่ละจุดหรือกระจายข้อมูลภายในวงข้อมูลใดวงหนึ่ง (Private) หรือแบบการกระจายข้อมูลโดยเปิดเผย (distributed) เป็นการเข้าถึงข้อมูลได้ทั้งหมดโดยปราศจากตัวกลางในการควบคุม หรือ สาธารณะ (Public) ดังภาพที่ 1


ภาพที่ 1 แสดงลักษณะโครงสร้างกระจายตัวของข้อมูล

เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) อาศัยหลักการ Distributed Ledger ซึ่งเป็นระบบบันทึกรายการธุรกรรมและข้อมูลดิจิทัลแบบศูนย์กลางข้อมูล ใช้กลไกข้อตกลงร่วมกัน เพื่อทำให้ข้อมูลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (node) มีความถูกต้องเที่ยงตรงและเป็นข้อมูลชุดเดียวกัน ผู้ใช้ทุกคนสามารถเข้าถึงและได้รับข้อมูลเดียวกัน (Shared Database) สามารถแบ่งได้ 3 ประเภท โดยพิจารณาจากข้อกำหนดในการเข้าร่วมเครือข่ายข้อมูล ประกอบไปด้วย

  1. Public Blockchain เป็นวงข้อมูลเปิดที่อนุญาตให้ทุกคนสามารถเข้าใช้งานได้อย่างอิสระ โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาต ซึ่งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า Permission less Blockchain โดยทุกคนในวงข้อมูลสามารถเห็นข้อมูลรายการต่างๆ เช่น ธุรกรรม รายการกระบวนการต่างๆ จากสมาชิกในวงข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น การซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล Bitcoin, Ethereum
  2. Private Blockchain เป็นวงข้อมูลปิดที่เข้าใช้งานได้เฉพาะผู้ที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ส่วนใหญ่สร้างขึ้นเพื่อใช้งานภายในองค์กร ดังนั้นข้อมูลการทำธุรกรรมต่าง ๆ จะถูกจำกัดอยู่เฉพาะภายในเครือข่ายซึ่งประกอบไปด้วยสมาชิกที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น โดยภายในเครือข่ายจะมีหน่วยข้อมูลหนึ่งๆ (Node) ทำหน้าที่หลักในการจัดการ ตัดสินใจเลือกหลักเกณฑ์สำหรับการตรวจสอบความถูกต้อง รวมถึงการบันทึกและการทำธุรกรรมของทุกหน่วยข้อมูล ซึ่งผู้เข้าร่วมในวงข้อมูลสามารถตกลงที่จะเปลี่ยนแปลงเกณฑ์สำหรับตรวจสอบและบันทึกรายการได้ จึงเหมาะสมสำหรับการประยุกต์ใช้เพื่อเก็บข้อมูลที่เป็นความลับหรือข้อมูลที่ไม่ต้องการเผยแพร่ให้ผู้ไม่เกี่ยวข้องภายนอกองค์กรทราบ โดยส่วนมากมักใช้ในงานระหว่างองค์กรธุรกิจหรือระหว่างองค์กรภาครัฐ ตัวอย่างของระบบ Blockchain แบบปิดยกตัวอย่างเช่น Hyperledger, Corda, Tendermint
  3. Consortium Blockchain เป็นวงข้อมูลที่เปิดให้ใช้งานได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยเป็นการผสมผสานแนวคิดระหว่าง Public Blockchain และ Private Blockchain ส่วนใหญ่เป็นการรวมตัวกันขององค์กรที่มีลักษณะธุรกิจเหมือนกัน และต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ เนื่องจากธุรกรรมและข้อมูลที่จัดเก็บ เป็นข้อมูลที่เป็นความลับ หรือข้อมูลส่วนตัวภายในองค์กร ส่งผลให้ไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวทั้งหมดแก่สาธารณชนได้ ดังนั้นผู้เข้าร่วม Blockchain เฉพาะกลุ่ม จำเป็นต้องได้รับการอนุญาตจากตัวแทนเสียก่อนจึงจะสามารถเข้าใช้งานได้ ยกตัวอย่างเช่น เครือข่ายระหว่างธนาคาร ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการทำธุรกรรม หรือแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ภายในกลุ่มของธนาคาร ยกตัวอย่างเช่น Japanese Bank และ R3CEV (Buterin, 2014)

ด้วยพื้นลักษณะของเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ดังกล่าว Cryptocurrency จึงเป็นเสมือนตัวแทนนิยามและการใช้งานที่ชัดเจน คือสิ่งที่กล่าวถึงอย่างมากในวงการ DeFi เป็นเงินดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้ อันมี 3 คุณลักษณะ คือ ไม่มีลักษณะทางกายภาพ อาศัยหลักกลไกทางคณิตศาสตร์และคอมพิวเตอร์ , ลักษณะโครงสร้างข้อมูลเป็นแบบกระจาย โดยมีการเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ไม่กระจุกตัวอยู่ที่ใดที่หนึ่ง และมีการถอดรหัสในการใช้งาน โดยเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่รับประกันความปลอดภัยว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกไปก่อนหน้านั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลง หรือแก้ไข ซึ่งทุกผู้ใช้งานจะได้เห็นข้อมูลชุดเดียวกันทั้งหมด เป็นการสร้างกลไกความน่าเชื่อถือ โดยทุกเครื่องคอมพิวเตอร์ในระบบจะเก็บสำเนาข้อมูลทั้งหมดไว้ที่ฐานข้อมูลภายใน ทำให้สามารถเรียกใช้ฐานข้อมูลบัญชีธุรกรรมของตนเองได้ง่ายตลอดเวลา

Blockchain กับการนำไปใช้ในระบบการชำระเงิน

ปัจจุบันรูปแบบการชำระเงินปรับตัวเข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-payment) เพิ่มมากขึ้น จากการสำรวจข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ในช่วงปี 2019 พบว่าปริมาณการใช้ e-Payments มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยในเดือนพฤศจิกายนปี 2019 เพิ่มขึ้นร้อยละ 45 จากช่วงเวลาเดียวกันในปีก่อน ทั้งนี้เป็นผลมาจากนโยบายของภาครัฐ มาตรการส่งเสริมการใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชันเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำพาประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสดภายใต้แผนโครงการ National e-payment ที่เริ่มขับเคลื่อนตั้งแต่ปี 2015

นอกจากการขับเคลื่อนด้วยแผนนโยบายในภาครัฐ การเข้ามาของ Blockchain ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบบการเงินสมัยใหม่ ถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอีกครั้งหนึ่งในทุกภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะวงการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ แม้การเกิดขึ้นของ bitcoin และ Libra สกุลเงินดิจิทัลที่ถูกผลิตขึ้นจะประสบความล้มเหลวในเชิงพาณิชย์ ด้วยข้อจำกัดทั้งในแง่ทางกฎหมาย การยอมรับในวงกว้าง ความปลอดภัยในการใช้งาน และขาดความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นประเด็นที่รัฐบาลทั่วโลกแสดงความกังวล เป็นผลทำให้เกิดการต่อต้านเงินดิจิทัลที่จัดทำขึ้นโดยภาคเอกชน แต่ถือเป็นจุดกระตุ้นที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อย่างไรก็ตามรัฐบาลในหลายประเทศได้มีการนำรูปแบบแนวทางเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้และควบคุมให้อยู่ในกรอบของกฎหมาย สร้างความน่าเชื่อถือโดยการอ้างอิงจากสกุลเงินเดิมเพื่อลดความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นจากการซื้อขายสกุลเงินดิจิทัล จึงเป็นที่มาของโครงการ CBDC หรือ Central Bank Digital Currency ที่ธนาคารกลางทั่วโลกพยายามศึกษา เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการชำระเงินในแบบเดิม พร้อมทั้งศึกษาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างธนาคารกลาง กับธนาคารกลางของแต่ละประเทศ และธนาคารกลางกับสถาบันทางการเงินในกำกับ ด้วยลักษณะการกระจายศูนย์ของการเก็บข้อมูล ระบบความปลอดภัยที่แน่นหนามากยิ่งขึ้น สามารถควบคุมและจำกัดการเชื่อมต่อทางธุรกรรมได้มีประสิทธิภาพ

สำหรับในประเทศไทยได้มีแนวคิดในการศึกษาภายใต้โครงการอินทนนท์ ซึ่งเป็นการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของการชำระเงินในอนาคต ร่วมกับสถาบันการเงิน 8 แห่ง และบริษัท R3 (ผู้พัฒนา DLT ใน Corda Platform) เพื่อทดสอบความเป็นไปได้ในการประยุกต์ใช้ Blockchain กับระบบการชำระเงินของประเทศ โดยหากโครงการนี้สมบูรณ์และเป็นรูปธรรม สิ่งที่ตามมาในอนาคตคือรูปแบบการชำระเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันทางการเงินภายในประเทศจะเปลี่ยนจากเดิม โดยระบบการชำระเงินในรูปแบบของ Blockchain จะเป็นกลไกสำคัญหลัก ส่งผลให้การส่งข้อมูลเพื่อทำการชำระเงินมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ลดขั้นตอนในการนำเข้าข้อมูลเข้าสู่ระบบ ข้อมูลเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างกันภายใต้การกำกับของธนาคารกลาง

ในภาครัฐกรมสรรพากรพร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมศุลกากร สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ธนาคารกรุงไทย ฯลฯ มีการนำร่องระบบเทคโนโลยี Blockchain มาให้บริการคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยวผ่าน Mobile Application (The World’s First VAT Refund for Tourists App powered by Blockchain) ซึ่งจะกลายเป็นรูปแบบการดำเนินงานสำคัญในการขยายผลการใช้งานไปสู่ระบบภาษีบริษัทและภาษีบุคคล ซึ่งเชื่อมโยงกับบัญชีเงินเดือน แหล่งที่มาของรายรับ รวมไปถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจตั้งแต่การซื้อสินค้าบริการ

ในวงการตลาดหลักทรัพย์ เริ่มมีการระดมทุนในรูปแบบดิจิทัล (ICO : Initial Coin Offering) ถือเป็นรูปแบบการการเงินสมัยใหม่ (DeFi) เป็นการระดมทุนโดยการเสนอขาย ดิจิทัลโทเคน (digital token) ผ่านระบบบล็อกเชนต่อสาธารณชน ซึ่งผู้ระดมทุนจะเป็นผู้ออก digital token มาแลกกับเงินดิจิทัล (cryptocurrency) สกุลหลัก เช่น Bitcoin หรือ Ethereum ลักษณะจะคล้ายคลึงกับการซื้อขายหลักทรัพย์ ICO จะกลายเป็นช่องทางการเข้าถึงเงินทุนที่สะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก ทำให้ได้รับความนิยมจากกลุ่มเทคสตาร์ทอัพกันอย่างมาก และมีการเติบโตค่อนข้างสูงในช่วงที่ผ่านมา นอกเหนือจากนี้มีการลงทุนในลักษณะการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างแพร่หลายในสกุลเงินดิจิทัลต่างๆและบางส่วนเริ่มมีการใช้เงินดิจิทัลนี้ในการรับซื้อสินค้าและบริการจริง อย่างเช่นในกรณีของ Tesla ที่เคยประกาศรับเงินดิจิทัลในการซื้อรถยนต์

ในภาคเอกชน บริษัทขนาดใหญ่เริ่มมีการจัดรูปแบบการบริหารทางการเงินตั้งแต่ต้นทางจนกระทั่งปลายทาง โดยเฉพาะลักษณะเครือบริษัท ซึ่งธนาคารเข้ามามีบทบาทในฐานะผู้ดูแลและบริการทางการเงิน จัดวางรูปแบบการทำงาน Blockchain โดยมีการโอนถ่ายข้อมูลร่วมกันเฉพาะในเครือ ข้อมูลต่างๆ ทางการเงินของบริษัทลูกจะมีการรายงานตลอดเวลา และเท่าเทียมกันทั้งหมด โดยบริษัทแม่สามารถเลือกบริหารจัดการข้อมูลและการเงินได้อย่างทันที ถูกต้อง และรวดเร็ว ส่วนสถาบันการเงินสามารถให้คำปรึกษารวมไปถึงช่วยบริหารจัดการด้านการเงินของบริษัทตามนโยบายของบริษัท วางแผนสถานะการเงินได้อย่างแม่นยำยิ่งขึ้น ตลอดจนการชำระเงินภายในเครือบริษัท นอกเหนือจากการนำไปใช้ระหว่างบริษัทในเครือ การประยุกต์ใช้กับระบบเงินเดือน สวัสดิการของพนักงาน รวมไปถึงการเชื่อมข้อมูลกับพนักงานรายบุคคล และเก็บข้อมูลในลักษณะ Digital footprint พร้อมเชื่อมโยงข้อมูลเงินเดือนใน Blockchain และเครดิตบูโร จะสามารถสร้างระบบการประเมินคุณภาพสินเชื่อ ใช้ในการตัดสินใจอนุมัติวงเงิน โดยไม่จำเป็นที่ทางธนาคารจะต้องเรียกเอกสารสำคัญจากลูกค้าเพื่อใช้ในการพิจารณาขอสินเชื่อ ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการการพิจารณามีความแม่นยำ รวดเร็ว ลดการตกแต่งบัญชีสำหรับการยื่นขอสินเชื่ออันส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่มีคุณภาพ

ในภาคประชาชน ปัจจุบันกระแสของการชำระเงินระหว่างบุคคลเริ่มมีบทบาทมากขึ้น บทบาทของตัวกลางเริ่มลดลง การเข้ามาของ Peer-to-peer platform ทำให้อุปสงค์และอุปทานได้พบเจอกันโดยตรงไม่ผ่านตัวกลางอื่น ทั้งนี้ ก็นำมาซึ่งความเสี่ยงสำคัญ ทั้งภัยคุกคามทางไซเบอร์ จากการสำรวจโดยรายงานของ PwC พบว่าร้อยละ 56 ความเสี่ยงทางไซเบอร์เป็นความเสี่ยงที่น่าเป็นกังวลมากที่สุด นอกจากนี้ ยังมีความกังวลในส่วนของระบบที่ไม่มีความเสถียร ความเสี่ยงถูกฉ้อโกง และการตรวจสอบธุรกรรม การเก็บหลักฐานภายในระบบ การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของระบบการเงินนี้จะช่วยเพิ่มสมรรถนะระบบการชำระเงิน ประชาชนสามารถเข้าถึงการกำกับดูแลได้อย่างเหมาะสม ซึ่งเทคโนโลยี Blockchain จะช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือ ความโปร่งใส และความปลอดภัยให้กับลูกค้า หนึ่งในการนำเทคโนโลยี Peer-to-Peer (P2P) ควบคู่กับ Blockchain คือการนำมาใช้ในสินเชื่อระหว่างบุคคล หรือ Peer-to-Peer leading ซึ่งธนาคารแห่งประเทศได้ทำการศึกษาและนำมาใช้เพื่อให้บุคคลสามารถกู้ยืมเงินระหว่างกันโดยไม่ผ่านตัวกลางเช่นธนาคารพาณิชย์แต่อยู่ภายใต้การกำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย

Blockchain กับนโยบายภาครัฐ ซึ่งในปัจจุบันนโยบายในการส่งเสริมและกระตุ้นทางเศรษฐกิจมีจำนวนมากขึ้นทั้งนโยบาย ชอปดีมีคืน คนละครึ่ง รวมไปถึงมาตรการต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างช่วงปีงบประมาณ การประสานข้อมูลในภาครัฐนับว่ามีส่วนสำคัญในการบริหารนโยบายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ การกระจายศูนย์ของข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐภายใน ระหว่างกระทรวงจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารประเทศ และการวางแผนยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินงานในอนาคต อีกประการหนึ่งที่สำคัญนอกเหนือจากการเชื่อมโยงและกระจายศูนย์ข้อมูลภาครัฐการศึกษาการเชื่อมโยงข้อมูลหากนำมาใช้ระหว่างภาครัฐกับประชาชนอันเกี่ยวเนื่องกับภาษีจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การบริหารจัดการรายได้ของรัฐบาลและนโยบายเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีการปลอมแปลง การแฝงข้อมูล ผ่านการใช้เข้ารหัสข้อมูลส่วนบุคคลระหว่างรัฐกับประชาชน รวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ โดยจะเป็นการเก็บข้อมูลในลักษณะ digital footprint ขนาดใหญ่ ส่งผลให้การดำเนินการทางภาษีในช่วงการยื่นชำระไม่ต้องยื่นเก็บหลักฐานเอกสาร ข้อมูลที่ได้รับมีความถูกต้องและแหล่งที่น่าเชื่อถือ

แม้ Blockchain และสกุลเงินดิจิทัลซึ่งเป็นผลพลอยได้จากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาขึ้น ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบันและมีประโยชน์ในการใช้งานอย่างมหาศาล แต่ก็ยังคงมีจุดอ่อนในเรื่องของปัญหาเชิงนโยบายในการติดตามหรือกำกับดูแลในบางเรื่อง ซึ่งถ้ากฎหมายยังไม่ครอบคลุม หากเกิดปัญหาขึ้นกับระบบหรือผู้ใช้บริการ ก็อาจจะกลายเป็นปัญหาในการคุ้มครองผู้ใช้บริการหรือผู้บริโภคได้ ประกอบกับประเด็นเรื่องความน่าเชื่อถือ เช่น ความเสี่ยงด้านไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นสำหรับระบบการเงิน การเจาะระบบของผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน Cryptocurrency การหลอกลวง (Scam) การปลอมตัวตนและปัญหาการยืนยันตัวบุคคล ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงมากขึ้น การเข้ามาของ Quantum computing อาจกลายเป็นอนาคตของวงการคอมพิวเตอร์รวมไปถึงวงการทางการเงินที่สำคัญ ซึ่งจะทำให้การประมวลผลต่าง ๆ ทำได้รวดเร็วและใช้พลังงานน้อยกว่า ด้วยเหตุนี้หลายภาคส่วนตลอดจนภาคการเงินจึงจำเป็นต้องความสนใจและศึกษา เพื่อนำมาปรับประยุกต์ใช้ให้เกิดความมั่นคง ปลอดภัย และรวดเร็วในการให้บริการมากยิ่งขึ้นต่อไป

โดย นายณัฐพล ตันติวงศ์ไชยชาญ

ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาชุมชน

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล

อ้างอิงจาก